5 นวัตกรรม ที่จะมาทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหายไป ภายใต้แนวคิด All for Education

5 นวัตกรรม ที่จะมาทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหายไป ภายใต้แนวคิด All for Education

จากประสบการณ์ 30 ปีที่ผ่านมาของเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All: EFA) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) พบว่าความเสมอภาคทางการศึกษามีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา 

แต่ในช่วงทศวรรษสุดท้ายหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหา “กิโลเมตรสุดท้าย” (Last-mile Problem) ซึ่งต้องการวิธีที่แตกต่างในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการ

จากการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education Conference) เมื่อวันที่ 10 – 11 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา 

มีข้อค้นพบว่าการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางในการทำงาน จากเดิมซึ่งเป็นการให้คนเข้าถึงการศึกษา (Education for All) เป็นการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เข้าถึงผู้เรียนผ่านเทคโนโลยี เครื่องมือ สื่อการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการเรียนรู้และข้อจำกัดหรือความจำเป็นเฉพาะบุคคล และจำเป็นต้องมีการเชื่อมร้อยเครือข่ายหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชนทั่วไปทั้งในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับนานาชาติ (All for Education)

โดยมี 5 นวัตกรรม เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่สำคัญ ต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นำเสนอ ดังนี้

 

1. การจัดการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ (Area based Education: ABE)

เกิดจากแนวคิดในการกระจายอำนาจในการบริหาร (Decentralization) เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากร โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชนโดยมีครอบครัวและชุมชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน และมุ่งพัฒนาเมืองและถิ่นฐานให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย และมีการช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกันสู่ความยั่งยืน โดยในปี 2563 มี 174 เมืองจาก 55 ประเทศเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้

ตัวอย่างมืองแห่งการเรียนรู้ในต่างประเทศ เมืองเอสปู ประเทศฟินแลนด์ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เน้นให้ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น ห้องสมุดสาธารณะ เน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วนในสังคม เน้นการพัฒนาโทรคมนาคมและสนับสนุนเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการเรียน อาทิ อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเรียนร่วมกับเด็กระดับมหาวิทยาลัย

ตัวอย่างเมืองแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทย เทศบาลนครเชียงราย ได้รับคัดเลือกเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)” แห่งแรกของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2562 มีเป้าหมายในการทำงานเพื่อสร้างให้เชียงรายเป็นนครแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับประชาชนอย่างเสมอภาค เพื่อ การพัฒนาคุณภาพในการจัดการศึกษาโดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันการศึกษาในและนอกพื้นที่ เครือข่ายทางวิชาการกับสถานศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง พร้อมทั้งสร้างการเรียนรู้จากวัฒนธรรมท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมและชุมชน ตลอดจนขยายการเรียนรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ นอกจากเด็กและเยาวชน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ

 

2. นวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

การลงทุนหรือการดำเนินการด้านการเงินการคลังที่ไม่ใช่กระแสหลัก เพราะคาดการณ์ว่าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั่วโลกจะต้องใช้งบประมาณถึง 2.5 ล้านล้านบาท (United Nation, Economic and Social Commission for Asia and the Pacific, 2015) จำเป็นต้องมีการทดลอง หรือค้นหาวิธีการลงทุนที่ได้ประสิทธิผลดีขึ้น 

ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น การใช้พันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond: SIB) 

โดยมีแนวคิด คือ การออกพันธบัตรสัญญาแก่ภาคเอกชนเพื่ออนุญาตให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนหรือดำเนินการเพื่อปัญหาทางสังคม พร้อมจัดทำแผนและแนวทางในการป้องกันปัญหาสังคมในประเด็นเฉพาะตามแต่ที่ภาครัฐและภาคเอกชนตกลงกัน โดยการดำเนินการดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงด้านการลงทุนของภาครัฐ และภาคเอกชนจะได้ผลตอบแทนจำนวนมากหากดำเนินการสำเร็จ

ตัวอย่างในประเทศไทย เช่น โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข, ประเทศไทย โดยการให้เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขเป็นแนวทางที่ใช้ในหลายประเทศ เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค โดยมีขั้นตอน 4  ส่วน คือ 

  1. การพัฒนาเครื่องมือในการเก็บข้อมูล หรือแอพริเคชั่นที่ใช้เก็บข้อมูล
  2. การพัฒนาเกณฑ์การคัดกรองที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้
  3. การพัฒนาผู้เก็บข้อมูลโดยการอบรมครู
  4. การตรวจสอบและรับรองข้อมูลโดยครูผู้เก็บข้อมูล 

ในปัจจุบัน ด้วยเกณฑ์คัดกรองดังกล่าว มีนักเรียนกว่า 7 แสนคนได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข 

 

3. การใช้ข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

การมีข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนตลอดจนการออกมาตรการ หรือนโยบายในระดับองค์กรเมือง หรือแม้แต่นโยบายระดับประเทศ 

ตัวอย่างในประเทศไทย เช่น “พิมพ์เขียวการศึกษา” เทศบาลนครภูเก็ต

โดยเริ่มจากปัญหาที่พบคือ เทศบาลนครภูเก็ตเป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาสูง ขณะที่ครูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดครื่องมือในการแจ้งเตือนการหลุดออกจากระบบ โดยสาเหตุของการหลุดออกจากระบบ คือ ขาดข้อมูล

เทศบาลนครภูเก็ตมีแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมหาวิทยาลัยนเรศวรจัดทำ “พิมพ์เขียวการศึกษา” ขึ้น

เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ (Q-info) ใช้เก็บข้อมูลเพื่อติดตามนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อประเมินความเสี่ยงในการออกจากโรงเรียนกลางคัน เพื่อทำให้ครูทราบและติดตามเด็กได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่เด็กจะหลุดออกจากระบบ เช่น ออกเยี่ยมบ้าน หารือกับผู้ปกครอง ฯลฯ สุดท้าย ข้อมูลจาก Q-info สามารถวางแผนพัฒนานักเรียนตามศักยภาพ ความสนใจ และความถนัดของนักเรียนแต่ละคน ซึ่งผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้อัตราการขาดเรียนลดลงถึงร้อยละ 30 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้นกว่าร้อยละ 50 และลดค่าใช้จ่ายด้านเอกสารได้เกือบแสนบาทต่อปีต่อโรงเรียน 

 

4. การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

แนวทางปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education) คือแนวคิดที่ว่า ทุกภาคส่วนในสังคม หน่วยงาน องค์กรทุกระดับ โดยเฉพาะภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น โครงการ Learning Passport  ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การยูนิเซฟ บริษัทไมโครซอฟ และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่พัฒนารูปแบบการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยออกแบบให้เหมาะสมกับเงื่อนไขและความต้องการเฉพาะสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษมั่นใจได้ว่าเด็กเหล่านี้จะได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค 

แนวทางการจัดหลักสูตร

  • อ้างอิงจากหลักสูตรกลางของประเทศที่เด็กอาศัยอยู่รวมกับการเรียนรู้ที่จำเป็นตามบริบทของพื้นที่
  • การจัดเนื้อหาและบทเรียนได้ รับการพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
  • การจัดการด้านเทคโนโลยี รับผิดชอบโดยบริษัทไมโครซอฟ
  • การสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ รับการจัดการโดยองค์การยูนิเซฟ
  • เมื่อมีการระบาดของ COVID-19 ยังร่วมกันเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 อีกด้วย

 

5. การวิจัยและการประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Research and Developmental Evaluation)

เป็นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เชิงระบบและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายบนหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based Policy Recommendation) เพราะมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามักถูกออกแบบและนำไปสู่การปฏิบัติโดย ขาดหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน ขาดกระบวนการประเมินที่เพียงพอ ทำให้งบประมาณด้านการศึกษาจำนวนมากถูกใช้ไปกับมาตรการที่ลงทุนมาแต่อาจจะได้ผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2562 ถูกมอบให้คณะนักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย MIT และ Harvard ที่ริเริ่มพัฒนากระบวนการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Approach) เพื่อค้นหามาตรการและนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

สุดท้ายแล้วจะเห็นได้ว่าการศึกษาที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องของโรงเรียนหรือนักเรียนอีกต่อไป

หากแต่เป็นทุกภาคส่วนของสังคมที่ร่วมือกัน ที่มีส่วนช่วยให้ความเหลื่มล้ำทางการศึกษาหมดไปได้อย่างแท้จริง และคุณเองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิด All for Education ได้แล้ววันนี้

 

ร่วมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้การศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

https://www.eef.or.th/