เปลี่ยนชีวิตให้ “สดใส” ด้วยระบบ ISEE และหัวใจที่ทุ่มเทของครู

เปลี่ยนชีวิตให้ “สดใส” ด้วยระบบ ISEE และหัวใจที่ทุ่มเทของครู

เปลี่ยนชีวิตให้ “สดใส” ด้วยหัวใจที่ทุ่มเทของครู และระบบ ISEE  ที่ไม่ยอมให้เด็กคนไหนคลาดสายตา 

กรณีศึกษาช่วยเด็กหลุดนอกระบบ ใน เวทีฟังเสียงประชาชนที่เชียงใหม่ ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา พร้อมหนุนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ

ด้วยศักยภาพของระบบ  “ระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน”  ภายใต้ ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : ISEE)  ผสานกับความทุ่มเทแรงกายและแรงใจของครูและผู้บริหารสถานศึกษา นำมาสู่ การติดตามช่วยเหลือ นักเรียนด้อยโอกาสที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกลับสู่สถานศึกษาอย่างมีความสุขอีกครั้ง

โรงเรียนวัดห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ โรงเรียนขนาดกลางที่ผู้บริหาร และครู ให้ความสำคัญกับการเยี่ยมบ้านนักเรียน จนเกิดเป็นความเห็นใจจากครูถึงศิษย์ ขณะเดียวกันครูให้ใจกับการกรอกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน “ปัจจัยพื้นฐานยากจน” อย่างรับผิดชอบ เที่ยงตรง นำสู่การติดตามช่วยเหลือทำให้ลูกศิษย์ เช่น

“ดช.สดใส” นักเรียนชั้น ม.3 ที่ระบบติดตามช่วยเหลือ ค้นพบว่านอกจากจะมีปัญหาความยากจนแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการหลุดออกนอกระบบอีกด้วย

ระบบ “ปัจจัยพื้นฐานยากจน” เครื่องมือช่วยครูดูแลเด็กด้วยหัวใจ

ครูพิมพ์รดา ส่งชื่น  โรงเรียนวัดห้วยแก้ว

“จากการที่โรงเรียนมีระบบเยี่ยมบ้านและการใช้แอปพลิเคชันระบบ “คัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” ภายใต้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : ISEE) ทำให้ครูทราบข้อมูลว่านักเรียนของเรากว่าร้อยละ 90 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีจำนวนไม่น้อยอยู่ในครอบครัวหย่าร้าง เด็กแต่ละคนอยู่ในชุมชนที่ห่างไกลสภาพพื้นที่เป็นดอยและภูเขามีความยากลำบากในการเดินทางมายังโรงเรียน ครอบครัวก็ค่อนข้างยากจนบางครั้งเด็กก็ต้องไปช่วยครอบครัวทำไร่ทำสวนเพื่อหารายได้หรือใช้แรงงานรับจ้างทำให้ต้องขาดเรียนอยู่เป็นประจำ และไม่มีเวลาที่จะทบทวนบทเรียนเพราะต้องทำงาน ดังนั้นเรื่องผลการศึกษาจึงไม่ค่อยดีนัก

การที่ครูได้ไปดูบ้าน ได้เห็นบริบทของชุมชนและครอบครัว จะทำให้เรารู้เลยว่าเราจะส่งเสริมแต่ด้านวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าเน้นวิชาการก็จะมีเด็กอีกหลายคนต้องถูกทอดทิ้ง ดังนั้นครูที่นี่ก็จะช่วยเหลือเด็กทุกคนโดยมองข้ามคำว่าเก่ง แต่จะดูว่าเด็กมีความสนใจในเรื่องอะไร อย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือการส่งเสริมเรื่องทักษะอาชีพ เด็กต้องมีทักษะการมีชีวิตสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ และต้องมีทักษะในการทำงาน สองสิ่งนี้คือสิ่งที่ชุมชนและโรงเรียนมุ่งหวัง เราจึงพยายามส่งเสริมรอบด้านโดยดูจากความสนใจของเด็กไม่ใช่จากความสนใจของตัวครู เพื่อให้เด็กๆ ได้ค้นหาหรือค้นพบคำตอบตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับชั้น ม.1-2 ให้สามารถวางแผนชีวิตว่าจบแล้วจะไปเรียนต่อหรือทำอะไร” 

เปลี่ยนชีวิตให้สดใส

“ทุกพฤติกรรมล้วนมีเหตุผล ไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาแล้วนิสัยไม่ดี มันต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่าง ที่ครูจะต้องหาให้เจอแล้วเราก็จะเข้าใจและเข้าไปช่วยเหลือเขาให้ตรงจุดมากขึ้น”

“กรณีของ “น้องสดใส” เราก็เข้าไปถามเข้าไปตามว่าเขาสนใจที่จะไปเรียนตัดผมไหม เพราะว่าทางวิทยาลัยชุมชนเข้ามาจัดอบรมอาชีพในพื้นที่ เมื่อเด็กสนใจเราก็พาเขาไปเข้าร่วมกิจกรรม สุดท้ายแล้วเขากลับพบว่ามีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้ หลังจากอบรมอยู่ 2 วันก็เข้ามาบริการตัดผมในชุมชน พอได้เห็นฝีมือและผลงาน เราก็ชื่นชมตัวเด็กเองก็มีกำลังใจ เขาก็มาขอใช้บริเวณหน้าห้องวิทยาศาสตร์มาตัดผมให้เพื่อนๆ น้องๆ ครูท่านอื่นๆ มาเห็นก็ชื่นชม “สดใส” ก็เลยมีกำลังใจที่จะมาโรงเรียนมากขึ้น

พอขึ้นมาชั้น ม.3 เขาก็เริ่มเปลี่ยนวิธีคิด ย้ายมาอยู่ที่หอพักของโรงเรียนเพื่อมาเรียนและสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่ จากเด็กเกเรหนีเรียนเปลี่ยนเป็นคนที่มีภาวะผู้นำมากขึ้น   ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ “สดใส” นั้น เป็นผลเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของระบบการติดตามการดูแลเยี่ยมบ้าน ทำให้ครูได้เปิดใจจากการไปเห็นสภาพบ้านและชุมชน จนเข้าใจนักเรียนแต่ละคนว่า ทุกพฤติกรรมล้วนมีเหตุผล ไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาแล้วนิสัยไม่ดี มันต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่าง ที่ครูจะต้องหาให้เจอแล้วเราก็จะเข้าใจและเข้าไปช่วยเหลือเขาให้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนเราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจะเรียนดีขึ้นหรือเรียนเก่งขึ้น ขอแค่ไม่ติดศูนย์เพิ่มหรือติดน้อยลงแค่นั้นแต่สิ่งที่สำคัญคือขอให้เด็กๆ มีความสุข ครูทุกคนของเราเราไม่คาดหวังกับเกรดเฉลี่ย ขอให้เขาแค่มีความตั้งใจเท่านั้น”

เชียงใหม่ พร้อมร่วมขบวนสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และเลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา

จังหวัดเชียงใหม่มีเด็กยากจนราว 62,622 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กยากจนพิเศษจำนวน 26,098 คน ที่ผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,281 บาทต่อคน หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 42.7 บาทเท่านั้น นักเรียนเหล่านี้ต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนโดยเร่งด่วน ก่อนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงเป็นที่มาในดำเนินงานของกองทุน 10 บาท เพื่อสนับสนุนเด็กเยาวชนยากจนและด้อยโอกาสให้มีโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้สำเร็จโดยไม่รอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

“ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษายินดีที่จะได้มีส่วนร่วมกับทาง กสศ.ในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกองทุน และมีข้อเสนอให้เชื่อมโยงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เข้ากับกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ หรือกองทุน 10 บาท โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ร่วมบริจาค ร่วมบริหาร ร่วมประเมินผล ร่วมให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้เกิดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และยังหวังว่ากองทุนฯ จะเป็นกองทุนแห่งโอกาสและคุณภาพที่จะเข้ามาช่วยเหลือด้านปัจจัยพื้นฐานและพัฒนาศักยภาพของผู้รับทุนไปพร้อมกับเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน”