สำรวจการเปิดโรงเรียนทั่วโลก ปรับการเรียนแบบใหม่ในอนาคต

สำรวจการเปิดโรงเรียนทั่วโลก ปรับการเรียนแบบใหม่ในอนาคต

ดร. แอนโธนี เฟาซี (Dr. Anthony Fauci) นายแพทย์และผู้อำนวยการแห่ง National Institute of Allergy and Infectious Diseases ได้แสดงความเห็นกับวิกฤติ COVID-19 อย่างเข้าใจไว้ว่า “คุณไม่ได้กำหนดช่วงเวลา ไวรัสต่างหากที่กำหนดช่วงเวลา” ผลของประโยคนี้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อวิกฤติกระจายตัวไปทั่วโลกและยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

ทั้งนี้ ในหลายประเทศทั่วโลกที่เผชิญกับวิกฤตินี้และรับมือแตกต่างกันออกไป ในบางประเทศที่มีสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย หรือไม่มียอดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาเกิน 60 วัน ก็ได้เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจ เปิดโรงเรียน และสถานที่สำคัญต่างๆ ดร.แอนโธนีเองได้สนับสนุนให้โรงเรียนในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อน้อย ในสหรัฐอเมริกากลับมาเปิดอีกครั้งในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ “ในบางสถานการณ์ การที่เด็กนักเรียนไปโรงเรียนจะไม่ได้เป็นปัญหา คุณอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบางอย่าง” โรงเรียนในพื้นที่ชานเมืองมอนทาน่านั้นก็มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโรงเรียนในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ที่มียอดผู้ติดเชื้อแตกต่างกัน จึงต้องวางแผนการเปิดโรงเรียนตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ต่อไป 

เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ทั่วโลกว่าเป็นอย่างไร เว็บไซต์ Edutopia จึงได้สำรวจความคิดเห็นจากครูจำนวน 600 คนในพื้นที่กว่า 50 ประเทศทั่วโลก ที่มาร่วมกันแบ่งปันรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายการเปิดโรงเรียนอีกครั้งหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย 

 

เมื่อมองในภาพรวม ทุกอย่างไปได้ดี

ในขณะที่มีคุณครูบางคนแสดงความกังวลว่าประเทศจะกลับมามียอดผู้ติดเชื้ออีกครั้ง แต่ครูส่วนใหญ่ระบุว่าพวกเขามีความสุขอย่างมากที่ได้กลับมาสอนในโรงเรียนอีกครั้ง รวมถึงเด็กนักเรียนด้วยเช่นกัน

ลอร่า แลนเดอร์ส (Laura Landers) ครูใหญ่แห่งโรงเรียนประถมในเนเธอร์เเลนด์กล่าวว่า แม้ว่าจะต้องเจอกับกฎ หรือข้อบังคับใหม่ๆ แต่เมื่อ “เด็กๆ ลงจากรถหรือรถโรงเรียนมาด้วยรอยยิ้มชุดใหญ่” แสดงให้เห็นว่านักเรียนเองมีความสุขที่ได้เจอเพื่อนและครู เช่นเดียวกับครูวิชาชีววิทยาจากจีน Christopher Noordhoek ที่กล่าวว่า “เด็กๆ เกิดความเครียดและวิตกอย่างมากในช่วงล็อคดาวน์ การเปิดโรงเรียนจึงไม่ได้เป็นการนำความรู้สึกเเละชีวิตประจำวันกลับมาเท่านั้น แต่ยังเป็นการฟื้นฟูจิตใจผ่านกลุ่มเพื่อนและครูอีกด้วย”

การกลับมาเปิดโรงเรียนอีกครั้งนั้นยังเต็มไปด้วยปัญหาและความท้าทายต่างๆ ครูระบุว่า การปรับตัวสู่การสอนแบบใหม่นั้นค่อนข้างเหนื่อยมากกว่าที่เคยเป็นมา และการเปลี่ยนผ่านจากการเรียนทางไกลกลับมาสู่ห้องเรียนนั้นค่อนข้างใช้พลังอยู่มาก ถึงอย่างนั้นทุกคนก็ยอมรับตรงกันว่าการเรียนในห้องเรียนนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนออนไลน์อย่างแน่นอน การเปิดโรงเรียนอีกครั้งจึงเป็นทางออกที่ถูกต้อง แม้ว่าจะต้องมีการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนในห้องเรียนอยู่บ้างก็ตาม

 

เลือกเข้าเรียนสลับวัน คือความธรรมดาใหม่

การเว้นระยะห่างทางสังคมที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการระบบทางเข้า-ทางออก การเปลี่ยนห้องเรียน หรือการจัดการโต๊ะเรียน เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวหรือการปะทะกันทางร่างกายให้ได้น้อยที่สุด ครูหลายคนยอมรับว่า สุดท้ายเด็กๆ ก็ยืนเข้าแถวติดกันเพื่อวัดอุณหภูมิ ยิ่งเด็กเล็กยิ่งลืมข้อปฏิบัติต่างๆ อย่างรวดเร็ว ในเมืองโอ๊คเเลนด์ นิวซีแลนด์ ครูจากโรงเรียนมัธยมปลายอย่าง คอนสแตนซ์ แมคคอมบ์ (Constance McCombe) บอกกับ Edutopia ว่า “การเว้นระยะห่างระหว่างกันนั้นแทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเด็กวัยรุ่น พวกเขาตัวติดกัน ชอบอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม และกอดกันเป็นประจำ”

กลับมาสู่ความเป็นจริงที่ว่า การจำกัดรูปแบบการเรียนรู้ด้วยกฎและข้องบังคับต่างๆ นั้น โรงเรียนในทั่วโลกทั้งกรีซ นิวซีแลนด์ เยอรมัน สิงคโปร์ แคนาดา จนถึงไซปรัส ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แก้ไขได้ด้วยการแบ่งจำนวนผู้เรียนเป็น 50% แล้วเลือกสลับวันเรียนระหว่างกัน อย่างที่ลอร่าเสนอแนะเพิ่มเติมว่า “เด็กนักเรียนชุด A เข้าเรียนที่โรงเรียนในวันจันทร์และอังคาร ส่วนชุด B ให้เรียนออนไลน์จากที่บ้าน ก่อนจะสลับกันไปในวันพฤหัสและศุกร์ โดยให้วันพุธเป็นวันที่เรียนออนไลน์อยู่บ้านทุกคน” ทั้งนี้ ในวันพุธยังเป็นวันที่โรงเรียนจะได้ใช้เวลาทำความสะอาดอาคาร ครูให้เวลาเพิ่มเติมกับเด็กนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ และจัดประชุมเพื่ออัพเดตปัญหาหรือประเด็นที่ต้องจัดการเพิ่มเติม

ในเดนมาร์ก เน้นย้ำเรื่องการย้ายห้องเรียนมากลางเเจ้งมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่นเดียวกับรัฐอินเดียน่าในสหรัฐอเมริกาที่ไปในทิศทางเดียวกัน

 

เทคโนโลยีที่ดียังเป็นสิ่งสำคัญเสมอ

ดูเหมือนว่าการเปิดโรงเรียนอีกครั้งยังไม่สามารถแยกออกจากการเรียนออนไลน์ได้สมบูรณ์ เพราะเทคโนโลยีได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญ

ในแคนาดา บุคลากรทางการศึกษาที่ทำงานร่วมกับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษได้แสดงความคิดเห็นว่า เด็กกลุ่มเปราะบางที่อยู่บ้านและต้องการการสนับสนุนทางเทคโนโลยีเฉพาะ เช่นเดียวกับเนเธอแลนด์ เยอรมัน และอิสราเอล “ประมาณ 50% ของครอบครัวนั้นต้องการให้เรียนออนไลน์ต่อไป มากกว่าจะให้ลูกกลับเข้าโรงเรียน” เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง มีครูจำนวนมากในหลายประเทศที่จะต้องอยู่บ้านและสอนผ่านโปรแกรมซูม โรงเรียนในจีน ครูเลือกสอนทางไกลเมื่อพวกเขาติดอยู่ในประเทศที่มีการปิดชายแดน

ดังนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือโครงสร้างทางเทคโนโลยีที่แข็งเเรง ที่สามารถนำเสนอความยืดหยุ่นเเละความต่อเนื่องให้กับผู้เรียนและผู้สอนได้ ไม่ว่ารูปแบบการกลับมาเปิดโรงเรียนจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในประเทศต่างๆ อย่างฝรั่งเศสหรือเกาหลีใต้ ก็ได้มีการทบทวนแผนเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนชดเชยช่วงเวลาที่ขาดไปให้กับนักเรียนอีกครั้ง

ในตอนหน้าจะเป็นเรื่องของการดูเเลสภาพจิตใจของผู้เรียนและผู้สอน รวมถึงสำรวจเรื่องราวของการเล่นที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ติดตามได้ในตอนต่อไป 

 

ที่มา : Teachers Around the World Tell Us Reopening Is Tough, but Joyful