Banner
วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา
พะเยา

ม.พะเยานำต้นทุนในชุมชนแม่กา มาต่อยอดเป็นโครงการฝึกทักษะสร้างผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดออนไลน์

‘สมุนไพร’ ถือเป็นภูมิปัญญาด้านการรักษาและใช้ประโยชน์จากพืชพรรณของคนไทยมาช้านาน ซึ่งในปัจจุบันสมุนไพรได้แตกรูปแบบออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของอาหารเสริม หรือเครื่องอุปโภคที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

แต่การจะผลิตสินค้าแปรรูปจากสมุนไพรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายพื้นที่ในประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้ในกระบวนการผลิต และขาดความสร้างสรรค์ในการต่อยอด อย่างเช่นชุมชนตำบลแม่กา จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตสมุนไพรอย่าง ตะไคร้หอม ขิง ข่า ตะไคร้หยวก และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ จนเกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แต่ชาวบ้านในกลุ่มยังไม่สามารถต่อยอดสมุนไพรเหล่านี้ไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดมูลค่าได้ เนื่องจากขาดงบประมาณและความต่อเนื่องในการแปรรูปสินค้า

วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เล็งเห็นถึงต้นทุนของชุมชนแม่กานั่นคือความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก รวมไปถึงมีผู้รู้ที่สั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช้านาน ทำให้มหาวิทยาลัยได้จัดทำโครงการ ‘พัฒนาอาชีพน้ำดื่มสมุนไพร, โคมไฟไล่ยุง, เทียนหอมไล่ยุง สำหรับนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สังกัดตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา’ ขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้สมัยใหม่มาต่อยอดจากภูมิปัญญาดั่งเดิมให้มีมูลค่าและสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชน

โครงการจะดำเนินงานในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน โดยจะจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนด้อยโอกาส เช่น แรงงานนอกระบบ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 75 คน โดยโครงการจะทำการจัดอบรมใน 3 ทักษะวิชา คือ 1.การทำน้ำสมุนไพร 2.เทียนตะไคร้หอมไล่ยุง 3.โคมไฟตะไคร้หอมไล่ยุง โดยแต่ละวิชาจะมีการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาช่วยออกแบบการเรียนรู้และสอนอย่างละเอียดทุกขั้นตอน

ทุกวิชาที่โครงการม.พะเยาได้จัดทำ เกิดขึ้นจากการลงไปสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่และดึงเอาความต้องการของพวกเขามาจัดทำผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ เช่น น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ก็จะเป็นการตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่สนใจเรื่องสุขภาพและต้องการลดน้ำตาลหรือความเสี่ยงในโรคเบาหวาน ส่วนเทียนตะไคร้หอมไล่ยุง ก็มีทีี่มาจากปัญหาของชุมชนที่เป็นพื้นที่สวนยางและมีแหล่งน้ำ ทำให้ในฤดูฝนยุงในพื้นที่จะมีความชุกชุมเป็นพิเศษ นอกจากนี้เทียนตะไคร้หอมยังสามารถทำขายในพื้นที่ิออนไลน์ได้อีกด้วย ผลิตภัณฑ์สุดท้ายคือโคมไฟตะไคร้ไล่ยุง ก็มีที่มาคล้ายกับเทียนหอม แต่เป็นการบูรณาการเข้ากับงานฝีมืออย่างโคมไฟกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นร้านนวด สปา และร้านอาหาร

การจัดทำโครงการของมหาวิทยาลัยพะเยาครั้งนี้ นับว่าเป็นช่องทางในการฝึกอาชีพที่จะช่วยให้คนในพื้นที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้เดิมของตัวเองในเรื่องของสมุนไพร ให้กลายมาป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นและสร้างรายได้มากกว่าเดิม มากไปกว่านั้นผลิตภัณฑ์แต่ละรูปแบบที่โครงการจัดสอนก็ได้ผ่านการวางแผนเชิงการตลาดมาแล้วในระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีแนวทางสำหรับการ ‘เริ่มต้น’ ผลิตและจัดจำหน่ายต่อไป เพื่อที่พวกเขาจะสามารถสร้างเงินทุนและสร้างประสบการณ์จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองออกมาได้ในที่สุด

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพน้ำดื่มสมุนไพร, โคมไฟไล่ยุง, เทียนหอมไล่ยุง สำหรับนักศึกษาสังกัด ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา

  • โทร: 094-2897854
  • ผู้ประสานงาน: ดร.ลำไย สีหามาตย์

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. มีการจัดรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตะไคร้หอม
  2. มีทักษะการวางแผนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผ่านการตลาดที่หลากหลายรูปแบบ
  3. ผู้เข้ารับการอบรมร้อยละ 80 มีองค์ความรู้และทักษะการทำน้ำสมุนไพรและการทำโคมไฟตะไคร้ไล่ยุง การทำเทียนหอมไล่ยุง
  4. ผู้ผ่านการอบรมมีอาชีพสามารถสร้างรายได้จากการทำน้ำสมุนไพรและการทำโคมไฟตะไคร้ไล่ยุง การทำเทียนหอมไล่ยุง
  5. มีการสร้างภาคีเครือข่ายในกระจายสินค้ากับผู้ที่มีความรู้ทางด้านการตลาด
  6. ผู้ผ่านการอบรมสามารถพัฒนาช่องทางการตลาดได้ด้วยตนเอง
  7. การสร้างรายได้จากสมุนไพร

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส