‘โรคใหม่’ สร้าง ‘โลกแห่งการเรียนรู้ใหม่’ : อนาคตการศึกษาไทยยุคหลัง COVID-19
โดย : กองบรรณาธิการ The 101 World

‘โรคใหม่’ สร้าง ‘โลกแห่งการเรียนรู้ใหม่’ : อนาคตการศึกษาไทยยุคหลัง COVID-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ทั่วโลกต่างเฟ้นหามาตรการรับมือที่ดีที่สุด ก่อนมาลงเอยด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing จนนำไปสู่การปิดเมือง ปิดเศรษฐกิจ และปิดสถาบันการศึกษาในเวลาต่อมา

นั่นกลายเป็นสาเหตุให้นักเรียนจำนวนกว่า 1.5 พันล้านคน หรือมากกว่า 90% ของนักเรียนทั้งหมดในโลกได้รับผลกระทบ ถูกปั่นป่วนกระบวนการเรียนรู้ และบางส่วนยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในโลกการศึกษาแบบปัจจุบันทันด่วน ชี้ให้เห็นถึงประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำที่อาจรุนแรงสาหัสมากขึ้นเป็นทวีคูณ

การมาเยือนของวิกฤตโรคระบาดทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาหลากหลายด้าน เป็นต้นว่า เราจะออกแบบการเรียนรู้ในยุคโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร ทักษะและหลักสูตรโลกการศึกษารูปแบบใหม่หลังจากนี้ควรมีหน้าตาแบบไหน เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทด้านการเรียนรู้หรือทำให้ความเหลื่อมล้ำย่ำแย่กว่าเดิม

และจริงหรือไม่ ที่เราสามารถเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสด้านการศึกษาใหญ่ได้

101 ชวน วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) และผู้เขียนหนังสือ “เศรษฐกิจสามสี – เศรษฐกิจแห่งอนาคต”, สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้ากลุ่มก่อการครู, วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และ พริษฐ์ วัชรสินธุ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ‘StartDee’ สตาร์ทอัพใหม่ด้านการศึกษา มาร่วมตอบคำถามและระดมสมองออกแบบโลกการศึกษาในวันข้างหน้า ใน Public Forum “โรคใหม่ – โลกใหม่ – การเรียนรู้ใหม่ : อนาคตการศึกษาไทยยุคหลัง COVID-19”

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

มองความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการศึกษาจาก COVID-19

เมื่อมองในภาพรวม อาจกล่าวได้ว่า ตอนนี้โลกกำลังเผชิญ 3 คำถามใหญ่ร่วมกัน คือ 1.โลกาภิวัตน์จะสิ้นสุดหรือไม่ 2.ระบอบทุนนิยมจะล่มสลายหรือไม่ 3.ความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้นหรือไม่

ประเด็นแรกที่ว่าโลกาภิวัตน์จะสิ้นสุดหรือไม่เมื่อโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างแทบจะหยุดชะงัก ผมคิดว่าอาจเป็นความกลัวที่มากเกินไปของนักคิดสายเสรีนิยมหรือผู้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ พวกเขามองเห็นพัฒนาการของโลกเป็นเส้นตรงมากเกินไป หากเราดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์โลก จะพบว่าโลกาภิวัตน์มีทั้งช่วงที่เปิดและปิด เผชิญวิกฤต หรือถูกตั้งคำถาม ประวัติศาสตร์โลกไม่ได้เป็นเส้นตรง เพราะฉะนั้นพัฒนาการอาจเป็นไปได้หลายทาง

แต่หากเรามองแนวโน้มเรื่อง supply chain การแบ่งกันผลิต พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่นเข้ามาผลิตนั้นมีแนวโน้มที่จะลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะจากจีน เพราะบริษัทใหญ่เริ่มรู้แล้วว่าการผลิตเช่นนี้มีความเสี่ยงเมื่อไวรัสระบาดในจีน บริษัทจึงไม่สามารถพึ่งพาการผลิตจากจีนได้ ดังนั้น supply chain ระดับโลกมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนหน่วยมาผลิตในระดับภูมิภาคมากขึ้น แต่อาจไม่ถึงขั้นกลับเป็นชาตินิยมหรือปิดประเทศเสียทีเดียว

ส่วนคำถามที่สองซึ่งคนกลัวมาก คือทุนนิยมจะล่มสลายหรือไม่ แต่หากเราดูรายละเอียดในแต่ละธุรกิจ จะพบว่าแต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่เท่ากัน มีบางธุรกิจรายได้ติดลบ ยอดขายหายไป เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ยานยนต์ ปิโตรเคมี ธุรกิจธนาคาร แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีธุรกิจที่ทรงตัวได้ หรือได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์ตอนนี้ เช่น ธุรกิจอุปโภคบริโภค ธุรกิจยารักษาโรค ธุรกิจผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ผลิตหน้ากากอนามัย ดังนั้น ทุนนิยมไม่ได้ล่มสลาย แต่มีผู้ได้ผู้เสียต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตาม ทิศทางที่เห็นได้ชัดคือ ธุรกิจอย่าง Tech firm จะเติบโตและขยายอิทธิพลข้ามพรมแดนไปในธุรกิจอื่น เพราะทั้งภาคธุรกิจ โรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ ต่างต้องหันมาพึ่งโลกออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจค้าขายผ่าน e-commerce มากขึ้น การทำธุรกรรมออนไลน์ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เห็นได้ชัดว่าแม้แต่ Huawei ก็ยังทำกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในไตรมาสแรกซึ่งเป็นช่วงที่ระบาดรุนแรงได้ และยังไม่นับว่า Tech firm เป็นบริษัท ‘Trillion Dollar Club’ ที่มีมูลค่าในตลาดเกินล้านล้านดอลลาร์แล้ว อย่าง Amazon, Google, Apple, Microsoft

การเติบโตและขยายอิทธิพลของ Tech firm จะส่งผลสะเทือนทั่วโลก เพราะการแข่งขันต้องพึ่งพาบริษัทเหล่านี้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเรื่องความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงระหว่างประเทศ ทิศทางในอนาคตอาจเกิดการควบรวมกิจการครั้งใหญ่ ส่งผลต่อตลาดแรงงานและตลาดการค้า

ประเด็นที่สาม เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่เริ่มปิดเมือง และจะส่งผลกระทบในระยะยาว วิถีชีวิตของคนมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างมาก มีทั้งคนที่เข้าถึงและเข้าไม่ถึงหน้ากากอนามัย แต่ละพื้นที่เผชิญวิกฤตรุนแรงมากน้อยต่างกัน

ยิ่งมองเรื่องการศึกษา ความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งชัดเจน อย่างนักเรียนที่มีฐานะดีอาจเจอปัญหาเพียงแค่ว่าการเรียนออนไลน์นั้นไม่มีประสิทธิภาพ แต่อย่างเด็กนักเรียนฐานะยากจนจะเจอปัญหาที่ใหญ่กว่ามาก เมื่อพิจารณางานศึกษาการระบาดของไวรัสอีโบลาในทวีปแอฟริกา จะพบว่าการศึกษาที่เป็นปัจจัยให้การเลื่อนชนชั้นทางสังคม (social mobility) นั้นกลายเป็นปัจจัยลบ ทั้งๆ ที่ในสถานการณ์ปกติ การศึกษาเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเลื่อนชนชั้นได้ เพราะการระบาดส่งผลให้ครอบครัวเด็กที่ยากจนนั้นไม่สามารถกลับเข้าโรงเรียนได้อย่างถาวร

โลกการศึกษาหลัง COVID-19 จึงต้องปรับโจทย์ใหม่ หากมองในมุมบทบาทของภาครัฐ รัฐจะต้องออกมาตรการเยียวยาระหว่างวิกฤตสำหรับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ รวมทั้งยังต้องคิดมาตรการรับมือในกรณีที่เด็กต้องออกจากโรงเรียนอย่างถาวร ซึ่งมาตรการเหล่านี้รัฐสามารถลงมือได้ทันที ไม่ต้องรอวิกฤตผ่านไปก่อน และหลังจากนี้ต้องวางทิศทางการศึกษาในอนาคตเพื่อตอบรับกับเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เราต้องแยกให้ออกว่า new normal ที่หลายคนกำลังพูดถึงเป็นความผิดปกติชั่วคราว หรือจะกลายเป็นลักษณะของโลกใหม่หลังโควิด-19 จริง ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราประเมินเรื่องเศรษฐกิจและการศึกษาได้ดีขึ้น หลายเรื่องที่ผิดปกติตอนนี้ ที่จริงแล้วเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมอาจไม่ล่มสลายและกลับมาดำเนินตามปกติได้ หากสามารถคิดค้นวัคซีนสำเร็จ หรือการเรียนออนไลน์ซึ่งจะมาแทนที่มหาวิทยาลัยก็อาจเป็นเรื่องชั่วคราวเช่นกัน

new normal ยังขึ้นกับบริบทที่ต่างออกไปในแต่ละประเทศ อย่างในสหรัฐฯ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือ การเรียนออนไลน์อาจลดลง และเพิ่มการเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น เพราะสหรัฐฯ มีเรียนออนไลน์ส่วนหนึ่งอยู่แล้วแต่เดิม เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 การเรียนออนไลน์ที่เพิ่มยิ่งขึ้นยิ่งกลับทำให้นักเรียนโหยหาชั้นเรียนแบบดั้งเดิม หรืออย่างญี่ปุ่นที่แทบไม่มีการเรียนออนไลน์มาก่อน หลังโควิด-19 ก็มีแนวโน้มปรับไปเรียนออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น new normal ยังต่างไปตามแต่ละสาขาวิชา เช่น สาขาวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต้องใช้ห้องแล็บในการทดลอง ก็ยังต้องใช้วิธีเดิมต่อไป หรือบางที่ นักศึกษาอยากอภิปรายกันในห้องเรียนแบบเดิมด้วยซ้ำ

การเรียนข้ามศาสตร์ และสร้างความเห็นอกเห็นใจ ทิศทางใหม่ของโลกการศึกษา

ตอนนี้ประเทศอื่นๆ เริ่มพูดถึงทิศทางการศึกษาในอนาคตแล้วว่าจะมุ่งไปทางไหน อย่างเช่นสิงคโปร์ตัดสินใจที่จะมุ่งไปทางดิจิทัล เยอรมนีจะมุ่งไปทางอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด แต่รัฐไทยยังไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจน และยังไม่มีสัญญาประชาคมใหม่ว่าจะวางตำแหน่งแห่งที่ของเศรษฐกิจไทยในตลาดโลกอย่างไร ประเด็นนี้สำคัญต่อการศึกษา เพราะนักเรียนนักศึกษาจะได้รู้ว่าควรจะมุ่งพัฒนาทักษะเพื่อตอบโจทย์กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในโลกที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตได้อย่างไร

ถ้าสำรวจปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น อย่างภาวะไม่พึงประสงค์จากความคิดและค่านิยมที่เกิดคู่ขนานกับวิกฤตโควิด-19 จะพบว่ามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาด้วย เช่น ภาวะชาตินิยมสุดโต่ง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ หรือการขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผลจากการออกแบบการศึกษา เราต้องมองเห็นปัญหาตรงจุดนี้เพื่อที่ว่าจะออกแบบการศึกษาในโลกหลังโควิด-19 ให้ดีขึ้นได้อย่างไร อย่างเราต้องออกแบบให้การศึกษาในสายวิทยาศาสตร์หรือสายแพทยศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจด้านสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์หรือไม่ หรือในทางกลับกัน ต้องออกแบบให้การเรียนด้านสังคมศาสตร์ก็ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ด้วยหรือไม่

ดังนั้น ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นที่ผมมองการออกแบบการศึกษาในโลกหลัง COVID-19 คือ การเรียนการสอนข้ามสาขาวิชา (interdisciplinary) และความเห็นอกเห็นใจ

หากมองในมุมทางเศรษฐศาสตร์ โจทย์เรื่องการศึกษาในโลกที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาทักษะแบบแบ่งงานกันทำตามความชำนาญเฉพาะทาง เช่น เมื่อเลือกเรียนวิศวกรรมแล้ว ก็ต้องเลือกเจาะสาขาแยกไปอีกอย่างวิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า เป็นต้น แต่ผมประเมินว่าเราต้องการทักษะที่ครบรอบด้านในอนาคตเพิ่มมากขึ้น และความสำคัญของทักษะความชำนาญแบบเฉพาะทางจะลดลง

ดังนั้น แต่ละสาขาวิชาควรจะมีความเชื่อมโยงมากขึ้น อย่างนักวิเคราะห์ข้อมูลที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคตควรทำงานแบบมองให้รอบด้าน ไม่ควรประมวลผลโดยใช้ข้อมูลจากมุมวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ควรรู้มุมมองทางมนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือสังคมวิทยาด้วยเพื่อที่จะประมวลข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้น เราก็จะเผชิญปัญหาเดิมที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจสังคมศาสตร์ หรือนักสังคมศาสตร์ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ จนกลายเป็นความขัดแย้งเพราะไม่เข้าใจวิธีคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง

และถ้ามองมิติระดับปัจเจกเอง แต่ละคนควรมีทักษะรอบด้านที่จบครบในตัวเองไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร เช่น หากทำอาชีพขายของ จะรู้แค่เพียงซื้อมาขายไปไม่ได้ แต่ต้องมีความเข้าใจตลอด supply chain ในธุรกิจที่ทำอยู่ ต้องรู้ว่าสินค้าที่นำมาขายมาจาก supply chain ไหนในโลก หาก supply chain ในแต่ละส่วนมีปัญหาขึ้นมา ก็ต้องรู้ว่าควรจะต้องทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยง หากจะเป็น fashion designer ก็ต้องรู้เรื่องคอมพิวเตอร์หรือการทำบัญชีด้วย หรือหากทำขนมขาย ก็ต้องรู้ที่มาของวัตถุดิบ ดังนั้น โลกที่แต่ละคนแบ่งงานกันทำตามทักษะเฉพาะจะลดความสำคัญลง

นอกจากนี้ การรู้รอบด้านจะทำให้เราสามารถทำอะไรหลายอย่างเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น สามารถแก้ไขสถานการณ์เวลาเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ (resilient)

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้การเรียนข้ามสาขาวิชานั้นมีปัญหาในตัวเองระดับหนึ่งจากการคิดเชื่อมโยงข้ามสาขาวิชาแล้วไม่รู้ว่าจะสกัดออกมาเป็นความเข้าใจ หรือเชื่อมโยงเป็นวิธีคิดต่อนโยบายอย่างไร ดังนั้น หลักสูตร มหาวิทยาลัยและอาจารย์ต้องปรับตัว โดยเริ่มใช้วิธีคิดข้ามศาสตร์เข้ามาปรับกับงานวิจัย และรู้ว่าควรจัดการสอนอย่างไรให้นักศึกษาเชื่อมโยงได้

ต้องย้ำว่าการเรียนแบบข้ามสาขาไม่ใช่แค่การเรียนหลายสาขาเท่านั้น แต่ต้องรู้ว่าต้องเชื่อมโยงหลายสาขาอย่างไรเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ แล้วนำไปสู่การคิดค้นใหม่ ในแง่นี้ อาจนับว่าเทคโนโลยีเป็นศาสตร์หนึ่งที่จะต้องนำเข้ามาเรียนร่วมกับศาสตร์อื่น เช่น การเรียนสังคมวิทยาในอนาคต การลงพื้นที่อาจไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยประมวลผลข้อมูลให้เข้าใจทั้งภาพใหญ่และภาพเล็กไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ยังต้องมีการคิดเชื่อมโยงภายในศาสตร์เองด้วย อย่างในสาขาเศรษฐศาสตร์เองก็สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสำนักทฤษฎีต่างๆ ภายในศาสตร์ได้ ดังนั้น การเรียนข้ามสาขาวิชาหมายถึงทั้งเชื่อมโยงกันในภายในสาขาวิชา และเชื่อมโยงระหว่างสาขาอื่น ประยุกต์รวมกันเพื่อตอบโจทย์ในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น

ด้านทักษะการใช้ชีวิต ก็ควรจะเป็นทักษะแบบรู้รอบด้าน เข้าใจโลกได้หลากหลายมิติเช่นกัน รวมทั้งมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งเพิ่มความสำคัญขึ้นอย่างมากในยุคโควิด-19 และจะกลายเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาในอนาคต ในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยปัญหาและภัยคุกคามใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะส่งผลต่ออีกหลายเรื่อง เช่น เกษตรกรรมหรือวิถีชีวิต

สฤณี อาชวานันทกุล

สำรวจเทรนด์การศึกษาโลกที่เปลี่ยนไปเพราะ COVID-19

ในเรื่องเทรนด์การศึกษา บางคนบอกว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่ง (accelerator) หรือเป็นเหตุระดับโลกที่มาขับเน้นหรือเร่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากคือ การเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในรูปดิจิทัล (digitalization) หรือเปลี่ยนการศึกษาให้เป็นแบบออนไลน์มากขึ้น นี่เป็นผลพวงโดยตรงจากโควิด-19 ที่แม้จะเป็นวิกฤตด้านสุขภาพ แต่วิกฤตครั้งนี้ก็เรียกร้องให้เราต้องหาวิธีการจัดการที่อยู่ภายใต้ศักยภาพของระบบสุขภาพแต่ละประเทศ ทำให้เราเริ่มพูดถึงมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม การปิดเมืองหรือกึ่งปิดเมือง แน่นอนว่า เมื่อคนเรามีระยะห่างกันทางกายภาพ ก็จะเกิดความคาดหวังทันทีว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตั้งแต่การทำงานไปจนถึงการศึกษา

ดังนั้น การเคลื่อนไหวในแวดวงการศึกษาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือการศึกษาทางไกล ทั้งหมดเหมือนถูกโยนเข้ามาทันที ซึ่งก่อนหน้านี้หลายนวัตกรรมอาจจะอยู่ในช่วงทดลอง แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ทุกคนต้องเร่งนำนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามาใช้ทันที เพราะแม้นักเรียนจะยังไปโรงเรียนไม่ได้ แต่เราต้องหาวิธีจัดการเรียนการสอนต่อไป

การใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น = ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ทางการศึกษาเพิ่มขึ้น?

การเกิดขึ้นของ digitalization หรือความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในช่วงโควิด-19 ยิ่งขับเน้นให้เห็นประเด็นความเหลื่อมล้ำมากขึ้น จริงๆ เรามีทั้งงานวิจัยและผลการศึกษาจำนวนมากที่บอกว่า ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเป็นตัวคาดการณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี เราสามารถคาดการณ์ได้เลยว่า คนเราจะมีแนวโน้มการหารายได้หรือมีโอกาสในชีวิตมากน้อยแค่ไหน จากคุณภาพหรือระดับการศึกษาที่ได้รับ

เมื่อโควิด-19 ทำให้เทรนด์ digitalization แหลมคมมากขึ้น ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัลหรืออุปกรณ์ดิจิทัลอยู่มาก เช่น ประเทศไทย จะเกิดประเด็นว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มถูกถ่างให้กว้างมากขึ้นทันที ถ้าพูดอย่างหยาบๆ คือ เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้กับนักเรียนที่สามารถเข้าถึงได้ แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี เพราะการศึกษามีองค์ประกอบและโครงสร้างมากมาย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เช่น ต่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ แต่ถ้ากระทรวงศึกษาธิการหรือโรงเรียนประกาศว่า ให้นักเรียนเรียนที่บ้านผ่านหลักสูตรออนไลน์ ก็มีนัยว่า นักเรียนต้องมีสมาธิจดจ่อกับแบบเรียนออนไลน์ได้ และยังมีความคาดหวังว่า ผู้ปกครองจะคอยดูแลนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็ก

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดประเด็นตามมา เพราะปกติแล้ว พ่อแม่คาดหวังว่าเมื่อตนส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียน ก็จะมีคุณครูคอยดูแล แต่ตอนนี้ลูกต้องเรียนอยู่ที่บ้าน แล้วบ้านพร้อมแค่ไหนที่จะเป็นสถานที่เรียนรู้ของเด็ก และต่อให้เด็กสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ พ่อแม่ก็ยังต้องรับภาระดูแลลูกเพิ่มเติมด้วย การที่พ่อหรือแม่จะต้องสละเวลามาดูแลลูกอาจหมายถึงพวกเขาต้องสละโอกาสในการหารายได้ไปด้วย จะเห็นว่า การที่บอกให้จัดการเรียนการสอนที่บ้านมีนัยหลายอย่างตามมา สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย การจัดการเรียนการสอนแบบนี้อาจจะทำไม่ได้โดยง่าย

ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ที่เราเคยเห็นกันอยู่แล้วจะยิ่งมาขับเน้นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้และศักยภาพในการจัดการเรียนสอนด้วย ยังไม่นับประเด็นที่มีหลายคนพูดถึงคือ การออกแบบหลักสูตรหรือเนื้อหาการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางจำเป็นต้องจัดรูปแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียน คือมีคนทำหน้าที่อำนวยความสะดวก (facilitate) ด้วย คำถามคือบทบาทหน้าที่ของครูจะเป็นยังไง นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ตอบได้ง่ายๆ ด้วยการแจกอุปกรณ์ดิจิทัลให้แล้วทุกอย่างจะจบ เพราะมันมีประเด็นที่พัวพันอยู่เยอะมาก ตั้งแต่เรื่องผู้ปกครอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ความพร้อมหรือโครงสร้างต่างๆ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นประเด็นใหญ่ แต่ประเทศต่างๆ จะเจอความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ก็น่าจะขึ้นอยู่กับมาตรการรับมือและการจัดการของภาครัฐ รวมถึงโครงสร้างในการทำงานด้วย เช่น รัฐจะให้ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ ในทางเทคโนโลยีหรือโทรคมนาคม มีศัพท์คำว่า ‘last miles’ คือสมมติว่า ผู้ให้บริการตั้งใจจะให้บริการกับผู้ใช้มากขึ้น เตรียมเทคโนโลยีและใบอนุญาตต่างๆ ไว้เรียบร้อย แต่ถ้ามีอุปสรรคไมล์สุดท้ายที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ ก็เท่ากับว่าการลงทุนที่ผ่านมาไม่ได้ผลอะไร การใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้นในช่วงโควิด-19 ทำให้เราต้องคิดถึงปัญหา last miles ให้มากขึ้น ต้องคิดให้ชัดขึ้นว่า การวัดผลไม่ได้วัดแค่การเข้าถึงการศึกษาของนักเรียน แต่ต้องตั้งคำถามไปถึงคุณภาพหรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้วย

อีกหนึ่งตัวอย่างที่อยากพูดถึงคือ โรงเรียนประถมจะมีงบอาหารกลางวัน แต่ถ้ามีการเลื่อนเปิดเทอมหรือเด็กต้องเรียนที่บ้านแล้ว เราจะสามารถนำงบอาหารกลางวันมาจัดสรรใหม่ ให้เข้าถึงครอบครัวที่ต้องรับภาระในการเลี้ยงดูลูกเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ หรือเราจะเอื้อให้องค์กรด้านธุรกิจสังคมทำแบบนี้ได้ไหม นี่เป็นโจทย์ในมุมที่กว้างกว่าเรื่องเทคโนโลยี และเป็นเรื่องที่เราน่าจะต้องคุยกันต่อไป

COVID-19 ตอกย้ำความสำคัญของทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

วิกฤตโควิด-19 ชี้ให้เห็นว่าทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีความสำคัญมาก ทั้งการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ (adaptability) ความเข้าใจอกเข้าใจผู้อื่น มี global mindset มองตัวเองเป็นพลเมืองโลก และมองผู้อื่นด้วยความเชื่อมโยงกันในระดับโลก มีความสามารถในการแก้ไขสถานการณ์เวลาเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน (resilient) รวมถึงเรื่องความรู้ (literacy) ใหม่ๆ เช่น ทักษะด้านดิจิทัล (digital literacy) หรือการเงิน (financial literacy) และทักษะการจัดการตัวเอง ภาวะผู้นำ การทำงานร่วมกับผู้อื่น

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น คือเมื่อเกิดโควิด-19 ตอนแรกเราเห็นว่ามันเป็นเรื่องสุขภาพ เป็นโรคระบาด เราคิดว่าเราต้องฟังแพทย์เป็นหลัก แต่พอเหตุการณ์เริ่มบานปลาย และเหมือนว่าเราต้องอยู่กับมันไปอีกระยะหนึ่ง ทีนี้โควิด-19 จึงไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่เป็นประเด็นที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางด้านสังคมศาสตร์หลายศาสตร์ รวมถึงศาสตร์ด้านมานุษยวิทยา มีความเข้าอกเข้าใจ มองเห็นความต้องการที่แตกต่างกันของคนที่เดือดร้อนไม่เท่ากันในวิกฤต อีกทั้งวิธีการที่พยายามใช้แก้ปัญหาในยุคโควิด-19 ทั้งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ หรือทางสังคม รวมถึงนโยบายสาธารณะต่างๆ ก็ล้วนเกี่ยวพันกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น ทักษะดังกล่าวจึงสำคัญมากในการเอาตัวรอด

อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญชัดเจนมากขึ้น คือการเชื่อมต่อกันของโลก (global connectedness) หรือการมี global mindset เพราะโควิด-19 เป็นโรคระบาดระดับโลก ต่อให้เราดูแลและระมัดระวังตัวเองกับครอบครัว พยายามทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้แล้ว แต่ละแวกบ้านของเรายังอันตรายอยู่ มันก็ส่งผลกระทบกับเราอยู่ดี หรือต่อให้ประเทศเราทำได้ดี ควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ถ้าประเทศอื่นยังประสบปัญหา ก็เท่ากับว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะฉะนั้น โควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ดีมากของคำถามที่ว่า ทำไมเราต้องมีทัศนะที่มองออกไปข้างนอก พยายามทำความเข้าใจคนที่มีความแตกต่างทางความคิด วัฒนธรรม และบริบท เรียกร้องความเป็นพลเมืองโลกให้มากขึ้น

อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือ เทรนด์งานในอนาคต มีแนวโน้มที่บอกว่า ในปี 2030 งาน 60-80% จะเป็นงานใหม่ที่วันนี้เรายังไม่รู้จัก ไม่มีชื่อเรียก ยังไม่นับเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศอุตสาหกรรม อย่างการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานมนุษย์ในหลายงาน เมื่อเทรนด์เหล่านี้ผนวกรวมกับโควิด-19 จึงน่าจะช่วยเร่งการปรับทิศและหลักสูตรการศึกษาทั้งหมดให้มุ่งไปสู่ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องการเรียนแบบท่องจำ เราต้องทำอะไรอีกเยอะ

ทักษะใหม่ที่ต้องเติมใส่หลักสูตร

โควิด-19 เป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ ถึงคนที่ทำงานสายวิจัยหรือการพัฒนาที่ยั่งยืนจะได้ยินมาเยอะแล้วว่า มนุษย์ทำลายถิ่นที่อยู่สัตว์ป่าหรือสิ่งแวดล้อม ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดที่มนุษย์อาจไม่รู้จักมาก่อน แต่พอโควิด-19 เกิดขึ้นจริงๆ เราเห็นเลยว่า ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังมองไม่รอบด้านและยังไม่พร้อมรับมือ สาเหตุหนึ่งที่เราไม่พร้อมเพราะยังมีปัญหาเรื่องการทำงานแบบข้ามศาสตร์ (interdisciplinary) ซึ่งเชื่อมกับเรื่องการทำงานร่วมกัน (collaboration) และโยงกลับไปที่การมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

ถ้าเราไม่เข้าใจว่างานของคนอื่นสำคัญอย่างไร ก็อาจไม่เกิดแรงจูงใจในการทำงานร่วมกันหรือร่วมมือกัน บางครั้ง เราคิดง่ายๆ ว่า แค่ดึงตัวคนจากศาสตร์อื่นมาร่วมกันพอเป็นพิธี แต่เราไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าบางครั้ง ทักษะหลายอย่างต้องไปด้วยกัน

อีกทักษะที่คิดว่าสำคัญสำหรับสังคมไทย แต่อาจจะไม่ได้อยู่ในกรอบของทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยตรง คือเรื่องการมองประเด็นความเสี่ยง วัฒนธรรมการเผื่อเหลือเผื่อขาด และการออม ซึ่งถือเป็นความรู้เช่นกัน เราจะทำอย่างไรให้แต่ละคนมองเห็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในชีวิต ทั้งของตัวเองและในระดับที่ใหญ่กว่านั้น และพยายามหาหนทางบรรเทาหรือจัดการความเสี่ยง รวมไปถึงการใช้สิทธิพลเมืองในฐานะที่เราเป็นพลเมือง ซึ่งรวมถึงการใช้สิทธิพลเมืองเรียกร้องให้รัฐดูแลเรื่องความเสี่ยงของเราให้มากขึ้น เราเห็นว่าเรื่องตาข่ายทางสังคมในไทยยังเป็นปัญหาอยู่ ทักษะใหม่ที่โควิด-19 กำลังตอกย้ำให้เราเรียนรู้จึงเป็นเรื่องการใช้สิทธิ และการมองตัวเองในฐานะที่เป็นพลเมืองของสังคมและพลเมืองโลก

ตั้งโจทย์การสอนใหม่ – ปรับทัศนคติครู – สร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ถ้าเราตั้งต้นว่าทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จะทวีความสำคัญมากขึ้น ความท้าทายของเราจึงเป็นเรื่องการปรับตัวของระบบการศึกษา ซึ่งอาจจะยังติดกับวิธีคิดหรือรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิม ให้สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็น แต่เชื่อว่า ไม่มีใครที่มองว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่สำคัญ เพราะต่อให้เราทุกคนเข้า google ได้หมด ก็ไม่ใช่ว่าเราต้องฉลาดเหมือนกันหมดหรือรู้เรื่องทุกอย่าง แต่เราอาจจะต้องดูเรื่องการเรียนการสอนที่มีโครงสร้างชัดเจน หรือ active learning รูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ เราอาจสนับสนุนให้มีการเรียนแบบข้ามศาสตร์เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเรียนเน้นทางเศรษฐศาสตร์ เราอาจจะต้องเผื่อเวลาสัก 1 ใน 4 ของเวลาเรียนไปเรียนศาสตร์อื่นๆ รวมถึงทักษะพื้นฐานจำเป็น เช่น ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัล หรือความรู้ทางด้านการเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องรู้ทุกเรื่อง ทุกศาสตร์ หรือเป็นพหูสูต มันเป็นการย้อนกลับไปมองว่าคนเรามีความสนใจหลากหลาย เราจะเรียนศาสตร์อะไรก็ได้ แต่ต้องมีความเคารพซึ่งกันและกัน เคารพบทบาทหน้าที่ ความสำคัญของศาสตร์อื่นๆ แล้วมองเห็นความเชื่อมโยงของความรู้ที่จะดึงมาทำงานร่วมกันได้

ถ้าเราออกแบบระบบการศึกษาที่ไม่ได้เริ่มตั้งโจทย์ที่ตัวความรู้ แต่เริ่มตั้งโจทย์ที่ทักษะ เช่น ถ้าเราพูดถึงเรื่องทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (critical thinking) เราอาจจะต้องเปิดโลกให้เขาเห็นได้ว่า โลกเรามีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างไร ทำไมเราต้องมีความเข้าอกเข้าใจคนอื่น ทำไมความคิดเราเป็นเพียงความคิดหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าความคิดของเราต้องถูกต้องทั้งหมด ถ้าเราสอนสิ่งเหล่านี้ได้ มันจะค่อยๆ นำไปสู่การมองเห็นความจำเป็นของการทำงานแบบข้ามศาสตร์

แต่ที่ผ่านมา เราอาจจะทำเรื่องการทำงานข้ามศาสตร์ได้ไม่มากพอ เพราะเรายังไม่ได้เปิดช่องหรือเปิดโอกาสให้เด็กมองเห็นความสำคัญของการมีความเห็นอกเห็นใจ การทำงานร่วมกับคนอื่น ความสำคัญของการยอมรับความแตกต่างทางความคิด และการเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้แสดงความคิดเห็น นี่จึงอาจจะเป็นโอกาสหนึ่งของการออกแบบหลักสูตรที่เน้นเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

ข้อควรระวังของการออกแบบหลักสูตรที่มีการข้ามศาสตร์และบูรณาการร่วมกัน คือวิธีคิดเวลาเราจะสร้างหลักสูตร เรามักเอาชื่อทุกอย่างที่ต้องการมารวมในประโยคเดียวกัน เช่น บอกว่าเป็นปริญญาเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์โลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้ว เราควรตั้งต้นจากการมองว่าวัตถุประสงค์จริงๆ ที่เราต้องการคืออะไร และวิธีมองโลกหรือวิธีคิดหลักที่เราจะใช้ในหลักสูตรนั้นๆ คืออะไร แทนที่จะพยายามไปคิดว่า ต้องพยายามรวมเอา 5 ประเด็นเข้ามาไว้ด้วยกัน

มีอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งเคยพูดไว้ว่า หน้าที่ของอาจารย์ไม่ใช่การให้แผนที่กับนักเรียน เพราะแผนที่อาจจะล้าสมัยได้ แต่หน้าที่ของอาจารย์คือ สอนวิธีการอ่านแผนที่ และสอนให้รู้ว่า ในโลกอาจจะมีแผนที่หลายแบบ เวลาที่นักเรียนไปยังประเทศไม่คุ้นเคยจะได้สามารถจัดการตัวเองได้ ส่วนตัวจึงชอบคำว่า การเรียนรู้แบบนำตนเอง (self-directed learning)  เพราะฉะนั้น โจทย์สำคัญของเราคือ การถอยออกมาจากชื่อวิชาก่อน แล้วเริ่มจากการดูเป้าหมายว่า เป้าหมายหลักของหลักสูตรหรือศาสตร์นี้ต้องการจะช่วยเรามองเรื่องอะไรหรือแก้ปัญหาเรื่องอะไร

อีกโจทย์หนึ่งในการศึกษาของเราคือ ทัศนคติของครูผู้สอนบางท่านยังมองว่า เด็กต้องรับฟังคำสั่ง หรือครูรู้ดีกว่าเด็ก ทำให้บรรยากาศการเรียนเกิดความตึงเครียดมากขึ้น เพราะเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ เป็น digital native เป็นคนที่เกิดมาก็เข้าถึงโลกดิจิทัล คำถามคือ เราจะออกแบบ mindset หรือทัศนคติของผู้สอนในระบบอย่างไรให้ไปในทิศทางเดียวกัน หรือเปิดกว้างกับความหลากหลายทางความคิดของเด็ก ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ เราเห็นหลายการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เช่น เรื่องทรงผมนักเรียน เห็นพื้นที่ที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน

ดังนั้น เราจึงอยากเห็นการออกแบบระบบการสอนของไทยที่เอื้อต่อการเปิดพื้นที่ให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างที่เราเคยพูดเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือการให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม และอยากเห็นเรื่องนี้พัฒนาเป็นรูปธรรมมากขึ้นไปกว่าในระดับโรงเรียนนำร่อง รวมถึงการทำให้การศึกษามีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น แต่ก็มีระบบการวัดผลกลางบางอย่างอยู่ด้วย

สุดท้าย สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้ คือการพัฒนา mindset และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต(life-long learning) ในเมื่อตอนนี้ประเทศกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ เราต้องมองด้วยว่า ลักษณะการเรียนรู้แบบไหนจะเอื้อให้ผู้สูงวัยสามารถมีการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตที่เหลือของเขา ทำอย่างไรให้สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติ หรือเข้าถึงการอบรมทักษะใหม่ๆ (reskill) ที่จะทำให้ผู้สูงวัยดูแลตัวเองได้มากขึ้น การสร้างทักษะการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องจากวัยเด็กจนถึงสูงวัยอาจเป็นอีกโจทย์หนึ่งของระบบการศึกษาที่น่าจะช่วยกันคิดและออกแบบได้

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ท่ามกลางคลื่นความเหลื่อมล้ำ

การเรียนในช่วงปิดโรงเรียนมีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่คนมักจะพูดถึงการเรียนออนไลน์ เป็นกระแสหลักที่ประเทศต่างๆ พูดกันเยอะ แต่ในความเป็นจริง เราพบว่าเด็กในหลายพื้นที่ไม่มีความพร้อมตรงนี้ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ถึงทางกระทรวงจะคิดว่าวิธีที่น่าจะเข้าถึงได้ง่ายที่สุดคือใช้ระบบทีวีดาวเทียม แต่ในหลายพื้นที่เด็กก็ยังไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้า ถ้าจะเรียนวิธีนี้ เด็กต้องเข้ามาที่โรงเรียนที่จัดสถานที่ไว้ให้ ซึ่งก็ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียนและครู  โรงเรียนต่างๆ ค่อนข้างมีแนวคิดของเขาเอง ผมเชื่อว่าถ้าเขาสามารถบริหารได้อย่างอิสระก็น่าจะพอจัดการได้

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนบางแห่งยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางทรัพยากรทางการศึกษาอยู่ เช่น โรงเรียนในเมืองมีความพร้อม มีอินเทอร์เน็ต มีครู มีระบบสนับสนุนที่ค่อนข้างดี กับโรงเรียนในชนบทที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีไฟฟ้า หรือแม้แต่บางโรงเรียนอาจจะมีคอมพิวเตอร์ มีอินเทอร์เน็ต แต่ครูไม่มีศักยภาพที่จะสอนตรงนั้นได้ เพราะฉะนั้นการเรียนออนไลน์อย่างเดียว อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ ต้องมีวิธีการประยุกต์ดัดแปลงที่หลากหลาย เช่น บางโรงเรียนใช้ระบบ remote learning ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นระบบออนไลน์เสมอไป บางโรงเรียนก็ใช้ระบบ learning box set มีอุปกรณ์ หนังสือ แบบฝึกหัด คู่มือการเรียนที่เด็กเอาไปศึกษาเองที่บ้านได้ หรืออาศัยการประสานงานกับผู้ปกครองให้ติดตามว่ามีปัญหาอะไรไหมในการช่วยเหลือลูกเรียนหนังสือ โดยใช้ระบบเรียนที่บ้าน เป็นต้น

บางโรงเรียนบนดอยที่เราไปคุยมา ครูบอกว่าสมัยก่อนยังใช้วิธี ‘ครูบนหลังม้า’ คือครูต้องขี่ม้าขึ้นไป เอาถุงที่ใส่เทปคาสเซ็ต หนังสือ แบบฝึกหัด เพื่อไปสอนเด็กตามศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งเขาคิดว่าในสถานการณ์โควิด-19 บางครั้งวิธีการแบบนี้อาจจะต้องเอากลับมาใช้ ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นม้า แต่เป็นรถโฟร์วีล มอเตอร์ไซค์วิบาก เพื่อเอาอุปกรณ์การสอนไปช่วยเด็กในชุมชนได้ การเรียนในช่วงนี้ต้องมีความหลากหลายและมีการประยุกต์ค่อนข้างเยอะ

เมื่ออาหารการกิน เป็นอีกหนึ่งผลกระทบหลังปิดโรงเรียน

ในภาวะปกติ เด็กนักเรียนยากจนพิเศษที่ กสศ. ช่วยเหลือก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะออกนอกระบบการศึกษาอยู่แล้ว ส่วนมากพ่อแม่มีการศึกษาน้อย มีฐานะยากจน เด็กเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาไม่เท่าเทียมกับเด็กส่วนที่เหลือของประเทศไทย พอยิ่งเจอสถานการณ์โควิด-19 ก็จะมีความเปราะบางเป็นพิเศษ มีความเสี่ยงหลายเรื่อง

ประเด็นหนึ่งที่น่ากังวลคือ เราพบว่า ยิ่งประเทศที่มีความยากจน หรือในกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสเท่าไร ความเหลื่อมล้ำก็มีสถานการณ์ที่จะแย่ลง เช่น เรื่องโภชนาการ ในกลุ่มเด็กยากจน สาเหตุหนึ่งที่พ่อแม่อยากให้ลูกไปโรงเรียน เพราะเขาได้รับประทานอาหารที่โรงเรียน จากการพูดคุยกับคุณครู เราพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เด็กจะมีสภาวะอ้วนและสมบูรณ์ที่สุดในช่วงก่อนปิดเทอม คือช่วงที่เขาอยู่ในโรงเรียน และเด็กจะมีสภาวะผอมที่สุดช่วงเปิดเทอมวันแรก เพราะช่วงที่อยู่บ้านเขาไม่ได้รับอาหารที่มีประโยชน์หรือมีโภชนาการเลย เพราะฉะนั้น ครอบครัวส่วนใหญ่ก็จะมีความคาดหวังว่า อยากให้ลูกไปเรียนหนังสือเพื่อที่จะได้รับประทานอาหาร

แต่ในสถานการณ์ที่โรงเรียนต้องขยายเปิดเทอมไปอีกเกือบสองเดือนก็น่าเป็นห่วง เป็นหนึ่งในภารกิจต้นๆ ที่เราจะเข้าไปดูแลว่าทำอย่างไรเด็กจะได้รับอาหารที่โภชนาการดี อย่างน้อยก็ในช่วงก่อนที่เขาจะเปิดภาคเรียน เราคงไม่สามารถรอให้เปิดภาคเรียนในเดือนกรกฎาคมถึงจะให้เด็กได้รับอาหาร ต้องมีมาตรการจัดการ

ในเบื้องต้น ทาง กสศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนเป็นค่าอาหารให้เด็กชั้นประถมศึกษา แต่สำหรับวิธีการว่าจะจัดสรรอาหารอย่างไร ก็เป็นรายละเอียดที่เราต้องคุยกับทางคุณครูหรือชุมชนในพื้นที่ ซึ่งบริบทของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เราคงไม่สามารถใช้มาตรการเดียวกันจากทางราชการ หรือทางศูนย์กลางสั่งไปแล้วให้ทำเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้เลย

จากที่เราคุยกับครูในหลายสถานการณ์ หลายพื้นที่ ทุกคนก็จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากจะให้อิสระกับทางโรงเรียน หรือทางครู ทางผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารจัดการ เพราะว่าเขาจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าในสถานการณ์พื้นที่ของเขา ควรจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร

COVID-19 ซ้ำเติมความเสี่ยง เด็กออกนอกระบบการศึกษา

เรามีความห่วงใยมากเรื่องเด็กที่มีความเสี่ยงออกนอกระบบ เพราะแม้แต่สถานการณ์ปกติ ถ้าเทียบกับเด็กในทุกกลุ่มที่เราดูแล ไม่ว่าจะเป็นเด็กยากจน เด็กประถมวัย ฯลฯ กลุ่มที่เราดูแลยากที่สุด คือเด็กออกนอกระบบ เพราะการที่เด็กออกนอกระบบการศึกษา มีปัจจัยซับซ้อนมาก ไม่ใช่แค่เรื่องความยากจนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความพร้อมในครอบครัว ความอบอุ่นในบ้าน หรือปัญหาสังคมอื่นๆ มีหลายมิติมาก

เราให้ทางนักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยาเข้ามาช่วยดูเรื่องนี้ ซึ่งต้องทำงานกับหลายภาคส่วนมาก บทเรียนที่เราได้รับก็คือ การทำงานกับเด็กกลุ่มนอกระบบค่อนข้างจะเป็นคอขวดและเป็นปัญหาสำคัญ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ เพราะบางครั้งเราสามารถไปตามติด เจอแล้วแหละว่าเด็กคนนี้ออกนอกโรงเรียน แต่ถามว่าเขาจะกลับไปโรงเรียนมั้ย ก็มีคนไม่อยากกลับเหมือนกัน บางคนเราให้ทุนแล้วก็ยังไม่อยากกลับ เพราะมีปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ทำให้เขาไม่อยากเรียนหนังสือ

เมื่อเจอสถานการณ์โควิด-19 ซ้ำซ้อนกับปัญหาสังคมที่อยู่รอบตัวเด็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางครอบครัว ปัญหาทางสังคม หรือปัญหาจิตวิทยาต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงเกิดความเสี่ยงสูงมากๆ ที่สถานการณ์ของเด็กที่ออกนอกระบบจะมีมากขึ้น

ตอนนี้เราวางแผนมาตรการเชิงรุกบางอย่าง เช่น เข้าไปประกบ พอเริ่มเปิดเทอม เราจะเข้าไปตรวจสอบว่ามีเด็กตกหล่นไปมากน้อยแค่ไหน มีใครบ้างที่พอเปิดเทอมแล้วอาจจะไม่เข้ามาเรียน เราทำงานนำร่องกับเขตพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ประมาณ 20 จังหวัด เพื่อคอยติดตามและดูแลเด็กกลุ่มนี้

How to สร้างระบบการศึกษาใหม่และแก้ไขความเหลื่อมล้ำ

ประเด็นในระบบการศึกษาที่เห็นได้ชัดจากกรณีโควิด-19 ครั้งนี้มีหลายประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง คือเรื่องการกระจายอำนาจ จากที่ได้คุยกับ ผอ.และครูหลายคน ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ต้องการคือทำอย่างไรก็ได้ให้เขามีอิสระในการจัดการบริหารหรือแก้ปัญหาตามบริบทของโรงเรียน และตามบริบทของพื้นที่ตนเอง โดยพึ่งพิงกับรัฐส่วนกลางลดลง

ผอ.หลายคนค่อนข้างกังวลว่า การที่เขาจะเรียกครูมาทำงาน ณ ช่วงนี้ หรือการที่ต้องใช้งบประมาณเป็นกรณีพิเศษ จะเป็นการไม่ทำตามกฎเกณฑ์ที่ส่วนกลางตั้งไว้ จากปัญหานี้จึงเห็นได้ชัดว่าการกระจายอำนาจมากขึ้นน่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่พื้นที่หรือโรงเรียนต้องการ เพราะโรงเรียนจะรู้บริบทตัวเองดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเรื่องงบประมาณ เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน หรือเรื่องบุคลากรต่างๆ

ประเด็นที่สอง คือเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษา ที่อาจจะมีความเหลื่อมล้ำกันในประเทศ ซึ่งจริงๆ เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว แต่เราเห็นได้ชัดว่ามันส่งผลให้เกิดความแตกต่างกันจริงๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โรงเรียนบางแห่งปรับตัวกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดีพอสมควร ในขณะที่โรงเรียนหลายๆ แห่ง เช่น โรงเรียนในชนบท หรือโรงเรียนที่ยากจนขาดแคลนทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางกายภาพ หรือทรัพยากรทางครอบครัว สิ่งแวดล้อมของเด็กที่บ้านอาจจะมีความขาดแคลน นั้นปรับตัวยากกว่า

ถ้าทางภาครัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหา ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เอางบประมาณหรือทรัพยากรไปอุดหนุนกลุ่มคนที่ยากจนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ก็น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง

ประเด็นที่สาม การจัดการเรียนแบบ home base หรือกึ่งๆ home school เมื่อก่อนเราก็มีการพูดถึงกันพอสมควร แต่ไม่ได้โดดเด่นมากนัก เมื่อเกิดสถานการณ์ของโควิด-19 กลายเป็นว่าทั้งโรงเรียน พ่อแม่ หรือชุมชน ภาคประชาสังคม เห็นความสำคัญของการเรียนการสอนในลักษณะนี้ เพราะฉะนั้น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง หรือความสัมพันธ์ของวิธีการเรียนการสอน สามารถให้เด็กมีการเรียนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยใช้ครัวเรือน หรือปลูกฝังให้พ่อแม่มีส่วนร่วม เป็นประเด็นสำคัญ

เมื่อไรจึงควรกลับมาเปิดโรงเรียน

ถ้าถามว่าควรจะให้เปิดเมื่อไร หรือควรใช้มาตรฐานอะไร ก็ค่อนข้างมีแนวคิดหลากหลาย เช่น บางคนก็อยากให้เปิดเรียนแล้ว อยากให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาแล้ว เพราะอาจจะเป็นเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อคนที่ไม่ได้ทำงาน หรือภาคธุรกิจที่ต้องหยุดไป เหตุผลระหว่างสุขภาพกับเรื่องเศรษฐกิจก็มีความขัดแย้งกันอยู่ ก็ต้องพิจารณาว่าเหมาะสมแบบไหน

แต่ที่สำคัญที่สุดคงเป็นเรื่องสุขภาพทางสาธารณสุข ถ้าเปิดแล้ว ก็ต้องมั่นใจว่าโรงเรียนจะไม่เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค หรือทำให้เด็กเป็นพาหะไปสู่พ่อแม่หรือญาติพี่น้องที่บ้าน เรื่องนี้น่าจะเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ที่พิจารณาว่าโรงเรียนควรเปิดมากน้อยแค่ไหน

ณ ตอนนี้ในหลายประเทศก็เริ่มมีการเปิดเรียนกันแล้ว เช่น เดนมาร์ก จีน หรือเกาหลีใต้ เพียงแต่เขาอาจจะใช้มาตรการ social distancing ในโรงเรียนเข้มข้น หลายประเทศก็มีวิธีการรับมือหรือมาตรการที่คล้ายๆ กัน แต่หลักๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้โรงเรียนมั่นใจว่าเด็กมาแล้วจะไม่ติดโรคกลับไป

อธิษฐาน์ คงทรัพย์

หัวใจสำคัญของการเรียนการสอนออนไลน์ในยุค COVID-19

ธรรมชาติของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ กับการเจอตัวแตกต่างกันมากพอสมควร สิ่งที่เราพบคือ ครูต้องเรียนรู้ใหม่ และพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ของตัวเอง หลายคนไม่เคยเรียนรู้เรื่องโปรแกรมออนไลน์ ก็ต้องมาเรียนรู้ในระยะเวลาสั้นๆ และต้องทำงานเป็นทีม เพราะบางคนถนัดบางอย่าง ไม่ถนัดบางอย่าง การออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์จึงต้องแชร์ความรู้กัน

สิ่งที่เราพบจากบรรยากาศในห้องเรียนแบบออนไลน์คือ ถ้าครูสอนโดยเอาเนื้อหาเป็นตัวตั้งแล้วบรรยายหรืออ่านสไลด์ให้เด็กฟังจะไม่เวิร์ก เพราะการมีสมาธิเพื่อนั่งอยู่หน้าจอแล้วฟังอะไรนานๆ ซักครึ่งชั่วโมง เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก โดยเฉพาะกับเด็กวัยรุ่น ครูต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้เป็นการเรียนแบบ Active Learning บทแพลตฟอร์มออนไลน์

พอเด็กต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้าน เขาต้องควบคุมดูแลการเรียนรู้ของตัวเอง เราไม่สามารถไปบังคับเขาได้ จึงเกิดคำถามสำคัญว่า การเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับเด็กคืออะไร ครูจึงต้องเปลี่ยนวิธีการออกแบบการเรียนใหม่หมด จากเดิมที่เคยสอนตามตาราง ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการออกแบบเชิงประสบการณ์ ทำอย่างไรให้เด็กยังคงเชื่อมโยงกับเราโดยที่ไม่ปิดหน้าจอหนีไป หรือออกไปทำอย่างอื่น

การออกแบบกระบวนการให้มีความร่วมมือมีข้อดี คือ ครูได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ และตีโจทย์การเรียนการสอนของตัวเอง ส่วนปัญหาและข้อเรียนรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนของครูที่ได้จัดการเรียนการสอนไปสักสองสามอาทิตย์แล้ว มีดังนี้

1.ความสัมพันธ์ที่ครูมีกับเด็กสำคัญมากๆ หากความสัมพันธ์ของครูกับเด็กดี เด็กจะยินดีให้ความร่วมมือในการเข้ามาเรียนรู้ในระบบออนไลน์

2.การขอความร่วมมือจากผู้ปกครองเป็นสิ่งจำเป็น พ่อแม่อาจต้องมีส่วนร่วมในบางกิจกรรมที่ครูออกแบบให้นักเรียนทำร่วมกับผู้ปกครองที่บ้าน เพราะตอนนี้ชีวิตเขาอยู่ที่บ้านเป็นหลัก การเรียนไม่ควรตัดขาดตัวเขาจากบริบทแวดล้อม ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้บริบทแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ เช่น เด็กบางคนบอกว่าอยู่บ้านแล้วไม่สามารถจัดตารางเวลาของตัวเองได้ เพราะสำหรับเขาบ้านคือที่พักผ่อน ไม่ใช่ที่ที่จะมาเรียน ครูก็เลยต้องชวนเด็กมาออกแบบพื้นที่ จัดมุมหนึ่งในห้องให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้

ชุดประสบการณ์นี้ฟังดูง่ายมากๆ แต่มันเชื่อมโยงกับหลายวิชาได้ เช่น การจัดแสงในวิชาทัศนศิลป์ ครูก็จะต้องนึกให้ออกว่า หนึ่งชุดประสบการณ์สามารถเชื่อมโยงกับอะไรได้บ้าง

3.ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนที่เปลี่ยนไป เด็กบางคนจะไม่พูดหรือตอบคำถามใดๆ เลยในการสอนออนไลน์ การสอนออนไลน์มีทั้งสอนแห้ง และสอนสด สอนแห้งคือครูอัดวิดีโอ แล้วก็อัปโหลดขึ้น ให้เด็กมาเปิดดู สอนสดคือการนัดเวลาสอน ผ่านโปรแกรม Zoom หรือ Microsoft Team ปัญหาร่วมคือเด็กไม่ค่อยตอบคำถามในระบบออนไลน์ ส่วนใหญ่จะแชทหลังไมค์มากกว่า

4.ต้องฝึกเด็กให้เป็นself-directed learner คือเขาต้องมีวินัยในตัวเองสูงในการเรียนและการส่งงาน เราพบว่ามีเด็กบางส่วนคุ้นเคยกับระบบที่มีครูคอยตาม มีครูคอยบอกให้ทำ แต่ตอนนี้เมื่อครูไม่สามารถตามได้ เขาก็จะต้องกำกับตัวเอง

ผลสัมฤทธิ์ที่ได้ระหว่างการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบปกติ กับการเรียนการสอนออนไลน์ต่างกันพอสมควร แต่เราพบว่าหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนดีขึ้น คือ 1. ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ถึงตัวจะไกลกันแต่ใจต้องใกล้กัน ครูต้องมีเทคนิคหรือวิธีการใดก็ได้ทำให้เขารู้สึกว่าครูและเพื่อนๆ อยู่ตรงนี้กับเขา 2. ชุดประสบการณ์ที่ครูเลือกใช้ให้เขาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ได้แม้จะเรียนออนไลน์ 3. ความไว้วางใจ ครูต้องวางใจว่าถึงที่สุดแล้วเด็กทุกคนจะต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของตัวเอง

หนึ่งในหน้าที่ครูจะเปลี่ยนไปคือ ไม่ใช่การบอก การสอนตัวความรู้อีกแล้ว แต่จะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ครูจะโยนโจทย์ที่ท้าทายอย่างไรให้เด็กเกิดความใคร่รู้ได้ด้วยตัวเอง และไปแสวงหาความรู้นั้น เพราะในบริบทของเด็กเมืองที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง  ชุดความรู้ในโลกออนไลน์มีมากมายมหาศาล เมื่อให้แรงบันดาลใจเขาได้ จุดไฟการเรียนรู้ของเขาติด ที่เหลือเดี๋ยวเด็กจะไปต่อเอง

เสียงสะท้อนปัญหาการเรียนจากที่บ้าน

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีข้อตกลงตั้งแต่ก่อนที่เด็กจะเข้าเรียนว่า ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ของลูก ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของครูกับเด็ก ถ้าเกิดโรงเรียนร้องขอความร่วมมืออะไรที่จำเป็น เขาจึงยินดีช่วยเหลือ

ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราขอความร่วมมือในวิกฤตโควิด-19 เช่น ช่วงที่ยังไม่ปิดโรงเรียน เราจะแจ้งผู้ปกครองให้วัดไข้ลูก ดูสุขภาพของเด็ก หากมีอาการป่วยให้หยุดโรงเรียนได้เลย แต่พอปิดโรงเรียนแล้ว เราขอความร่วมมือว่า เวลาลูกได้รับมอบหมายการบ้าน ขอให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง เช่น วิชาพละที่คุณครูให้เด็กออกไปวิ่ง แล้วถ่ายคลิปวิดีโอมาส่ง ผู้ปกครองก็จะต้องเข้ามาช่วยลูกทำกิจกรรมนี้

ปัญหาที่ผู้ปกครองเจอเมื่ออยู่บ้านคือ ถ้าต้องอยู่กับลูกตลอดเวลา ผู้ปกครองบอกว่าเครียดเหมือนกัน เพราะจริงๆ เขามีภาระการงานที่ต้องทำที่บ้าน ตัวเด็กเองก็สะท้อนว่าอยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลาแล้วรู้สึกกดดัน เครียด เขาคิดถึงเพื่อน คิดถึงโรงเรียน ก็เป็นมิติการดูแลความสัมพันธ์เชิงจิตใจ บางวิชาของโรงเรียนจึงพูดถึงเรื่องสภาวะสุขภาพจิตของเด็กว่า หากเครียด เด็กจะมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไร ครูจะช่วยเหลือเขายังไง

บางบ้านพบปัญหาไม่พร้อมเรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเราสำรวจพบ ก็จะหาทางช่วยเหลือ หรือไม่พร้อมเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ตอนนี้ กสทช. เข้ามาซัพพอร์ตอินเทอร์เน็ตให้ฟรี ทางโรงเรียนเองก็มองระยะยาว เทอมหน้าก็เป็นไปได้สูงว่าจะต้องเรียนแบบออนไลน์อีก เราอาจจะต้องซัพพอร์ตซิมการ์ดหรืออินเทอร์เน็ตให้เพิ่ม เป็นโจทย์ที่โรงเรียนยังคิดอยู่

บางบ้านมีปัญหาเรื่องพื้นที่ เช่น อยู่รวมกันหลายคน ก็อาจจะต้องขอความร่วมมือครอบครัว กำหนดช่วงเวลาให้เป็นเวลาของการเรียนรู้

ทั้งนี้ เราพบด้วยว่าการเรียนออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการเรียนออฟไลน์ได้ 100% กล่าวคือเป็นส่วนเสริมได้ แต่ในการเรียนรู้ของมนุษย์ การปฏิสัมพันธ์ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

เด็กยุคนี้เกิดมาในยุคการใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว เป็น digital citizen ที่มีความชำนาญ แต่สิ่งที่ผู้ปกครองส่งเสียงมา คือเด็กส่วนใหญ่เอาเวลาไปเล่นเกมหรือดูสิ่งบันเทิงมากกว่า ก็กลับมาที่ว่า ถ้าอย่างนั้นการเรียนรู้ที่เกิดในโลกออนไลน์อาจจะต้องปรับให้น่าสนใจ น่าติดตาม ซึ่งอาจทำได้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก เท่าที่พบมาถ้าเด็กรับรู้ว่า แม้จะอยู่ในโลกออนไลน์แต่เขาได้รับการมองเห็นจากครู ครูสามารถติดต่อเขา ให้ฟีดแบ็กเขาได้เป็นรายบุคคล เขาจะมีกำลังใจอยากเรียนต่อ นักเรียนบางคนสะท้อนว่าเวลาส่งงานไปแล้วครูเงียบหายทำให้รู้สึกว่าทำไปก็เท่านั้น แต่ถ้าครูตอบกลับ แสดงความเห็นกับเขาสักสองบรรทัด เขาจะรู้สึกใจฟู อยากจะเรียนวิชานี้ต่อ หรือทำงานให้ดียิ่งขึ้น

เรายังต้องเข้าใจด้วยว่าเด็กที่ติดเกมไม่ได้ติดเพราะสนุกอย่างเดียว แต่เกมคือสังคมของเขา คือพื้นที่ที่เขาได้เป็นตัวเองและเชื่อมโยงกับเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน ถ้าเราสามารถสร้างสังคมแบบนี้ได้ในแพลตฟอร์มการเรียนรู้อาจทำให้เด็กให้ความสนใจและใช้เวลาไปกับการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์

อีกวิธีหนึ่งที่เราคุยกับผู้ปกครอง กรณีที่พ่อแม่บ่นมาหลังไมค์ว่าลูกไม่ค่อยรับผิดชอบ คืออาจต้องยอมให้ลูกได้เรียนรู้ว่า การที่เขาไม่สามารถควบคุมการเรียนรู้ของตัวเองได้จะมีผลตามมา เช่น ผลการเรียนที่แย่ลง หรือฟีดแบ็กจากคุณครูว่าเขาต้องพัฒนาเพิ่ม เพราะเราไม่สามารถกำกับเขาทุกฝีก้าวไปตลอดชีวิตได้ บางทีเด็กต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า ถ้าเขาเลือกที่จะเรียนแบบนี้ ใช้เวลาแบบนี้ ผลกระทบที่ตามมาคืออะไร ต้องวัดใจพ่อแม่เหมือนกัน

พัฒนาระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น มอบอำนาจและอิสระแก่ครู

เมื่อการศึกษาจะต้องพลิกโฉมไป สิ่งสำคัญที่จะต้องมีในตัวเด็กคือ สมรรถนะในการแก้ปัญหา ปรับตัว และเรียนรู้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงหรือท้าทาย เพราะฉะนั้น รูปแบบการศึกษาต้องเปลี่ยนจากระบบ Standardize ไปสู่ระบบการเรียนที่สนับสนุนศักยภาพบุคคล (Personalize learning) เป็นไปตามความสนใจเฉพาะบุคคลมากขึ้น มีจังหวะการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นขึ้น และฝึกการเรียนรู้ของเด็กผ่านการทำกิจกรรม หรือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะเห็นในตัวเด็กคือการที่เขาเข้าใจว่าตัวเองมีผลกระทบต่อโลกและสังคม เห็นความเชื่อมโยงในโลกใบนี้ ไม่ใช่การเรียนที่แยกส่วนตัวเองออกจากชุมชนหรือสังคมโลก เรื่องความเห็นอกเห็นใจ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ จะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแน่ๆ

ในบทบาทของครู ครูต้องช่วยเหลือกัน ไม่สามารถทำงานอยู่ในไซโล ตามที่ตัวเองเชี่ยวชาญได้ แต่ต้องมีการเชื่อมโยงและข้ามศาสตร์ เพราะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่รู้ ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ได้ แต่ต้องดึงเอาความร่วมมือของหลายๆ ฝ่ายมาร่วมกัน เราพบว่าครูหลายคนต้องการเพื่อนร่วมทาง เวลาที่เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้วต้องทำคนเดียวมันเหนื่อยและยาก แต่เมื่อไรก็ตามที่เขาเจอเพื่อนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน หรืออยากแก้ปัญหาเหมือนกัน มันจะช่วยมากๆ

ตอนนี้ชุมชนการเรียนรู้ของครูที่เกิดขึ้นเอง มาจาก passion ของครูจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่กระทรวงสั่งการ มันงอกงามมาก มีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ครูแชร์ความรู้ให้กัน แชร์ประสบการณ์ที่เวิร์กและไม่เวิร์ก ไปจนถึงตัวอย่างบทเรียนที่น่าสนใจ หากโรงเรียนหรือคนที่มีอำนาจในการพัฒนาครูสนับสนุนการเรียนรู้ของครูโดยที่ไม่เอาไปผูกกับตัวชี้วัดมาก แต่ให้ครูได้ตอบโจทย์หน้างานของตัวเอง และให้อิสระกับครู น่าจะช่วยให้ครูเกิดการเรียนรู้และจับมือไปด้วยกันได้ดีขึ้น

ในเชิงระบบ ระบบจะต้องยืดหยุ่นขึ้น เพื่อพร้อมรับมือหรือปรับเปลี่ยนไปตามสภาพปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมบ้านเรา การกระจายอำนาจจะต้องเกิดขึ้น ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการจัดการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้แบบ blended learning คือเด็กเรียนรู้ที่บ้านด้วย ในโรงเรียนด้วย ภาพห้องเรียนขนาดใหญ่ที่มีเด็กมานั่งเรียนรวมกันอาจจะเป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์นี้ ห้องเรียนอาจมีขนาดเล็กลง วันที่เด็กมาโรงเรียนอาจไม่ใช่ 5 วันต่อสัปดาห์ แต่อาจมีวันที่เรียนรู้ในชุมชนหรือที่บ้าน การกระจายอำนาจจึงต้องให้อิสระครูในการออกแบบการเรียนรู้ตามบริบทพื้นที่ เราเคยไปคุยกับครูบางท่านที่ต่างจังหวัด เขาบอกว่าการสอนออนไลน์เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเด็กบางคนอยู่บ้านกับยาย ไม่มีแม้แต่มือถือ เพราะฉะนั้น ครูคือผู้ที่รู้โจทย์ในพื้นที่ของเขา

ที่สำคัญมากๆ คือการมองวิกฤตให้เป็นโอกาส วางใจในศักยภาพของตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งว่า เรามีพลังที่จะลุกขึ้นมาช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลง และรับมือกับปัญหา อยากให้เราวางใจ มองความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะตามมาภายใต้วิกฤตนี้

วิเชียร ไชยบัง

กล้าที่จะเผชิญปัญหา กล้าที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษา

ผมคิดว่าข่าวที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เป็นข่าวที่กระตุ้นให้คนกลัว โดยเฉพาะเด็กถูกกระตุ้นให้กลัวเกินไป เช่น ในหมู่บ้านจะมีการประกาศเรื่องความรุนแรงของโรค เรื่องข้อจำกัดต่างๆ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความน่ากลัวลงไป เวลาคนกลัวจะมีภาวะถดถอย หลบหนี ไม่กล้าเผชิญหน้า และทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้ถดถอยลงไป

ในเมื่อเราหนีข่าวเหล่านี้ไม่พ้น สิ่งที่ควรทำคือการกระตุ้นความกล้าให้กับผู้เรียนเพื่อที่จะสามารถตั้งหลักและมองเห็นปัญหา สามารถเผชิญหน้ากับมันด้วยสติและปัญญา ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับวงการการศึกษาในสถานการณ์นี้ เพราะถ้าเรากล้าเผชิญหน้ากับปัญหา เราจะเห็นแง่ดีในบางเรื่อง เห็นโอกาสบางเรื่อง อย่างน้อยเรื่องที่เราพูดกันมามากกว่า 20 ปี คือ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้

เด็ก Generation ใหม่ตอนนี้ เขามีการเรียนรู้แบบใหม่ไปแล้ว แต่ผู้จัดการศึกษาทั้งครูและโรงเรียนยังมี mindset และวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบเดิม ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นโอกาสตอนนี้มาถึงแล้วในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยสร้างความสมดุลระหว่างเด็กกับผู้จัดการเรียนรู้ใหม่

ในขณะที่ตัวโรงเรียน ถ้าเรามองเชิงระบบ การปรับรูปแบบโครงสร้างเดิมๆ ให้พร้อมเปลี่ยนแปลงก็จะสามารถไปกำหนดรายละเอียดต่างๆ ในโรงเรียนได้ เช่น เรื่องหลักสูตรซึ่งเป็นโครงสร้างหลัก แน่นอนว่าที่ผ่านมาต่อให้เราพยายามสร้างหลักสูตรที่ active แค่ไหน แต่มันก็ยังเป็นหลักสูตรที่เน้นการเรียนเนื้อหาความรู้มากมาย ขณะที่สถานการณ์ตอนนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าความรู้ต่างๆ ที่เรียนกันมาในโรงเรียน ไม่ได้ถูกใช้จริง ส่วนความรู้ที่ใช้แก้ปัญหาเวลานี้กลับไม่ได้ถูกสอนในโรงเรียน เช่น เราจะจัดการกับหน้ากากอนามัยอย่างไร เพื่อให้ใช้ได้หลายครั้ง นี่เป็นความรู้ใหม่ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมเห็น คือการสร้างหลักสูตรให้พุ่งตรงไปยังการสร้างสมรรถนะของผู้เรียน เพื่อที่เขาจะสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และไม่ตระหนกในการพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ผมยังมองเป้าหมายของการศึกษาในระยะยาวอีก 2 เรื่องหลักๆ คือ 1. การที่ผู้เรียนได้ค้นพบตัวเองว่าคุณเป็นใคร ชีวิตต้องการอะไร แล้วคุณจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างไร  และ 2. ผู้เรียนต้องมีทักษะในการแก้ปัญหาชีวิตได้จริงๆ ซึ่งเราต้องออกแบบระบบใหม่เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เพราะในที่สุดคนๆ หนึ่งจะต้องรับผิดชอบในการเรียนรู้ของตัวเองไปตลอดชีวิต

เราต้องกล้าที่จะไม่ดำรงระบบที่เป็นอยู่ เราต้องกล้าวิวัฒน์มัน เราต้องมองผู้เรียนแบบใหม่สอดรับกับโลกใหม่

หลัง COVID-19 เป็นต้นไป การเรียนการสอนต้องปรับรูปแบบใหม่

สำหรับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา การแก้ปัญหาในช่วงแรก ตั้งแต่ทราบข่าวการแพร่ระบาด โรงเรียนของเราได้ปรับตัวก่อนจะปิดโรงเรียนทันทีเมื่อมีการประกาศล็อกดาวน์ ระหว่างที่ปิดโรงเรียน คุณครูแต่ละชั้นได้ออกแบบกิจกรรม ออกแบบสถานการณ์ร่วมกับผู้เรียนกับผู้ปกครองให้ไปทำที่บ้าน

เราใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ที่ผู้ปกครองและครูทุกคนได้ใช้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน คือ แอปพลิเคชัน Line เพื่อการแลกเปลี่ยนหรือส่งการบ้านแต่ละสัปดาห์

ส่วนอนาคตถ้าหากจะมีการกลับมาเปิดเรียนใหม่ ก็คงยังต้องมีระบบออนไลน์และออนกราวด์ควบคู่ไปด้วยกัน แต่การเรียนแบบออนกราวด์เพื่อที่จะได้เจอหน้าคุณครูและเพื่อนๆ คงต้องออกแบบรูปแบบใหม่ ออกแบบอุปนิสัยใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดอีก

ทั้งนี้ ที่โรงเรียนของเรามีหลักสูตรบูรณาการเรื่อง Problem based Learning มาตั้งนานแล้ว ฉะนั้นเด็กที่ฝึกฝนให้เผชิญหน้ากับปัญหาและแก้ปัญหามาเรื่อยๆ เขาจะไม่ตระหนกมากกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

หากมีการเปิดเรียนขึ้นมาก็ต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบไปสมควร ซึ่งเป็นสิ่งดีที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะจะยิ่งทำให้การปฏิรูปการศึกษายิ่งถูกเร่งอัตราให้เร็วขึ้น

พริษฐ์ วัชรสินธุ

เทคโนโลยีไม่ได้แทนที่โรงเรียน-ครู แต่มาเป็นกองหนุนในระบบการศึกษา

คำถามที่ว่าเทคโนโลยีจะมาเพิ่มหรือลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตราบใดที่ทุกคนยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีนั้น เทคโนโลยีจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำสำหรับบางคนและลดความเหลื่อมล้ำในบางคน เช่น ในสังคมหนึ่ง มีคนเข้าถึงเทคโนโลยี 80 คน และเข้าไม่ถึงอีก 20 คน ถ้าเราเอาเนื้อหาดีๆ ไปใส่ในออนไลน์อาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพใน 80 คนนั้น แต่อาจเพิ่มช่องว่างในอีก 20 คนที่เข้าไม่ถึง นี่เป็นโจทย์สำคัญของนักพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาต้องตระหนักว่าอาจมีคน 10-20% กำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และหากเทคโนโลยีจะมีความสำคัญขึ้นหลังโควิด-19 ก็อาจถึงเวลาที่เราจะต้องยกระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมี

นักพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาไม่เคยตั้งโจทย์ว่าเทคโนโลยีจะมาทดแทนคุณครูหรือระบบการศึกษา แต่โจทย์คือเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยส่งเสริมการศึกษาหรือการเรียนในห้องเรียนได้อย่างไร หากเปรียบการศึกษาเป็นทีมฟุตบอล โรงเรียนและคุณครูเปรียบเหมือนกองหน้า เทคโนโลยีเหมือนกองหลัง ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนและทักษะของเด็กในแต่ละประเทศคือคุณครู ดังนั้น ทำอย่างไรเทคโนโลยีจะมาช่วยส่งเสริมระบบการศึกษาให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้น

โจทย์นี้แยกได้เป็นสองส่วน คือ เราจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้การเรียนในห้องเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะใช้เทคโนโลยีมาทำสิ่งที่ไม่สามารถทำในห้องเรียนได้อย่างไร

โจทย์ข้อแรกเรื่องเทคโนโลยีจะมาช่วยให้การเรียนในห้องเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะขอยกตัวอย่าง 3 รูปแบบ คือ

1.เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนบางแห่งที่เข้าไม่ถึงเนื้อหาและความเชี่ยวชาญในทุกส่วน ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กคือการขาดแคลนคุณครู โรงเรียนประถมบางแห่งมีครูไม่ถึง 6 คน ทำให้ครูต้องสอนหลายชั้นเรียนไปพร้อมกัน ส่วนระดับมัธยมอาจมีปัญหาเชิงวิชาเรียน เทคโนโลยีมาช่วยปิดช่องโหว่ความเชี่ยวชาญบางส่วนที่ขาดหายในโรงเรียนนั้น เช่น โรงเรียนขาดครูเก่งภาษาอังกฤษ ก็สามารถดึงเนื้อหาที่มีคุณภาพจากครูที่อื่นมาฉายได้ แล้วครูในโรงเรียนก็ทำหน้าที่เป็นเมนเทอร์ช่วยจัดเนื้อหา

2.การออกแบบการเรียนรู้ที่เรียกว่า flipped classroom เทคโนโลยีทำให้ครูไม่จำเป็นต้องเสียเวลาบรรยายหน้าห้อง เพราะเด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลล่วงหน้าได้ แล้วใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงในห้องเรียนสำหรับพัฒนาทักษะแทน ครูจะเปลี่ยนบทบาทจากหน้าห้องมาอยู่หลังห้อง จากการบรรยายมาเป็นผู้นำประเด็นการถกเถียงและวิเคราะห์ หรือจัดกิจกรรมกลุ่ม ดูแลเด็กแต่ละคนที่มีความต้องการแตกต่างกัน

และ 3. เทคโนโลยีมาช่วยลดงานธุรการหรืองานเอกสารที่ครูต้องทำจนไม่มีเวลาสอนนักเรียน

ส่วนโจทย์ข้อที่สอง เป็นการใช้เทคโนโลยีมาทำสิ่งที่การเรียนการสอนในห้องเรียนไม่สามารถทำได้ คือ แนวคิดการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล (personalized learning) เมื่อเด็กแต่ละคนมีระดับการพัฒนาและทักษะแตกต่างกัน เทคโนโลยีสามารถปรับประสบการณ์การเรียนรู้ให้ตรงกับความต้องการของแต่ละคนได้ ทั้งลำดับของเนื้อหา ความยากของเนื้อหาและคำถาม วิธีการสอนที่แตกต่างกันไป ทำให้เด็กแต่ละคนมีการพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เข้าสู่เป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลมหาศาลเพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้ เช่น ในแอปฯ ที่เราจะเปิดตัวกลางเดือนนี้ จะมีวิดีโอการเรียนการสอนขนาดสั้น 5-7 นาที ประมาณ 2,000 วิดีโอ เราไม่ได้คิดว่าทุกวิดีโอจะได้รับความสนใจเท่ากัน แต่เราสามารถรู้ได้ว่าวิดีโอไหนที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์มากที่สุด วิดีโอไหนที่เขาเข้ามาแล้วดูจนจบ อันไหนที่เขาไม่ต้องย้อนดูซ้ำส่วนที่สับสนหลายครั้ง นี่เป็นข้อมูลที่ทำให้เราปรับเนื้อหาให้ตรงความต้องการของเด็กได้ทันท่วงที

การใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์การเรียนรู้เฉพาะบุคคล

เทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบทุกอย่างของทุกปัญหา ถ้าเราตีความว่าระบบการศึกษาคือการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรในประเทศสามารถรับมือกับโลกแห่งอนาคตได้ จะมีหลายปัญหาที่ไม่ได้แก้ด้วยเทคโนโลยี เช่น เรื่องการกระจายอำนาจให้โรงเรียน หรือเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต

แม้เทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบของทุกปัญหา แต่มีบางคำตอบที่ทำได้ด้วยเทคโนโลยี หนึ่งในคำตอบนั้นคือการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล ในโลกอนาคตที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ละคนจำเป็นต้องมีทักษะครบถ้วน แต่มีความถนัดและความสนใจแตกต่างไป การศึกษาที่ตอบโจทย์ความถนัด ความสามารถ และความชอบของเขาจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลมีองค์ประกอบที่จะทำให้เป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยี คือ 1. การปรับเนื้อหาการเรียนการสอนให้ตรงกับเด็กแต่ละคน  2. การใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเรียนรู้ จัดแพทเทิร์นพฤติกรรมแล้วจัดเนื้อหาและรูปแบบให้ตรงกับความต้องการของเด็ก 3. เทคโนโลยีมาช่วยทำงานธุรการให้ครูมีเวลากับนักเรียน 4. ครูทุกคนต้องผ่านการพัฒนาทักษะการใช้ดิจิทัล ปัจจุบันครูจำนวนมากยังกังวลว่าจะใช้เทคโนโลยีไม่คล่องตัว

COVID-19 คือโจทย์ชั่วคราวของเทคโนโลยีการศึกษา และตัวเร่งการพัฒนานับจากนี้

ในช่วงโควิด-19 ระยะสั้นนี้ โจทย์เปลี่ยนไปชั่วคราว เมื่อเด็กไปโรงเรียนไม่ได้ คนจึงคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะมาทดแทนโรงเรียนในช่วงเวลานี้ ถึงจะทดแทนไม่ได้ 100% แต่ทุกคนก็เห็นว่าสามารถช่วยประคับประคองเด็กส่วนหนึ่งในช่วงเวลานี้ได้

ช่วงต้นปีที่โควิดเริ่มเกิดขึ้น ผมบอกคนในบริษัทว่าจะมีความคาดหวังและความเร่งด่วนมากขึ้นในการพัฒนาแอปฯ นี้เพื่อเป็นทางเลือกให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ในต้นเดือนเมษายนที่มีการเลื่อนเปิดเทอมไป 6 สัปดาห์ เรากังวลว่าถ้ายืดปิดเทอมยาวออกไปอีก เด็กจะมีความเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการเรียนรู้ถดถอยไปอีก ฉะนั้น แม้โรงเรียนจะยังเปิดไม่ได้ อย่างน้อยเราต้องเร่งเปิดตัวแอปฯ ให้เด็กที่มีมือถือมีอีกทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงการเรียนการสอนได้ฟรี ส่วนเรื่องค่าอินเทอร์เน็ต เราไปจับมือกับเครือข่าย AIS ว่าให้สามารถใช้เน็ตฟรีเพื่อเข้าแอปฯ เราได้ หากไม่มีซิมของเครือข่ายนั้นก็กดสั่งซิมได้ฟรี เป็นสิ่งที่เราในฐานะภาคเอกชนพอจะทำได้เพื่อช่วยประคับประคองเด็กในช่วงที่ยังเปิดเทอมไม่ได้

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้การเลือกอุปกรณ์ก็มีความสำคัญ ต้องดูว่าปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอุปกรณ์แต่ละประเภทได้แค่ไหน สำหรับการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ตอนนี้มีแค่ราว 50% แต่สมาร์ทโฟนนั้นคนเข้าถึงได้มากกว่า นักเรียนเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ 86% ขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20% ในประเทศก็เข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ 79% แม้จะยังไม่ถึง 100% แต่ยังฝากความหวังได้

โควิด-19 คล้ายเป็นบททดลองในสถานการณ์บังคับว่าเทคโนโลยีการศึกษารูปแบบไหนจะใช้ได้ดี และมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะเข้ามาส่งเสริม และเมื่อก้าวผ่านโควิด-19 ไปแล้วคนเปิดรับเทคโนโลยีการศึกษามากขึ้นเราจะได้พัฒนาได้ตรงจุดโดยมีข้อมูลและงานวิจัยมารองรับมากขึ้น

วิกฤตนี้สร้างความท้าทายในหลายระดับ ใครที่กำลังต่อสู้กับการปรับเข้าสู่การเรียนออนไลน์หรือพยายามเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา อยากให้มองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีด้านการศึกษาไปไกลกว่าแค่การใช้ทดแทนโรงเรียนในช่วงโควิด-19 คล้ายเป็นสถานการณ์ที่กองหน้าบาดเจ็บจนลงสนามไม่ได้ ปัจจุบันเรากำลังเอากองหลังมาเล่นแทนกองหน้าชั่วคราว จึงอาจตะกุกตะกักบ้าง แต่เมื่อกองหลังกลับไปเล่นตำแหน่งเดิมแล้วเราจะได้เข้าใจว่าอะไรคือจุดเด่นจุดด้อยของเขา  แล้วเราจะได้ออกแบบการเล่นให้ดีที่สุดสำหรับทีม และจะได้เห็นคุณครูและโรงเรียนกลับมาเป็นกองหน้าให้กับการศึกษาไทยอีกครั้งหนึ่ง

หวังว่าเมื่อผ่านโควิด-19 ไปแล้วเราจะมาถอดบทเรียนเพื่อทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นประโยชน์มากขึ้น และถ้าท้ายที่สุด ประเทศของเรามองว่าบริการและธุรกรรมหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การแพทย์ การเงิน มีความจำเป็นต้องให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น ก็อาจพัฒนาเป็นโจทย์ในภาพรวมว่าเราต้องทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถูกยกระดับมาเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world