Banner
มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร

ม.แม่โจ้-ชุมพร จัดโครงการยกระดับฝีมือการผลิตสบู่สมุนไพร เชื่อมการท่องเที่ยวกับผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านทรัพย์ทวี

‘กิน เที่ยว ช้อป’ บ้านทรัพย์ทวี อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เมื่อ ‘ความทุรกันดาร’ สร้างจุดขายให้ชุมชนท้องถิ่น

‘บ้านทรัพย์ทวี’ อำเภอละแม จังหวัดชุมพร มี ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะพืชสมุนไพร มีต้นทุนภูมิปัญญาเกี่ยวกับการรักษาโรคและการดูแลสุขภาพด้วยพืชสมุนไพรท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์และรักการพัฒนาควบคู่ไปกับการดูแลรักษาชุมชนซึ่งถือเป็น ต้นทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง  แต่ต้นทุนเหล่านี้คงไม่สามารถสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เลย หากชาวบ้านไม่มีองค์ความรู้และไม่สามารถประยุกต์ใช้ต้นทุนชุมชนด้านต่าง ๆ มาทำให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชนและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบท้องถิ่น ที่สามารถบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เป็นแหล่งรายได้ภายในชุมชน

เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร จึงริเริ่ม โครงการพัฒนาศักยภาพการทำสบู่สมุนไพรน้ำผึ้งเพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรในพื้นที่ทุรกันดาร ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เพื่อพัฒนาชุมชนบ้านทรัพย์ทวีให้ขึ้นมาอยู่ในจุดที่สามารถรองรับการท่องเที่ยวได้ ทั้งการให้บริการโฮมสเตย์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปและผักผลไม้สดจากชุมชน  แหล่งเรียนรู้สมุนไพร โปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนโดยมีไฮไลท์อยู่ที่ ‘น้ำตกจำปูน’ และรายได้จากการเป็นไกด์ท้องถิ่นนำเที่ยว

ดร.ศุทธิกานต์ คงคล้าย หนึ่งในบุคลากรจากหน่วนงานพัฒนา เล่าว่า “เราไม่อยากให้ชาวบ้านเห็นแค่ว่ามีเงินมา ขอลายเซนต์ก็ให้ บอกให้ทำอะไรก็ทำ แต่อยากให้เขาเห็นโอกาสที่จะทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน แต่เขาต้องลงมือทำด้วยตัวเองนะ ต้องหยิบฉวยโอกาส ไม่ใช่แค่มานั่งรอรับความช่วยเหลือ”

กระบวนการทำงานในโครงการพัฒนาศักยภาพการทำสบู่สมุนไพรน้ำผึ้งเพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรในพื้นที่ทุรกันดาร แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาความรู้ ทัศนคติ และทักษะ โดยใช้การศึกษาดูงานเป็นเครื่องมือกระตุ้นความคิด ให้คนในชุมชนเห็นภาพและความเป็นไปได้ที่เชื่อมโยงกับชุมชนของตนเอง 

หนึ่งด้านความรู้ – การฝึกอบรมการบริหารโครงการแบบมีส่วนร่วม การศึกษาดูงานเรื่องการทำสบู่สมุนไพรจากชุมชนอื่น การตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และการเป็นผู้ประกอบการที่ดี

สองด้านทัศนคติ – การอบรมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการศึกษาดูงานด้านการท่องเที่ยวชุมชน 

สามด้านทักษะ – การฝึกฝนเพื่อยกระดับทักษะการผลิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ปรับปรุงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเดิมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น  และกิจกรรมอบรมทักษะการสื่อสารและการเป็นนักขายมืออาชีพ รวมถึงการทำการตลาดออนไลน์ 

อาเด๊ะ จันทร์เพ็ง หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของโครงการเล่าว่า “แกนนำหลักของกลุ่มที่ทำสบู่มีอยู่ประมาณ 5 คน โดยชุมชนได้ตั้งราคาขายเอาไว้ก้อนละ 50 บาท เมื่อจำหน่ายและเกิดรายได้ก็จะหักเป็นค่าส่วนกลางร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือหารตามจำนวนคนทำงาน นอกจากนี้ทางกลุ่มวางแผนต่อยอดการทำสบู่เป็น ‘ของชำร่วย’ ในงานแต่งงานด้วย” 

จากกระบวนการพัฒนานี้ได้ทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างการทำโครงการฯ และทำให้ชุมชนเข้าใจเรื่องการรับผิดชอบตัวเอง รู้จักแสวงหาเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากความต้องการของตัวเอง ผ่านการทำสบู่สมุนไพรน้ำผึ้ง

ทัศนคติที่พัฒนาขึ้นมานี้ได้ก่อให้เกิดสภาผู้นำชุมชนคนน้ำตกจำปูนขึ้น และมีการสร้างโมเดลการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนโดยมีแนวทาง 3 หัวข้อด้วยกันคือ 1.เศรษฐกิจพอเพียง 2.การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ทำอย่างไรให้ได้กิน? 3.การทำบัญชีครัวเรือน และการจัดการขยะอย่างครบวงจร  

การเกิดขึ้นของสภาและโมเดลพัฒนานี้ เกิดขึ้นโดยความต้องการของคนในชุมชนเองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญว่าโครงการได้ประสบความสำเร็จในการ ‘ริเริ่ม’ และส่งไม้ต่อให้กับตัวชุมชนเองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหัวใจหลักของความสำเร็จนี้คือการให้อิสระในการคิดกับคนในชุมชนเพื่อแสดงศักยภาพ และใช้ต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชนโดยปราศจากกรอบบังคับใดๆ 

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการพัฒนาศักยภาพการทำสบู่สมุนไพรน้ำผึ้งเพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรในพื้นที่ทุรกันดาร

มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร

  • โทร: 095-024 6856
  • ผู้ประสานงาน: ดร.ศุทธิกานต์ คงคล้าย

เป้าประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนที่ด้อยโอกาส (แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้สูงอายุ) ของบ้านทรัพย์ทวี หมู่ที่ 19 ให้มีอาชีพที่มั่นคง
  2. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่ด้อยโอกาส (แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้สูงอายุ) ของ บ้านทรัพย์ทวี หมู่ที่ 19 มีรายได้เสริม
  3. เพื่อจัดตั้งฐานเรียนรู้ชุมชน “การผลิตสบู่สมุนไพรน้ำผึ้ง” ที่ผลิตสินค้ามีมาตรฐานสำหรับรองรับการศึกษาดูงานและเกิดการจ้างงานภายในชุมชน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส