Banner
M&T ผ้ามัดย้อมบ้านโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร
สมุทรสาคร

กลุ่ม M&T ผ้ามัดย้อมบ้านโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร เรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม พัฒนาศักยภาพคน สู่การเป็นชุมชนเข้มแข็ง

ช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ติดอ่าวไทย มากขึ้น โรงงานเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ จากการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก เพราะเมื่อทะเลปนเปื้อน สัตว์น้ำนานาชนิดก็เจริญเติบโตไม่ได้ ทำให้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่คนในชุมชนตำบลโคกขามและตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาครถูกทำลาย คนในชุมชนไม่สามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างเคย

จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ชาวประมงจังหวัดสมุทรสาครต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อความอยู่รอด ด้วยการมองหาช่องทางประกอบอาชีพใหม่ ๆ ผ่านการศึกษา ค้นคว้า และทดลองนำทรัพยากรในชุมชนมาสร้างสรรค์เป็นผลงานขึ้น เพื่อค้นหาทักษะที่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชน เป็นการป้องกันไม่ให้คนในชุมชนย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะกระทบต่อความเข้มแข็งภาคครัวเรือนและชุมชนในอนาคต 

ในที่สุด จากการทดลองซ้ำหลายครั้ง แนวคิดการนำทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ส่งผลชาวบ้านในตำบลโคกขามและตำบลท่าฉลอมเกิดอาชีพการทำผ้ามัดย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ ทั้งยังสามารถต่อยอดกลายเป็นอาชีพให้คนในชุมชนหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ 

ส่งผลให้ชุมชนก่อตั้งกลุ่ม M&T ผ้ามัดย้อมบ้านโคกขาม ขึ้นมา หลังจากเล็งเห็นว่าการทำผ้ามัดย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ คือการนำอัตลักษณ์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนมาใช้อย่างชาญฉลาด และช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ดี อีกทั้งอาชีพดังกล่าว ยังช่วยให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้จุนเจือครอบครัว เกิดการจ้างงานในชุมชนอีกด้วย 

ด้วยเหตุนี้ กลุ่ม M&T ผ้ามัดย้อมบ้านโคกขาม จึงริเริ่ม “โครงการฝึกอบรมอาชีพการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ตำบลโคกขาม และตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร” เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่งเมื่อคนในชุมชนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคงแล้ว ชุมชนก็จะเข้มแข็ง สามารถรับมือกับความเปลี่ยนไปจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี 

โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการมีทั้งหมด 60 คน จากพื้นที่ชุมชนตำบลโคกขามและตำบลท่าฉลอม ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวประมงและทำนาเกลือมาก่อน นอกจากนั้นแล้ว ทักษะอาชีพดังกล่าวยังเหมาะสมกับสถานการณ์ที่รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะสามารถทำที่บ้านตนเองได้

เริ่มต้นนั้น ทางโครงการฯ ได้มีแนวทางพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิตผ้ามัดย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ คือการหยิบเอาทุนทางธรรมชาติในชุมชนมาเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของสินค้า ก่อนจะพัฒนาเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ นอกจากนั้นแล้ว โครงการฯ ยังได้ทดลองนำทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายมาผลิตเป็นสีย้อมเฉดใหม่ ๆ เช่น เปลือกไม้ชนิดต่าง ๆ ควบคู่กับการปลูกต้นไม้ชนิดนั้น ๆ ทดแทน เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญให้คงอยู่ต่อไป 

ยิ่งไปกว่านั้น คณะทำงานยังอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่ม และเป็นตัวกลางสำหรับการส่งงานให้กลุ่มเป้าหมายผลิตสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายต่อไป เช่น สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร หรือ บ้านย่าสปาเกลือซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวของชุมชนโดยตรงอีกด้วย 

ทั้งนี้ หากโครงการฯ ประสบความสำเร็จ กลุ่มเป้าหมายจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพด้วยตัวเอง สร้างรายได้อย่างยั่งยืน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนให้เข้มแข็ง ต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรม และสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมั่นคง

 

จากการทดลองซ้ำหลายครั้ง แนวคิดการนำทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ส่งผลชาวในตำบลโคกขามและตำบลท่าฉลอม เกิดอาชีพการทำผ้ามัดย้อมด้วยสีจากธรรมชาติทั้งยังสามารถต่อยอดกลายเป็นอาชีพให้คนในชุมชนหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ฝึกอบรมอาชีพการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ตำบลโคกขาม และตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร

M&T ผ้ามัดย้อมบ้านโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร

  • โทร: 062-9623921
  • ผู้ประสานงาน: นางกัญญา วงษ์สวรรค์

เป้าประสงค์

  1. ผู้เข้ารับการอบรมได้เพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานจริง และพัฒนาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการประกอบอาชีพ
  2. ผู้เข้ารับการอบรมมีทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพทำผ้ามัดย้อมได้
  3. ผู้เข้ารับการอบรมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดการเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส