ครูเห็นไหม? หนูจับดินสอไม่ถูกวิธี

ครูเห็นไหม? หนูจับดินสอไม่ถูกวิธี

ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  โค้ชการพัฒนาเด็กปฐมวัย(อนุบาล – ป.3) โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กสศ. กล่าวว่า การจับดินสอผิดวิธี สะท้อนว่ากล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนไม่ได้ การทรงตัวนั่งเขียนไม่ดี  ทำงานเสร็จช้าไม่ทันเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่อง มีภาวะเครียด ขาดเรียนบ่อย เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็ก 

ภายใต้คำว่า “เขียน” เด็กต้องใช้ทั้งกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อของมือในการจับดินสอและของลำตัวเพื่อทำให้ร่างกายตั้งตรงและทรงตัวได้อย่างมั่นคง จึงจะทำให้เด็กเคลื่อนมือในการเขียนได้ สมองต้องควบคุมการทำงานของร่างกายและต้องจดจำ แยกแยะรูปร่างของตัวพยัญชนะแต่ละตัวซึ่งมีความซับซ้อน คำว่า “อ่าน”ก็เช่นเดียวกันเด็กต้องแยกเสียงพยัญชนะ สระ เมื่อนำมาประสมกันเป็นคำ เกิดเป็นรูปใหม่ ได้เสียงที่เปลี่ยนไปอีก  มีรายละเอียดที่ต้องพยายามเรียนรู้ซ่อนอยู่มากมายในขณะที่เด็กมีต้นทุนของทักษะการเรียนรู้น้อยเกินไป การดุเด็กว่า “ทำไมแค่นี้เขียนไม่ได้ อ่านไม่ได้” และการบังคับเคี่ยวเข็ญ เด็กจะรู้สึกถูกกดดันและเครียด ยิ่งทำให้การเรียนรู้ช้าลงไปอีก

“ครูและผู้ปกครองทุกคนต้องสังเกตและจับสัญญาณจากเด็กให้ได้ การลุกยืนและเดินไปมาในคาบสอน ไม่ใช่เด็กสมาธิสั้น หรือเป็นเด็กพิเศษ หรือการไม่ยอมทำการบ้านเพราะขี้เกียจเรียนอย่างที่หลายคนด่วนสรุป จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิดและร่วมประเมินกับครู พบว่าเกิดจาก“ฐานกายเด็กยังไม่พร้อม”

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม