นักวิชาการ ชี้ “กลไก ปชต.ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ต้องเริ่มที่การศึกษาที่สร้างความเสมอภาค” บนฐานข้อมูลที่เข้าถึง

นักวิชาการ ชี้ “กลไก ปชต.ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ต้องเริ่มที่การศึกษาที่สร้างความเสมอภาค” บนฐานข้อมูลที่เข้าถึง

วานนี้ (2 พ.ย.) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร จัดประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 21 ประจำปี 2562 เรื่อง “ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำสร้างคุณภาพประชาธิปไตย (Bridging the Inequality Gap and Nurturing Quality of Democracy)”  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ และเพื่อให้ได้ข้อเสนอสำหรับขับเคลื่อนนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างประชาธิปไตยไทยที่มีคุณภาพ เพื่อร่วมกันนำพาประเทศไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท  รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา      (กสศ.) กล่าวในการเป็นวิทยากรห้องย่อยที่ 4 ในหัวข้อเรื่อง “เพิ่มคุณภาพประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาสังคมเสมอภาค” ว่า เรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทย เปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้าน โดยปฏิญญาจอมเทียน (Jomtian Declaration) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ประเทศอาเซียนเข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน อีกด้านหนึ่งคือความเสมอภาคทางการศึกษากับคุณภาพประชาธิปไตย ซึ่งผู้ใช้กลไกประชาธิปไตย ทั้งการเลือกตั้ง การแสดงออกทางความคิด การแก้ไขปัญหาด้วยกลไกประชาธิปไตย โดยเกิดจากการนำความรู้ ทักษะ มุมมอง เกิดจากกระบวนการทางการศึกษาทั้งสิ้น ถ้าประชาชนทุกคนไม่มีโอกาสทางการศึกษา  การใช้สิทธิและประชาธิปไตยที่มีความเสมอภาคได้อย่างไร  ดังนั้น ทิศทางการเพิ่มคุณภาพประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาสังคมเสมอภาคจะดีขึ้นได้ การศึกษาก็ต้องมีความเสมอภาคก่อน

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า นโยบายหลักประกันเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้เกิดการผลักดันให้มี กสศ.เป็นกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังที่กล่าวในปี 1990 ปฏิญญาจอมเทียนเป็นจุดเริ่มต้น กว่า 30 ปีที่การศึกษาเพื่อปวงชนเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แล้วหรือไม่ โดยในปี 2020 ประเทศไทยจะจัดงานครบรอบ 30 ปี และใน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย SDG 4 หรือไม่ ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนรายงานสรุปผลงานเด่นของโลกในรอบ 5 ปีแรก ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการศึกษา (SDG4) พบบทเรียนที่จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาใน 6 ด้าน ได้แก่ 1)มากกว่าโอกาสทางการศึกษา คือการไปให้ถึงการเรียนรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Beyond Access) 2)มากกว่าการเรียนรู้ทั่วไป คือการไปให้ถึงการเป็นพลเมืองโลก และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Beyond Basics) 3)มากกว่าการศึกษาในโรงเรียน จะต้องไปให้ถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาปรับทักษะให้เท่าทันโลก (Beyond Schooling) 4)มากกว่าระบบการศึกษา คือการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคี นอกระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนากําลังคนที่ยั่งยืน (Beyond Education) 5)มากกว่าประเทศ จะต้องไปให้ถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคและนานาชาติ (Beyond Countries) 6)มากกว่าค่าเฉลี่ย จะต้องไปให้ถึงความเสมอภาค โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Beyond Averages) ฉะนั้น ความเสมอภาคทางการศึกษา ในกลุ่มเด็กที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ยากที่สุด จึงแก้ด้วยวิธีการเดิมไม่ได้ ต้องใช้วิธีการทำงานใหม่ที่ใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“ทุกมิติของความเสมอภาค หนึ่งในนั้นคือเรื่องของความเสมอภาคทางการศึกษา เมื่อเราได้ข้อมูลที่เป็นกลไกสำคัญในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพประชาธิปไตย โดย กสศ.มีเป้าหมายใน 10 ปี ข้างหน้าที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในกลุ่มเด็กนักเรียนยากจน ยากจนพิเศษ รวมถึงเด็ก เยาวชนที่ออกนอกระบบการศึกษา ทุกช่วงวัย จำนวน 4.3 ล้านคน ซึ่งจากการที่ กสศ.ได้สร้างนวัตกรรมการคัดกรองเด็กยากจน ยากจนพิเศษผ่านสมาร์ทโฟน หรือที่เรียกว่า isee โดยได้ติดตามนักเรียน จำนวน 600,000 คน พบผลลัพธ์ความสำเร็จ ร้อยละ 98 เด็กกลับมาเรียนในระบบ ซึ่งสิ่งที่ค้นพบมาตรการในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กไม่ได้ปฏิเสธการศึกษาอย่างไม่มีเหตุผล เด็กบางคนไม่มาเรียนเพราะขาดปัจจัยในเรื่องเสื้อผ้า อาหาร เงิน อื่นๆ โดย กสศ.ได้นำข้อมูลที่ได้ติดตามมาจัดทำเป็นแผนที่ประเทศไทย จะเห็นการกจายตัวของกลุ่มเด็กที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหากนักการเมืองได้นำข้อมูลเหล่านี้ มาเป็นนโยบายในการหาเสียง จะถือเป็นการช่วยกันขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น ถ้าประชาชนได้รับการศึกษาที่ดีและทั่วถึง ก็จะเป็นประชาชนที่มีความสามารถในการเสียภาษีเพื่อนำมาเป็นปัจจัยในการพัฒนาประชาธิปไตย สู่ความเสมอภาคได้อย่างแท้จริง” ดร.ไกรยส กล่าว