เรียนรู้ธรรมชาติ เข้าใจการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเป็นสุข

เรียนรู้ธรรมชาติ เข้าใจการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเป็นสุข

‘เล่นในธรรมชาติ’ คือการเรียนรู้ 13 สัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนชั้น ป.1 เข้าใจถึงกฎเกณฑ์ของความเปลี่ยนแปลง ผ่านการเล่นในธรรมชาติรอบตัว โดยเด็กๆ จะได้เฝ้ามองการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลในช่วงเวลาหนึ่งของปีอย่างมีความหมาย และเข้าใจว่าสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงในหน้าฝน หรือความแห้งแล้งที่มาพร้อมสายลมฤดูหนาวนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างไร ทั้งความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะส่งผลกระทบกับตัวของเขามากน้อยแค่ไหน

ครูเก๋ นิษฐา มิ่งมงคลรัศมี วิชาโครงงานบูรณาการ ชั้น ป.1 โรงเรียนรุ่งอรุณ เจ้าของเรื่องเล่าจากชุมนุมครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ (PLC) อธิบายว่า หน่วยการเรียนรู้ ‘เล่นในธรรมชาติ’ จะพาน้องๆ ออกจากห้องเรียนไปเรียนรู้ธรรมชาติ ผ่านการสำรวจ สังเกตสภาพอากาศ ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม การเล่น โดยนำวัสดุจากธรรมชาติมาประดิษฐ์ของเล่น

“เด็กๆ จะได้เปิดมุมมองว่าของเล่นที่เราทำเอง แม้จะไม่แข็งแรงเหมือนของเล่นที่ซื้อมา แต่ก็ทำให้สนุกได้ ขณะที่ทักษะสร้างสรรค์ของเขาจะได้ต่อยอดผ่านการคิดประดิษฐ์ของเล่นใหม่ๆ ซึ่งความสำคัญอยู่ตรงที่เขาจะเกิดความรู้สึกภูมิใจที่สร้างของเล่นขึ้นมาเองได้

“แล้วในช่วง 13 สัปดาห์ที่ได้เรียนผ่านการเล่น ได้รู้สึกสัมผัสกับวิถีธรรมชาติ จะช่วยสร้างความเข้าใจและตระหนักได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อให้อยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข”

 

เที่ยวเล่นในฤดูฝน …เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเมื่อฤดูหนาวมาเยือน

‘เล่นในธรรมชาติ’ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เริ่มที่ ‘เที่ยวเล่นฤดูฝน’ เด็กๆ จะสำรวจสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ทำของเล่นจากธรรมชาติ เช่น สร้างเมืองดินที่มีอ่างเก็บน้ำ ช่วยกันค้นหาดินที่มีคุณสมบัติเก็บน้ำได้ หรือนำใบไม้กิ่งไม้ที่ยังคงลักษณะเขียวสดมาเป็นส่วนประกอบในการประดิษฐ์ของเล่น

ก่อนเข้าสู่ช่วงที่ 2 ‘ลมหนาวมาเยือนแล้ว’ ที่ธรรมชาติจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงผ่านสายตาของเด็กๆ เมื่อนั้นการเก็บวัสดุธรรมชาติมาทำของเล่น จะทำให้เขาเห็นว่าใบไม้สีอ่อนลง พร้อมกับสภาพแวดล้อมที่ท้องฟ้าโปร่งสดใส แดดจ้า ดินแห้งแตก ขณะที่ลมเย็นขึ้นและอุณหภูมิในอากาศเย็นลง จนเข้าใจได้ว่าฤดูกาลคือปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

 

‘เล่นในธรรมชาติ’ ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ

  1. สำรวจสภาพแวดล้อม
  2. ครูเป็นผู้บันทึกข้อมูลการสังเกตของนักเรียน
  3. ครูให้โจทย์นักเรียนไปเก็บวัสดุในธรรมชาติมาประดิษฐ์ของเล่น
  4. นักเรียนนำของที่เก็บได้มาจัดไว้ใน Maker Space
  5. นักเรียนประดิษฐ์ของเล่น
  6. นักเรียนออกไปเล่นของเล่นที่ประดิษฐ์ ก่อนเข้าสู่การประเมินผู้เรียนหลังกิจกรรมจบลง

“ตอนเริ่มต้น ครูต้องออกแบบชุดคำถามเป็นโครงในการสำรวจ โดยเริ่มจากประเด็นที่เด็กสนใจ ผ่านการเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กชั้น ป.1 มีการถ่ายภาพบันทึกสภาพแวดล้อมเพื่อเก็บไว้เปรียบเทียบความต่างของสองฤดู จากนั้นครูจึงสังเกตวิธีการหาคำตอบของเด็ก”

“เช่นการทำบ่อเก็บน้ำในฤดูฝน เขาจะเข้าใจว่าดินทรายเก็บน้ำไม่ได้ ก็ต้องสำรวจหาดินโคลนที่เก็บน้ำได้มาทำบ่อน้ำ แล้วพอถึงฤดูหนาวเขาจะเห็นว่าดินเปลี่ยนไปเป็นแห้งแตกและแข็ง ซึ่งไม่สามารถนำมาทำบ่อน้ำได้”

“หรือการทำของเล่นจากวัสดุธรรมชาติชิ้นเดียวกัน เขาก็จะพบว่าในหน้าหนาวกิ่งไม้ใบไม้จะมีความเปราะบาง การออกแบบวิธีการทำก็จะต้องเปลี่ยนไป ซึ่งเขาต้องเข้าใจและสามารถเลือกวัสดุที่เหมาะสมมาทำของเล่น แล้วอธิบายการทำของเล่นชิ้นนั้นๆ ได้”

ความต่างนี้จะเป็นการกระตุ้นให้เขาอยากทำของเล่นให้สำเร็จ มีการแบ่งปันความรู้กับเพื่อน นำไปสู่ทักษะสังคมและการแก้ปัญหา ตรงนี้ครูอาจช่วยได้โดยตั้งคำถามกระตุ้นเพื่อให้เด็กคิดและหาทางแก้ปัญหาจนพบ แล้วท้ายที่สุดเมื่อเด็กๆ ได้ทดลองเล่นของเล่นที่ทำขึ้นเอง เขาจะสนุกและภูมิใจกับของเล่นที่ตนประดิษฐ์ได้สำเร็จ – ครูเก๋กล่าวถึงโครงสร้างกิจกรรมเล่นในธรรมชาติ

 

ประสบการณ์คือพื้นฐานของการเรียนรู้

ครูเก๋กล่าวถึงการออกแบบการประเมินผู้เรียนว่า ครูสามารถสังเกตเด็กได้ในทุกช่วงกิจกรรม โดยประเมิน 3 ครั้ง คือ ตอนออกไปเก็บวัสดุ ตอนสร้างของเล่น และตอนเล่น ซึ่งจะประเมินจากลักษณะของเด็กว่าเขามีฉันทะหรือความไม่ย่อท้อต่อปัญหามากน้อยแค่ไหน หรือเขามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรในระหว่างกระบวนการ

“เราจะทราบได้ว่าเด็กมีการนำประสบการณ์ของตัวเองมาใช้ จากการทำของเล่นสองครั้งในสองฤดู เขาจะพบว่าสิ่งที่เคยทำได้ในฤดูฝนจะใช้ไม่ได้ในฤดูหนาว เพราะไม้ที่เปราะกว่า หรือดินที่แห้งแตกไม่มีความชุ่มชื้นจากน้ำ ซึ่งครูต้องคอยสังเกตว่าเด็กจะแก้ปัญหาอย่างไร และทำให้เขาเข้าใจถึงสาเหตุของความแตกต่าง” ครูเก๋สรุป 

 

‘การเรียนรู้ของเด็กๆ คือการเล่น’

ครูจิ๋ว สกุณี บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวถึงการออกแบบกระบวนการสอนในวิชาโครงงานบูรณาการว่า เบื้องหลังเรื่องราวในหน่วยการเรียนรู้ ‘เล่นในธรรมชาติ’ มาจากการวางแผนทำความเข้าใจร่วมกันของครูทุกคนในทีม ว่าจะทำให้เด็กไปถึงจุดมุ่งหมายสำคัญในการเรียนรู้ได้อย่างไร

“อย่างแรก ครูผู้สอนต้องเข้าใจในเรื่องที่จะสอนเป็นอย่างดีก่อน แล้วต้องคิดต่อว่าเด็กจะเข้าใจได้อย่างไร ต้องใช้วิธีการไหน จึงต้องถอดกระบวนการว่า ‘อะไรคือสิ่งที่เด็กจะสังเกตเห็นชัดที่สุด’ แล้ววางกระบวนการไปตามขั้นตอนตั้งแต่การรับรู้เริ่มแรกถึงบทสรุป”

“โจทย์ที่เราคุยกันตอนแรกคือ เป็นไปได้แค่ไหนที่เด็ก ป.1 จะรับรู้ประสบการณ์ตรงจากธรรมชาติ ดังนั้นเราจึงมองไปถึงสิ่งที่อยู่คู่กับเด็กเสมอ คือ ‘การเล่น’ สิ่งนี้จะนำมาสู่การเรียนรู้และความเข้าใจทั้งหมด เพราะการเล่นจะทำให้เขาเกิดความตื่นตัว และรู้สึกได้ว่า การเรียนรู้นี้มีความหมายสำหรับเขา จากนั้น การที่ perception (การรับรู้) ของเขาจะไปผสานกับตัวความรู้ทั้งหลายที่ครูพยายามจะส่งมอบให้ ก็จะเกิดขึ้นโดยง่ายดาย” ครูจิ๋วกล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค