Banner
วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี
อุทัยธานี

วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานีจับภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองมาสร้างหลักสูตร แก้ปัญหาการว่างงานของแรงงานนอกระบบ

‘ผ้าทอ’ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของประเทศไทย ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ หลายจังหวัดทั่วประเทศต่างก็มีผ้าทอในฉบับของตนเอง เช่นเดียวกับจังหวัดอุทัยธานีที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นดินแดน ‘ราชินีแห่งผ้าทอ’ ซึ่งคนเล่นผ้าจะรู้กันดีว่าผ้าทออุทัยธานี โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ชัดเจนเพียงไร แต่ในระยะหลัง ลวดลายผ้าทอที่นี่กลับถูกลอกเลียนแบบ อีกทั้งช่างทอยังขาดความรู้ด้านการออกแบบลาย และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบลายใหม่ๆ จนมีแต่ลายซ้ำๆ 

ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาตรี จึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว ผ่านการทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพแรงงานนอกระบบโดยบูรณาการองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ปนัสขนันชา สุขสำราญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี และผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า “โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะการทอผ้าให้กลุ่มผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจึงไม่จำกัดอยู่ที่คนทอผ้าเป็นเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีความรู้เรื่องการทอผ้าเข้าร่วมได้ด้วย ซึ่งคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ 150 คนจากพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลานสักและบ้านไร่”

เพื่อให้การดำเนินโครงการเดินไปในทิศทางเดียวกัน คณะทำงานจึงได้จัดประชุมร่วมกับชุมชน ปราชญ์ชุมชน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าพื้นเมือง เพื่อออกแบบหลักสูตรและกำหนดแนวทางการอบรม และยังได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนรินทรวิโรฒ นำโดย ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ จนเกิดเป็น 3 หลักสูตรสำคัญ ที่จะใช้หนุนเสริมความรู้ให้กลุ่มเป้าหมาย นั่นคือ (1) การย้อมสีธรรมชาติ (2) การออกแบบลาย และ (3) การตลาดออนไลน์

ปนัสขนันชาเสริมว่า ในหลักสูตรการย้อมสีธรรมชาติ จะให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้เกี่ยวกับการย้อมเส้นฝ้ายและผ้า จากสีธรรมชาติที่สกัดจากพืช เช่น ใบไม้ เปลือกไม้ และโคลน โดยมีปราชญ์ชุมชนสองคน คือพ่อนิทัศน์ จันทร และแม่บรรจบ ปัญโญ เป็นวิทยากร คอยให้ความรู้ตั้งแต่วิธีการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีในชุมชน ว่าชนิดใดให้สีอะไรได้บ้าง มีขั้นตอนเริ่มจากการนำใบไม้ไปสับ จากนั้นต้มสกัดเป็นสี ซึ่งกรรมวิธีเหล่านี้ต้องอาศัยทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาดั้งเดิม อีกทั้งยังต้องมีความอดทน เนื่องจากมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าการใช้สีเคมีสำเร็จรูป แต่สิ่งที่ตามมาก็คือมูลค่าผ้าทอเพิ่มขึ้น และมีเฉดสีไม่ซ้ำกัน

หลังจากเรียนรู้กรรมวิธีการเพิ่มมูลค่าผ้าทอด้วยสีธรรมชาติแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการอบรมเรื่องการออกแบบลวดลาย ผ่าน ‘เกม’ หรือสิ่งที่เรียกว่า Game Base Learning โดยใช้จิกซอว์หรือตัวต่อในการออกแบบ เพื่อปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มเป้าหมาย ให้ออกมาเป็นลวดลายที่ชัดเจนและง่ายขึ้น ทั้งนี้ ก่อนที่จะเริ่มสอน วิทยากรจะปูพื้นฐานเกี่ยวกับลายต่างๆ ในประเทศไทยก่อน เช่น ลายโบราณของชาวลาวครั่ง รวมถึงการใช้สี การใช้ลาย และการแต่งลาย ซึ่งอาศัยลายพื้นฐานแปดลาย เช่น ลายตุ้ม ลายปีกไก่ ลายเขี้ยวหมา เป็นต้น 

หลังจากที่กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ครบทั้งสองหลักสูตร (การย้อมสีธรรมชาติและการออกแบบลาย) ก็ถึงคราวของหลักสูตรสุดท้าย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดผลลัพธ์ของโครงการว่าสามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มเป้าหมายได้จริงหรือไม่ นั่นคือหลักสูตรการตลาดออนไลน์ ซึ่งปนัสขนันชาเสริมว่า การตลาดออนไลน์เป็นหลักสูตรที่กลุ่มเป้าหมายต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ตั้งแต่แรก ต่างจากสองหลักสูตรแรกที่กลุ่มเป้าหมายพอมีฐานความรู้เดิมอยู่บ้าง 

สาเหตุที่การตลาดออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญ เป็นเพราะที่ผ่านมา การขายผ้าทอของกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นการออกร้านตามงานต่างๆ ซึ่งไม่ได้สร้างความรับรู้ถึงสินค้าในวงกว้างเท่าที่ควร คณะทำงานจึงต้องการเผยแพร่คุณค่าของผ้าทออุทัยธานีออกสู่สายตาผู้บริโภคผ่านการตลาดออนไลน์ เช่น เพจเฟซบุ๊ก ที่แฝงการบอกเล่าเรื่องราวในแต่ละขั้นตอนการผลิตของผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี

เมื่อเรียนรู้ครบทั้งสามหลักสูตรแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานขยายผล คณะทำงานจึงจัดให้มีการทำ MOU หรือการลงนามความร่วมมือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชุมชน และระดับจังหวัดกว่า 20 หน่วยงาน อาทิ พัฒนาชุมชนอำเภอบ้านไร่, สํานักงานพาณิชย์จังหวัด, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุทัยธานี, อุตสาหกรรมจังหวัด, และกลุ่มผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง เป็นต้น

นอกจากองค์ความรู้ในด้านต่างๆ แล้ว กลุ่มเป้าหมายยังได้รับการหนุนเสริมเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการทอผ้า นั่นคือกี่ ฟืม และอุปกรณ์สำหรับการย้อมสีธรรมชาติ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถนำไปพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพต่อไป

ทวีพร แปพรมราช หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า สมัยก่อนเธอประกอบอาชีพทอผ้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งเธอและชาวบ้านคนอื่นๆ ต่างก็ผลิตผ้าทอที่ใช้สีจากสารเคมี ซึ่งมีลวดลายรูปแบบเดิมๆ วางขายตามท้องตลอด เพราะง่ายและสะดวก โดยไม่สนใจที่จะออกแบบลวดลายผ้ารูปแบบใหม่ๆ จนกระทั่งมีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ จึงได้จุดประกายความคิดในการต่อยอดให้ผลงานมีมูลค่ามากขึ้น ซึ่งหลังจากเรียนรู้ครบทุกขั้นตอน ทวีพรก็ได้นำความรู้ไปศึกษาและพัฒนาต่อ จนสามารถสร้างลวดลายที่สะท้อนถึงความเป็นมาของหมู่บ้านหนองสองห้อง ตำบลหนองจอก อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่เธออาศัยอยู่ได้

เดิมที ผ้าทอผืนหนึ่งจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 1,500 – 3,500 บาท แต่พอเปลี่ยนมาใช้สีธรรมชาติ จะสามารถขายได้สูงถึง 4,000 – 8,500 บาท เพราะผ้าทอสีธรรมชาติจะมีความนิ่มกว่าสีเคมี และติดทนนาน อีกทั้งยังปลอดภัยต่อผู้สวมใส่ และผู้ผลิต โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ผลิตได้ เราจะขายผ่านเพจ ‘แป้งทอซิ่นจก’ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าเก่า รวมทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน” ทวีพรกล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าการประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การคว้าเหรียญรางวัล อาจถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ทว่า สิ่งที่สำคัญกว่าและยากกว่า ก็คือการรักษามาตรฐานให้คงอยู่ เช่นเดียวกับผ้าทออันเลื่องชื่อของอุทัยธานี ที่หากไม่ได้รับการปรับปรุง แก้ไข และอุดช่องโหว่ของปัญหา จากผ้าทอที่ส่งออกไปไกลทั่วโลก อีกไม่นานก็อาจจะสิ้นชื่อได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยสานต่อตำนานของผ้าทออุทัยธานี ก็ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย เช่น การสืบสานของเยาวชน เพื่อให้ในอนาคต ผ้าทอของจังหวัดอุทัยธานี ที่ได้รับสมญานามว่า ‘ราชินีแห่งผ้าทอ’ จะได้คงอยู่ตลอดไป

“เดิมที ผ้าทอผืนหนึ่งจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 1,500 – 3,500 บาท แต่พอเปลี่ยนมาใช้สีธรรมชาติ จะสามารถขายได้สูงถึง 4,000 – 8,500 บาท เพราะผ้าทอสีธรรมชาติจะมีความนิ่มกว่าสีเคมี และติดทนนาน อีกทั้งยังปลอดภัยต่อผู้สวมใส่ และผู้ผลิต โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ผลิตได้ เราจะขายผ่านเพจ ‘แป้งทอซิ่นจก’ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าเก่า รวมทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน” ทวีพร แปพรมราช หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการพัฒนาทักษะอาชีพแบบองค์รวมโดยบูรณาการองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี

วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี

  • โทร: 087-1991128
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวปนัสขนันชา สุขสำราญ

เป้าประสงค์

แรงงานนอกระบบ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มรับจ้างทั่วไป จำนวน 150 คน ได้รับการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ สามารถนำความรู้และทักษะอาชีพไปใช้ประกอบอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนได้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส