กสศ. ร่วมกับ กทม. จัดสรร ‘ทุนเสมอภาค’ ถึงมือนักเรียน ‘สังกัด กทม.’ หลังครูใน 341 โรงเรียนร่วมลงพื้นที่คัดกรอง
พร้อมกำกับติดตามสถานศึกษาป้องกันเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบผ่านสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร

กสศ. ร่วมกับ กทม. จัดสรร ‘ทุนเสมอภาค’ ถึงมือนักเรียน ‘สังกัด กทม.’ หลังครูใน 341 โรงเรียนร่วมลงพื้นที่คัดกรอง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยผลการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) โรงเรียนสังกัด กทม. หลังดำเนินการลงพื้นที่ค้นหาและจัดทำฐานข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษร่วมกับกรุงเทพมหานคร เมื่อภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 เป็นครั้งแรก

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ตามที่กรุงเทพมหานครได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กสศ. เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส รวมถึงการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ทำให้เกิดกลไกสนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจนเพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค และระบบติดตามสถานะการศึกษาของนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด กทม.

“การทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการศึกษา คุณครูและผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด กทม. ตลอดจนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้สนับสนุน กสศ. โดยลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านเด็กนักเรียนระดับการศึกษาภาคบังคับชั้นอนุบาลถึง ม.3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้อยโอกาส หรือมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยได้บันทึกข้อมูลนักเรียนลงระบบจำนวน 6,159 คน แบ่งเป็นนักเรียนจากครัวเรือนปกติ 6,123 คน จำแนกเป็นระดับอนุบาล 904 คน ประถมศึกษา 4,601 คน มัธยมศึกษา 618 คน และนักเรียนจากครัวเรือนสถาบันในความดูแลของมูลนิธิ สถานสงเคราะห์ และวัด จำนวน 36 คน จำแนกเป็นระดับอนุบาล 5 คน และประถมศึกษา 31 คน”

ดร.ไกรยส ระบุว่า กสศ. ได้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม หรือ PMT (Proxy Mean Test) เพื่อจัดระดับความยากจนพิเศษ คือนักเรียนมีรายได้เฉลี่ยสมาชิกครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ประกอบกับข้อมูลสถานะครัวเรือน 8 ด้าน ได้แก่ ภาวะพึ่งพิง การอยู่อาศัย ลักษณะที่อยู่อาศัย ที่ดินทำการเกษตร แหล่งน้ำดื่ม แหล่งไฟฟ้า ยานพาหนะ และสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน จากการประมวลผลคะแนน PMT พบว่ามีนักเรียนที่เข้าเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาคในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 1,091 คน จากสถานศึกษาสังกัด กทม. จำนวน 256 แห่ง โดยขณะนี้สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. ได้แจ้งบัญชีรายชื่อสถานศึกษาที่ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาค เพื่อให้สถานศึกษาตรวจสอบรายชื่อนักเรียนทุนและเงินทุนเสมอภาคที่ได้รับผ่านระบบ BKK.thaieduforall.org และให้สถานศึกษาดำเนินการจ่ายเงินเป็นค่าครองชีพสำหรับนักเรียน รวมถึงให้สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ติดตามกำกับสถานศึกษา ให้ดำเนินการตามแนวทางโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขเรียบร้อยแล้ว

“การจัดสรรทุนเสมอภาค เป็นบันไดขั้นแรกของการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. ที่ทำให้มีฐานข้อมูลนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาว่าอยู่ที่ไหนบ้าง หลังจากนี้จะได้เข้าสู่ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่น้องๆ จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากแหล่งทุนต่างๆ เช่น กสศ. มีความร่วมมือกับภาคเอกชนและอีกหลายภาคส่วน ขณะที่ฝ่ายบริหาร กทม. รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ให้ความสนใจนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนานโยบายสวัสดิการพื้นฐานด้านการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัด โดยใช้งบประมาณของ กทม. เพิ่มเติม ตอนนี้อยู่ระหว่างทำงานร่วมกันเพื่อนำข้อเสนอเพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ และเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับนักเรียนทุกคนให้เพียงพอต่อค่าครองชีพด้านการศึกษา เพื่อเข้าสู่การพิจารณางบประมาณของสภา กทม. หากได้รับการตอบรับ กทม. จะเป็นพื้นที่แรกที่เพิ่มเงินอุดหนุนให้นักเรียนด้วยเงินท้องถิ่น” ดร.ไกรยส กล่าว