เจาะระบบ iSEE ช่วยคัดกรองเด็กยากจน-ลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เจาะระบบ iSEE ช่วยคัดกรองเด็กยากจน-ลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ถือเป็นการเปิดประตูสู่โอกาส เพื่อความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้กับนักเรียนยากจน เพราะล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้นำร่องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ “iSEE App” ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงในไอแพดของนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้เรียกดูข้อมูล Big Data สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษได้ทุกสถานที่และทุกเวลา ทั้งในรูปแบบกราฟฟิก ตารางสรุปข้อมูลสถิติ ข้อมูลภูมิสารสนเทศของสถานศึกษาทั้ง 30,000 แห่ง รวมถึงผลการเบิกจ่ายงบประมาณของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทั้งในระดับภาพรวมของประเทศ จังหวัด สถานศึกษา ไปจนถึงระดับผู้เรียนมากกว่า 500,000 คน

กว่าที่ข้อมูลจะเข้ามาอยู่ในระบบ iSEE นี้ได้ จะต้องผ่านการคัดกรองและตรวจสอบรายชื่อถึง 3 ชั้น ได้แก่ (1) การตรวจสอบข้อมูลเชิงประจักษ์ทั้งข้อมูลรายได้และสถานะครัวเรือนจากสภาพจริงด้วย Application CCT (2) การรับรองข้อมูล 3 ฝ่ายโดยผู้ปกครอง ครู และกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และ (3) การรับรองความถูกต้องของข้อมูลโดยคณะกรรมการสถานศึกษา รวมแล้วมากกว่า 150,000 คน ทั่วประเทศซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้แทนผู้ปกครอง โรงเรียนละไม่ต่ำกว่า 5 คน ซึ่งหลังจากปิดระบบไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา มีนักเรียนยากจนพิเศษที่ผ่านการรับรองข้อมูลทั้ง 3 ชั้นเรียบร้อย พร้อมโอนเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไขจำนวนทั้งสิ้น 397,493 และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ผ่านมา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วย ผู้แทนเลขาคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนอธิบดีกรมบัญชีกลาง และกรรมการผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องฯ และที่ปรึกษา กสศ. ร่วมทำพิธีกดปุ่มปล่อยเงินก้อนแรกให้กับนักเรียนยากจนราว 4 แสนคน โดยจะเริ่มโอนเงินก้อนแรกในพื้นที่11 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ยากจนที่สุดก่อน ตั้งเป้าเด็กยากจนพิเศษ ทั้งหมด 4 แสน จะได้รับเงินครบภายในเดือนต้นเดือนมกราคม 2562 นี้

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)  อธิบายถึงที่มาของระบบนี้ว่า กสศ.วิจัยพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education) หรือ iSEE ซึ่งที่ใช้ชื่อย่อนี้เพราะต้องการจะสื่อความหมายว่าความเสมอภาคทางการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ เมื่อรัฐบาลและทุกภาคส่วนสามารถ “มองเห็น” สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีเครืองมือสนับสนุนการบูรณาการข้อมูลและมาตรการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ไม่มีเด็กเยาวชนคนใดถูกทอดทิ้งให้หลุดออกไปจากการมองเห็นและช่วยเหลือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป โดยในช่วงแรกเริ่มนี้ระบบ iSEE จะทำหน้าที่รายงานข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ภายใต้โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไขที่ กสศ. และ สพฐ. ได้เริ่มดำเนินงานในปีการศึกษา 2561

เมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจนสมบูรณ์ระบบ iSEE จะประกอบด้วยข้อมูลของเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคนทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยเชื่อมโยงเลขประจำตัว 13 หลักของเด็กและครอบครัวกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วยข้อมูล เช่น  รายได้ผู้ปกครอง  สถานะครัวเรือน  ภาพถ่ายสภาพบ้านเรือน  ข้อมูลเด็กด้านสุขภาพ
สภาพปัญหา พฤติกรรมเสี่ยง ความต้องการด้านการเรียน ความช่วยเหลือ อัตราการมาเรียน ผลการเรียน

โดย กสศ.พัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่นี้ให้มีคุณลักษณะ 4Vs ของ Big Data ตามนิยามของ IBM  ได้แก่  1.Volume ปริมาณข้อมูลมากกว่าหนึ่งพันล้านล้านไบต์ 2.Velocity ความไวของการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มขึ้นของข้อมูลตลอดเวลาและรวดเร็ว  3.Variety ความหลากหลายของข้อมูลครอบคลุมมิติต่างๆ ของความเหลื่อมล้ำ และ 4.Veracity ข้อมูลมีความแม่นยำสูงเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยข้อมูลที่รายงานผ่านระบบ iSEE นี้ประกอบด้วยข้อมูลจากฐานข้อมูล Big Data จากโครงการใน 4 ส่วนหลัก คือ

  1. ข้อมูลผลการค้นหาและคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย โดยในโครงการนี้คือข้อมูลผลการคัดกรองรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Tests) ที่กสศ.พัฒนาจากการวิจัยร่วมกับ สพฐ. และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครอบคลุมผลการคัดกรองนักเรียนในสังกัด สพฐ. มากกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ เช่น ข้อมูลรายได้ สถานะครัวเรือน และภูมิสารสนเทศของนักเรียนและครอบครัว เป็นต้น
  2. ข้อมูลผลการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือ CCT (Conditional Cash Transfer) กสศ. มุ่งจัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นรายบุคคล ผ่านการจัดสรรงบประมาณตรงตามความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง (Demand-side Financing) มิใช่การจ่ายแบบรายหัวทุกคนเท่ากัน การถัวเฉลี่ยจ่าย หรือการกำหนดโควตาจัดสรรแบบในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นระบบ iSEE สามารถรายงานผลการจัดสรรและการได้รับเงินอุดหนุนของนักเรียนทั้ง 500,000 คนได้เป็นรายบุคคล โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบได้แก่ ข้อมูลผลการโอนเงินเข้าสู่บัญชีเงินฝากของนักเรียนและผู้ปกครอง หรือ ข้อมูลภาพถ่ายพร้อมพิกัด GIS ของการรับเงินสดของนักเรียนและผู้ปกครองจากครูและผู้อำนวยการสถานศึกษาพร้อมทั้งลายเซ็นรับรองการรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ iSEE สามารถรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดังกล่าวนี้ทั้งในระดับภาพรวมของประเทศ จังหวัด สถานศึกษา ไปจนถึงระดับผู้เรียนมากกว่า 500,000 คน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการติดตามผลการดำเนินงานของ กสศ. และข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเพื่อประกอบการติดตามและมอบนโยบายการบูรณาการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ระบบติดตามเงื่อนไขการรับเงินอุดหนุน ระบบ iSEE จะรายงานข้อมูลผลการติดตามเงื่อนไขการรับเงินอุดหนุนที่ครูกรอกเข้ามาเป็นรายเทอม โดยข้อมูลจะถูกรายงานจากผลการบันทึกข้อมูลผ่าน แอพพลิเคชั่น CCT ที่ช่วยครูประหยัดเวลาในการติดตาม และบันทึกผลการปฏิบัติตาม 2 เงื่อนไขการรับเงินอุดหนุนของนักเรียนยากจนพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เงื่อนไขการรักษาอัตราการมาเรียนให้เกินกว่าร้อยละ 80 ตลอดปีการศึกษา 2561 และเงื่อนไขน้ำหนักส่วนสูงนักเรียนยากจนพิเศษให้มีพัฒนาการที่สมวัยตามเกณฑ์มาตรฐาน) โดยแอพพลิเคชั่น CCT จะเชื่อมข้อมูลน้ำหนักส่วนสูงของนักเรียนที่มีการบันทึกเข้ามาจากระบบ DMC ให้อัตโนมัติ และให้ครูติ้กเฉพาะนักเรียนที่ขาดเรียนในแต่ละวัน (เช็คขาด) ซึ่งครูสามารถดำเนินการทั้งหมดได้โดยไม่ใช้กระดาษแม้แต่แผ่นเดียว (Paperless) ด้วยเครื่องมืออำนวยความสะดวกเช่นนี้ ครูและสถานศึกษาจะสามารถช่วยติดตามผลการจัดสรรเงินอุดหนุนของ กสศ. และ สพฐ. ของนักเรียนมากกว่า 500,000 คนได้เป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ช่วยให้รัฐบาลและประชาชนผู้เสียภาษีทราบได้ว่าการลงทุนของรัฐผ่าน กสศ. สามารถสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับนักเรียนยากจนพิเศษได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
  4. ระบบส่งต่อข้อมูลกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของหน่วยงานต่างๆ ระบบ iSEE ถูกออกแบบมาให้สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลจาก Big Data ของ กสศ. กับของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิด้วยการเชื่อมโยงผ่านเลขประจำตัวประชาชน13 หลัก เพื่อสนับสนุนการบูรณาการทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. เข้ากับ 6 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ (สำนักนายกรัฐมนตรี) เป็นต้น

โดย “iSEE App” ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นี้สามารถใช้งานได้ง่ายผ่าน Smart Phone และ Tablet ทั้งในระบบ iOS และ Android ด้วยระบบสัมผัส รวมทั้งผ่านคอมพิวเตอร์ระบบ PC และ Mac เพื่อใช้เรียกดูข้อมูลรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษได้ทุกสถานที่และทุกเวลา ทั้งในรูปแบบกราฟฟิกและตารางสรุปข้อมูลสถิติ รวมทั้งข้อมูลภูมิสารสนเทศของสถานศึกษาทั้ง 30,000 แห่ง และผลการเบิกจ่ายงบประมาณของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทั้งในระดับภาพรวมของประเทศ จังหวัด สถานศึกษา ไปจนถึงระดับผู้เรียนมากกว่า 500,000 คน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการติดตามผลการดำเนินงานของ กสศ. และข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเพื่อประกอบการติดตามและมอบนโยบายการบูรณาการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้แก่หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการบูรณาการการทำงานและการเชื่อมโยงข้อมูลของโครงการลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ ของภาครัฐ  เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานบอร์ด กสศ. ย้ำชัดว่า กองทุนนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษา สู่การพัฒนาตนเองในอนาคต ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยนำเครื่องมือ สารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE มาใช้ในการแสดงระบบข้อมูลหรือเครื่องมือที่จะเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ เน้น 3 ประโยชน์ คือ 1.ช่วยให้ตรงจุด ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเฉลี่ยให้กับเด็กทุกคนอย่างคุ้มค่า ใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้รู้ว่า นักเรียนที่สมควรได้รับการช่วยเหลือจริงๆ มีเท่าไหร่  หรือเรียกว่า “ถูกจุด ถูกคน” ซึ่งได้รับความร่วมเป็นอย่างดีจาก สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ และบุคลากรครู 2.วัตถุประสงค์ของการช่วยเหลือจะไม่เป็นการให้เปล่า แล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร หรืออีกนัยหนึ่งคือ เมื่อใช้เม็ดเงินแล้วจะต้องเกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นการให้เงินแบบมีเงื่อนไข เพื่อให้นักเรียนปฏิบัติตาม 3.สามารถตรวจสอบได้หรือมีความโปร่งใส การที่เราสามารถพัฒนาเครื่องมือ iSEE ขึ้นมาได้ ก็สามารถทำการตรวจสอบได้และเมื่อเกิดข้อสงสัยก็สามารถติดตามได้ เช่น เงินไปถึงใคร เวลาใด เครื่องมือดังกล่าวส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส สามารถนำเครื่องมือไปใช้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้

ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ถือว่าเป็นการประเดิมการให้เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขงวดแรก ถามว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างความยั่งยืน และความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างไร ขอบอกว่าสร้างได้อย่างแน่นอน แต่เราต้องปรับวิธีคิดแบบเเดิมๆ ก่อนว่า เด็กทุกคนควรจะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเท่ากัน (Equality) ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจน ซึ่งในอดีตตนก็มีแนวคิดแบบนี้เช่นกัน ว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ แต่สุดท้ายกลับทำให้มีเด็กอยากจนบางส่วนหลุดจากระบบการศึกษา เพราะนักเรียนยากจนมากที่สุดกลับได้เงินงบประมาณจากรัฐน้อยกว่าความจำเป็นจริง แต่กองทุนนี้ใช้วิธีการจัดสรรงบประมาณด้วยหลักความเสมอภาค (Equity) โดยมุ่งที่จะช่วยเหลือตามความจำเป็นแท้จริงแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายคน (Targeting) เช่น การช่วยเหลือเด็กที่ยากจนพิเศษก่อน ด้วยงบประมาณที่สอดคล้องกับความจำเป็นมากขึ้น ซึ่งทาง กสศ.จะมีเครื่องมือคัดกรองผ่านจากครูและโรงเรียน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งการดำเนินงานแบบนี้ถึงจะลดความเหลื่อมทางการศึกษาได้ เพราะกสศ.ไม่ได้แค่ให้ทุนแล้วเลิก แต่จะติดตามชีวิตเด็กไปกว่า 15 ปีตามเงื่อนไขของเงินอุดหนุนทั้งการมาเรียนสม่ำเสมอ และพัฒนาการที่สมวัยไปจนจบการศึกษา และดูว่าเข้าจะศึกษาต่อหรือมีงานทำหรือไม่” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย