Banner
มูลนิธิขวัญชุมชน
สุรินทร์

‘ขวัญชุมชน’ มูลนิธิที่ยกระดับแรงงานนอกระบบในชุมชนด้วยโครงการฝึกทักษะ ‘ผ้าไหมสร้างสรรค์’

จังหวัดสุรินทร์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมายาวนาน และผ้าไหมยังเป็นสินค้าที่ทำรายได้เข้าสู่จังหวัดไม่ต่ำกว่าปีละ 600 ล้านบาท ทว่าชาวบ้านในหลายพื้นที่ รวมถึงตำบลจารพัตยังประสบปัญหาทอผ้าไหมขายไม่ได้ราคา ทั้งยังกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานด้อยโอกาสในพื้นที่ตำบลจารพัต อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ มูลนิธิขวัญชุมชนจึงได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานสร้างสรรค์กลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสในชุมชน จังหวัดสุรินทร์ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ได้พัฒนาสานต่องาน วิสาหกิจผ้าไหม ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครัวเรือน เพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพ ผ้าทอ ซึ่งเป็น ต้นทุน ของชุมชนมาช้านาน

“งานผ้าไหมช่วยส่งเสริมศรษฐกิจในชุมชนรองจากงานเกษตร อีกทั้งพื้นที่ตำบลจารพัตยังมีทุนฐานการทอผ้าที่สำคัญ โดยในตำบลนี้มีทั้งหมด 20 หมู่บ้าน ประกอบด้วย 2,251 ครัวเรือน ในจำนวนนี้มีครัวเรือนที่ทอผ้าอยู่ 1,050 ครัวเรือน และมีกี่ทอผ้าไหมมากถึง 1,050 กี่ เปรียบเหมือนโรงงานทอผ้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์” หนึ่งในผู้ดูแลโครงการฯ อธิบาย

สำหรับกระบวนการทำงานของโครงการฯ เริ่มต้นจากการค้นหากลุ่มเป้าหมาย จำนวน 70 คน ซึ่งมีความหลากหลายสูง เช่น กลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มเยาวชนนอกระบบ และกลุ่มคนพิการ ดังนั้นก่อนที่จะเข้าสู่การอบรม มูลนิธิขวัญชุมชนจึงได้แยกกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีทักษะอยู่แล้ว กลุ่มที่ต้องเติมทักษะ และกลุ่มที่ไม่มีทักษะ 

เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายครบทั้ง 70 คน แล้ว ก็เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการอบรม โดยในหลักสูตรจะใช้เวลา 2 วัน ทั้งนี้จะมีการแบ่งกลุ่ม โดยนำทั้งกลุ่มเป้าหมายที่แบ่งตามทักษะทั้ง 3 กลุ่ม มาจัดกลุ่มคละกัน เพื่อให้คนที่มีทักษะได้ช่วยหนุนเสริมและเติมความรู้ให้แก่ผู้ขาดทักษะ ผ่าน กระบวนการเรียนรู้ 4 โมดูล (Module)

โมดูลที่ 1 คือการให้ความรู้ ทักษะย้อมสีธรรมชาติ โดยมีวิทยากรเป็นแม่ศรีนวล หมวกทอง ซึ่งเชี่ยวชาญการทำสีธรรรมชาติในเชิงอุตสาหกรรม มาช่วยอบรมกลุ่มเป้าหมายให้สามารถใช้วัสดุธรรมชาติมาผลิตได้อย่างมีมาตรฐาน

โมดูลที่ 2 คือ การเรียนรู้เรื่องตัวตนตัวเอง จะเป็นการให้ผู้เข้าร่วมโครงการวางเป้าหมายชีวิต วางแผนการเงินของตัวเอง โดยมีวิทยากรจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและสถาบันการเงินพะเยามาให้ความรู้ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถวิเคราะห์รายได้และรายจ่าย รวมถึงการวิเคราะห์ตัวเอง เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

โมดูลที่ 3 คือการอบรม การวางแผนโมเดลธุรกิจ เกี่ยวกับการประกอบ ธุรกิจผ้าไหม โดยมีเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ (โฟล์คชาร์ม) ซึ่งเชี่ยวชาญการทำ กิจการเพื่อสังคม มาร่วมแนะแนวการออกแบบโมเดลธุรกิจกับกลุ่มเป้าหมาย

โมดูลที่ 4 คือการฝึก ทักษะการเล่าเรื่องและการตลาดออนไลน์ โดยมีวิทยากรจากภายนอกมาช่วยเติมเต็ม เช่น อนุกูล ทรายเพชร จากโฟล์คไลฟ์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการขายข้าวสุรินทร์ ได้มาช่วยให้ความรู้ชาวบ้านจากประสบการณ์การขายข้าว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการขายผ้าทอของกลุ่มเป้าหมาย

จากความมุ่งมั่นของมูลนิธิขวัญชุมชนและความร่วมมือของเครือข่ายผู้นำชุมชน ทำให้ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายทั้ง 70 คน สามารถสร้างรายได้จากการทอผ้า ซึ่งการจำหน่ายสินค้าจะมีทั้งขายผ่านพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อถึงในหมู่บ้าน และขายผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ที่ได้จากการฝึกอบรม ทำให้ไม่โดนกดราคาเหมือนที่ผ่านมา 

ที่สำคัญการหันมาย้อมสีธรรมชาติ ยังช่วยฟื้นฟูภูมิปัญญาโบราณของชุมชนเขมร ทั้งการย้อมครั่ง ย้อมเข ย้อมประโหด รวมทั้งยังมีการต่อยอดวิธีการย้อมครามให้ทันสมัยมากขึ้นอีกด้วย

ในท้ายที่สุด เมื่อโครงการสิ้นสุดลง กลุ่มชาวบ้านก็ได้มีผลงานที่เป็นรูปธรรมออกมาเป็นแบรนด์ผ้าไหมถึง 6 แบรนด์ ซึ่งเกิดจากการทดลองแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 6 กลุ่มระหว่างที่ทำการฝึกฝนอบรม โดยมีการแจกโจทย์และจำลองสถานการณ์ให้ผู้เข้าร่วมโครงการคิดค้นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองออกมา ซึ่งหลังจากจบโครงการกลุ่มเป้าหมายก็ได้นำแบรนด์ทั้ง 6 มาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มต่อไป

อีกมุมของโครงการก็ได้พบว่าแบรนด์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีศักยภาพในการผลิตและขายสินค้าได้ด้วยตัวเอง แต่ก็มีบางกลุ่ม เช่น ‘แบรนด์แคปรือ’ ที่มีแนวโน้มในการต่อยอดทางการตลาดเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติมากที่สุด

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดงานสร้างสรรค์กลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสในชุมชน

มูลนิธิขวัญชุมชน

  • โทร: 081-7905876 , มือถือสำนักงาน 081-9764700
  • ผู้ประสานงาน: นางสุภาพร ทองสุข

เป้าประสงค์

  1. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาตนเอง พร้อมกับความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจการ ของแรงงานนอกระบบขาดโอกาสโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
  2. เชื่อมโยงและสนับสนุนให้กลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสเข้าถึงตลาดหรือกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพ
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้านในชุมชน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส