มูลนิธิเอสซีจี ปลุกวาระแห่งชาติ ‘Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด’ กสศ. ชี้โจทย์สำคัญต้องสร้างทักษะที่จำเป็น ตอบโจทย์ชีวิตจริง

มูลนิธิเอสซีจี ปลุกวาระแห่งชาติ ‘Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด’ กสศ. ชี้โจทย์สำคัญต้องสร้างทักษะที่จำเป็น ตอบโจทย์ชีวิตจริง

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิเอสซีจีเดินหน้าขยายแนวคิด Learn to Earn สร้างวาระแห่งชาติ ‘เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด’ จุดประกายและเปิดมุมมองใหม่ให้เยาวชนปรับตัวสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวนอย่างรวดเร็ว

ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อ ‘เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด ผนึกกำลังชาติ เพื่ออนาคตไทย’ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เริ่มต้นวงเสวนาด้วยการฉายภาพความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโลก นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ว่าโลกยุคดิจิทัลกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือ digital transformation และเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่อัตราเร่งและยากจะคาดเดาได้ นอกจากนี้ยังเกิดภาวะที่เรียกว่า digital disruption ซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ยากที่สุดที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญคือ การเปลี่ยนแปลงของกำลังคน

นายเกรียงไกร ชี้ถึงปัญหาทุนมนุษย์ของประเทศไทยที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วพอ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของภาคอุตสาหกรรม แม้ภาคอุตสาหกรรมจะสามารถลงทุนในเครื่องจักรมูลค่ามหาศาลได้ แต่การขาดแคลนคนทำงานที่มีทักษะเหมาะสมก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ 

ทั้งนี้ ทักษะแรงงานที่ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการสูง ได้แก่ ทักษะทางวิศวกรรม ทักษะด้านดิจิทัล และทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล โดยปัจจุบัน ส.อ.ท. พยายามอบรมฝึกฝนคนให้มีทักษะดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนให้มากขึ้น รวมถึงเร่งพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทั้งอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมใหม่

นายเกรียงไกร เน้นย้ำว่า new economy หรือเศรษฐกิจใหม่ ย่อมต้องการคนที่มี new skills หรือทักษะใหม่ ๆ ดังนั้น การศึกษาไทยต้องปรับตัว มีการฝึกอบรม up-skill/re-skill มีการพัฒนาวิชาชีพ มีการศึกษาวิจัย เสริมความรู้และนวัตกรรม เพื่อจะได้บัณฑิตที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ.

ต่อมา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะนับเป็นปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภารกิจของ กสศ. มุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงการศึกษา การหลุดออกจากระบบการศึกษา 

ดร.ประสาร ชวนพิจารณาว่าระดับการศึกษาของผู้ปกครองสัมพันธ์กับการเข้าถึงการศึกษาของลูก หากพ่อแม่มีระดับการศึกษาต่ำ ลูกก็จะได้รับการศึกษาต่ำไปด้วย ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของ กสศ. จะมุ่งกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด 15 เปอร์เซ็นต์ล่างสุด ครอบคลุมทุกช่วงวัย

ปัจจุบันมีเด็กอย่างน้อย 600,000 คน อยู่นอกระบบการศึกษา ส่วนเด็กที่อยู่ในระบบก็ขาดความรู้และทักษะที่จำเป็น นำมาซึ่งทัศนคติของทั้งผู้ปกครองและเด็กว่า ระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์การทำงาน จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ

ดังนั้น โจทย์สำคัญ คือการสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ต้องมอบทักษะที่ตอบโจทย์ชีวิตจริง ให้ผู้เรียนพัฒนาตัวเองได้ รวมถึงมีความสามารถในการแข่งขัน

ดร.ประสาร ยกตัวอย่างโครงการของ กสศ. เช่น ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่เน้นการให้ทุนกับเด็กนักเรียนยากจนเพื่อเข้าเรียนในหลักสูตรสายอาชีพที่ใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถจบมาประกอบอาชีพได้

ตัวอย่างเช่น หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปี ซึ่ง กสศ. ทำสัญญากับคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อคัดเลือกนักเรียนยากจนที่เหมาะสมจะได้รับทุนดังกล่าว 

ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ทางด้าน ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวยอมรับถึงปัญหาของระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต รวมถึงปัญหาการพัฒนาคุณภาพคน ซึ่งเป็นความท้าทายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องหาวิธีการต่อไป ส่วนเด็กที่หลุดจากระบบไปแล้วนั้น กระทรวงศึกษาธิการพยายามติดตามเด็กผ่านกลไกของกระทรวงอยู่เสมอ

ดร.พิเชฐ กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ซึ่งกำลังปรับตัวไปสู่ digital transformation มากขึ้น และกำลังพัฒนาหลักสูตรขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงระดับอุดมศึกษาใหม่ โดยจะนำเอาการเรียนรู้แบบ active learning มาปรับใช้ให้มากขึ้น และในการเรียนการสอนจะต้องเน้นพัฒนาทั้ง soft skill และ hard skill ควบคู่กัน

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอว่าแม้การศึกษาในปัจจุบันจะสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ หรือ learn from anywhere แต่จะต้องพัฒนาไปอีกขั้นให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น

ระบบการศึกษาในปัจจุบันจะต้องนำเอาเทคโนโลยีมาเสริม เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะที่จำเป็น เช่น นักศึกษาแพทย์สามารถฝึกฝนทักษะการผ่าตัดแบบ virtual reality หรือเทคโนโลยีความจริงเสมือน ก่อนที่จะไปผ่าตัดจริงได้

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ปิยะสกล เสนอแนวคิด micro credential หรือประกาศนียบัตรฉบับจิ๋ว ที่เน้นการฝึกฝนทักษะเฉพาะเรื่อง เฉพาะความสนใจ ในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเก็บเกี่ยวทักษะไปใช้ในตลาดแรงงานได้

นอกจากนี้ การเรียนข้ามศาสตร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะศาสตร์เพียงชนิดเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะต้องพัฒนาหลักสูตรที่มีการบูรณาการองค์ความรู้ต่างแขนงให้มากขึ้น