Banner
องค์การบริหารส่วนตำบลยางใหญ่
อุบลราชธานี

อบต.ยางใหญ่เปิดโครงการสอนการขายผ่านออนไลน์ ติดทักษะเทคโนโลยี เพิ่มช่องทางหารายได้ให้กับชุมชน

เทคโนโลยียุคใหม่อย่างสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากจะมีประโยชน์ทางสังคมในด้านที่ทำให้คนเรา ‘ใกล้’ กันมากขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจที่ทำให้พ่อค้า-แม่ค้ามีช่องทางการขายของเพิ่มขึ้น จนสามารถสร้างรายได้ไม่น้อยไปกว่าการเปิดหน้าร้านเลยทีเดียว แต่ในอีกมุมเทคโนโลยีก็กีดกันคนบางกลุ่มออกไปเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีองค์ความรู้ในการใช้งาน

ในอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ เพราะของมีชื่อในจังหวัดอย่าง ‘ทุเรียนภูเขาไฟ’ ได้ถูกพ่อค้าคนกลางมากว้านซื้อและจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้เกษตรกรในชุมชนที่ไม่มีทักษะการจัดการขายของออนไลน์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปอย่างน่าเสียดาย

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความพร้อมในการฝึกสอนทักษะด้านเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์อย่าง องค์การบริหารส่วนตำบลยางใหญ่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยมีการจัดตั้งโครงการ ‘พัฒนามัคคุเทศก์ชุมชนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยใช้สื่อออนไลน์เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสในพื้นที่’ เพื่อเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ของกลุ่มเกษตรกรและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน

โครงการได้วางพื้นที่ในการดำเนินงานให้ครอบแหล่งท่องเที่ยวและสวนเกษตรตลอดทั้งอำเภอน้ำยืน ซึ่งกินพื้นที่ถึง 120 หมู่บ้าน โดยทีมงานผู้จัดโครงการจะทำการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายโดยใช้เกณฑ์ที่จะคัดเอาเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่มีความต้องการจริงๆ เข้ามา ซึ่งประกอบด้วย แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน และเกษตรกรชาวสวนผลไม้ รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 100 คน

สมาชิกทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกสอนเรื่องการเปิดร้านขายบนพื้นที่ออนไลน์จากทีมของอบต.ยางใหญ่ ตั้งแต่ขั้นตอนการทำเพจ การหากลุ่มลูกค้า วิธีการขายบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ตลอดจนการจัดส่งสินค้า ซึ่งหลังจากที่สมาชิกได้สำเร็จแผนการพัฒนาในขั้นนี้แล้ว โครงการก็จะมาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม ในด้านการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของสมาชิกทุกคน เพื่อให้มีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

นอกเหนือไปจากการทำร้านออนไลน์เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าแล้ว โครงการนี้ยังมองเห็นถึงโอกาสในการสร้างมัคคุเทศก์ของชุมชนด้วย โดยจะมีการอบรมฝึกสอนการทำหน้าที่มัคคุเทศก์เบื้องต้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก ซึ่งแนวทางของแผนการพัฒนาก็จะมีการสอนเรื่องวิธีเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อทำฐานข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลชาวสวน การท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญ เป็นต้น มีการฝึกฝนให้มัคคุเทศก์สามารถแนะนำและให้ความรู้ผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ได้อย่างละเอียด ซึ่งมัคคุเทศน์เหล่านี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถเป็นอีกแรงในการช่วยขายผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนด้วย

โครงการพัฒนามัคคุเทศก์ชุมชนฯ นี้นับว่าป็นการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมความรู้ให้ชุมชนก้าวทันเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับผู้คนได้อีกมากมาย จนท้ายที่สุดแล้วหากผู้คนในชุมชนแข็งแรง ตัวชุมชนเองก็จะแข็งแกร่งขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้การที่เกษตรกรและผู้ด้อยโอกาสในสังคมสามารถมีพื้นที่ในการสร้างชีวิตของตัวเองและลุกขึ้นมาดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ก็จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมลดน้อยลงตามไปด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนามัคคุเทศก์ชุมชน ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยใช้สื่อออนไลน์เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสในพื้นที่

องค์การบริหารส่วนตำบลยางใหญ่

  • โทร: 085-4150717
  • ผู้ประสานงาน: นายปัญญา สะนัย

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. ลดความเลื่อมล้ำของชุมชนในการพัฒนารายได้ และเศรษฐกิจของพื้นที่ตนเองและพื้นที่ข้างเคียง
  2. ชุมชนชาวสวนและประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนคุณทรัพย์และด้อยโอกาสในพื้นที่ สามารถกำหนดราคาสินค้าและบริการ และมีช่องทางการขายที่หลากหลาย
  3. มีเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และทุนทางสังคม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ
  4. มีทักษะการติดต่อประสานงาน การทำงานเป็นหมู่คณะ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาดและการจัดจำหน่ายเทคนิควิธีการที่มีศักยภาพ เรียนรู้ตลอดชีวิต

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส