เพราะอนาคตรอไม่ได้! เปิดตำราการศึกษาฉบับเลื่อนไหลหลังโควิด-19
โดย : ชลิดา หนูหล้า
ภาพประกอบ : ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล

เพราะอนาคตรอไม่ได้! เปิดตำราการศึกษาฉบับเลื่อนไหลหลังโควิด-19

20 ปีที่แล้ว ไม่มีใครสักคนรู้ว่าวันหนึ่งสมุดหน้าเหลืองจะสิ้นความหมาย ภาษาเกาหลีจะเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญซึ่งดึงดูดความสนใจของนายจ้าง การงานที่เคยคุ้นจะกระจัดพลัดพราย หลีกทางให้อาชีพอุบัติใหม่ในดินแดนออนไลน์อันขยายกว้าง

เพราะไม่มีใครรู้ว่าเด็กๆ ในอนาคตต้องเผชิญความท้าทายหรือภัยคุกคามใด แนวทางการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อบ่มเพาะผู้เรียนที่พัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิตจึงได้รับความสนใจจากนักการศึกษายิ่งขึ้นทุกขณะ

ทว่าความพยายามซ่อมแซมระบบการศึกษาเดิมยังไม่สัมฤทธิ์ผล โรคอุบัติใหม่ก็ฉวยโอกาสกัดกินสารพัดบาดแผลการศึกษาจนลุกลาม ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ คุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ไม่คงเส้นคงวา และทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่ถูกจัดสรรอย่างเท่าเทียม

ความเสียหายจากการปิดโรงเรียนหลายแห่งตลอดระยะเวลาการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นสัญญาณว่าการปรับปรุงระบบการศึกษาไม่ใช่ความท้าทายที่รอได้อีกต่อไป แต่ต้องเร่งดำเนินการ เดี๋ยวนี้ เพื่ออุดช่องโหว่ทางในเรียนรู้ของเยาวชนก่อนจะสายเกินแก้

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือ UNICEF รวมถึงองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD ได้ถอดบทเรียนการจัดการศึกษายุคโควิด-19 พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขจากการรวบรวมและประมวลแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพทั่วโลก เพื่อสร้างระบบการศึกษาแห่งอนาคตที่พร้อมรับมือความผันผวนในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง ดังนี้

ข้อเสนอระบบการศึกษาใหม่ของ UNICEF

UNICEF เปิดเผยว่าเด็กที่ครอบครัวมีรายได้น้อย อาศัยในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร เด็กที่เป็นชนกลุ่มน้อย มีความต้องการพิเศษ เป็นผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย ตลอดจนเด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ต้องเผชิญปัญหาการเรียนรู้และปัญหาสุขภาพจิตระหว่างการปิดโรงเรียนที่รุนแรงกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้ ไม่เพียงเพราะเด็กๆ เหล่านี้เป็นเด็กกลุ่มเปราะบางทางสังคมอยู่เดิม แต่การให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการติดต่อขอความช่วยเหลือของพวกเขาชะงักงันเป็นเวลานานอีกด้วย

ดังนั้น หัวใจของการแก้ไขปัญหาการศึกษายุคหลังโควิด-19 จึงประกอบด้วย

1) การรับประกันว่าเด็กทุกคนจะมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นโดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือด้านการเรียนรู้ หรือความช่วยเหลือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชน

2) การพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น พร้อมรับมืออุบัติภัยในอนาคต ผ่านการปรับปรุงกลไกในโรงเรียน สร้างสรรค์ทรัพยากรทางการศึกษาที่หลากหลาย ส่งเสริมองค์ความรู้และทักษะของครู รวมถึงศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสนับสนุนผู้เรียนอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ ยูนิเซฟจำแนกแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้นเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

  1. Access to education provision: ประเภทแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษา
  2. Quality and inclusive learning: ประเภทแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพและความครอบคลุมของการจัดการศึกษา
  3. Well-being: mental health and psychosocial support: ประเภทแนวปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียน ครอบครัว ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษา
  4. Safe schools: ประเภทแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนากลไกและสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการรับมือวิกฤตในปัจจุบันและอนาคตของสถานศึกษา

นอกจากการจำแนกแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว UNICEF ยังแจกแจงรายละเอียดของแต่ละแนวปฏิบัติอย่างรัดกุม โดยแบ่งเป็นแนวปฏิบัติ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงจำแนกขอบเขตของแนวปฏิบัติเหล่านี้เป็นที่ ระดับโรงเรียน ระดับชุมชน และระดับเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อ่านสามารถดูตารางแจกแจงรายละเอียดของแนวปฏิบัติดังกล่าวได้ที่นี่

สำหรับการปรับใช้แนวปฏิบัติเหล่านี้ UNICEF ได้กำหนดขั้นตอนการปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ (Asses) ขั้นตอนการกำหนดแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ (Plan) ขั้นตอนการดำเนินการ (Do) และขั้นตอนการสะท้อนคิดเพื่อปรับปรุงการดำเนินการในอนาคต (Review)

กระนั้นก็ยังมีอีกความท้าทายหนึ่งซึ่งจะมองข้ามไม่ได้ คือสถานการณ์การระบาดขณะนี้เป็นสถานการณ์ ‘สามวันดีสี่วันไข้’ ที่มีความเป็นไปได้หลากหลาย ดังที่ UNICEF อธิบายว่า

ขณะที่ไวรัสยังแพร่กระจาย และยังไม่มีวัคซีนที่ยุติปัญหาดังกล่าวได้ <UNICEF จัดทำรายงานฉบับนี้ในปี 2020> สังคมต้องพร้อมเผชิญชีวิตวิถีใหม่ (new normal) เช่นเดียวกับระบบการศึกษาซึ่งจะแตกต่างจากทั้งที่ผู้ปกครอง ครู และเด็กเคยรู้จัก

โรงเรียนที่กลับมาเปิดทำการย่อมไม่สามารถดูแลนักเรียนทุกคนได้เต็มเวลาด้วยข้อจำกัดจากการรักษาระยะห่างและมาตรการควบคุมโรคอื่นๆ… โดยเวลาเรียนที่ลดลงจะได้รับการชดเชยด้วยการเรียนรู้ทางไกล และการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบที่แตกต่างกันต่อนักเรียนแต่ละคน เป็นไปได้ที่เด็กจะมีโอกาสเรียนรู้ซึ่งหน้ามากน้อยลดหลั่นกันไป ขึ้นอยู่กับอายุ ระดับการศึกษา ลักษณะการเรียนรู้ และสถานการณ์การระบาด

ด้วยเหตุนี้ ข้อควรระวังในการกำหนดแผนการดำเนินงานในสถานการณ์ ‘สามวันดีสี่วันไข้’ (Planing in a context of uncertainty) จึงเป็นอีกหนึ่ง นิว นอร์มอล ที่ UNICEF คำนึงถึง ดังแสดงในแผนภาพด้านล่าง

ข้อเสนอระบบการศึกษาใหม่ของ OECD

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะนำแนวปฏิบัติของ UNICEF ไปปรับใช้ ยังอีกข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจและควรกล่าวถึงในที่นี้ คือข้อเสนอของ OECD ซึ่งเน้นถอดบทเรียนการรับมือโควิด-19 จากนานาประเทศ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพิจารณาของผู้กำหนดนโยบายในอนาคต

โดย OECD แบ่งบทเรียนการรับมือโควิด-19 เป็น 3 บท และให้ข้อเสนออย่างกว้างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับมือ ดังนี้

บทเรียนที่ 1: แนวทางการจัดการเรียนรู้ต้องมีความยืดหยุ่น ตลอดจนยึดโยงกับความต้องการของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายมากกว่าสถานที่และเครื่องมือจัดการเรียนรู้

การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เขย่ามายาคติว่าด้วยสถานที่หรือแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ผู้เรียนแต่ละคนย่อมมีกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการเข้าถึงการเรียนรู้แตกต่างกัน การยกระดับความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงสนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการจัดการเรียนรู้ จึงจำเป็นต่อการสร้างระบบการศึกษาเลื่อนไหลหลังโควิด-19

บทเรียนที่ 2: บุคลากรทางการศึกษาต้องพัฒนาทักษะและศักยภาพของตนให้สามารถสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของผู้เรียนได้ตรงจุด

เพราะบุคลากรทางการศึกษาคือฟันเฟืองซึ่งจะขับเคลื่อนระบบการศึกษาใหม่หลังโควิด-19 พวกเขาจึงควรได้รับโอกาสตลอดจนการสนับสนุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ สวัสดิการที่เหมาะสม การส่งเสริมสุขภาพจิต โอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่หลากหลาย ทรัพยากรทางการศึกษา หรือ ‘เวลาว่าง’ เพื่อพัฒนาตนเอง เพราะการเสริมสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักการศึกษาที่ล้วนเผชิญและก้าวข้ามวิกฤตมาด้วยกัน จะเป็นก้าวแรกที่มั่นคงของการพัฒนาระบบการศึกษาที่เลื่อนไหลต่อไป

บทเรียนที่ 3สำรวจแนวโน้มและรวบรวมข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่ออุดช่องโหว่เหล่านั้น โดยให้การสนับสนุนพิเศษแก่ผู้ได้รับผลกระทบรุนแรง

ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล บริการให้คำปรึกษา อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ หรือการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อผลักดันผู้เรียนกลุ่มนี้ให้สามารถเรียนรู้ได้ทัดเทียมผู้เรียนที่มีโอกาสมากกว่า ล้วนเป็นความช่วยเหลือที่จำเป็นทั้งสิ้น

การรวบรวมข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยลดความเป็นไปได้ที่ช่องว่างเหล่านั้นจะยิ่งถ่างกว้างด้วยมาตรการปิดเมืองในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ นอกจากการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นแล้ว การให้คำมั่นและกำหนดแผนการให้การสนับสนุนระยะยาวก็จำเป็นต่อการยกระดับความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

ยิ่งกว่านั้น OECD ยังระบุอย่างชัดเจนว่า ความช่วยเหลือเหล่านี้ต้องเป็นความช่วยเหลือที่ ‘ครบวงจร’ คือไม่เพียงสนับสนุนการเรียนรู้ แต่ต้องออกแบบการวัดและประเมินผลการศึกษาโดยคำนึงถึงข้อจำกัดของผู้เรียนกลุ่มนี้ด้วย เพราะการวัดและประเมินผลการศึกษาที่แม่นยำจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้เรียนกลุ่มเปราะบาง และแก้ไขปัญหาของพวกเขาได้ในระยะยาวที่สุด

เมื่อสองแนวทางสอดประสาน

เห็นได้ชัดว่าข้อเสนอของ UNICEF และ OECD มีทั้งองค์ประกอบที่แตกต่างและคล้ายคลึงกัน คือข้อเสนอทั้งสองล้วนให้ความสำคัญแก่การจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงการยกระดับความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่จะค้ำจุนการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืนของประชากร ผ่านการจัดสรรงบประมาณและการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อส่งเสริมบุคลากรทางการศึกษาและพัฒนาแหล่งเรียนรู้

ข้อเสนอของ OECD ที่เน้นถอดบทเรียนจากผลกระทบของมาตรการควบคุมโรคต่อการจัดการศึกษานั้นเผยข้อจำกัดของระบบการศึกษาในปัจจุบันอย่างชัดเจน เพียงแต่ขาดข้อเสนอเชิงนโยบายที่รัดกุม จึงจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับแนวปฏิบัติระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวของ UNICEF ที่แม้จะครอบคลุมกว่า ทว่ายังขาดกรอบความคิดที่ชี้ให้เห็นว่าแนวปฏิบัติเหล่านี้จะเกื้อหนุนระบบการศึกษาใหม่อย่างไร

ในที่นี้จึงนำจุดแข็งของสองข้อเสนอมาผนวกรวมกัน โดยใช้สามบทเรียนของ OECD เป็นปลายทางของการปฏิรูปการจัดการศึกษา และใช้ข้อเสนอ UNICEF เป็นแนวทางขับเคลื่อนระบบการศึกษาปัจจุบันสู่เป้าหมายดังกล่าว ดังตารางที่ได้จัดทำต่อไปนี้

ปลายทาง: การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาจัดการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น
ยึดโยงกับความต้องการของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย
สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
 

 แนวปฏิบัติระยะสั้น:

I. กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อการเปิดโรงเรียนที่รัดกุมเพื่อเป็นคู่มือของผู้ปฏิบัติงาน สื่อสารกับผู้ปกครองตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นความคาดหวัง และความรับผิดชอบของทุกฝ่าย เพื่อพัฒนาความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างองค์กรต่างๆ

II. จัดตั้งเครือข่ายโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

III. ประเมินผลกระทบของการปิดโรงเรียนเพื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณในอนาคต

IV. ปรับเปลี่ยนปฏิทินโรงเรียน รวมถึงแนวทางติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนและแนวทางจัดสอบให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนสอดคล้องกับสถานการณ์

V. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองในประเด็นการสนับสนุนการเรียนรู้ออนไลน์หรือการเรียนรู้ทางไกลของเด็ก

VI. สำรวจความต้องการทางสาธารณสุขของโรงเรียนต่างๆ และให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น

VII. สำรวจและประเมินความเข้าใจของผู้ปกครอง ครู และนักเรียน เกี่ยวกับการป้องกันโรค รวมถึงให้ข้อมูลที่ชัดเจน

VIII. จัดทำแนวทางการเปิดโรงเรียนในสถานการณ์การระบาดระดับชาติที่รัดกุมและชัดเจน ทุกโรงเรียนสามารถปรับใช้ได้

 แนวปฏิบัติระยะกลาง:

I. มีแนวทางปรับพื้นฐานเพื่อต้อนรับนักเรียนกลับสู่โรงเรียนโดยต้องสื่อสารกับทั้งนักเรียนและผู้ปกครองให้ชัดเจน

II. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนโอกาสฝึกอาชีพแก่นักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา

III. พัฒนาระบบติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน รวมถึงแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง

IV. จัดทำคู่มือเยียวยาการเรียนรู้ถดถอยสำหรับครูและโรงเรียน และร่วมกันกำหนดแนวทางการวัดและประเมินผลการศึกษาใหม่

V. ติดตามผลการควบคุมโรคในโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด

นโยบายระยะยาว:

I. เพิ่มการลงทุนในระบบติดตามความก้าวหน้าของเด็กๆ ที่หลากหลายและแม่นยำยิ่งขึ้น

II. คงไว้ซึ่งความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกกลุ่ม

III. กำหนดให้การส่งเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคมเพื่อรับมือสถานการณ์ไม่คาดฝันเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรและพันธกิจโรงเรียน

IV. กำหนดให้การส่งเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคมเพื่อรับมือสถานการณ์ไม่คาดฝันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านการศึกษาและมาตรฐานการเรียนรู้

V. ติดตามผลการควบคุมโรคและจัดหาเครื่องมือควบคุมโรคสำหรับทุกโรงเรียนในระยะยาว
ปลายทาง: การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะและศักยภาพ
ในการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของผู้เรียนอย่างตรงจุด
 

นโยบายระยะสั้น:

I. พัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่เข้มแข็งของครูทั้งในและระหว่างโรงเรียน

II. จัดหาครูผู้นำหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อฝึกฝนครูให้สามารถจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ได้อย่างเหมาะสม

III. จัดหาอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับครูทุกคน

IV. ลดภาระงานครูและให้ความช่วยเหลือด้านอารมณ์แก่ครู ตลอดจนให้เงินเดือนครูและสวัสดิการอื่นๆ ตามปกติ แม้จะปิดโรงเรียนก็ตาม

V. ฝึกฝนครูให้สามารถดำเนินมาตรการควบคุมโรคของโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม

นโยบายระยะกลาง:

I. ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องของครูทั้งในและระหว่างโรงเรียน ตลอดจนพัฒนาให้ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ อาทิ การรับมือปัญหาสุขภาพจิตของตนเองและนักเรียน ระหว่างการปิดโรงเรียนและการจัดการเรียนรู้ออนไลน์

II. จัดทำคู่มือสำหรับครูและโรงเรียนในการเยียวยาการเรียนรู้และแนวทางการวัดและประเมินผลการศึกษาใหม่

III. ออกแบบภาระงานครูใหม่ให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับสถานการณ์ และรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

IV. พัฒนาระบบป้องกันความอ่อนล้า (burnout) ของครูอย่างครบวงจร ทั้งในโรงเรียนและในความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ

นโยบายระยะยาว:

I. คงไว้ซึ่งความร่วมมือระหว่างโรงเรียนเพื่อโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่หลากหลายของครู

II. บรรจุองค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะทางอารมณ์และสังคม ตลอดจนแนวทางพัฒนาทักษะดังกล่าวในการฝึกหัดครู

III. ประเมินผลกระทบของการปิดโรงเรียนต่อสุขภาพจิตของครูอย่างต่อเนื่อง และให้ความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ
ปลายทาง: การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ผ่านการรวบรวมและประมวลข้อมูลความเหลื่อมล้ำ
เพื่อให้การสนับสนุนพิเศษแก่ผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างตรงจุด
 
 นโยบายระยะสั้น:

I. ระบุนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนรู้ที่จำเป็นอย่างรวดเร็วที่สุด

II. จัดหาอุปกรณ์การเรียนรู้ที่จำเป็นในการเรียนรู้ทางไกลหรือออนไลน์สำหรับนักเรียนทันที

III. สงวนงบประมาณจำนวนหนึ่งไว้สำหรับโรงเรียนและนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดมากที่สุด ตลอดจนให้ความช่วยเหลืออย่างฉับไว

IV. ระบุครอบครัวหรือชุมชนกลุ่มเสี่ยง และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น เช่น บริการให้คำปรึกษา การส่งเสริมสุขภาพจิต การส่งเสริมการควบคุมโรคในชุมชน ฯลฯ

V. คงไว้ซึ่งประโยชน์อื่นๆ ที่เด็กๆ ได้รับจากโรงเรียนเป็นปกติ อาทิ อาหารกลางวัน

VI. ให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคและจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการควบคุมโรคโรงเรียนที่ขาดแคลน

นโยบายระยะกลาง:

I. ให้ความช่วยเหลือพิเศษอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนกลุ่มเสี่ยง รวมถึงพัฒนาแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกอาชีพของนักเรียนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง กรณีหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว

II. รวบรวมข้อมูลและประเมินสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่อย่างละเอียด

III. กำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนรู้สำหรับนักเรียนกลุ่มเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงให้การสนับสนุนแก่ผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ

IV. ติดตามผลการควบคุมโรคในโรงเรียนที่ขาดแคลนอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น
 
นโยบายระยะยาว:

I. คงไว้ซึ่งความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การสนับสนุนพิเศษแก่นักเรียนกลุ่มเสี่ยง นักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองของนักเรียนกลุ่มนี้

II. ศึกษาแนวโน้มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนรู้และเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว

III. ถอดบทเรียนระยะยาวว่าด้วยผลกระทบของการปิดโรงเรียนต่อผู้เรียนแต่ละกลุ่ม เพื่อการกำหนดนโยบายที่รัดกุมยิ่งขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ข้อควรระวังประการสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ คือข้อเสนอจากการถอดบทเรียนของ OECD ตลอดจนแนวปฏิบัติของ UNICEF ที่ต่อยอดจากผลกระทบของการปิดโรงเรียนในยุโรปและภูมิภาคเอเชียกลาง ล้วนเป็นข้อเสนอในบริบทการศึกษาต่างประเทศทั้งสิ้น และแม้ว่าการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จะเป็นวิกฤตที่ประชากรทั่วโลกเผชิญร่วมกัน บริบทการศึกษา ตลอดจนบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของไทย ก็แตกต่างจากหลายประเทศในรายงานสองฉบับนี้มากทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ การปรับใช้ข้อเสนอดังกล่าวเพื่อยกระดับการจัดการศึกษา จึงไม่อาจมีประสิทธิภาพหากปราศจากความร่วมมือของทุกฝ่าย และไม่อาจเริ่มต้นหากผู้กำหนดนโยบายขาดความเข้าใจบริบทการศึกษา เพราะความเข้าใจเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแบ่งปันประสบการณ์ และเรียนรู้ความต้องการของแต่ละภาคส่วนเพื่อพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์ การสนับสนุนฟันเฟืองในระบบการศึกษาอย่างตรงจุดให้สามารถปรับใช้แนวทางเหล่านี้ได้ ตลอดจนการสื่อสารเพื่อลดความกังวลของนักเรียนและผู้ปกครองอย่างจริงใจ

เพราะระบบการศึกษาแห่งการมีส่วนร่วม เพื่อตอบสนองความต้องการและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายจะถือกำเนิดได้อย่างไร หากปราศจากความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจที่แท้จริง

หมายเหตุ : บทความนี้อ้างอิงสาระสำคัญจากรายงาน Lessons for Education from COVID-19 ของ OECD และ Building Resilient Education Systems beyond the COVID-19 Pandemic: Considerations for education decision-makers at national, local and school levels ของ UNICEF

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world