Banner
กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย จังหวัดเชียงใหม่
เชียงใหม่

กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมใจอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนหลังวิกฤติโควิด-19

บ้านเชิงดอย จังหวัดเชียงใหม่ มีภูมิปัญญาการทอผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ผลิตด้วยกรรมวิธีธรรมชาติมายาวนานกว่า 50 ปี จนได้มีการพัฒนาต่อยอดโดยการนำหินสีจากดอยโมคคัลลานมาเป็นวัตถุดิบในการย้อมจนเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอจากหมู่บ้าน และด้วยความโดดเด่นนี้ทำให้ผ้าทอของบ้านเชิงดอยกลายมาเป็นที่เสาะหาของผู้บริโภค

ความต้องการผ้าทอที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุผลให้บ้านเชิงดอยทำการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ สร้างงาน สร้างรายได้แก่สมาชิกกลุ่ม เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น จนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยได้รับการยกย่องเป็นสินค้าโอท๊อป 5 ดาวจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอจอมทอง และรับรางวัลผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2558 และระดับดีมาก ประจำปี 2562  จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจกับชุมชนเป็นอย่างยิ่ง

การดำเนินงานของชุมชนที่ผ่านมา จึงได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ในการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนและโอกาสทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งชุมชนยังได้ทำการตลาดด้วยตนเองอีกหนึ่งหนทาง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 จึงทำให้การดำเนินงานหยุดชะงักเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน (มีนาคม  – พฤษภาคม พ.ศ. 2563) ทำให้สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจได้รับความเดือดร้อน เมื่อปริมาณการผลิตต้องลดลง ตามมาด้วยการลดวันทำงานของสมาชิก และการเลิกจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ทำให้สมาชิกกลุ่มที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ทำงานภาคเกษตร และผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือ ได้รับผลกระทบโดยตรง ขาดโอกาสเข้าหาแหล่งทุน เศรษฐกิจในครัวเรือนฝืดเคือง การว่างงานเพิ่มมากขึ้น ร้าวลึกไปถึงสภาพจิตใจและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดตั้งโครงการ ‘การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือการทอผ้าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19’ ขึ้นมา เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยการส่งเสริมพัฒนาทักษะอาชีพการทอผ้าเพื่อเพิ่มการจ้างงานในชุมชนและรวมถึงการยกระดับฝีมือเพื่อเพิ่มความหลายหลายของผลิตภัณฑ์ 

โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าวจำนวนทั้งหมด 60 คน สามารถแบ่งออกเป็นผู้ที่มีทักษะอยู่แล้วและผู้ที่ไม่มีทักษะ ดังนั้น ทางวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย จึงได้แบ่งการอบรมออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ การยกระดับฝีมือของกลุ่มผู้มีทักษะ และจัดฝึกอบรมทักษะฝีมือในกระบวนการทอผ้าให้กับกลุ่มใหม่ ก่อนทั้ง 2 กลุ่มจะเข้าร่วมฝึกอบรมและรับความรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และการจัดคู่ค้าทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเพิ่มมูลค้าของผลิตภัณฑ์และประชาสัมพันธ์สินค้าของชุมชนได้ตรงจุด เหมาะสม และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น  

จากที่กล่าวมานั้น หากโครงการ ‘การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือการทอผ้าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด19’ ดำเนินไปได้จนสำเร็จลุล่วง จะนำมาสู่การขยายกำลังการผลิต ขยายการสร้างงาน ให้เกิดคุณภาพของแรงงานรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเป็นโอกาสในการสร้างความก้าวหน้าของอาชีพการทอผ้า เกิดความภาคภูมิใจต่อตัวเองและชุมชน และนำมาสู่การอนุรักษ์รักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สืบทอดได้ต่อไป

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยได้รับการยกย่องเป็นสินค้าโอท๊อป 5 ดาวจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอจอมทอง และรับรางวัลผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2558 และระดับดีมาก ประจำปี 2562  จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือการทอผ้าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย จังหวัดเชียงใหม่

  • โทร: 081-0272688
  • ผู้ประสานงาน: น.ส.ทัญกานร์ ยานะโส

เป้าประสงค์

  1. ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานเดิมให้ดียิ่งขึ้น จำนวน 15 คน
  2. ได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานขั้นพื้นฐาน จำนวน 35 คน
  3. ได้พัฒนานักการตลาดออนไลน์ จำนวน 10 คน
  4. สมาชิกกลุ่มมีศักยภาพในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น (ขยายพื้นที่การปลูกฝ้ายและคราม ได้ลวดลายผ้าที่หลากหลาย) 
  5. ได้ช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้นจากการจับคู่ค้าทางธุรกิจ การทำการตลาดออนไลน์และออฟไลน์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส