ศธ. – กสศ. เดินหน้านโยบาย “นำการเรียนไปให้น้อง” เปิด 13 รูปแบบการเรียนรู้ สร้างโอกาสการศึกษาให้เด็กหลุดระบบกลับมาเรียน

ศธ. – กสศ. เดินหน้านโยบาย “นำการเรียนไปให้น้อง” เปิด 13 รูปแบบการเรียนรู้ สร้างโอกาสการศึกษาให้เด็กหลุดระบบกลับมาเรียน

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ  พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานในพิธี Kickoff : โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (OBEC Zero Dropout) ระยะที่ 2 “นำการเรียนไปให้น้อง” และการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน “เรียนดี มีความสุข : กลับมาเรียนอย่างมั่นใจ เริ่มเทอมใหม่อย่างมีความสุข”โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมด้วย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นายพัฒนพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. รวมถึงผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทุกสังกัดกว่า 500 คน เข้าร่วม ณ หอประชุมคุรุสภา และร่วมประชุมออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom ถ่ายทอดสดทาง OBEC Channel ของ สพฐ.

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ โดยที่ผ่านมา ศธ. ได้เร่งติดตามการดำเนินงานในทุกจังหวัดให้ครบ 100% เพื่อนำผลการติดตามมาวิเคราะห์และช่วยเหลือเด็กได้อย่างเต็มที่ ให้เด็กทุกคนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

กระทรวงศึกษาธิการยังคงดำเนินการให้เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ครู และชุมชน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิทางการศึกษาและการสนับสนุนตามความต้องการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เพื่อรองรับความหลากหลายของผู้เรียน ศธ. ได้ประกาศเปิดตัว 13 รูปแบบการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด “นำการเรียนไปให้น้อง” ซึ่งเป็นทางเลือกการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์วิถีชีวิตของเด็กนอกระบบ สอดคล้องตามนโยบายทำให้ผู้เรียน เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ประกอบด้วย

  1. ระบบแก้ติดศูนย์ ติด ร. แบบยืดหยุ่น ให้เด็กได้แก้ผลการเรียนในแบบที่เหมาะสมกับแต่ละคน
  2. เรียนผ่านเอกสารหนังสือเรียน (On-hand) ถึงมือน้อง แม้อยู่ห่างไกล
  3. เรียนรู้ด้วยตนเองควบคู่กับการพบกลุ่มเพื่อน
  4. แผนการเรียนตามอัธยาศัย เลือกเวลาเรียนที่เหมาะกับบริบทชีวิต
  5. Mobile School แพลตฟอร์มออนไลน์เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ใช้เทคโนโลยีเปิดประตูสู่การเรียนรู้
  6. ค่ายกลับมาพบจบแน่ พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจการเรียนรู้ให้เด็กที่หลุดจากการศึกษา
  7. ส่งใบงานและการบ้านถึงบ้าน
  8. จัดการเรียนรู้ในสถานพินิจและกระบวนการยุติธรรม ให้โอกาสการศึกษาเด็กก้าวพลาด
  9. Hybrid Learning เรียนออนไลน์และออนไซต์อย่างยืดหยุ่น
  10. ปรับบ้านเป็นห้องเรียนสำหรับเด็กพิการรุนแรง
  11. บริการนอกสถานที่โดยหน่วยบริการของศูนย์การศึกษาพิเศษให้เด็กพิการในพื้นที่ห่างไกล
  12. จัดการเรียนรู้ในโรงพยาบาลสำหรับเด็กเจ็บป่วยได้เรียนต่อเนื่องไม่ขาดช่วง
  13. เรียนออนไลน์ควบคู่ฝึกอาชีพ ส่งสื่อถึงบ้าน ตอบโจทย์ชีวิตจริงของน้อง

“สำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 อันใกล้นี้ (16 พฤษภาคม 2568) ขอฝากให้สถานศึกษาทุกแห่ง ดูแลและดำเนินการเตรียมความพร้อมฯ ช่วยกันดูแลและป้องกัน ไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันพาเด็กที่หลุดไปจากระบบการศึกษาจากข้อมูลในโครงการ Thailand Zero Dropout กลับมาเรียนได้แล้วประมาณ 400,000 คน

“ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ “การสร้างเครือข่ายการศึกษา” เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการบูรณาการทำงานร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ สถานพยาบาลและเจ้าหน้าที่พยาบาล ท้องถิ่น ชุมชน และภาคส่วนอื่น ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้คนไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” อย่างมีความสุขในทุกพื้นที่ต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2568 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กสศ. ได้ร่วมกันยกระดับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน OBEC CARE ให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาระบบที่เคยทดลองใช้ใน 30 เขตพื้นที่การศึกษาในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องการลดเวลาในการกรอกข้อมูล โดยเน้นการบูรณาการจากฐานข้อมูลระบบคัดกรองนักเรียน เพื่อให้ครูสามารถติดตาม ดูแล และช่วยเหลือเด็กได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ในปีการศึกษา 2568 ระบบนี้จะถูกขยายผลและนำมาใช้จริงใน 245 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 

“ระบบOBEC CARE ใหม่ล่าสุด ได้เชื่อมโยงข้อมูลความยากจนของนักเรียนกับระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล Data Management Center หรือ DMC ได้ ทำให้คุณครูไม่จำเป็น ต้องมีการเก็บแฟ้มเอกสารที่เป็นกระดาษซ้ำซ้อนอีกต่อไป สามารถเรียกดูข้อมูลเพื่อสรุปการทำงานแบบ Real Time ได้ เพื่อนำข้อมูลมาบริหารจัดการ และวางแผนการทำงานได้ ในทุกระดับ จากการกรอกข้อมูลเพียงครั้งเดียว”

นอกจากนี้ ระบบ OBEC CARE ใหม่ยังมีฟังก์ชันวิเคราะห์ความเสี่ยงของนักเรียน ทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ และปัจจัยเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยสามารถจัดลำดับความเร่งด่วน ส่งต่อข้อมูลสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำหรับการดูแลด้านสุขภาพ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านระบบ พม. Smart เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาทางสังคมหรือเป็นผู้พิการได้อย่างครอบคลุม

การพัฒนาระบบ OBEC CARE ไม่ได้เป็นเพียงแค่การลดภาระงานของครูเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการ เฝ้าระวัง ป้องกัน และฟื้นฟู เด็กกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา

ในปีการศึกษา 2568 สพฐ. และ กสศ. ขอความร่วมมือผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง มอบหมายให้มี ผู้ดูแลระบบแอดมินเขต ประจำในกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา เพื่อทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของระบบ OBEC CARE อย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านกำหนดการใช้งาน วิธีการนำไปใช้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มใช้งานในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

ทั้งนี้ สพฐ. และ กสศ. จะร่วมกันจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับแอดมินเขตและแอดมินโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถใช้งานระบบ OBEC CARE เวอร์ชันใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์รายละเอียดเพิ่มเติมในลำดับถัดไป

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวต่อถึง โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน (ODOS) ว่าได้มีการประกาศคุณสมบัติของนักเรียนที่มีสิทธิสมัครขอรับทุนการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติดังนี้:

  • เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • กำลังศึกษาในระดับมัธยมปลาย หรือ ปวช. สายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM)
  • มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไป
  • ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 12,000 บาทต่อคนต่อเดือน
  • มีความประพฤติดี ความกตัญญู และสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ

โดยนักเรียนจากครัวเรือนยากจน หรือผู้ที่ได้รับเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรก หากโรงเรียนใดไม่มีนักเรียนในกลุ่มดังกล่าว จึงจะพิจารณานักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้เกินเกณฑ์ตามลำดับ

“การกำหนดร่างหลักเกณฑ์และกระบวนการคัดเลือกนักเรียนทุน ODOS จะเปิดโอกาสให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. และอาชีวศึกษา สามารถเสนอชื่อนักเรียนจากสถานศึกษาเป้าหมายด้าน STEM จำนวน 683 แห่ง โดยแต่ละโรงเรียนสามารถเสนอชื่อได้โรงเรียนละ 2 คน ซึ่งจะมีการประกาศรายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมทั้ง 683 แห่งในลำดับต่อไป

และเมื่อทราบรายชื่อโรงเรียนแล้ว ในช่วงเปิดเทอมใหม่นี้ ขอให้ท่านผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขต และคุณครูในโรงเรียนที่มีรายชื่อ เร่งค้นหานักเรียนที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 เพื่อให้ กสศ. สามารถเร่งส่งรายชื่อให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับทราบ ทั้งนี้ จะมีการออกหนังสือเวียนไปยังโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมในลำดับต่อไป”

“สำหรับรายชื่อนักเรียนที่ได้รับทุน ODOS รุ่นแรก จะมีการประกาศในเดือนกันยายน 2568 โดยจะมีนักเรียนจำนวน 1,200 คนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก ซึ่ง กสศ. จะสนับสนุนงบประมาณในการเดินทางไปสมัครสอบกับสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดส่งนักเรียนทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

โดยจะมีนักเรียนจำนวน 100 คนที่ได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนต่อยัง 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย โดยเฉพาะในกรณีของประเทศออสเตรเลีย จะเน้นสำหรับเด็กสายอาชีพ ส่วนเด็กสาย STEM จะถูกส่งไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศอีก 1,100 คน จะยังคงได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงจากสลากการกุศล เพื่อให้สามารถศึกษาต่อในสาขา STEM กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยได้”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout ซึ่งได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขเด็ก 1,025,514 คน ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวเลขลดลงเหลืออยู่ที่ 880,463 คนในปีการศึกษา 2567

“กสศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลและรายได้จากสลากการกุศล เพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน โดยเปิดโอกาสให้ผู้นำท้องถิ่นและสมาชิกในภาคประชาสังคมร่วมกรอกข้อมูลเด็กนอกระบบเข้ามา ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการช่วยเหลือเป็นรายกรณี”

โดยกำหนดอัตราการสนับสนุนดังนี้:

  • เด็กปฐมวัย (อนุบาล): 2,000 บาท/คน
  • ระดับประถมศึกษา: 3,000 บาท/คน
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น: 4,000 บาท/คน

งบประมาณดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน เช่น ค่าชุดนักเรียน ค่าเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม เพื่อให้เด็กสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือเข้าถึงการเรียนรู้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละคน

กระบวนการเบิกจ่าย จะเริ่มจากครูหรือผู้สำรวจภาคสนามที่พบเด็กนอกระบบการศึกษา บันทึกข้อมูลของเด็กและเยาวชนที่ประสงค์จะเรียนต่อ พร้อมให้เจ้าหน้าที่รัฐรับรองข้อมูล และส่งต่อไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในระบบ Thailand Zero Dropout

เมื่อข้อมูลได้รับการยืนยัน ความช่วยเหลือจะจ่ายเป็น 2 งวด:

  1. งวดแรก (50%): เบิกจ่ายทันทีหลังพบตัวเด็กและบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบ
  2. งวดที่สอง (อีก 50%): เบิกจ่ายเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน และพบว่าเด็กได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว

การสนับสนุนนี้ครอบคลุมทั้งกรณีที่เด็กกลับเข้าห้องเรียนปกติ และกรณีที่ไม่สามารถเข้าเรียนในรูปแบบเดิมได้ โดยสามารถจัดการศึกษาในลักษณะ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ หรือ Mobile School หรือรูปแบบใด ๆ ตาม 13 แนวทางที่ ศธ. กำหนดไว้

ดร.ไกรยส กล่าวเพิ่มเติมว่า กสศ. จะมีการออกหนังสือเวียนแจ้งหลักเกณฑ์การดำเนินงานไปยังทุกเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้สามารถกำกับ ติดตาม และดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในช่วงวันที่ 10 มิถุนายน ก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณรายหัวตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป