Banner
สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข จังหวัดพังงา
พังงา

สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข กับการเสริมสร้างอาชีพทางเลือกให้กับชาวเล กลุ่มชาติพันธุ์ ‘มอแกน’ ในพื้นที่ริมชายฝั่งจังหวัดพังงา

หลายครั้งที่เราเคยได้ยินคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่แถบทะเลอันดามันทางภาคใต้ว่า ‘ชาวเล’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ด้วยความแตกต่างของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม กลุ่มชาวเลที่เราเรียกขานกัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชาติพันธุ์ ได้แก่ ชาวมอแกน ที่อาศัยอยู่บนเกาะในจังหวัดระยองและพังงา และมีบางส่วนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งแถบจังหวัดพังงาและภูเก็ต,และชาวอูรักลาโว้ย ที่อาศัยอยู่บนเกาะในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสตูล  

สำหรับชาวมอแกนในปัจจุบันส่วนใหญ่นิยมตั้งถิ่นฐานถาวรบริเวณชายฝั่ง และประกอบอาชีพการประมงดั้งเดิม ร่วมกับอาชีพทั่วไปในชุมชน โดยชาวมอแกนจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และยังปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมและวัฒนธรรมไม่ค่อยได้ เนื่องจากวิถีชีวิตของพวกเขา ขัดกับกฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ ในการใช้ทรัพยากรทางทะเล ทั้งยังมีปัญหาในเรื่องของสิทธิความเป็นคนไทย สิทธิของที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ซึ่งเป็นชนวนเหตุให้เกิดการต่อสู้กับอุปสรรคมากมาย เพียงเพื่อที่พวกเขาจะได้ดำรงชีวิตตามปกติ 

จากปัญหาที่กล่าวมา ทำให้สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุขเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน อาทิ สินค้าประมง แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น รวมไปถึงการพัฒนาด้านความมั่นคงทางอาหาร และการเป็นผู้ประกอบการด้านการขายสินค้าและบริการอย่างมีคุณค่าและมั่นคง ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาทักษะสู่อาชีพทางเลือกของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจังหวัดพังงา” จึงถือเกิดขึ้น

โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 100 คน จากชุมชนชาวมอแกนในพื้นที่จังหวัดพังงา 6 แห่ง ได้แก่ ชุมชนมอแกนบ้านท่าใหญ่ ชุมชนมอแกนบนไร่ ชุมชนมอแกนทับตะวัน ชุมชนมอแกนบ้านน้ำเค็ม ชุมชนมอแกนหินลาด และชุมชนมอแกนทับปลา ซึ่งคัดเลือกจากชาวมอแกนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาข้างต้น

ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายในโครงการฯ เป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้นให้ชาวมอแกนมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนผ่านการพัฒนาอย่างเป็นระบบจากวิทยากรและหลักสูตรที่คิดค้นและจัดทำโดยชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายมากมาย อาทิ มูลนิธิชุมชนไท พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดพังงา หอการค้าจังหวัดพังงา และสำนักงานจังหวัดพังงา ฯลฯ

โดยโครงการฯ เริ่มจากการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ ได้แก่ ปลูกผักเพื่อบริโภคในครัวเรือน การแปรรูปผลผลิตประมงเพื่อสร้างมูลค่าสินค้าารประมูลผลผลิตทางการเกษตรและการกระจายรายได้ การสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันในชุมชน การเป็นผู้ประกอบการ และการขายและช่องทางการขายในยุคปัจจุบัน ตามลำดับ โดยโครงการฯ มุ่งหวังอย่างยิ่งว่าจากบทเรียนต่างๆ ทั้งหมดนั้นจะสามารถช่วยพลิกฟื้นวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวมอแกนให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยแรงกายและแรงใจของพวกเขาเอง 

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ชาวมอแกนส่วนใหญ่เป็นคนที่รักพวกพ้อง อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เกี่ยงงานหนัก มีความรู้เกี่ยวกับทะเล การเดินเรือ การหาปลา และอยู่กับธรรมชาติมาเป็นร้อยๆ ปี คณะทำงานจึงเชื่อมั่นว่า ข้อดีเหล่านี้จะช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมด้านอาชีพและระบบที่สามารถสนับสนุนชุมชนชาวมอแกนให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นในสภาวะปกติหรือสภาวะวิกฤติก็ตาม

 

การพัฒนาทักษะอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายในโครงการฯ เป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้นให้ชาวมอแกนมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนผ่านการพัฒนาอย่างเป็นระบบจากวิทยากรและหลักสูตรที่คิดค้นและจัดทำโดยชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะสู่อาชีพทางเลือกของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจังหวัดพังงา

สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข จังหวัดพังงา

  • โทร: 080-534-9930
  • ผู้ประสานงาน: นางชาตรี มูลสาร

เป้าประสงค์

1.ชุมชนเกิดอาชีพทางเลือก มีการบริหารจัดการออกแบบที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนเอง
1.1 กลุ่มเป้าหมายมีทักษะการประกอบอาชีพ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในชุมชน ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกันดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
1.2 กลุ่มเป้าหมายได้รับการสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มในชุมชน

2.มีนวัตกรรมองค์ความรู้ชุมชน ในการสร้างระบบฐานทุนและเศรษฐกิจที่ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้

3. เกิดการหนุนเสริมจากภาคีเพื่อต่อยอดไปสู่เป้าหมายที่สามารถบรรลุผลในขั้นต่อไป

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส