พลิกหลักสูตรการเรียนรู้ สู่ ‘หลักสูตรฐานสมรรถนะ’ รับมือโลกที่พลิกผัน

พลิกหลักสูตรการเรียนรู้ สู่ ‘หลักสูตรฐานสมรรถนะ’ รับมือโลกที่พลิกผัน

คำถามที่ว่า การเรียนรู้ของเด็กไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป ดูเหมือนจะมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นจากผู้รู้หลากแขนงวิชาชีพ หลังจากที่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก ‘ช็อก’ กับการระบาดของไวรัสร้ายนี้ตลอดปี 2020 

หนึ่งในคำตอบนั้นมาจากนักวิจัยที่เกาะติดผลกระทบด้านการศึกษาจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด จนสรุปเป็นข้อสังเกตได้ว่า 

“หลังจากนี้จะเป็นโลกใบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม” ความหมายก็คือ การเข้าสู่ยุค new normal อย่างเต็มรูปแบบ 

ในการประชุม Education Disruption ครั้งที่ 2 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นักวิจัยไทยที่ค้นคว้าและเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การเรียนรู้ทั้งในไทยและทั่วโลก นำเสนอการบรรยายในหัวข้อ ‘View of Education in Thailand in The Next Decade 2020-2029’ หรือ ‘การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกหลังโควิด-19’ โดย ดร.สมเกียรติ นำเสนอข้อคิดที่สำคัญว่า สถานการณ์วิกฤติที่บีบบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลงนั้น คือ โอกาสของการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้

จุดเริ่มต้นของการแบ่งยุคสมัยครั้งใหม่ 

ประธานทีดีอาร์ไอ เริ่มบรรยายด้วยการชี้ให้เห็นอิทธิพลที่สำคัญจากการระบาดของโควิด-19 จนถูกนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนยุคสมัยของมนุษยชาติ 

“ก่อนหน้านี้เมื่อนึกถึงคำว่า BC. เราจะหมายถึงคำว่า ‘ก่อนคริสตกาล’ แต่ตอนนี้อาจจะมีความหมายว่า ‘ก่อนโควิด’ และคำว่า AD. ซึ่งแต่ก่อนหมายถึง ‘ยุคคริสตกาล’ แต่ตอนนี้อาจจะหมายถึงยุค ‘after drug and vaccine’ เมื่อเราค้นพบยารักษาโรคหรือวัคซีนซึ่งจะทำให้เราจัดการและควบคุมโควิดได้ เพราะฉะนั้นการระบาดของโควิดในปี 2020 จึงทำให้เราสามารถแบ่งโลกใบใหม่และโลกใบเก่าในอีกความหมายหนึ่งได้ 

“โลกใบใหม่ เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย สิ่งที่เห็นชัดคือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกกำลังเดือดร้อนทางเศรษฐกิจถึงขั้นล้มละลาย จนต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF ขณะที่ประเทศไทยเองโชคดีที่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 0 ราย เกินกว่า 100 วัน และถึงแม้ว่าเราจะมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ก็เป็นเหมือนวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยในอดีต” ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว 

หากถามว่าข้อมูลข้างต้นบ่งชี้อะไรบ้าง กรณีนี้ ดร.สมเกียรติ มองว่า ประเทศไทยมีความสามารถอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้จัดอันดับขีดความสามารถของไทย โดยชี้ว่ามีการพัฒนาอย่างน้อย 2 ด้านที่ไทยยังมีความสามารถสูงคือ ด้านสุขภาพ อยู่ที่ 89 คะแนน (จาก 100 คะแนน) ด้านที่สองคือ ความสามารถในการจัดการเศรษฐกิจมหภาค 90 คะแนน จุดนี้ทำให้ ดร.สมเกียรติ มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังยังทำหน้าที่บริหารได้ดี นับเป็นด้านที่น่าภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม ในด้านการแข่งขันระหว่างประเทศ ขีดความสามารถของประเทศไทยยังมีอีกหลายด้านที่มีคะแนนอยู่ในระดับที่ไม่ดีพอ ด้านหนึ่งคือ การสร้างนวัตกรรม ซึ่งได้คะแนนเพียง 40 คะแนน สะท้อนได้ว่าไทยไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก อีกด้านคือ การพัฒนาทักษะแรงงานที่ได้เพียง 62 คะแนน ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน 

การศึกษาไทยกำลังดิ่งเหว

หากมองขีดความสามารถในด้านการศึกษา โดยวัดจากโครงการประเมินคุณภาพนักเรียนตามมาตรฐานสากล หรือที่เรียกว่า PISA (Programme for International Student Assessment) ของเด็กอายุ 15 ปี พบว่า ในปี 2018 เด็กไทยมีคะแนนการอ่านอยู่ 393 คะแนน ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกลุ่ม OECD มีคะแนนที่สูงถึง 500 คะแนน

“สิ่งที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ คะแนนการอ่าน 393 กำลังอยู่ในช่วงขาลง เราไม่ได้มีคะแนนต่ำมาตั้งแต่แรก แต่เรากำลังดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ ถ้าเรามองย้อนกลับไปประมาณปี 2000 เราเคยได้คะแนน 400 กว่า และเคยได้สูงสุดเมื่อ 10 ปีก่อน ถึงประมาณ 441 คะแนน” ดร.สมเกียรติ กล่าว 

ในประเด็นนี้ ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากคะแนนเฉลี่ยจะค่อนข้างต่ำแล้ว ประเทศไทยยังมีเด็กที่มีทักษะในแต่ละด้านอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง อาทิ วิทยาศาสตร์ 40% คณิตศาสตร์ 50% และการอ่าน 60% หากกล่าวเฉพาะทักษะการอ่าน ถึงแม้ว่านักเรียนไทยจะมีความสามารถในการอ่านออกและเขียนได้ แต่เมื่อประเมินลึกลงไปกว่านั้นกลับพบว่า เด็กนักเรียนยังไม่สามารถอ่านแล้วจับใจความได้ ทั้งยังไม่ทราบว่าข้อเขียนนั้นต้องการสื่อสารอะไร เป็นต้น 

สำหรับทักษะด้านคณิตศาสตร์ จากสถิติระบุว่า เป็นอีกหนึ่งทักษะของนักเรียนไทยที่ใช้การไม่ได้ หมายความว่า แม้นักเรียนจะรู้สูตรคณิตศาสตร์ หรือรู้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่สามารถประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวันได้ 

“ลำพังทักษะที่ต่ำอยู่แล้ว ก็ทำให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังลำบาก แต่เมื่อมาดูว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า ‘การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน’ เราจะยิ่งตกใจกับคุณภาพการศึกษาของไทย และการเกิดโควิด-19 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่า โลกอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง

“ในทางสากลจะเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า ‘VUCA’ คือ ความผันผวน (volatility) ความไม่แน่นอน (uncertainty) ความซับซ้อน (complexity) และความคลุมเครือ (ambiguity) ซึ่งเราอาจจะเรียกให้คุ้นปากว่า เปลี่ยนไว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ” 

หลังจากที่ ดร.สมเกียรติ เปรียบเทียบให้เห็นระดับการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กไทยกับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนพลิกผัน เขายังเสริมด้วยว่า โฉมหน้าของโลกใหม่ที่จะปรากฏขึ้นหลังจากสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ 3 ลักษณะ คือ 1. อัตราเร่งในการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เร็วขึ้น 2. เกิดการชะลอการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง และ 3. เกิดการเปลี่ยนแปลงย้อนกลับ 

“อย่างแรก เมื่อโควิดระบาด เราจะเห็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น ทั้งการเรียนจากที่บ้าน ทำงานที่บ้าน 

“อย่างที่สอง การใช้พลังงานทดแทน การรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นช้าลง เพราะวิกฤติโควิด-19 ทำให้ราคาน้ำมันถูกลง ผลตอบแทนจากการลงทุนติดตั้งหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ จากเดิมจะคืนทุนได้เร็ว ก็คืนทุนได้ช้าลง เพราะค่าไฟและค่าน้ำถูกลง 

“เช่นเดียวกับการใช้หุ่นยนต์ โควิด-19 ทำให้เกิดคนว่างงานเยอะ และทำให้ธุรกิจขาดเงินลงทุน การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติของเอกชนไทยจึงอาจเกิดขึ้นช้าลง และทำให้ภาครัฐลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ได้น้อยลง แม้ว่าเราจะเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงบางสาย (รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-โคราช, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน) แต่การลงทุนโครงการเหล่านี้ หลังจากนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก 

“ประการสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นมานานแล้ว อาจถอยหลังลงไป เช่น การที่เราพัฒนาเศรษฐกิจและทำให้คนจนลดลง รวมถึงความยากจนในแต่ละประเทศลดลง แต่ความยากจนก็จะกลับมาอีก โลกาภิวัตน์ที่เคยเชื่อมโลกเข้าไว้ด้วยกันจะแยกออกจากกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำมาค้าขายและการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะแต่ละประเทศจะหมกมุ่นกับปัญหาภายในประเทศของตัวเอง” ดร.สมเกียรติ ให้ข้อสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลง 3 ลักษณะที่จะเกิดขึ้น 

การเรียนออนไลน์สามารถเป็นไปได้ แต่ต้องเหมาะสม 

ในโอกาสนี้ ประธานทีดีอาร์ไอได้ชวนผู้ฟังลองจินตนาการถึงโลกใบใหม่ในกรณีที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเรียนออนไลน์ ซึ่งการเรียนในรูปแบบนี้จะนำไปสู่โอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากเดิมที่คนทั่วไปมักมองว่า การเรียนต้องไปโรงเรียนเท่านั้น โดยขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการของไทยเองก็เริ่มใช้ครูจากอีกโรงเรียนสอนออนไลน์ไปยังนักเรียนอีกโรงเรียนแบบสดๆ และสามารถพูดคุยโต้ตอบกับครูได้ทันที ซึ่งเป็นการสื่อสารสองทิศทาง

คำถามที่เกิดขึ้นคือ จะเรียนออนไลน์อย่างไรจึงจะเหมาะสม ดร.สมเกียรติ ระบุว่า “คำตอบที่ผมศึกษาวิจัยมา พบว่า การเรียนออนไลน์ไม่ได้หมาะสมกับคนทุกวัย โดยเฉพาะเด็กเล็กและเด็กประถมศึกษา มีคำแนะนำของกระทรวงศึกษาธิการแคนาดาที่บอกว่า เด็ก ป.1-3 ในแต่ละสัปดาห์ไม่ควรให้มีการเรียนออนไลน์เลย ขณะที่เด็ก ป.4-6 สามารถเรียนได้ แต่เรียนสัปดาห์ละ 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วน ม.1-3 อาจจะเรียนได้ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ ม.4-6 อาจจะเรียนได้ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จึงจะเหมาะสม 

“หากเกิดวิกฤติโรคระบาดอีกรอบ และส่งผลต่อข้อจำกัดของพื้นที่ในโรงเรียน เราอาจจะให้เด็กเล็กไปโรงเรียนได้ ส่วนเด็กโตสามารถเรียนออนไลน์ ที่ไปไกลมากกว่านั้นคือ ต้องรู้วิธีการใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเด็กเล็กอาจจะมีความเท่าทันตรงนี้น้อย เพราะเขายังต้องอาศัยการพบปะครูแบบซึ่งหน้า และยังมีอุปสรรคเรื่องอุปกรณ์ที่ต้องครบครันและการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วและทั่วถึง รวมถึงต้องมีการจัดทำหลักสูตรออนไลน์ ซึ่งยังเป็นเรื่องยาก” 

ด้วยเหตุนี้ ดร.สมเกียรติ มองว่า แนวโน้มในอนาคตจำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนครูเพื่อให้สามารถเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ รวมถึงฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านธุรการซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง 

กล่าวโดยสรุป การเรียนการสอนออนไลน์จะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนในชั้นมัธยมมากกว่าเด็กเล็กและเด็กประถมศึกษา แต่ต้องไม่ใช่การเรียนการสอนแบบเดิมที่ครูยืนสอนหน้าชั้นแล้วให้นักเรียนจดตาม และให้โจทย์เพื่อไปทำการบ้านต่อ

ดร.สมเกียรติ มองว่า การเรียนการสอนออนไลน์จะมีประโยชน์มากขึ้น หากใช้วิธีสร้างห้องเรียนแบบกลับทิศทาง (flip classroom) หมายถึง การที่นักเรียนเตรียมตัวมาก่อนเข้าเรียนด้วยการอ่านสาระการเรียนรู้ และเตรียมตัวจากการดูวิดีโอที่เตรียมไว้ให้ และเมื่อนักเรียนมาถึงก็สามารถเรียนได้จากการแก้ปัญหา การปฏิบัติจริง และการมีส่วนร่วม ทั้งหมดนี้เพื่อให้เด็กมีแรงจูงใจ ลึกซึ้ง และแตกฉานมากขึ้น โดยครูจะมีบทบาทในการช่วยสรุปบทเรียนและให้คำแนะนำ เพื่อให้กิจกรรมการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ 

“จากการศึกษาวิจัยพบว่า หากเรียนรู้แบบมีบทบาทและมีส่วนร่วม นักเรียนจะมีทักษะการเรียนรู้ได้ดีทั้งวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาด้านศิลปะต่างๆ ถ้าเรียนรู้แบบเดิมนักเรียนจะมีการเรียนรู้น้อยกว่า 20% และถ้าให้เล่น นักเรียนจะเรียนรู้เพิ่มขึ้นถึง 75% การเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้นักเรียนปรับตัวได้และเกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ หนึ่ง-ทัศนคติ (attitude) การเรียนรู้การสอนที่ให้เด็กทำจริง เพื่อให้เด็กมีความสนใจ มีความรับผิดชอบ ใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองได้ สอง-ทักษะที่ดี (skill) เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และสาม-ความรู้ (knowledge) เน้นความรู้ด้วยการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์” ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว 

หลักสูตรฐานสมรรถนะคือทางออก

ในส่วนข้อเสนอของการบรรยายครั้งนี้ ดร.สมเกียรติ เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘หลักสูตรฐานสมรรถนะ’ ที่ไม่ยึดในตัวเนื้อหาสาระจนเกินไป แต่ตั้งเป้าหมายแทนว่า เมื่อเรียนแล้วทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น ซึ่งหากการศึกษาเดินไปตามแนวทางนี้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนหลักสูตรขนานใหญ่ รวมถึงการเปลี่ยนสื่อการเรียนการสอน และเปลี่ยนวิธีการฝึกอบรมครู 

“การเปลี่ยนในลักษณะนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘นวัตกรรมการศึกษา’ ซึ่งเริ่มมาประมาณ 1 ปี โดยมีการทดลองกับโรงเรียน 200 โรงเรียนทั่วประเทศ 

“ในระดับมหาวิทยาลัย น่าจะเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ให้ทำงานได้จริง หมดยุคแล้วที่จะเรียน 4 ปี ในมหาวิทยาลัย แล้วจบออกมาไม่มีงานทำ แต่ต้องพัฒนาไปสู่การเรียนระยะสั้น และรับประกันว่าทำงานเป็นและได้งานที่ดี ซึ่งจะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างนายจ้างกับสถาบันการศึกษา มีการคัดเลือกผู้เรียนที่พร้อมฝึกทักษะการทำงาน มีทัศนคติที่ดี แล้วจับคู่หางานกัน เอานักเรียนที่ผ่านเกณฑ์เข้าไปสู่สถานประกอบการ และมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำแบบนี้เราจะเปลี่ยนวิกฤตการณ์มาสู่การยกระดับการเรียนการสอนได้” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวปิดท้ายการบรรยาย