Banner
มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (คณะวิศวกรรมศาสตร์) จังหวัด ขอนแก่น
ขอนแก่น

คณะวิศวะกรรมศาสตร์ ม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะด้วย IoT สู่การปลูกกระเทียมอินทรีย์โฉมใหม่

ปัจจุบันกระแสความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์กำลังเพิ่มมากขึ้นจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทางภาครัฐได้สนับสนุนด้วยการมีสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) เพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานในระดับสากล กระเทียมอีกหนึ่งพืชผักชนิดหนึ่งที่อยู่ในอาหารไทยทุกเมนู การรับประทานผักปลอดสารพิษที่ดีต่อสุขภาพจึงเป็นสำคัญอย่างยิ่ง

กลุ่มแปรรูปกระเทียมคำแก้ว อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย เป็นกลุ่มหนึ่งที่ทำการเกษตรในระบบอินทรีย์ และมีการแปรรูปกระเทียมเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเทียมมัดจุกอินทรีย์  กระเทียมหลุดขั้วอินทรีย์ และกระเทียมดองอินทรีย์ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีตลาดรองรับผลผลิตกระเทียมอินทรีย์ซึ่งสามารถการันตีรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร แต่ในการปลูกกระเทียมในระบบเกษตรอินทรีย์ยังประสบปัญหา เรื่องปริมาณและคุณภาพของกระเทียมไม่สม่ำเสมอ อันเกิดจากความไม่สามารถควบคุมผลผลิตได้อย่างเหมาะสม 

คณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้จัดทำโครงการ “พัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT (Internet-of-Thing) ในการปลูกกระเทียมอินทรีย์” โดยนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้ในการปลูกกระเทียมอินทรีย์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตกระเทียมที่มีคุณภาพ รายได้สูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง  

จากการทำงานร่วมกับกลุ่มแปรรูปกระเทียมคำแก้ว จึงพบว่าคุณภาพของดินและความชื้นจะส่งผลต่อคุณภาพของกระเทียม ทางโครงการจึงออกแบบเทคโนโลยี IOT มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบเซนเซอร์ เพื่อตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ตรวจปริมาณธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกระเทียม และมีการออกแบบระบบให้มีการส่งข้อมูลผ่านทางสมาร์ทโฟน ทำให้กลุ่มเกษตรกรสามารถปรับปรุงคุณภาพดินให้มีความเหมาะสมกับการปลูกกระเทียมได้อย่างรวดเร็ว

จากการศึกษาและพัฒนาร่วมกับกลุ่มผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์คำแก้ว ทำให้มีการออกแบบการอบรมทั้งหมด 6 หลักสูตรได้แก่ 1.วิเคราะห์ข้อมูลการผลิต บริบทชุมชน การตลาดและหลักการอินทรีย์ 2.ผู้ตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ระบบ PGS 3.ดินและการจัดการธาตุอาหารพืช 4.สำรวจนิเวศเกษตรและการจัดการศัตรูพืช 5.ความรู้ด้านเมล็ดพันธุ์ การเก็บเกี่ยว และการตลาด 6.มาตรฐานเกษตรอินทรีย์และการตรวจประเมินความเสี่ยงในแปลงเกษตรอินทรีย์

กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมการอบรมจะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติในการปรับปรุงดินในระบบเกษตรอินทรีย์ การใช้น้ำหมักชีวภาพ การปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักอินทรีย์โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการเกษตร รวมถึงด้านการตลาด ที่จะแนะนำช่องทางการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดอื่น

หากแผนปฎิบัติงานสำเร็จลุล่วง กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์ จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นผลผลิตหัวกระเทียมขนาดใหญ่มากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด และจะมีทักษะอาชีพด้านเทคโนโลยี สามารถพัฒนากระบวนการปลูกกระเทียมอินทรีย์ให้มีคุณภาพ และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้และสามารถนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับงานด้านอื่นๆ ได้อีกต่อไป 

หลังจากดำเนินงานโครงการสิ้นสุดลงทางคณะผู้ทำงานจะดำเนินการประสานงานกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดหนองคาย ถึงการต่อยอดการใช้งานระบบเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT ให้สามารถกำหนดรูปแบบวิธีการปลูกกระเทียมให้เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์อย่างรวดเร็วและง่ายดายขึ้น นอกจากนั้น คณะทำงานมีแนวทางในการประงานกับหน่วยงานด้านการเกษตรในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อขยายผลสู่การนำเทคโนโลยี IoT ไปช่วยในการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นในพื้นที่

กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมการอบรมจะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติในการปรับปรุงดินในระบบเกษตรอินทรีย์ การใช้น้ำหมักชีวภาพ การปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักอินทรีย์โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IOT (Internet-of-Thing) ในการปลูกกระเทียมอินทรีย์ กรณีศึกษากลุ่มผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์คำแก้ว จังหวัดหนองคาย

มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (คณะวิศวกรรมศาสตร์) จังหวัด ขอนแก่น

  • โทร: 06-4985-4505
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวมานนีย์ พาทยาชีวะ

เป้าประสงค์

1.ผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์ได้นำระบบเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT มาควบคุมคุณภาพของผลผลิต
2.
ผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์มีผลผลิตหัวกระเทียมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น
3.ผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์ขายกระเทียมได้ในราคาที่สูงขึ้น และ ปริมาณที่มากขึ้น
4.ปลูกกระเทียมอินทรีย์มีรายได้สูงกว่า 6,531 บาท/เดือน มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด
5.ผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์มีรายได้ที่ยั่งยืน และชุมชนในท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส