‘การคัดกรอง’ ช่วยลดความเสี่ยงเด็กเสียโอกาสทางการศึกษา

‘การคัดกรอง’ ช่วยลดความเสี่ยงเด็กเสียโอกาสทางการศึกษา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 6 จังหวัดเชียงใหม่ ที่ครอบคลุม 3 อำเภอคือ จอมทอง แม่แจ่ม และกัลยาณิวัฒนา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่โรงเรียนส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนดอยสูง หรือลึกเข้าไปในพื้นที่ป่าและภูเขา ซึ่งยากต่อการเข้าถึง แต่กลับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เขตการศึกษาและโรงเรียนในพื้นที่ได้ร่วมมือในการคัดกรอง ติดตาม และเฝ้าระวังน้องๆ นักเรียนทุนเสมอภาค ให้ได้รับสิทธิความช่วยเหลือทางการศึกษาได้เกือบ 100% เต็ม ด้วยเชื่อว่าการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กระจายไปอย่างทั่วถึง คือหนทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเปลี่ยนแปลงสังคมในระยะยาวที่ยั่งยืน

อำนาจ กิจเดช เจ้าหน้าที่ ICT สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 6 จ.เชียงใหม่ อธิบายถึงการทำงานว่า แม้ว่าความลำบากในด้านการเดินทางและการเข้าถึงสาธารณูปโภค ทำให้กระบวนการคัดกรองและการติดตามเฝ้าระวังกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ด้วยการวางแผนงานเป็นระบบ และความร่วมมือร่วมใจจากผู้บริหารโรงเรียนและครูในพื้นที่ ประสิทธิภาพในการทำงานจึงเกิดขึ้นได้

 

เตรียมแผนงานให้รัดกุม นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

เจ้าหน้าที่ สพป. เขต 6 ระบุว่า ด้วยปัญหาสำคัญของพื้นที่เขต 6 คือความห่างไกล ยากต่อการเข้าถึง ทั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตยังไม่เสถียร หรือบางโรงเรียนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ การทำงานจึงต้องอาศัยการวางแผนสำรวจเด็กที่ละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน และต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยปรับแผนให้ยืดหยุ่นตามลักษณะพื้นที่

“อีกเรื่องหนึ่งคือโรงเรียนในพื้นที่ส่วนใหญ่มักใช้ธุรการเป็นผู้บันทึกข้อมูล ซึ่งตำแหน่งนี้จะโยกย้ายคนทำงานบ่อย ระบบจึงอาจไม่มีความต่อเนื่อง เราจึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยในโรงเรียนที่ทำได้ จะใช้วิธีที่เรียกว่า รีโมทคือการทำงานร่วมกันจากระยะไกล เริ่มจากเชื่อมต่อเครือข่ายตรงจากทางเขตและโรงเรียนเข้าด้วยกัน จากนั้นเราจะทำตัวอย่างการบันทึกข้อมูลเด็กสัก 2-3 เคส โดยรีโมทข้อมูลจากเขตเข้าไปที่เครื่องของโรงเรียน วิธีนี้ทำให้ส่งต่องานได้รวดเร็ว เข้าใจง่าย ฟีดแบคการสื่อสารได้ทันที ซึ่งดีกว่าวิธีส่งคู่มือไปให้เขาทำความเข้าใจ เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยร่นระยะห่างระหว่างกัน”

 

ส่งต่อความเข้าใจเรื่องการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

เจ้าหน้าที่ สพป. เขต 6 กล่าวต่อไปว่า การจะทำให้การคัดกรองเด็กๆ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้เป็นคนลงพื้นที่ ให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า การเฟ้นหาเด็กๆ ทุนเสมอภาค หมายถึงการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาที่ไม่สิ้นสุด

“ในช่วงเวลาเริ่มต้น มีบ้างที่ผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งอาจยังมองไม่เห็นเป้าหมายที่แท้จริงของทุน หรือยังไม่ให้ความสำคัญกับการคัดกรองอย่างเต็มที่ เนื่องจากมองว่าเป็นการเพิ่มงานที่หนักอยู่แล้วให้กับครูในพื้นที่ ตรงนี้เราจึงต้องอธิบายว่าทุนนี้คือการกระจายโอกาสไปในพื้นที่ต่างๆ คือการส่งต่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้ทั่วถึง ซึ่งการคัดกรองเด็กอย่างละเอียดย่อมทำให้เด็กที่จะหลุดจากการศึกษาได้เรียนต่อจนจบมีจำนวนมากขึ้น

“บริบทของพื้นที่เขต 6 เรามีเด็กที่เข้าเกณฑ์ทุนเสมอภาคอยู่มาก บางโรงเรียนมีเด็กที่ลำบากต้องการความช่วยเหลือแทบเต็มจำนวน เราต้องปลูกจิตสำนึกของผู้มีส่วนร่วมทุกคนให้พยายามเชื่อมเด็กๆ กับโอกาสที่เขาควรได้รับให้ได้ ซึ่งในแง่นี้เราต้องเห็นตรงกันว่าคณะทำงานคือสะพานส่งต่อโอกาส มันคือการช่วยเด็กในระยะยาวและต่อเนื่อง ไม่ใช่เอาเงินไปให้ครั้งเดียวแล้วจบ แต่เงื่อนไขของทุนนี้คือการต่อเติมโอกาสให้เขาเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาจนจบภาคบังคับ ได้พัฒนาตัวเอง ได้เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต ครอบครัว รวมถึงสังคมได้ในวันหนึ่ง คือถ้าเราช่วยเขาวันนี้ เขาก็ช่วยตัวเองได้ดีขึ้นในวันข้างหน้า ดังนั้นเราจะต้องเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกัน”

 

ทีมติดตามผล ทำระบบ ‘แขวนลอย’ ช่วยครูสอดส่องเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบ

นอกจากทีม ICT ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยเหลือทางโรงเรียนในพื้นที่ ยังมีทีมงาน สพป. เขต 6 อีกกลุ่ม ที่เป็นฝ่ายส่งเสริม มีหน้าที่คอยติดตามนักเรียนที่เสี่ยงหลุด หรือหยุดเรียนบ่อยครั้ง

เจ้าหน้าที่ ICT เขต 6 เผยว่า ปัญหาหลักของน้องๆ ทุนเสมอภาคในพื้นที่ มีทั้งเด็กที่ต้องติดตามผู้ปกครองไปทำงานนอกพื้นที่ เด็กชาติพันธุ์ตามแนวตะเข็บชายแดน กลุ่มเยาวชนจากโรงเรียนขยายโอกาสที่แต่งงานมีครอบครัวเร็ว รวมถึงเด็กที่ต้องหยุดเรียนเพื่อไปดูแลผู้ปกครองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

กลุ่มส่งเสริมจึงต้องคอยติดตามข้อมูลน้องๆ เหล่านี้และคอยปรึกษากับครูสม่ำเสมอ เพื่อหาทางช่วยเหลือ ผ่านบันทึกการเข้าเรียน ทั้งจัดทำระบบ นักเรียนแขวนลอยหมายถึงกลุ่มที่มีอัตราเข้าเรียนน้อยเป็นพิเศษ สำหรับการเข้าถึงครอบครัวเด็กและแก้ไขปัญหาเป็นรายคน หรือนำรายชื่อกลุ่มนี้มาตรวจสอบว่าเด็กยังอยู่ในพื้นที่หรือไม่

“กลุ่มส่งเสริมเราจะมีหน้าที่ลงพื้นที่โรงเรียน คอยติดตามเด็กร่วมกับครู โดยเราจะใช้ข้อมูลในการมองหาเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา แล้วค้นหาวิธีการร่วมกันว่าจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร” อำนาจ กิจเดช เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 6 กล่าว      

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค