iSEE App ช่วยลดเหลื่อมล้ำ เข้าถึงข้อมูลรายบุคคล สู่การจัดสรรทุนช่วยเหลืออย่างมีคุณภาพ

iSEE App ช่วยลดเหลื่อมล้ำ เข้าถึงข้อมูลรายบุคคล สู่การจัดสรรทุนช่วยเหลืออย่างมีคุณภาพ

แอปพลิเคชันระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE App ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เป็นเครื่องมือช่วยให้เห็นและติดตามข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างชัดเจนทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย เป้าหมายเพื่อช่วยคัดกรองแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่สำรวจบ้านเด็กขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นรายบุคคล เพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือให้ถึงมือเด็กอย่างตรงเป้าหมาย

รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การคัดกรองเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเชิงพื้นที่ คือความพยายามเข้าหาเด็กที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนจริง ๆ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่ง กสศ. ระดมทั้งความรู้ เครื่องมือ งานวิจัย และการลงพื้นที่สำรวจเด็กเป็นรายคนเพื่อคัดแยกเด็กด้อยโอกาสที่มีความจำเป็นแตกต่างกัน แม้ในพื้นที่เดียวกัน หรือโรงเรียนเดียวกันก็ตาม

บนพื้นฐานของหลักการ การค้นหาเด็กด้วยรูปแบบที่เราทำ หน่วยงานใดก็สามารถนำไปใช้ได้ แต่ในความเป็นจริงก็เหมือนกับว่ารู้แต่ทำไม่ได้ เพราะวิธีการนี้ต้องใช้สองอย่างร่วมกัน คือคนทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ และต้องมีเครื่องมือ คือแอปพลิเคชันที่ทางธรรมศาสตร์ได้พัฒนาขึ้นและมีทีมงานช่วยศึกษาวิเคราะห์ เพื่อช่วยครูในการบันทึกข้อมูลเด็กเป็นรายคนซึ่งสามารถเรียกดูและอัพเดทได้ทุกที่ทุกเวลา

“ไม่ใช่ว่าเราสร้างแอปฯ ขึ้นมาแล้วสามารถใช้ได้ทันที มันต้องได้รับการศึกษา พิจารณาว่ากระบวนการต่าง ๆ มีความเหมาะสมมากแค่ไหน ทั้งคำถาม บริบทเชิงพื้นที่ ความสะดวกในการใช้งานของครูที่จะต้องเข้าถึงบ้านเด็กเพื่อบันทึกรายละเอียดไว้เป็นฐานข้อมูล เหล่านี้เราติดตามผลจากการใช้งานจริง เข้าไปในพื้นที่เพื่อคุยกับครู รับทราบข้อบกพร่องจุดแข็งจุดอ่อนของเครื่องมือเพื่อนำมาปรับปรุงให้รองรับการใช้งานได้ดีที่สุด” รศ.ดร.ชัยยุทธกล่าว

ทั้งนี้ การจัดสรรเงินเพื่อช่วยคนที่จำเป็นมากกว่ามีความสำคัญ เพราะรัฐมีเงินจำกัด เรื่องนี้เป็นหัวใจในการทำงานของ กสศ. ซึ่งเราได้นำนวัตกรรมและความรู้เชิงวิชาการเข้าไปช่วยเสริม เครื่องมือนี้เป็นตัวเดียวกันกับที่ใช้ในหลายประเทศ ขณะที่ในต่างประเทศเขายังไม่ลงพื้นที่ละเอียดเท่าเราด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่เขาจะทำในระดับตำบล แต่เราทำในระดับบุคคล คือการเข้าถึงทุกครัวเรือนที่มีเด็กอยู่ในการศึกษาภาคบังคับ

รศ.ดร.ชัยยุทธ อธิบายเสริมอีกว่า การเก็บข้อมูลเด็กยากจนพิเศษเป็นรายบุคคลนี้ นอกจากจะช่วยให้การจัดสรรเงินสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้เป็นลำดับแล้ว ข้อมูลซึ่งผ่านการสำรวจเชิงลึกตามเกณฑ์ต่างๆ ที่ครูเข้าไปบันทึกถึงครัวเรือนพร้อมออนไลน์แบบเรียลไทม์ ยังช่วยให้การจัดสรรเงินส่งถึงครอบครัวเด็กด้อยโอกาสได้ในเวลารวดเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการรั้งเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษาต่อไป

“การพัฒนาระบบช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของโรงเรียนในการจัดสรรเงินอุดหนุน ด้วยหลักฐานข้อมูลที่เรามี ทำให้สามารถส่งเงินถึงตัวเด็กได้เร็วขึ้น ซึ่งจะมีนัยยะสำคัญที่ทำให้อัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันของเด็กลดลง หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนให้เขาได้มีโอกาสเรียนต่อเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพวกเขา ทั้งการได้เรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ การได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งหมายถึงการได้ทำงานในอาชีพที่มีรายได้สูงกว่าคนรุ่นพ่อแม่” รศ. ดร.ชัยยุทธกล่าว

สอดคล้องกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาทรองผู้จัดการ กสศ. และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ความรู้ เครื่องมือ งานวิจัย และคณะทำงานทุกภาคส่วน คือส่วนประกอบที่ช่วยพัฒนาให้ระบบการคัดกรองเด็กยากจนพิเศษทั่วประเทศทำงานได้ผล และจัดสรรเงินได้รวดเร็วและตรงจุดเป้าหมาย

โดยเครื่องมือที่เรามีไม่ใช่แค่แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน แต่มันคือระบบนิเวศที่รายล้อมสัมพันธ์กันผ่านการทำงานด้วยเทคโนโลยี แอปฯเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของระบบนี้ เราได้พัฒนาระบบให้รองรับการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อความคล่องตัวของผู้ใช้ มีครูผู้เข้าใจระบบในเขตพื้นที่การศึกษา ในโรงเรียน มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถตอบข้อซักถามและให้คำแนะนำได้ละเอียด ทั้งคอลเซ็นเตอร์หรือบนเว็บบอร์ด เฟสบุ๊ค และมีไลน์กลุ่มสำหรับโรงเรียนในประเภทและสังกัดต่างๆ ซึ่งให้ข้อมูลได้ตลอดเวลา

สำหรับ iSee App เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาต่อเนื่องมากว่า 4 ปี ด้วยการใช้งานที่ปรับปรุงจากการลงพื้นที่จริง มีระบบ Off Line Mode สำหรับโหลดข้อมูลที่จำเป็นลงบนสมาร์ทโฟนเพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต แล้วนำข้อมูลกลับมาอัพโหลดลงเซิฟเวอร์ของ กสศ. ในพื้นที่ที่มีสัญญาณได้ในภายหลัง

“ออฟไลน์โหมดคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ เพราะมีบางพื้นที่ที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตยังครอบคลุมไปไม่ถึง การลงพื้นที่จริงทำให้เราได้ข้อมูลกลับมาปรับปรุงการใช้งานของระบบในส่วนต่าง ๆ ให้ผู้ใช้ทำงานได้สะดวกขึ้น เรามีการนำระบบ gis coordinate มาใช้สำหรับครูที่ลงพื้นที่ไปถ่ายรูปบ้านเด็ก ซึ่งจะมีการดึงพิกัดบ้านเข้าสู่ระบบได้ทันที นอกจากนั้นการเซ็นรับรองสถานะเด็กยากจนพิเศษ จำเป็นต้องใช้หลักฐานลายเซ็นจากสามฝ่าย คือครูผู้กรอกข้อมูล ผู้ปกครองเด็ก และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วย เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล โดยระบบนี้ได้ตัดขั้นตอนการใช้กระดาษออกไป แล้วบันทึกข้อมูลทั้งหมดผ่านระบบดิจิตัล นั่นทำให้การเซ็นรับรองทุกครั้งจะสามารถบันทึกพิกัดที่เซ็นชื่อ ซึ่งเป็นทั้งการยืนยันข้อมูลและสะดวกต่อการนำข้อมูลมาใช้ได้ทันที” ดร.ไกรยสกล่าว

รองผู้จัดการ กสศ. เสริมอีกว่า หลังปิดภาคเรียนทุกเทอมการศึกษา เราจะเชิญครูผู้ใช้เครื่องมือทุกท่านเข้าประชุมเพื่อเสนอความเห็น และผลตอบรับจากการใช้งานจริง แล้วนำข้อคิดเห็นจากการประชุมมาปรับปรุงและพัฒนาให้เครื่องมือใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถึงตอนนี้ ทาง กสศ. ได้กระจายศูนย์ข้อมูลออกไปแล้วในทุกภูมิภาคของประเทศ และใกล้จะครบในทุกจังหวัด การเข้าถึงทุกพื้นที่นี้ จะทำให้โครงการสามารถเดินหน้าค้นหาเด็กยากจนพิเศษได้ถูกคน จากนั้นจึงจัดสรรเงินช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อันเป็นกระบวนการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในภาพรวมได้ในอนาคต