ถอดโมเดล ILO เชื่อมชุมชนสร้างโอกาสพัฒนาฝีมือแรงงาน

ถอดโมเดล ILO เชื่อมชุมชนสร้างโอกาสพัฒนาฝีมือแรงงาน

กสศ.พัฒนาระบบทดลองทักษะแรงงานด้อยโอกาสและนอกระบบครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

กสศ.เดินหน้าโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ระบุขาดทักษะแรงงาน รายได้ต่ำ พร้อมถอดโมเดล ILO เชื่อมชุมชนสร้างโอกาสพัฒนาฝีมือแรงงาน

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2562 ที่โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ อารีย์ กสศ.จัดเวทีเสวนาวิชาการนานาชาติ “การเข้าถึงและพัฒนาทักษะการทำงานให้แก่กลุ่มประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาส: บทเรียนจากภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก” (Reaching Hard to Reach Communities: Lesson Learnt from Asia-Pacific Region) มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากภาครัฐและเอกชนกว่า 30 องค์กร โดยนพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานในประเทศไทยจำนวน 38 ล้านคน 55% เป็นแรงงานนอกระบบ หรือมีจำนวน 21.2 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ขาดทักษะในการพัฒนาฝีมือแรงงาน และมีรายได้ต่ำ เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย กสศ. มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งไม่ใช่แค่การศึกษาในระบบเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากอยู่นอกระบบการศึกษา โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ต้องการการพัฒนาทักษะอาชีพ กสศ.จึงได้เปิดโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยมีแนวคิดหลัก 4 ประการ คือ 1. การใช้ชุมชนเป็นฐานในการประกอบอาชีพ 2. การพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ/แรงงานฝีมือในชุมชน 3. การเสริมสร้างสมรรถนะแก่ชุมชนและภาคเอกชน และ 4.การวิจัยปฏิบัติการเพื่อประเมินผลความสำเร็จของกลุ่มเป้าหมาย

“โครงการนี้จะเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในชุมชน ค้นหาตัวตนเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย” นพ.สุภกรกล่าว

นพ.สุภกรกล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าว กสศ.ได้เปิดให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ที่อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบยื่นเสนอโครงการเข้ามา มีจำนวนกว่า 108 โครงการ และได้คัดเลือกราว 80 โครงการ ที่จะดำเนินการต่อไป ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษา กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนจน กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้สูงอายุ วิสาหกิจชุมชน พ่อแม่วัยรุ่น ชาติพันธุ์ แม่บ้าน เยาวชนและผู้ต้องขัง คาดว่าจะมีผู้ได้รับการฝึกอบรมตามโครงการนี้กว่า 6,000 คน โดยมีงบประมาณช่วยเหลือ 1–2 หมื่นบาทต่อคน ทั้งนี้ในอนาคตจะมีความร่วมมือระหว่าง กสศ.และองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO เพื่อสนับสนุนทางวิชาการรวมถึงโปรแกรมการฝึกอมรมที่ยึดชุมชนเป็นตัวตั้งให้กับทั้ง 80 โครงการที่ได้รับการคัดเลือกด้วย

ด้าน Mr. Charles Bodwell ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาวิสาหกิจ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ผู้พัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมด้านธุรกิจและการประกอบการใน 20 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมด้านแรงงานแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงรุก สิ่งสำคัญคือการทำงานร่วมกับชุมชน ทำกิจกรรมต่างๆ ที่กระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะแรงงาน ฝึกอบรมให้เกิดการคิดต่อยอดจะช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านแรงงาน ด้วยต้นทุนที่ถูกลง และทำให้เศรษฐกิจในชุมชนแข็งแกร่งขึ้น

ปัจจุบัน ILO มีโปรแกรมมากกว่า 80 รายการ ที่ใช้ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน แต่ละชุมชนสามารถเลือกโปรแกรมที่เหมาะกับแต่ละชุมชนได้ ซึ่งจากการเข้าไปพัฒนาโปรแกรมให้แต่ละประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้น คือแรงงานในชุมชนสามารถตัดสินใจเลือกงานที่เหมาะกับชุมชนนั้น เกิดการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างกัน ทำให้เกิดความแข็งแกร่งขึ้นในแต่ละชุมชน ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา สปป.ลาว รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือการเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งทุน และการทำตลาด เราจะไม่สอนว่าเขาต้องทำการเกษตรอย่างไร เพราะนั่นคือสิ่งที่เขารู้ดีอยู่แล้ว แต่จะมุ่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ เช่น ด้านการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การทำตลาด การแปรรูปเพื่อต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่ให้เกิดการขยายผลมากยิ่งขึ้น เช่น การทำฟาร์มสเตย์ โฮมสเตย์ เป็นต้น” Mr. Charles กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ILO จะพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือต่างๆ ได้มากขึ้น พร้อมทั้งยินดีพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลและเอกชนในประเทศไทย รวมถึงการจัดสัมนาและเวิร์คช้อปเพื่อขยายผลให้เกิดความเข้าใจในโปรแกรมต่างๆ ของ ILO มากยิ่งขึ้นต่อไป

นางปนัดดา บุญผลา รองผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ประเด็นการเข้าถึงของกลุ่มคนด้อยโอกาส ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ที่จะต้องไม่มีใครถูกทอดทิ้งในสังคม นำไปสู่การหาทางออกทั้งในระดับชุมชน ประเทศและระดับโลก ต้องให้ความเสมอภาคและเป็นธรรมในสังคมของการทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ทั้งนี้ โลกของการทำงานในปัจจุบันและอนาคต มีหลายประเด็นที่สังคมต้องให้การความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องเทคโนโลยี สงครามการค้า การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ และโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำอย่างไรจะต้องไม่ให้เกิดการแบ่งแยกและเกิดช่องทางในการทำงานที่จะมีผลกระทบต่อคนทุกกลุ่มในสังคม องค์การแรงงานระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการดำเนินการอย่างไรที่จะทำให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงและสร้างความร่วมมือในระดับชุมชน นำไปสู่การร่วมมือระดับประเทศและระดับโลก