อาหารเช้าสำคัญไม่ใช่แค่อิ่มท้องแต่ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก

อาหารเช้าสำคัญไม่ใช่แค่อิ่มท้องแต่ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก

งานวิจัย Associations Between Habitual School-Day Breakfast Consumption Frequency and Academic Performance in British Adolescents โดยนักศึกษาจากวิทยาลัยสาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร เกิดขึ้นจากความสนใจในด้านความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่าง การเลือกรับประทานอาหารเพื่อพัฒนากระบวนการคิดและการเรียนรู้ของเด็ก 

 

อาหารมื้อเช้ามีศักยภาพในการพัฒนากระบวนการคิดที่จะเกิดขึ้นที่โรงเรียน

ส่งผลดีต่อการเรียนรู้เเละสมรรถภาพทางวิชาการ งานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาเรื่อง ผลของอาหารเช้าต่อการเรียนรู้ โดยวัดผลจากวัตถุประสงค์ การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic Review: SR) ของทีมนักวิจัย แสดงให้เห็นว่า การบริโภคอาหารเช้าและการอดอาหารนั้นส่งผลต่อการทำงานของความรู้ความเข้าใจ ที่วัดผลได้เลยภายใน 4 ชั่วโมงหลังการกิน 

ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า การรับประทานอาหารเช้านั้นส่งผลในเชิงบวกต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยงานศึกษาชิ้นนี้มีเป้าหมายเพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการรับประทานอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอเป็นนิสัย กับประสิทธิภาพในการเรียนรู้ทางวิชาการ โดยใช้ประเมินด้วยระบบการสอบวัดผลระดับชาติ General Certificate of Secondary Education (GCSE) (สำหรับเด็กนักเรียนในสหราชอาณาจักร จัดสอบจำนวน 10 วิชา สำหรับผู้เรียนอายุ 16 ปีขึ้นไป) เป็นตัวชี้วัด

โดยวิธีการศึกษา ให้เด็กนักเรียนจากสหราชอาณาจักรอายุระหว่าง 16–18 ปี จำนวน 294 คน ระบุรายงานอาหารเช้าที่พวกเขาได้กินในรอบ 7 วันที่ผ่านมา และตอบคำถามเกี่ยวกับคะแนนสอบ GCSE โดยนิยามคำว่า “อาหารเช้า” ในที่นี้หมายความถึง อาหาร หรือเครื่องดื่มใดๆ ที่ให้พลังงานขั้นต่ำมากกว่า 5% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการ (Total Energy Expenditure (TEE) โดยจะกินภายในเวลาไม่เกิน 10 โมงเช้า แบ่งระดับจำนวนวันในการรับประทานเป็น น้อย (0-1 วันต่อสัปดาห์ไปโรงเรียน) เป็นครั้งคราว (2–3 วันต่อสัปดาห์ไปโรงเรียน) เป็นประจำ (4–5 วันต่อสัปดาห์ไปโรงเรียน)

ภาพ : unsplash-Annie Spratt

ผลการศึกษาพบว่า ผู้เข้าร่วมประมาณหนึ่งในสาม (28.6%) แทบไม่ได้กินอาหารเช้าในวันที่ต้องไปโรงเรียน ผู้เข้าร่วมมากกว่าครึ่งรับประทานอาหารเช้าในช่วงวันไปโรงเรียนเป็นประจำ (53.1%) ส่วนผู้เข้าร่วมที่เหลือ (18.4%) รับประทานอาหารเช้าเป็นครั้งคราวในวันไปโรงเรียน ในขั้นตอนการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ แสดงให้เห็นว่าทั้งการบริโภคอาหารเช้าเป็นนิสัย สม่ำเสมอ และปัจจัยสำคัญอย่างโปรแกรมอาหารเช้าในโรงเรียนนั้นมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการเรียนในเด็กและวัยรุ่น

สอดคล้องกับรายงานจาก Food Research and Action Center (FRAC) รายงานสรุปให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาหารมื้อเช้ากับประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็ก นำมาจากผลการวิจัยหลากหลายเล่ม ข้อค้นพบสำคัญที่รวมทั้งการรับประทานอาหารเช้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเรียนรู้เชิงวิชาการ การทำงานของสมอง และสุขภาพความเป็นอยู่อื่นๆ

เด็กที่ไม่ได้กินอาหารมื้อเช้าที่บ้าน หรือที่โรงเรียน จะมีความสามารถในการเรียนรู้น้อยลง เด็กที่หิวนำมาซึ่งผลการสอบวิชาคณิตศาสตร์ที่ต่ำ สมาธิในการจดจ่อต่อการสอน มีปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ และผลเชิงวิชาการ นอกจากนั้นยังระบุอีกว่า เด็กที่ขาดการรับประทานอาหารเช้าบ่อยๆ มีแนวโน้มที่จะเรียนซ้ำชั้น ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายโรงเรียนเผชิญ และเลือกแก้ไขด้วยการกำหนดโปรแกรมอาหารเช้า อย่างเช่นโปรแกรม School Breakfast และ Breakfast in the Classroom ที่กำหนดโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ทั้งสองโปรแกรม คือ การจัดเตรียมอาหารเช้าให้เด็กๆ ที่โรงเรียน (โดยมีทางเลือกไม่กินได้ หากที่บ้านเตรียมพร้อมมาให้ หรือกินจากที่บ้านมาแล้ว) สำหรับเด็กๆ เองก็มีความเชื่อว่าการได้รับประทานอาหารเช้านั้นเป็นการเพิ่มพลังงานและความสามารถที่จะโฟกัสกับเนื้อหาในห้องเรียนได้

 

ที่มาบทความ :