ส่องการศึกษาไทยในวันที่ 78 ตำบล ทั่วประเทศไร้โรงเรียน

ส่องการศึกษาไทยในวันที่ 78 ตำบล ทั่วประเทศไร้โรงเรียน

โรงเรียนห่างไกล เอื้อมไม่ถึงการศึกษา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” แต่ทุกคนคงรู้ดีแก่ใจว่า ค่าใช้จ่าย ที่รัฐบอกว่าไม่เก็บนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างถ้วนหน้า

หนึ่งในหลักฐานสำคัญที่ทำให้เราเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ก็คือ ตัวเลขจากฐานข้อมูล iSEE ที่บ่งบอกว่ามีเด็กไทยกว่า 4,580 คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ 78 ตำบลที่ไม่มีโรงเรียน ส่งผลให้พวกเขาต้องดิ้นรนเพื่อเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนที่ห่างออกไปไกลบ้าน หลายครอบครัวซึ่งไม่อาจอุดช่องว่างของระยะทางนั้นด้วยเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทำให้อนาคตของชาติหลายคนไม่ได้ไปโรงเรียนเหมือนเพื่อนๆ วัยเดียวกัน

จากสถิติในปี 2562 เฉลี่ยแล้วมีเด็กราว 34 คนต่อตำบลที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา โดยตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นตำบลที่มีจำนวนเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาสูงที่สุด มากถึง 497 คน รองลงมาเป็นตำบลกมลา ในภูเก็ต และโดยส่วนใหญ่จะเป็นตำบลเล็กๆ ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย จากค่าสถิติดังกล่าวทำให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าการอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากโรงเรียนนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ใช่ในพื้นที่สูงหรือทุรกันดารเท่านั้น แต่ในพื้นที่ชุมชนเมืองก็มีผลเช่นเดียวกัน

ตามหลักในการจัดตั้งสถานศึกษาในประเทศไทย มาตรฐานที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมของการเคหะแห่งชาติ จากข้อมูลที่ระบุไว้ในปี พ.ศ. 2529 ได้กําหนดรัศมีบริการของโรงเรียนประถมศึกษาไว้เป็นระยะทางไม่ เกิน 800 เมตร ส่วนเกณฑ์และมาตรฐานผังเมืองรวม พ.ศ.2549 โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ระบุว่า โรงเรียนระดับประถมศึกษาควรมีรัศมีบริการระยะไม่เกิน 500 เมตร หรือใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 10 นาทีและควรอยู่ในกลุ่มบ้านของย่านพักอาศัย แต่การทำให้โรงเรียนอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น ก็ไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาได้ทันตา เพราะองค์ประกอบทางสังคมที่ซับซ้อนและแตกต่างกันไปในแต่ละบริบทของพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน

 

บ้านก็อยู่ไกล โรงเรียนขนาดเล็กก็กำลังจะหายไป

แนวคิดการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น มุ่งหวังให้การจัดการศึกษามีคุณภาพตามมาตรฐานอย่างทั่วถึง ผ่านการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ในระยะ 6 กิโลเมตรของตำบลเดียวกันเข้าด้วยกัน ซึ่งนี่เป็นเพียงหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น เพราะหลายฝ่ายก็ยังคงมองเห็นศักยภาพของชุมชนที่จะช่วยสร้างเสริมการเรียนรู้กระจายไปยังโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่เหมาะแก่การควบรวมด้วย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ และที่ปรึกษา กสศ. เคยได้ให้ความเห็นไว้ว่า โรงเรียนขนาดเล็กสามารถทำให้มีคุณภาพได้ ด้วยต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน จัดการเรียนการสอนผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน และผสานนวัตกรรมทางการศึกษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก็มีการเสนอแนวทางใหม่ๆ เกี่ยวกับการแบ่งปันทรัพยากรจากโรงเรียนขนาดใหญ่สู่โรงเรียนเล็กในพื้นที่ใกล้เคียง แนวทางการสร้างเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงกันแล้วเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะให้ทั่วถึงสำหรับการเดินทางไปโรงเรียน แนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบรวมแต่ละช่วงชั้นเข้าด้วยกัน เพื่อให้ครูหนึ่งคนดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง และอีกหลากหลายแนวทางที่จะทำให้เด็กๆ เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ใกล้ๆ บ้าน

 

มองไกลให้ใกล้กว่าเดิม

อนาคตของประเทศไทยมีอัตราการเกิดลดลงเรื่อยๆ โดยข้อมูลจำนวนประชากรไทยอายุระหว่าง 5-15 ปี จาก United Nations Department of Economic and Social Affairs คาดการณ์ว่าในปี 2577 จะมีจำนวนนักเรียนลดลงเหลือเพียง 5.6 ล้านคนเท่านั้น เมื่อมองไปยังประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้ว เลือกใช้วิธีกระจายการศึกษาให้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง โดยยึดมาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่กำหนดจากส่วนกลาง อาศัยกลไกขององค์กรส่วนท้องถิ่น ทั้งในระดับจังหวัดและเทศบาล ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณ โดยสำรวจความคิดเห็นของคนในพื้นที่เกี่ยวกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา 

กล่าวโดยสรุปคือ การศึกษาที่เสมอภาคโดยทั่วถึงนั้นเต็มไปด้วยมิติอันลึกซึ้ง กระบวนการที่ซับซ้อน ร่วมไปกับการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยบ่งชี้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ทำให้เป็นแนวทางที่ยั่งยืนสำหรับการศึกษาที่เท่าเทียมกันของเด็กไทย ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

 

ที่มา :