Banner
สมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ: สททร. (Thai Responsible Tourism Association: TRTA) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา

การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

วิถีโหนด-นา-เล เป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมานานนับ 1,000 ปี ของชาวบ้านชุมชนท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยวิถีโหนด-นา-เล คือการหมุนเวียนทำงานใดงานหนึ่งหมุนเวียนไปตามแต่ละฤดูกาล กล่าวคือ ‘โหนด’ การขึ้นต้นตาล ‘นา’ คือ การทำนา และ ‘เล’ คือการทำประมง

โดยเริ่มจากวิถีโหนด (การขึ้นต้นตาลโตนด) ที่จะทำกันเมื่อชาวนาว่างเว้นจากการทำนาในช่วงกลางวัน โดยผู้ชายจะปีนต้นตาลโตนดเพื่อนำน้ำตาลโตนดมาทำเป็นน้ำตาลเชื่อม น้ำตาลแว่น และน้ำผึ้งเหลว (น้ำตาลปี๊บ) เพื่อใช้ในการประกอบอาหารต่างๆ ส่วนวิถีนา (การทำนา) ก็คือการทำนาทั่วไป และวิถีสุดท้ายก็คือวิถีเล (การออกทะเลหาปลา) ซึ่งเป็นการทำประมงพื้นบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยการใช้เรือขนาดเล็กหรือเรือหางยาว ในการหาสัตว์น้ำเพื่อเลี้ยงชีพ 

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าชาวชุมชนท่าหิน มีความอนุรักษ์นิยมและสามารถรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนได้อย่างเป็นอย่างดี จนสามารถผลักดันให้เกิดการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วิถีโหนด-นา-เล เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาต่างๆ และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนที่น่าสนใจอีกหนึ่งแห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง 

สมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (สททร.) จึงเลือกการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปมาเป็นเป้าหมาย ควบคู่กับเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพอย่างยั่งยืน ภายใต้ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการตลาดอาหารทะเลแปรรูป ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา” โดยมีศูนย์การเรียนรู้วิถีโหนด-นา-เลเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับกลุ่มประมงพื้นบ้านในชุมชน ทั้งด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารตามฤดูกาลจากพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และการบริการนักท่องเที่ยวด้านการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวเลในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เสริม และเพิ่มอัตราการจ้างงานขึ้นในชุมชน เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ

โดยคณะทำงานตั้งกลุ่มเป้าหมายของโครงการไว้ที่จำนวน 50 คน จากพื้นที่ตำบลท่าหิน โดยจะคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายโดยให้ความสำคัญในเรื่องของวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และการประกอบอาชีพที่ใช้ทรัพยากรเป็นฐาน ซึ่งการดำเนินงานของโครงการฯ นั้นมีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่จะสามารถพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนท่าหินขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล พัฒนาชุมชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รวมไปถึงหน่วยงานภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยว เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะต่างๆ  ตั้งแต่กระบวนการการผลิตสินค้า แผนการตลาด หรือการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นวิถีของชุมชน หรือการออกแบบกิจกรรมที่สามารถสร้างประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวผ่านภูมิปัญญาของชุมชน 

หากโครงการสามารถดำเนินไปได้ตามกรอบเกณฑ์ที่วางไว้อย่างราบรื่น ก็จะสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนท่าหิน รวมถึงช่วยพัฒนาการดำเนินงานในลักษณะกลุ่มอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมาย และก่อให้เกิดการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปของชุมชนสู่ภาคธุรกิจในจังหวัดสงขลา ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาที่มีฐานรากอยู่ที่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

วิถีโหนด-นา-เล เป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมานานนับ 1,000 ปี ของชาวบ้านชุมชนท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยวิถีโหนด-นา-เล คือการหมุนเวียนทำงานใดงานหนึ่งหมุนเวียนไปตามแต่ละฤดูกาล กล่าวคือ ‘โหนด’ การขึ้นต้นตาล ‘นา’ คือ การทำนา และ ‘เล’ คือการทำประมง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการตลาดอาหารทะเลแปรรูป ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

สมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ: สททร. (Thai Responsible Tourism Association: TRTA) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

  • โทร: 065-343-1515
  • ผู้ประสานงาน: นายวัชระ ชัยเขต

เป้าประสงค์

1.เป้าหมายด้านเศรษฐกิจ: การเพิ่มรายได้จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนท่าหิน รวมถึงการพัฒนาการดำเนินงานในลักษณะกลุ่มอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมาย และการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปของชุมชน สู่ภาคธุรกิจในจังหวัดสงขลา
2.เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม: การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
3. เป้าหมายด้านสังคม: การอนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญาในการแปรรูปอาหารจากทรัพยากรในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาของชุมชนท่าหิน และการสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนท่าหินผ่านกระบวนการทำงานร่วมกัน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส