ถอดโมเดล Meister High School เกาหลี การพัฒนาอาชีวะศึกษาตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0

ถอดโมเดล Meister High School เกาหลี การพัฒนาอาชีวะศึกษาตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0

เมื่อเร็วๆนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสัมมนา ในหัวข้อ ​Meister High School System in Korea Vocational high schools to meet the demand of Industry 4.0  สถานศึกษาสายอาชีพหลักสูตรไมซ์สเตอร์ ประเทศเกาหลีใต้ ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 โดยมี ดร.ชอล ฮี คิม Senior Research Fellow Korea Research Institute for Vocational  Education & Training (KRIVET) เป็นวิทยากรร่วมให้ข้อมูลกับผู้บริหารและอาจารย์ในสถาบันอาชีวะศึกษาทั่วประเทศผ่านระบบ Zoom

ดร.ชอล ฮี คิม กล่าวว่า ระบบไมซ์เตอร์ในเกาหลีใต้มี 4 หลักสูตร โดยหลักสูตรที่นิยมคือออโตโมทิฟ โดยรูปแบบจะเป็นการฝึกอบรมอาชีพ เพิ่มศักยภาพ มีระบบรูปแบบที่ชัดเจน เสริมสร้างความสามารถนำไปใช้ได้จริง ออกไปประกอบอาชีพได้ และปฏิรูปจากการศึกษาที่เน้นเชิงปริมาณเป็นเน้นคุณภาพ  ทำให้ตอนนี้เกาหลีใต้พัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการช่วยเหลือจากรัฐบาล  โดยหลักสูตรไมซ์สเตอร์ไฮ สคูล เทียบได้กับหลักสูตร ม.ปลาย ที่เมื่อเรียนจบสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เช่นกัน หลักสูตรนี้จะเน้นการพัฒนาแรงงานอาชีพ

ทั้งนี้ ในการปรับปรุงนโยบายอาชีวะศึกษาที่ผ่านมาได้เน้นไปที่เรื่องความสามารถการทำงาน​ระบบเนื้อหาเทคโนโลยี  ทัศนคติที่จำเป็นในการปฏิบัติงานอุตสาหกรรม ตลอดจน ความสามารถมาตรฐานชาติ ​(National Competency Standard) หรือ NCS ที่มีความจำเป็นในการนำมาใช้ในหลักสูตรและประยุกต์ใช้จริง อีกทั้งยังช่วยขยายระบบคู่ขนานที่ยึดการฝึกงานเป็น ทำให้แนวโน้มนักเรียนมัธยมปลายของประเทศเกาหลีใต้ ใ​ห้ความสนใจหันมาเรียนอาชีวศึกษา หลักดังกล่าวเริ่มต้นในเกาหลีใต้ ช่วงปี 2007 และ นำเสนอเป็นแผนงานได้ในปี 2008  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาอาชีวะเติบโต เกิดความเชี่ยวชาญและเน้นความถนัด ความสนใจของนักเรียนเป็นหลัก

 

ปรับหลักสูตรให้เข้ากับฐานทรัพยากร 8 ภูมิภาค
และความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่

ดร.ซอล ฮี คิม ยังกล่าวว่า  การพัฒนาหลักสูตรไมซ์สเตอร์ของเกาหลีใต้เน้นยุทธศาสตร์  3 ข้อสำคัญ ​ คือ  1.กำหนดเส้นทางอาชีพสู่การเป็นไมซ์สเตอร์ โดยสร้างโอกาส เพิ่มวุฒิการศึกษาต่อหลังจากได้งาน  2.ปฏิรูประเบียบการศึกษาไมซ์สเตอร์ไฮ สคูล โดยได้รับการสนับสนุนจากระดับชาติ และ 3.ทำให้ผู้เรียนจบแล้วนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้จริง ไม่เฉพาะแต่ในเกาหลีใต้ แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นด้วย  ซึ่งมีข้อดีคือได้รับการสนับสนุนจากระดับชาติ ทำให้ยกเว้นค่าเล่าเรียน ให้ทุนการศึกษากับผู้เรียน ค่าหอพัก วัสดุอุปกรณ์พื้นฐานแก่ผู้เรียน  ซึ่งได้ยินมาว่าประเทศไทยก็มีองค์กรช่วยสนับสนุนทุนทรัพย์กับผู้เรียน หวังว่าจะให้การสนับสนุนได้เพียงพอจนจบหลักสูตรได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของโรงเรียนไมซ์สเตอร์ จะจัดห้องเรียนที่มีนักเรียนประมาณ 20 คน เพื่อให้ได้รับการสอนอย่างทั่วถึง หลักสูตรจะเน้นเสริมสร้างทักษะแต่ละบุคคล ไปจนถึงการเรียนภาษาต่างประเทศเพื่อนำไปต่อยอด  อีกทั้งในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนมีชั่วโมงว่างก็จะมีโปรแกรมเสริมที่เป็นประโยชน์หลากหลายรูปแบบ โดยทั่วประเทศจะแบ่งเป็น 8 ภูมิภาค ในแต่ละภูมิภาคมีทรัพยากรที่แตกต่างกัน ดังนั้นหลักสูตรแต่ละภูมิภาค ก็จะปรับให้เข้ากับภูมิภาค  รวมทั้งปรับให้เข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรม  และเมื่อจบการศึกษาจะมีการส่งต่อให้ถูกว่าจ้างโดยองค์กรที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ  ปัจจุบันมีบริษัทใหญ่เข้าร่วมหลักสูตรกับไมซ์สเตอร์จำนวนมาก

ดร.ชอล ฮี คิม Senior Research Fellow Korea Research Institute for Vocational  Education & Training (KRIVET)

ดร.ซอล ฮี คิม กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หลักสูตรได้รับผลกระทบไม่สามารถทำงานในสถานที่ปกติได้ จึงแก้ปัญหาด้วยการทำงานผ่านวิดีโอและทำเป็นวิดีโอคอนเทนต์ ให้นักเรียนได้เรียนด้วยตัวเองและฝึกตามได้ ในขณะที่การสอบก็ทำการสอบออนไลน์เช่นกัน โดยวางแผนการพัฒนาหลักสูตรไมซ์สเตอร์ ว่าหลังจากจบการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเน้นทำคอนเทนต์ออนไลน์  สร้างหลักสูตรการสอนไปอัพโหลดไว้บนเว็บไซต์ โดยหวังว่าสิ่งที่ได้นำเสนอในครั้งนี้น่าจะนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในประเทศไทย ส่วนตัวในช่วงที่ทำงานมาได้ทดลองทำมาหลายครั้งต้องล้มลุกคลุกคลาน ซึ่งจะต้องมีความมุ่งมั่น มีความร่วมมือกันถึงจะทำให้สำเร็จได้ ​

 

ไทย-Meister  ประยุกต์จากต้นแบบเยอรมนี
เน้น Safety-Standard -Skill

ผศ.อานนท์ นิยมผล  คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  กล่าวว่า ในส่วนของ ไทย-ไมซ์เตอร์ เริ่มมีนโยบายมาตั้งแต่ปี 2560 โดยทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้จัดอบรมบุคลากร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนลยีราชมงคลอีสานประมาณ 20 คน ที่ประเทศไทย เมื่อจบแล้วก็ไปอบรมเพื่อเป็นครูไมซ์สเตอร์ที่ปรเทศเยอรมนี และ​โดยเริ่มจากสาขาแมคคาทรอนิกส์,  ออโตโมทิฟ, อิเล็กทริคอลและอิเล็กทรอนิกส์, พรีซิสชั่น แมชีน, ไอซีที, ฟู้ด    

ผศ.ดร.ทรงธรรม ดีวาณิชสกุล อาจารย์สาขาเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในฐานะที่ได้ไปอบรมเป็นครูไมซ์เตอร์ที่เยอรมนี  ไมซ์เตอร์คือคือครูฝึกที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพที่ทุกสถานประกอบการต้องมี สิ่งที่เขาสอนคือ 1.ความปลอดภัย Safety  2.มาตรฐาน Standard และ 3.ทักษะ Skill โดยจะสอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติไม่สอนเยอะจนเกินจำเป็น  ส่วนรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีคือ 1.สอนบนหลักการพื้นฐาน 2.เชื่อมโยงกับงานจริง 3.ลงมือปฏิบัติให้เกิดทักษะสมรรถนะ และ 4.วิเคราะห์แก้ปัญหา  ที่สำคัญในการฝึกจะใช้ของจริงเกือบทั้งหมด เรียนเรื่องรถยนต์ใฮบริดก็ใช้รถยนต์จริง

นางปัทมา วีระวานิช อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอาชีวศึกษาได้ทำงานร่วมกับ KRIVET และได้พัฒนาเรื่องการนำระบบอาชีวศึกษาแบบทวิภาคีมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ในปี 2555  และนักศึกษาอาชีวศึกษาก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานประกอบการที่มาร่วมระบบทวิภาคีก็เพิ่มมากขึ้น โดยยังต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพ  ซึ่งอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคีอาจไม่เหมือนกับระบบไมซ์เตอร์ของเยอรมนีทั้งหมด แต่ก็มีการประยุกต์และได้รับความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมนี (GIZ) ในการยกระดับคุณภาพเช่นกัน

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค