‘ระบบครอบครัว’ ที่เน้นเสริมสร้างทักษะให้ใช้ชีวิตได้ในสังคมทุกรูปแบบ

‘ระบบครอบครัว’ ที่เน้นเสริมสร้างทักษะให้ใช้ชีวิตได้ในสังคมทุกรูปแบบ

ด้วยระบบดูแลและส่งเสริมศักยภาพนักศึกษาผู้มีความต้องการพิเศษที่วางเรื่อง ‘ทักษะชีวิต’ ไว้เป็นเป้าหมายสูงสุด วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จึงเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาสายอาชีพที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านการสร้างและส่งต่อผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษให้มีงานทำ 100% แต่นั่นยังไม่น่าสนใจเท่ากับข้อเท็จจริงประการต่อมาที่ว่า น้องๆ ผู้มีความต้องการพิเศษที่เรียนจบและเข้าทำงานภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยกับสถานประกอบการ ล้วนสามารถปรับตัวได้ดี และมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าในการทำงานได้ทุกคน

เพราะเราไม่ได้คิดแค่ว่าเขาต้องช่วยเหลือตัวเองได้ หรือเรียนจบมีงานทำ แต่ลูกๆ ของเราทุกคนจะต้องมีทักษะวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับ และต้องมีทักษะชีวิตที่แข็งแรงเพียงพอกับการอยู่ในสังคมการทำงานทุกรูปแบบ

ศุภวุฒิ พุฒิขวัญ หรือ ‘ครูแบงค์’ ผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล กล่าวถึงหลักการของวิทยาลัย ที่ผ่านประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษมาแล้วกว่า 10 ปี ทั้งในปีที่ผ่านมาได้เข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดย กสศ. เพื่อสานต่อผลลัพธ์และขยายโอกาสไปยังกลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับการขัดเกลาเพื่อเป็นบุคลากรสายอาชีพคนสำคัญของประเทศต่อไป

วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล เริ่มเปิดการสอนสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษตั้งแต่ปี 2554 ก่อนปรับหลักสูตรเป็นทวิภาคีเต็มรูปแบบในปี 2557 โดยมีหลากหลายสาขาวิชาพร้อมรองรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ขณะที่สาขาซึ่งเปิดรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ในปี 2563 ที่ผ่านมา คือ สาขาไฟฟ้ากำลัง และ คอมพิวเตอร์กราฟิก ในระดับชั้น ปวส. โดยมีนักศึกษาทุนรุ่นแรกจำนวน 20 คน

ครูแบงค์ระบุว่าที่เลือก 2 สาขาดังกล่าวร่วมโครงการ เนื่องจากไฟฟ้ากำลังเป็นสาขาที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูงที่สุด ทั้งก่อนหน้านี้ยังไม่มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาใดที่เปิดรับผู้เรียนกลุ่มนี้ ส่วนคอมพิวเตอร์กราฟิกคือการตอบโจทย์ยุคสมัย ที่การออกแบบสื่อออนไลน์กำลังเป็นที่นิยม อีกทั้งนักศึกษาทุนจำนวนหนึ่งของวิทยาลัยคือผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินที่มีทักษะพื้นฐานการออกแบบที่ดี วิทยาลัยจึงต้องการส่งเสริมให้พัฒนาไปได้จนสุดทาง

 

‘ลดสิ่งอำนวยความสะดวกลงให้เหลือน้อยที่สุด’

ที่ผ่านมาเราอาจได้รับรู้กันว่าการดูแลผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ คือการเสนอและจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด แต่วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลเลือกที่จะมองมุมกลับด้วยการลดทอนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้ลงให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยเหตุผลว่า ‘นักศึกษาต้องได้เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสังคมจริงซึ่งไม่ได้มีความสะดวกรองรับอยู่ในทุกที่ทุกเวลา’

กระบวนการดูแลของวิทยาลัยจะเริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมให้นักศึกษาทุกคนอยู่หอพัก มีครูที่ปรึกษา ครูประจำหอพัก นักวิชาการและนักวิชาชีพด้านการศึกษาพิเศษคอยดูแลตลอดเวลา จากนั้นจะค่อยๆ ปรับพฤติกรรมด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับความบกพร่องของแต่ละคน

“เราจะเปลี่ยนการใช้ชีวิตของเขาทุกด้าน โดยพยายามลดสิ่งอำนวยความสะดวกลงให้เหลือน้อยที่สุด ฝึกให้เขาช่วยเหลือตัวเองในการเดินทาง ใช้ชีวิตประจำวัน การใช้จ่าย หรือติดต่อสื่อสาร โดยให้เขาทำได้เหมือนกับคนทั่วไปมากที่สุด อย่างการลดล่ามภาษามือในกลุ่มที่บกพร่องทางการได้ยิน เพื่อให้เขาได้ฝึกทักษะการสื่อสารและการเดินทางด้วยตัวเองผ่านการเขียน เพราะการใช้ชีวิตข้างนอกเขาจะไม่มีล่ามคอยประกบตลอดเวลา”

ในเรื่องของระบบการเรียนการสอน วิทยาลัยได้ออกแบบหลักสูตรร่วมกับ ศูนย์บริการสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาพิการ(DSS Center) เพื่อปรับการสอน กิจกรรม วิธีวัดและประเมินผลที่สอดคล้องยืดหยุ่นกับนักศึกษาแต่ละกลุ่ม เช่นนักศึกษาบกพร่องทางการได้ยินจะมีปัญหาเรื่องการใช้ทักษะภาษา การเขียนเรียงความภาษาไทยก็จะใช้วิธีให้เล่าเรื่องผ่านภาษามือ โดยมีล่ามภาษามือถ่ายทอดความหมายให้กับครูอีกทอดหนึ่ง เป็นต้น

 

ระบบ ‘เรียนร่วม’ จำลองสังคมที่ทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน

ครูแบงค์กล่าวต่อไปว่า บรรยากาศในวิทยาลัยจะเน้นความเป็นครอบครัวที่มีครูเป็นเสมือนพ่อแม่หรือเป็นพี่ของนักศึกษา ครูจึงไม่ได้มีหน้าที่เพียงให้ความรู้ด้านวิชาการหรือวิชาชีพ แต่ต้องช่วยปรับทักษะชีวิต ซึ่งครูแบงค์บอกว่า ‘เป็นเรื่องที่ยากที่สุด’

ปลายทางหลังเรียนจบ ทุกคนต้องเข้าไปอยู่ในสถานประกอบการซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะได้ทำงานที่ไหน หรือบริษัทไหนจะรับนักศึกษาเข้าไปกี่คน ฉะนั้นเขาต้องพร้อมเข้าสู่สถานประกอบการทุกรูปแบบ หรือถ้ามีบริษัทที่จำกัดการรับนักศึกษาแค่ 1 คน เขาก็ต้องพร้อมเข้าไปทำงานเพียงลำพังคนเดียวได้

“เราเริ่มต้นวางรากฐานทุกอย่างให้เขาตั้งแต่เทอมแรกในวิทยาลัย ด้วยการดูแลแบบครอบครัวขนาดใหญ่ที่จัดการเรียนการสอนเป็นลักษณะ Inclusive Education หรือการ ‘เรียนรวม’ ซึ่งหมายถึงในชั้นเรียนจะมีทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษและนักศึกษาทั่วไป ในแง่หนึ่งเราต้องการให้เขารู้สึกถึงความเท่าเทียม ส่วนอีกด้านหนึ่งเรามองว่าความแตกต่างจากคนปกติทั่วไปที่อาจเป็นอุปสรรคในตอนแรก จะกลายมาเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเกิดความพยายามทำให้ได้เหมือนคนอื่น สำคัญคือเราต้องจูงใจและให้กำลังใจให้เขาเชื่อมั่นในตัวเอง ช่วยส่งเสริมให้เขาได้แสดงสิ่งที่พิเศษในตัวเองออกมา แล้วเมื่อทักษะชีวิตเขาได้รับการเติมเต็มจนเข้มแข็ง มีความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ เขาจะไม่รู้สึกว่าตนเองแตกต่างใดๆ กับคนอื่นเมื่อเข้าไปอยู่ในสถานประกอบการ หรือสังคมข้างนอก”

 

MOU สถานประกอบการ สร้างระบบทวิภาคีที่สร้างประโยชน์กับทุกฝ่าย

อีกกระบวนการหนึ่งที่วิทยาลัยให้ความสำคัญคือการค้นหาคัดเลือก และทำข้อตกลงความร่วมมือกับสถานประกอบการชั้นนำ เพื่อสร้างหลักสูตรทวิภาคีที่มีคุณภาพ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ที่แท้จริงกับทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่นักศึกษา สถานประกอบการ และวิทยาลัย

“ก่อนจะ MOU ทวิภาคี เราจะอธิบายให้สถานประกอบการเข้าใจว่าการรับเด็กกลุ่มนี้มีข้อดีอะไรบ้าง เพราะในการฝึกงาน 1 ปีการศึกษา ทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน อาทิเด็กๆ กลุ่มนี้เขาจะมีความอดทนและความพยายามสูงในการตั้งใจเรียนรู้งาน ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในงานที่เขาได้ทำเป็นประจำ แล้วพอเขาได้เข้าสู่ระบบบริษัท อัตราการโยกย้ายเขาแทบไม่มี สถานประกอบการสามารถบรรจุเด็กเข้าเป็นพนักงานได้ทันทีหลังเรียนจบ นอกจากนี้พอมีนักศึกษารุ่นต่อไปเข้ามา ระบบครอบครัวที่เราวางไว้ทำให้สถานประกอบการไม่ต้องจัดหาพี้เลี้ยงมาเพิ่ม เพราะรุ่นพี่เขาจะคอยช่วยดูแลสอนงานรุ่นน้องเป็นทอดๆ ไป”

นอกจากนี้วิทยาลัยยังมีระบบดูแลที่ติดตามตั้งแต่ช่วงฝึกงานไปจนถึงทำงานจริง มีการเข้าไปพบเด็กอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อเดือน มีการส่งล่ามภาษามือและครูเข้าร่วมงานเพื่อช่วยลดภาระของสถานประกอบการ ซึ่งนี่คือกระบวนการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ 3 ฝ่าย

“ตั้งแต่มีหลักสูตรทวิภาคี นักศึกษาเรามีงานทำ 100% ไม่มีคนหลุดกลางทาง ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน มีบริษัทใหญ่ๆ ให้ความสนใจจองตัวตั้งแต่นักศึกษายังเรียนไม่จบ และที่สำคัญคือลูกๆ ซึ่งเป็นผลผลิตของเรายังทำงานในบริษัทเดิมและมีความก้าวหน้าในอาชีพกันทุกคน”

ท้ายที่สุด ครูแบงค์ กล่าวถึงการร่วมงานกับ กสศ. ในโครงการทุนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ว่าทุนได้เข้ามาช่วยเปิดโอกาสให้เด็กที่มาจากครอบครัวไม่มีความพร้อมได้มากขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ การปรับเสริมหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะของครูในการทำความเข้าใจนักศึกษากลุ่มนี้

“ที่ผ่านมาเรามีเด็กที่หลุดไประหว่างเรียนบ้างจากปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์ พอมีทุนเข้ามาเรามั่นใจได้ทันทีว่าเด็กๆ ของเราจะไปถึงเป้าหมายปลายทางได้ครบทุกคน ได้พัฒนาศักยภาพในตัวเองอย่างเต็มที่ มีทักษะอาชีพที่ดี มีงานที่มั่นคง ซึ่งเรามองว่านี่คือการยกระดับของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทั่วถึงคนทุกกลุ่มจริงๆ” ครูแบงค์กล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค