คนรุ่นใหม่แบบไหนที่จะมัดใจนายจ้างยุค 4.0 ?

คนรุ่นใหม่แบบไหนที่จะมัดใจนายจ้างยุค 4.0 ?

“ไม่มีนายจ้างคนไหนรับคนที่ไม่รับผิดชอบและไม่มีวินัยไม่เป็นผู้ใหญ่เสียที ทุกบริษัทคิดเหมือนกัน สิ่งที่นายจ้างทุกคนในโลกนี้ต้องการ คือคนดีและคนเก่ง คนดี ถ้าในวัยเด็กก็คือเด็กกตัญญู ตั้งใจเรียนหนังสือ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน ก็ต้องซื่อสัตย์ จงรักภักดี คิดอย่างสร้างสรรค์ มองโลกสร้างสรรค์ สร้าง creative สร้างสิ่งใหม่ๆ ….”

นายบัณฑิต ปัตทวีคงคา ผู้จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด กล่าวย้ำกับน้องๆ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เขตภาคอีสานจำนวน 184 ชีวิต เพื่อรับมือกับสถานการณ์ การทำงานในยุค ดิจิทัล 4.0 และ กลยุทธ์ วิธีการมัดใจนายจ้าง ในเวที ‘ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต’ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ครั้งที่ 6 ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคอํานาจเจริญ จ.อํานาจเจริญ

นายบัณฑิต กล่าวว่า การทำงานในยุค ดิจิทัล 4.0 ยุคที่ความฉลาดของเทคโนโลยีเคลื่อนที่ไม่มีหยุด ทำให้หลายองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันตามเทรนด์ และ พยายามพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจ โดยมีหลักการสำคัญ 3 เรื่อง

หลักการที่ 1 นายจ้างต้องการคนเก่ง 3 เก่ง หนึ่ง คือต้องเก่งเรียน เก่งเรียนรู้ เพราะตอนเป็นเด็กเราจะถูกวัดว่าเรียนเก่งแค่ไหน ซึ่งจะบ่งบอกถึงความรับผิดชอบในวัยเรียน เพราะหากเรามีความรับผิดชอบในวัยเรียน สิ่งนี้ก็จะเป็นเครื่องที่จะยืนยันให้ได้ว่า ถ้าคุณมาทำงานกับเราคุณก็จะมีความรับผิดชอบเหมือนกัน นี่คือคำว่าเก่งนักเรียน เก่งที่ 2 คือเก่งงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่น้องๆ ต้องปฏิบัติและ เก่งที่ 3 คือ ต้องคิดแก้ปัญหา เพราะบริษัทมีปัญหา ถึงได้จ้างเรามาและมาร่วมกันแก้ปัญหาให้มันรู้ล่วง

หลักการที่ 2 คือ ต้องมีความคิดแบบมีเหตุมีผลมีความลึกซึ้ง คิดอย่างสร้างสรรค์ มองโลกสร้างสรรค์ สร้าง creative สร้างสิ่งใหม่ๆที่เป็นเรื่องหลักสามคิดที่จะทำให้ทุกคนมีความพร้อมที่จะไปเก่งงาน

หลักการที่ 3 คือ เก่งคน จะทำงานกับคนจำนวนมาก การตัดสินใจของคนแต่ละคน แต่ละคนต้องมาฟังกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เก่งคน คือต้องทำงานเป็นทีม ต้องรู้จักว่าทีมคืออะไร หรืออยู่กับทีมได้อย่างไร ร่วมมือร่วมใจนี่คือหลักการ

“หรือให้เข้าใจง่ายๆ ก็ทุกที่ต้องการคนเก่ง 3 เก่ง หนึ่งคือต้องเก่งเรียน ต้องเรียนรู้ เพราะเรามีความรับผิดชอบในวัยเรียน จะช่วยยืนยันให้ได้ว่าเมื่อทำงานก็จะมีความรับผิดชอบเหมือนกัน เก่งที่ 2 คือเก่งงาน การทำงานโดยปกติปูนซีเมนต์ไทยจะสอนงาน แต่จะสอนคนประเภทไหน สิ่งที่น้องๆ ต้องปฏิบัติในวันนี้เพื่อจะรองรับงานที่เราจะสอนคือต้องมี 3 คิด คือ หนึ่งคิดแก้ปัญหา เพราะบริษัทมีปัญหาถึงได้จ้างเรามาและมาร่วมกันแก้ปัญหาให้ลุล่วง สอง มีความคิดแบบมีเหตุมีผลมีความลึกซึ้ง สาม คิดอย่างสร้างสรรค์มองโลก สร้างสรรค์สร้าง creative สร้างสิ่งใหม่ๆ นี่เป็นเรื่องหลักสามคิดที่จะทำให้เราพร้อมที่จะไปเก่งงาน ซึ่งคนเก่งคนจะทำงานกับคนจำนวนมาก การตัดสินใจของคนแต่ละคน ต้องฟังซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นต้องมีความเก่งในการทำงานเป็นทีม ต้องรู้จักว่าทีมคืออะไร หรืออยู่ร่วมกับทีมได้อย่างไร นี่คือหลักการ” นายบัณฑิต กล่าว ก่อนจะเผยต่อไปว่า

เช่นเดียวกับกิจกรรมที่ กสศ. ให้นักเรียนทุนได้ทำเพื่อปรับพื้นฐานของทุกคน แต่ยืนยันว่า เมื่อก้าวเข้าไปทำงานบริษัท ก็จะมีการปรับฐานที่มากกว่านี้ ตรงนี้เป็นเหมือนการเตรียมความพร้อม เพราะการทำงานจริงๆ มันจะยากกว่านี้ นั่นก็เพราะว่า บริษัทไม่ใช่สถานศึกษา จะรับคนทำงานก็ต้องการคนเก่งเรียนเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เรียนรู้จากสิ่งที่เห็น

อย่างไรก็ตามนับเป็นความท้าทายสำหรับเด็กๆ ในอนาคตเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งเชื่อว่าหากมีความเก่งใฝ่รู้ใฝ่เรียน จะทำให้มีความพร้อมที่จะไปเลือกบริษัทที่ทำงาน เพราะการสมัครงานหรือทำงาน เราเลือกเขา หรือ เขาเลือกเรา ตอนเราไปสมัครงานต้องถามตัวเองก่อนว่าเราพร้อมหรือไม่ ถ้าเราไม่พร้อมก็ไม่มีทางที่จะได้รับเลือก

“วันนี้น้องๆ มาเริ่มเรียนสิ่งที่สำคัญที่สุดในวัยของน้องๆ ซึ่งอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างเด็กกับความเป็นผู้ใหญ่ ผมอยากจะบอกน้องว่าให้เริ่มคิดเป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว ซึ่งเด็กอาจจะสงสัยว่าทำอย่างไรถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ หรือจะให้ครูหรือใครไปบอกว่าต้องทำตัวอย่างไร ถึงเป็นผู้ใหญ่อาจจะไม่ช่วยอะไร เพราะความพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่จริงๆ คือต้องมีความรับผิดชอบ ต้องเริ่มจริงจังกับชีวิต เช่น ถ้าฝันอยากจะเป็นช่างยนต์ก็ต้องจริงจังกับการเรียนตอนนี้ คือเรียนไปทำไม ทำอย่างไรถึงจะเก่งได้ ซึ่งคำว่าจริงจัง คือการคิดวางแผนอนาคตว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร อะไรที่เราควรทำ และอะไรที่เราไม่ควรทำ อยากฝากกับน้องๆ ว่า เตรียมตัวไว้ 2 เรื่อง คือ เมื่อไหร่จะโตเป็นผู้ใหญ่ และการเรียนรู้ว่าเราควรจะทำตัวอย่างไรถึงจะเรียกว่าเราเป็นคนเรียนรู้ตลอดชีวิต” นายบัณฑิตระบุ

การศึกษาเปลี่ยนวรรณะคน สามารถยกระดับฐานะคน

นายบัณฑิต กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า คนไม่เรียนก็เหมือนนกไม่มีปีกก็บินไม่ได้ ได้แค่นั้นเดินต้วมเตี้ยมอยู่กับพื้น การศึกษาเป็นทรัพยากรหรือเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่ามากกว่าทรัพย์ใดๆ เพราะการศึกษาทำให้เราสามารถขุดทรัพย์สินในอนาคตได้ และเชื่อว่าการให้โอกาสทางการศึกษา และการเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้ คือสิ่งที่ต่อยอดขุมทรัพย์ แต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีนายจ้างคนไหนรับคนที่ไม่มีความรับผิดชอบและไม่มีวินัยไม่เป็นผู้ใหญ่เสียทีเข้าทำงาน ทุกบริษัทคิดเหมือนกัน