กสศ. และ สพฐ. จับมือเดินหน้า ช่วย นร. ยากจนพิเศษ

กสศ. และ สพฐ. จับมือเดินหน้า ช่วย นร. ยากจนพิเศษ

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ร่วมเวทีการประชุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ที่โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี นครปฐม โดยชี้แจงถึงทิศทางการทำงานของ กสศ. และบทบาทสำคัญของ เขตพื้นที่การศึกษา ที่จะสนับสนุนให้การช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษประสบความสำเร็จ ขณะที่ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาสพฐ. เชื่อมั่นการสนับสนุนของ กสศ. ตอบโจทย์แก้เหลื่อมล้ำ

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.

ทำไมต้องเร่งช่วยเด็กยากจนพิเศษ ?

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ชี้ว่า “นักเรียนกลุ่มนี้มาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุดโดยสมาชิกครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณคนละ 1,281 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 42.7 บาท ซึ่งจากการสุ่มตัวอย่างนักเรียนยากจนพิเศษ จาก 16 โรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้พบว่านักเรียนกลุ่มนี้ต้องเผชิญหลายปัญหารุมเร้า โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นเด็กเยาวชนที่ครอบครัวแยกทางกัน บุคคลในครอบครัวมีประวัติติดยาเสพติด ที่สำคัญส่วนใหญ่แทบไม่เคยได้ทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน   เด็กจำนวนมากต้องใช้เวลาเดินมาเรียนเองกว่า 30 – 60 นาทีทุกวัน ส่งผลให้มีภาวะทุพโภชนาการ เจ็บป่วยบ่อยทำให้ขาดเรียนเป็นประจำ เด็กกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา

กสศ. ช่วยอย่างไรให้ตรงจุด ?

จากปัญหาเหล่านี้ในเบื้องต้น กสศ. จะเติมความช่วยเหลือเพื่อบรรเทา ใน 3 ประเด็นปัญหาสำคัญ คือ ค่าอาหารเช้า ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนจะจัดดูแลนักเรียนเพื่อส่งเสริมโอกาสการศึกษา ทั้งนี้ กสศ. จะเปิดรับสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนร่วมวิจัย สพฐ.-กสศ.” เพื่อสำรวจและติดตามความต้องการและความเสี่ยงของนักเรียนยากจนพิเศษอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การมาเรียน ผลการเรียน ศักยภาพความถนัด ความต้องการพิเศษ และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้ กสศ. และ สพฐ. สามารถสนับสนุนนักเรียนยากจนพิเศษเหล่านี้ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต”

 


ตรวจสอบซ้ำเพื่อช่วยเหลือถูกคน

“ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ กสศ.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งส่วนกลาง เขตพื้นที่ และสถานศึกษา จะตรวจสอบข้อมูลผลการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้น ม.1 ถึง ม.3 ประมาณ 6 แสนคน ที่ผ่านการคัดกรองในปีการศึกษา 1/25611 ซึ่งมีการบันทึกหลักฐานเชิงประจักษ์รายบุคคลไว้อย่างละเอียดเพื่อยืนยันตัวตนและสถานะความยากจน เช่น ข้อมูลเลข 13 หลักของนักเรียนและผู้ปกครอง ข้อมูลรายได้ การถือครองทรัพย์สิน รูปถ่ายสภาพที่อยู่อาศัยของครอบครัวพร้อมพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GIS) ของนักเรียน เพื่อปรับปรุงบัญชีรายชื่อ ก่อนที่จะจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษครั้งแรกในเดือนธันวาคมนี้ ”

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

สพฐ. ระบุภารกิจ กสศ. ตอบโจทย์ลดเหลื่อมล้ำ

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายการช่วยเหลือนักเรียนของ สพฐ. เป็นการเติมให้อย่างเท่าเทียมทุกกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่เด็กนักเรียน แต่ละคนมีต้นทุนแตกต่างกัน จึงไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ทันท่วงที ดังนั้นการ สนับสนุนของ กสศ. ทั้งในรูปแบบของเงินอุดหนุน องค์ความรู้ งานวิจัยและระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายนี้   ดังนั้น มั่นใจว่าความร่วมมือในโครงการ “โรงเรียนร่วมวิจัย สพฐ.-กสศ.” จะทำให้ช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ได้สำเร็จ เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาและครู อยู่ใกล้ชิดปัญหา รู้ว่าสถานการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยเฉพาะ การส่งรายชื่อนักเรียนที่เข้าเกณฑ์ยากจนพิเศษเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานสถานะความยากจนของเด็กเป็นรายบุคคล การสำรวจความต้องการเพิ่มเติมของเด็กยากจนพิเศษ ในขณะที่สถานศึกษาช่วยส่งข้อมูลผลการติดตามเงื่อนไขการรับเงิน (การมาเรียน และผลการเรียน) ให้กองทุนผ่านระบบสารสนเทศ

 

ทำไม ระบบสารสนเทศของกสศ. จึงเป็นประโยชน์ทั้งระดับ ส่วนกลางและพื้นที่ ?

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ทั้งในรูปแบบเว็บไซต์และโมบายแอพพลิเคชั่น ที่ใช้งานง่าย สะดวก ประมวลผลรวดเร็ว เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ และการติดตามผลการดำเนินงานได้ครบวงจรซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับอัตราการอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่อคนให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพียงพอต่อการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ระบบนี้ยังช่วยลดภาระงานเอกสารและการจัดการข้อมูลของครูและผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งให้เขตพื้นที่การศึกษาใช้สนับสนุนการทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการทำงานของโรงเรียนได้อย่างเต็มที่

 

“ประโยชน์ที่โรงเรียนและเขตพื้นที่ซึ่งเข้าร่วมโครงการจะได้รับ นอกจากบริหารจัดการข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีแล้ว ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครู ยังสามารถใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ iSEE จากคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตในการเรียกดูข้อมูลรายโรงเรียนหรือรายบุคคลภายที่ครอบคลุมทุกมิติได้ใน 5 คลิ๊ก รวมทั้งสั่งพิมพ์ข้อมูลดังกล่าวออกมาเป็นเอกสารรายงานทางราชการได้โดยสะดวก เพื่อช่วยประหยัดทั้งเวลาและกระดาษตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อผู้บริหารมีข้อมูลเชิงลึกอยู่ในมือที่เรียกใช้ได้สะดวกก็จะช่วย สนับสนุนการบูรณาการทำงานทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่และระหว่างหน่วยงาน เพื่อร่วมกันสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืน” ดร.ไกรยส กล่าว