Banner
มูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งเอเชีย
นครศรีธรรมราช

มูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งเอเชียชูกุ้งทะเล ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้ ยกระดับชุมชนผ่านอีคอมเมิร์ซ

กุ้งทะเล สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศชายฝั่ง ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้ใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่มากมายอีกทั้งยังมีการอนุรักษ์และช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นให้สมบูรณ์อยู่ โดยเฉพาะพื้นที่โซนน้ำเค็ม ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งซึ่งมีพื้นที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อย่างไรก็ตาม จากการที่ชุมชนมีการเพาะเลี้ยงกุ้งในที่เดิมมายาวนานหลายปี ทำให้ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องและเลิกประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้ง  ส่งผลให้เกิดนากุ้งร้างเป็นจำนวนมากใน 5 พื้นที่ตามที่กล่าวมา 

เกษตรกรบางส่วนจึงหันมาเลี้ยงปูทะเลในนากุ้งร้างแทน เพราะปูทะเลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีราคาสูง เลี้ยงได้ง่ายและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ทำให้เกษตรกรหลายคนใน 5 พื้นที่ตำบลเกาะเพชร ตำบลหน้าสตน ตำบลท่อซอม ตำบลเสือหึงปละ ตำบลขนาบนาก จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องละทิ้งความคุ้นเคยเก่าเปลี่ยนไปเลี้ยงปูทะเลแทน 

อย่างไรก็ดี แม้ปูทะเลจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนดีไม่แพ้กับกุ้งแต่เกษตรกรก็ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (covid-19) ที่ทำให้การส่งออกผลผลิตของพวกเขาเป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้และเศรษฐกิจภายในชุมชน 

จากปัญหาข้างต้น ชาวบ้านจึงได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งเอเชีย ที่เข้ามาช่วยพัฒนาองค์ความรู้ให้คนในชุมชน ทั้งยังเริ่มจัดทำธนาคารปูที่ตำบลเกาะเพชร  ถึงอย่างนั้น องค์ความรู้ที่ชาวบ้านได้รับมาก็ยังคงขาดการจัดระเบียบ กล่าวคือ ขาดการสังเคราะห์ข้อมูลและขาดการยกระดับการบริหารจัดการธนาคารปูมาเป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้ในการฟื้นฟูนากุ้งร้างโซนน้ำเค็มอยู่ดี 

กลายเป็นที่มาที่ไปที่มูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งเอเชียจัดตั้ง “โครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนเพื่อสังคม อีคอมเมอร์สและโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนโซนน้ำเค็มในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง” ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการความรู้ของชุมชนในการฟื้นฟูนากุ้งร้างที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในพื้นที่ รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกร และที่สำคัญคือโครงการฯ จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมอร์สและโลจิสติกส์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในการต่อยอดธุรกิจชุมชน 

เพราะการที่ชาวบ้านมีเครื่องมือและความรู้ที่เข้ามาช่วยในการขายผลิตภัณฑ์ทะเลของชุมชนนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกล่าวคือ ชาวบ้านสามารถส่งออกปูทะเลโดยบริการขนส่งที่รักษาคุณภาพความสดของอาหารทะเลไว้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้ทานอาหารทะเลสดใหม่ถึงบ้านทันที เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของประเทศก็เข้าถึงอาหารทะเลได้ 

หากโครงการฯ สามารถเดินทางไปถึงปลายฝันได้สำเร็จ อาจกล่าวได้ว่า โครงการฯ ครั้งนี้เป็นการช่วยยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับวิทยาการสมัยใหม่ ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงรายได้ของชาวชุมชนพื้นที่ปากพนังได้เป็นอย่างดี และสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวที่ดีของคนในพื้นที่ที่จะรับเทคโนโลยีและสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้กับธุรกิจเดิม สู่การเป็นชุมชนเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับทุกความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และไกลต่อจากนี้ไป

 

นับว่าเป็นการยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับวิทยาการสมัยใหม่ ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงรายได้ของชาวชุมชนพื้นที่ปากพนังได้เป็นอย่างดี และสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวที่ดีของคนในพื้นที่ที่จะรับเทคโนโลยีและสิ่งใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้กับธุรกิจเดิม

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนเพื่อสังคม อีคอมเมอร์สและโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนโซนน้ำเค็มในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

มูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งเอเชีย

  • โทร: 08 9001 1999
  • ผู้ประสานงาน: นายภาณุ อุทัยรัตน์

เป้าประสงค์

นำองค์ความรู้ที่ต้องการจัดการจากงานวิจัยเพื่อนำไปขยายผล ได้แก่ การถอดบทเรียนศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการอาชีพของชุมชน เช่น การฟื้นฟูบ่อกุ้งร้างเพื่อการเลี้ยงปูทะเลและสัตว์น้ำ การแปรรูปสินค้าชุมชนเพื่อการดำเนินการในเชิงพานิชย์ องค์ความรู้การเลี้ยงปูทะเลในบ่อกุ้งร้างที่ได้รับฟื้นฟู การเพาะพันธุ์ลูกปูและการจัดทำธนาคารปู รวมทั้งการถอดบทเรียนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูบ่อกุ้งร้าง เพื่อหารูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยจะรวบรวมความรู้ โดยใช้วิธีการวิจัยแบบมีส่วนร่วม การสังเกต และการทำ focus group กับกลุ่มเกษตร จำนวน 88 ราย ที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูนากุ้งร้างมาทำเป็นบ่อเพาะเลี้ยงปูทะเล และถอดบทเรียนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนหรือองค์กรชุมชนอื่น และแนวทางการยกระดับองค์กรชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส