สรุป 13 ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนยุค COVID-19

สรุป 13 ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนยุค COVID-19

การปิดโรงเรียนนั้นมีต้นทุนในทางสังคมเเละเศรษฐกิจที่ต้องจ่าย ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นครอบคลุมไปในหลายมิติ การทำให้เด็กขาดความสัมพันธ์และครอบครัวของพวกเขา การหยุดชะงักของโรงเรียนนั้นส่งผลให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วในระบบการศึกษายิ่งขยายมากขึ้น โดยผลการศึกษาของ UNESCO ได้สรุปผลกระทบจากการปิดโรงเรียนเพราะ Covid-19 มา 13 ข้อดังนี้

1. การเรียนรู้ที่ถูกระงับ คือผลกระทบที่สำคัญที่สุด ทั้งเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่นต่างขาดแคลนโอกาสในการเรียนรู้เเละพัฒนาทักษะที่จำเป็นในทันที ผลกระทบนี้ยิ่งส่งผลอย่างรุนเเรงต่อกลุ่มผู้เรียนรู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มเด็กที่ถูกจำกัดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเป็นทุนเดิมอยู่เเล้ว

2. ขาดแคลนโภชนาการ เด็กนักเรียนหลายคนได้รับอาหารที่มีประโยชน์และมีโภชนาการครบถ้วนจากมื้ออาหารที่โรงเรียน แต่เมื่อโรงเรียนปิด เด็กๆ จึงขาดสารอาหารที่เหมาะสมไปด้วยเลยทันที

3. ช่องว่างระหว่างเด็ก ในช่วงเวลาที่อยู่บ้านตามนโยบายรัฐในการปิดโรงเรียน ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่พ่อแม่จะพร้อมรับหน้าที่หรือมีเวลาให้กับลูกอย่างเต็มที่ บางครอบครัวพ่อแม่ประกอบอาชีพที่ไม่อาจหยุดการทำงานได้ อย่างเช่นแพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการปล่อยให้ลูกอยู่บ้านแต่ลำพังอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงได้

4. การเพิ่มขึ้นของความรุนเเรงและการทำร้ายร่างกาย ในช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดพบว่ามีเด็กนักเรียนได้รับความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือมีอัตราการใช้แรงงานเด็กเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงมีการค้าบริการทางเพศและเกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นด้วย

5. การแยกตัวทางสังคม โรงเรียนที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางสังคมเเละการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน ช่วงเวลาที่โรงเรียนปิด เด็กเล็กและวัยรุ่นหลายคนจึงขาดการเชื่อมโยงกับสังคม ซึ่งส่งผลโดยตรงกับทักษะการเรียนรู้เเละการพัฒนาของเด็ก

6. ครอบครัวไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ การปิดโรงเรียนทำให้พ่อแม่ต้องกลายเป็นคุณครูจำเป็น โดยบางครอบครัวไม่อาจจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้พร้อมรับต่อการเรียนออนไลน์ได้ โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่อาจเข้าอินเทอร์เน็ตและเครื่องมือต่างได้

7. ต้นทุนทางค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทำงานและจำเป็นต้องขาดงานเพื่อมาดูเเลเรื่องการเรียนให้กับลูก ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือการสูญเสียรายได้ให้กับครอบครัวหรือนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานในเชิงลบ

8. คุณครูมีความเครียดและเกิดสับสน เมื่อโรงเรียนปิดโดยที่ไม่มีกำหนดทำให้คุณครูเกิดความกังวลในการรักษาความสัมพันธ์กับนักเรียน
และการเปลี่ยนจากห้องเรียนมาเป็นเรียนออนไลน์ ก็อาจะสร้างความยุ่งยากและความไม่มีประสิทธิภาพได้ แม้จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเเล้วก็ตาม ในหลายพื้นที่

9. ความท้าทายในการพัฒนาการเรียนทางไกล ความต้องการในการเรียนทางไกลนั้นเป็นเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลับเมื่อโรงเรียนปิด มาพร้อมกับปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การย้ายจากห้องเรียนไปเรียนที่บ้านจึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ ทั้งในฐานะผู้ใช้งานและเทคโนโลยีที่รองรับ

10. แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นของโรงเรียนและระบบการศึกษาในการกลับมาเปิดเทอมอีกครั้ง โรงเรียนระดับท้องถิ่นกลายเป็นโจทย์ยากสำหรับรัฐบาลและผู้บริหารสถานศึกษาต่างๆ ในการเตรียมตัวและวางแผนเพื่อให้สถานศึกษาสามารถกลับการมาเปิดเทอมอีกครั้ง

11. ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในระบบดูเเลสุขภาพ บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับการดูเเลสุขภาพของเด็กในโรงเรียนนั้นไม่อาจทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม เพราะการปิดโรงเรียนทำให้หน่วยงานที่ดูเเลสุขภาพเด็กไม่อาจเข้าถึงเด็กๆ ทั้งหมดได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ก็ไม่อาจอำนวยความสะดวกได้ทันท่วงทีต่อวิกฤตทางสุขภาพที่เกิดขึ้น

12. เกิดอัตราการหยุดเรียนถาวรของเด็กนักเรียน คือหนึ่งในความท้าทายสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลาหลายเดือน ควบคู่กับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นโดยตรงกับเด็ก และรายได้ที่ลดลงของผู้ปกครอง

13. การเปลี่ยนแปลงด้านการวัดผลการเรียนรู้ ด้วยระยะเวลาตามรอบเทอมที่เปลี่ยนไป ส่งผลโดยตรงต่อช่วงเวลาในการสอบวัดความรู้ ทั้งในระดับภายในโรงเรียนหรือระดับชาติ สร้างความสับสนและไม่ลงตัวให้กับโรงเรียนเกือบทุกพื้นที่ กลยุทธ์ในการเลื่อนวันสอบ งดเว้น หรือจัดวิธีการสอบแบบทางไกล ได้เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหาข้อสรุป เพราะความขัดข้องในการวัดผลการเรียนรู้จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงอนาคตในการเรียนต่อและความกังวลที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตามผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ ร่วมใจ เร่งแก้ปัญหา เพราะผลกระทบครั้งนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องทักษะการเรียนรู้ที่ถูกชะงักแต่หมายถึงอนาคตของเด็กนักเรียนจำนวนมหาศาล