ลงนาม MOU ครูรัก(ษ์)ถิ่น สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ลดเหลื่อมล้ำ ในพื้นที่ห่างไกล เตรียมบรรจุ 1,500 โรงเรียนทั่วประเทศ

ลงนาม MOU ครูรัก(ษ์)ถิ่น สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ลดเหลื่อมล้ำ ในพื้นที่ห่างไกล เตรียมบรรจุ 1,500 โรงเรียนทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ณ โรงแรม ทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ ฯ – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมลงนามความร่วมมือเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครู โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 5 ปีการศึกษา 2567 และกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายการทำงานร่วมกันของสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปี 2566 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และผู้แทนจากสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจาก 14 สถาบันเข้าร่วม

ในความร่วมมือเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครู โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 5 ได้มี 8 สถาบันร่วมลงนาม ได้แก่ มหาวิทยาลัยภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี 

    

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การศึกษาประเทศไทยพบว่า ในจำนวนโรงเรียนมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ มีโรงเรียนกลุ่มที่เรียกว่า Protected School ซึ่งไม่สามารถควบรวมได้ เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารเช่นบนเขาหรือในเกาะแก่ง โดยโรงเรียนเหล่านั้นถือว่าเป็นความหวังเดียวของคนนับร้อยนับพันชีวิตในพื้นที่ ขณะที่ในทางกลับกัน โรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กที่ห่างไกลเหล่านี้ต้องประสบกับปัญหาครูโยกย้ายบ่อย เนื่องจากครูที่ได้รับการบรรจุไม่ใช่คนในพื้นที่ ดังนั้นเมื่ออยู่ครบเกณฑ์ 2 ปี จึงมักทำเรื่องขอย้ายกลับไปยังภูมิลำเนาของตน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้เอง ที่ กสศ. และหน่วยงานต้นสังกัดการศึกษา คัดเลือกให้เป็นโรงเรียนปลายทางของนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น เพราะปัญหาขาดแคลนครูเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะปล่อยให้ดำเนินต่อไปอีกไม่ได้

นอกจากการแก้ปัญหาขาดแคลนครู กลุ่มเป้าหมายของนักศึกษาโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ยังคัดสรร คัดกรอง และคัดเลือกจากเยาวชนที่มีความตั้งใจที่จะเป็นครูเป็นตัวตั้ง รวมถึงเป็นเยาวชนจากกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ขาดโอกาส ซึ่งเป้าหมายหนึ่งของโครงการคือการทำให้น้อง ๆ เหล่านี้เป็นคนแรกของครอบครัวที่จบการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ และสามารถพาตนเองและครอบครัวพ้นจากกับดักความยากจนได้สำเร็จในรุ่นของตน

“เมื่อวันที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นกลับไปบรรจุที่โรงเรียนปลายทาง พวกเขาจะพร้อมด้วยพลังคนรุ่นใหม่ ทักษะความเป็นครู และความเข้าใจบริบทพื้นที่ในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน และนับจากปีการศึกษาหน้า หรือปี 2567 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่บัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่น จะกลับคืนสู่โรงเรียนปลายทางราวปีละ 300 คน รวม 5 ปี 1,500 คน ซึ่งครูเหล่านี้จะไปทำประโยชน์ให้กับเด็กเยาวชนทั่วประเทศได้มากกว่า 300,000 ชีวิต ใน 50 จังหวัด 800 ตำบล หรือกินพื้นที่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ

“ไม่เพียงส่งครูรัก(ษ์)ถิ่นไปยังโรงเรียนปลายทาง กสศ. ยังมีการติดตามการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนต่อเนื่อง โดยนำเครื่องมือ นวัตกรรม และการสนับสนุนจากภาคเอกชนเข้าไปหนุนเสริม เพื่อให้แต่ละโรงเรียนได้รับการระดมทรัพยากรอย่างเต็มที่ และเป็น 1,500 โรงเรียนที่จะเป็นฐานการขยายต่อการทำงานไปยังโรงเรียนอื่น ๆ และพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต”

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กล่าวว่า แนวคิดกระบวนการผลิตและพัฒนา ‘ครูของชุมชน’ เพื่อสร้างโอกาสให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล คือการสร้างครูรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงให้กลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยโครงการ ฯ 4 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความมุ่งมั่นของสถาบันผลิตและพัฒนาครู ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือทำให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นทั้ง 1,500 คนเป็นหลักฐานยืนยันผลงานวิจัย ว่า ‘ระบบการผลิตและพัฒนาครูในระบบปิด’ สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ได้ ด้วยขั้นตอนการค้นหาคัดกรองคัดเลือกเยาวชนที่มีความต้องการเป็นครู และขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา จากนั้นนำเข้าสู่ขั้นตอนผลิตพัฒนาในหลักสูตรเฉพาะ จนได้ครูที่มีอัตลักษณ์เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงเป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการขนาดใหญ่ และต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 ปี ดังนั้นผลการศึกษาวิจัยที่จะได้จากสถาบันผลิตและพัฒนาครูนี้ จะเป็นคานงัดสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบผลิตและพัฒนาครู เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาด้านการศึกษาของประเทศ แม้ว่าการลงทุนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะใช้ต้นทุนสูง แต่ถ้ามองถึงปลายทางว่าเราผลิตครูหนึ่งคนที่มีคุณภาพ และมีคุณสมบัติเฉพาะที่จะกลับไปพัฒนาชุมชนห่างไกล 1,500 แห่งทั่วประเทศ ก็นับว่าคุ้มค่า เพราะจะมีนักเรียนและคนในชุมชนอีกเรือนแสนที่จะได้รับประโยชน์จากครูรุ่นใหม่ในโครงการนี้

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยระบบผลิตครูคุณภาพกับทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ใน 12 ประเทศที่มีผลลัพธ์ทางการศึกษาระดับสูง พบว่าในประเทศเหล่านี้ มีโครงการผลิตและพัฒนาครูที่คล้ายคลึงกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น แนวคิดสำคัญคือการพัฒนาครูตามช่วงวัยของวิชาชีพ ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ เพื่อไปสู่ ‘สมรรถนะของวิชาชีพ’ ขั้นสูง โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัย (Candidate Teacher Students) ที่เริ่มต้นด้วยคำถามสำคัญ ณ จุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตและพัฒนาครู ว่า ‘ใครควรจะมาเป็นนักศึกษาครู’

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือประเทศเกาหลีใต้และฟินแลนด์ ที่เปิดโอกาสให้เฉพาะเยาวชนที่จบชั้นมัธยมศึกษาด้วยคะแนนสูงสุด 15% แรกเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ์สอบเข้าเรียนคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ทำให้ครูเป็นอาชีพที่เตรียมไว้เฉพาะสำหรับเยาวชนที่มีศักยภาพสูง ส่วนอีกระบบสำคัญคือการคัดเลือกคนเข้าเรียน ที่จะต้องผ่านเกณฑ์ 3 ข้อ คือ ความสามารถทางวิชาการ ความสามารถทางภาษา และคุณลักษณะความพร้อมในการเป็นครู ซึ่งจะวัดประเมินตั้งแต่ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต

และเมื่อผ่านคัดเลือกแล้ว นักศึกษาครู (Teacher Students) จะต้องเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ควบคู่กันระหว่างในห้องเรียนกับหน้างานจริง เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับวิธีการจัดการเรียนรู้ในพื้นที่ที่แตกต่างหลากหลาย สถาบันผลิตและพัฒนาครูจึงต้องมี Enrichment Program หรือหลักสูตรที่ช่วยเติมเต็มการทำงานในบริบทเฉพาะทาง จนถึงช่วงเริ่มต้นการเป็นครู (Beginning Teacher) ที่จะมีการดูแลอย่างต่อเนื่องระหว่างสถาบันผลิตและพัฒนาครู ร่วมกับโรงเรียนปลายทาง ภายใต้กรอบการพัฒนาครูใหม่ 3 ด้าน คือ 1.คุณลักษณะส่วนบุคคล 2.ทักษะทางวิชาชีพ และ 3.ทักษะทางสังคมเพื่อการพัฒนาชุมชน

“อีกตัวอย่างที่น่าสนใจของการผลิตครูในระบบปิดเพื่อตอบโจทย์เชิงพื้นที่ คือในประเทศแคนาดาและออสเตรเลีย ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ และมีหลายส่วนของประเทศที่กันดารและยากลำบาก ครูส่วนใหญ่จึงเลี่ยงจะเข้าไปทำงานตรงนั้น สองประเทศนี้จึงมีวิธีการผลิตครูสำหรับพื้นที่เฉพาะที่คล้ายคลึงกับหลักการของครู(ษ์)ถิ่น คือนำคนในพื้นที่มาเรียนรู้ในทักษะวิชาชีพครู ด้วยการเรียนรู้บทเรียนจากส่วนกลาง และนำองค์ความรู้ร่วมกับประสบการณ์เฉพาะตัว ไปต่อยอดทำงานในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสม”

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า เมื่อโลกเคลื่อนผ่านสู่ยุค ‘Post Covid-19’ ระบบนิเวศทางการศึกษา (Ecosystem & Education) ได้มีการเปลี่ยนแปลงในสามเรื่องสำคัญ ได้แก่

1.การออกแบบหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ (Curriculum design & instruction) ที่ครูต้องเปลี่ยนจากการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กทั้งห้อง (One set to all students) เป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กรายคน (Tailored made to each student) ครูรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องมีทักษะการจัดการเรียนรู้ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม (Flexible Curriculum) สำหรับผู้เรียนที่แตกต่างหลากหลาย    

2.ระบบโรงเรียน (Schooling) เปลี่ยนจากเดิมที่เอาเด็กมานั่งเรียนร่วมกันเป็นห้อง (Lectural Classroom) มาเป็น ‘ห้องเรียนเสมือนจริง’ (Virtual Classroom) และ ‘การเรียนรู้ด้วยตัวเอง’ (Self-learning Modules) มากขึ้น ครูต้องมีความสามารถในการ ‘หยิบฉวย’ และ ‘ออกแบบ’ การจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ มาช่วยให้เด็กเรียนรู้และพัฒนาสมรรถนะได้เป็นรายคน

3.กระบวนการจัดการศึกษา (Education Setting) ที่ขยายฐานจากโรงเรียน (School Based) สู่บ้าน (Home Based) ซึ่งผู้ปกครองจะมีบทบาทในการจัดการเรียนรู้มากขึ้น ฉะนั้นครูต้องสามารถยกระดับการสื่อสารและสร้างความความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง เพื่อดูแลช่วยเหลือเด็กไปด้วยกันได้

“การผลิตและพัฒนาครูในวันนี้ จึงมีความท้าทายอย่างยิ่งกับการพัฒนาประชากรสู่ศตวรรษใหม่ ในโลกที่มุ่งสู่การเรียนรู้เพื่อการ ‘คิดได้-ทำเป็น’ โดยไม่ยึดติดกับเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและตลอดเวลา ครูต้องตามการเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาให้ทัน และนำมาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning ให้ได้ ดังนั้นโจทย์ความต้องการใช้ครูในอนาคต จึงต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องอัตรากำลัง รวมถึงการจัดสรรครูที่ตรงสาขา ตรงตามความต้องการของลักษณะของแต่ละโรงเรียน เราต้องมี ‘ครูที่ถูกต้อง’ เพื่อไปสอนใน ‘โรงเรียนที่ถูกต้อง’ และนี่เป็นภารกิจที่สถาบันผลิตและพัฒนาครูจะต้องทำ ด้วยการสร้างครูรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติสอดรับกับทิศทางการการพัฒนาเชิงพื้นที่ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาที่สั่งสมมายาวนาน และตอบสนองความต้องการใช้ครูในอนาคต ซึ่งโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นคือแนวทางหนึ่ง ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การวางรากฐานระบบการผลิตและพัฒนาครูของประเทศไทยในวันข้างหน้า”

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวว่า บุคคลสำคัญที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา คือ ‘ครู’ โดยเริ่มทำได้จากภายในห้องเรียน เพราะเราเห็นแล้วว่าวิธีการกำหนดกรอบเกณฑ์เดิมที่ทำจากบนลงล่าง หรือ Top-Down นั้น แม้จะมีแนวคิดหลักการหรือเจตนาที่ดีอย่างไร แต่ผลที่พิสูจน์แล้วได้แสดงให้เห็นว่า ‘ไม่เวิร์ก’ ฉะนั้นถ้าจะให้ ‘เวิร์ก’ การเปลี่ยนแปลงต้องมาจาก ‘กลุ่มครู’ และโรงเรียน ด้วยการทำงานที่มีเป้าหมายตั้งต้นที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์ ภายใต้คำถามว่าอยากจะให้ลูกศิษย์ได้อะไรติดตัวไปเมื่อจบการศึกษา หมายถึง ‘กลุ่มครู’ ต้องรวมกลุ่มกันเรียนรู้จากการปฏิบัติ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันผ่านกระบวนการ PLC: Professional Learning Community หรือ ‘ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ’ เพื่อการออกแบบชั้นเรียนแล้วนำไปใช้ จากนั้นเก็บข้อมูลและตีความเพื่อปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แล้วการเรียนรู้จากประสบการณ์จะช่วยยกระดับการเรียนรู้ของศิษย์ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้

โครงการครูรัก(ษ)ถิ่นที่ดำเนินมาถึงรุ่นที่ 5 สถาบันผลิตและพัฒนาครูได้แสดงให้เห็นแล้วว่าจะหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ‘ครู’ ในขั้นตอนการผลิตอย่างไร ก่อนที่ครูรุ่นใหม่เหล่านี้จะเข้าไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการแก้ปัญหาและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล และเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน บ้าน และชุมชนในระดับพื้นที่ โดยมีส่วนกลางเป็นผู้คิดกรอบวางแนวทางและกำหนดเป้าหมาย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและให้การสนับสนุน เพื่อให้ครูและโรงเรียนได้มีบทบาทในการแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า การร่วมงานกับสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 5 คือบทสรุปหนึ่งของโครงการในระยะแรก คือเป็นช่วงผลิตและพัฒนาครู 5 รุ่น รุ่นละ 4 ปี (2563-2571) โดยเป็นการวิจัยค้นหาสถาบันผลิตครูต้นแบบ หาเกณฑ์คัดเลือกนักศึกษาทุน และออกแบบหลักสูตรสร้างครูรุ่นใหม่ และนับจากปีนี้ไปจะเป็นการร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อกำหนดกรอบการทำงานในระยะสนับสนุนติดตามอีก 6 ปี (2571-2577) ที่บัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นจะทยอยเข้าไปเติมในโรงเรียนปลายทางจนครบ 1,500 แห่ง และเป็นจุดเริ่มของการกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ภายใต้กรอบแนวคิด 3 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้กับเยาวชนที่มีศักยภาพและขาดแคลนโอกาส 2.สร้างสถาบันต้นแบบและนวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูคุณภาพสูงที่สอดคล้องกับความต้องการเชิงพื้นที่ 3.พัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลด้วยหลักสูตรที่ตรงกับบริบทพื้นที่

สำหรับหลักสูตรการผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 5 จะครอบคลุมสาขาวิชาปฐมวัย ประถมศึกษา และวิชาเอกคู่ (ปฐมวัย-ประถมศึกษา)  329 อัตรา ตอบโจทย์พื้นที่เป้าหมายโรงเรียนปลายทางใน 40 จังหวัด โดยแบ่งการทำงานเป็นสามระยะคือ ‘ต้นน้ำ’ หรือ 6 เดือนแรกกับการลงพื้นที่ค้นหา คัดกรอง คัดเลือก นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในรัศมีโรงเรียนปลายทางที่ระบุไว้ ‘กลางน้ำ’ คือนำนักศึกษาทุนเข้ารับการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรและมีกิจกรรมเสริมหลักสูตรในระยะเวลา 4 ปี ส่วน ‘ปลายน้ำ’ คือช่วงการสนับสนุนติดตาม และประเมินการปฏิบัติงานของครูรัก(ษ์)ถิ่นในโรงเรียนปลายทางอีก 6 ปี โดยหัวใจของการทำงานคือการดูแลนักศึกษาทุนที่แตกต่างหลากหลายด้วยต้นทุนและภูมิหลังของชีวิต สถาบันผลิตและพัฒนาครูจึงต้องมีการออกแบบการทำงานใหม่ร่วมกัน ระหว่างผู้บริหารและคณาจารย์ในสถาบัน

ดร.อุดม กล่าวว่า ในปี 2567 หรือปีการศึกษาหน้า จะเป็นปีแรกที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 จบการศึกษา และได้รับการบรรจุเข้าปฏิบัติการในโรงเรียนปลายทาง ถือเป็นการเริ่มต้นของการทำงานในระยะสนับสนุนติดตาม และจากนั้นจะเป็นการถอดบทเรียนและขยายผล ขณะเดียวกัน กสศ. จะดำเนินการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อให้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นสามารถเป็นต้นแบบของการผลิตและพัฒนาครูในโครงการอื่น ๆ และครอบคลุมไปถึงการผลิตและพัฒนาครูในสังกัดการศึกษาอื่น ๆ นอกเหนือจากโรงเรียนปลายทางในสังกัด สพฐ. ต่อไป