Banner
ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง จังหวัด กาญจนบุรี
กาญจนบุรี

ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง เปิดโครงการเกษตรผสมผสาน ช่วยสร้างวิถีชีวิตอยู่ร่วมกันกับป่าให้เกิดขึ้นในชุมชน

ชุมชนตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเป็นป่าที่องค์กรยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และมีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษทางวัฒนธรรม เพราะประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีลักษณะเฉพาะในการดำเนินชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรม แม้ว่าพื้นที่ของชุมชนจะได้รับการยกย่องว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ระดับโลก แต่ขณะเดียวกันความเป็นพื้นที่พิเศษเช่นนี้ ก็ทำให้เงื่อนไขบางอย่างด้านการพัฒนาเกิดขึ้นได้ยาก

ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับการเกษตร จึงมักประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรที่เน้นปลูกพืชเพื่อการค้าขายเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยตรงไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่วิถีชีวิตแบบทุนนิยม เน้นการใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิต หันมาปลูกพืชไม่หลากหลายกระทบกับวิถีชีวิตเดิมที่มีระบบการปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งหากชาวชุมชนยังดำเนินการเพาะปลูกเช่นนี้ พืชท้องถิ่นที่มีคุณค่าอย่างพริกกะเหรี่ยง ข้าว ยาสูบ เผือก เครื่องเทศ และรายได้ในพื้นที่ก็จะยิ่งลดลงในเร็ววัน

เมื่อคนในชุมชุนเริ่มเห็นปัญหาจึงได้มีการรวมตัวกันก่อตั้งศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) ภายใต้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ให้ชุมชนสามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเองได้ ศูนย์การเรียนรู้ฯ จึงจัดให้มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับคนพื้นที่ตั้งแต่รุ่นเยาวชนให้มีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกันกับป่าได้ เน้นหลักสูตรพัฒนาสิ่งที่ชุมชนมี เช่น ทำไร่หมุนเวียน ทอผ้ากะเหรี่ยง ภาษากะเหรี่ยง ประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพัฒนาอาชีพเพื่อให้คนในชุมชนรู้ถึงรากถึงแก่นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่พวกเขามีอยู่ เช่น การทำไร่ข้าวจากไร่หมุนเวียน การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพริกกะเหรี่ยงเพื่อเพิ่มมูลค่า 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการสอนจากศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนยังไม่เพียงพอต่อการสร้างทักษะอาชีพ ในฐานะที่เป็นหน่วยพัฒนาอาชีพของชุมชนด้วยศูนย์การเรียนรู้ชุมชนจึงได้จัดตั้ง ‘โครงการส่งเสริมเรียนรู้อาชีพเกษตรผสมผสานสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่’ ขึ้นมาเพื่อสร้างกลไกอาชีพภายใต้การมีชุมชนเป็นฐาน คงวิถีชีวิตกะเหรี่ยงเกื้อกูลป่าและมีรายได้ที่ยังยืนพอเพียงในชุมชน โดยทางโครงการได้รวบรวมกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจจนได้กลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 60 คน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเยาวชนในศูนย์การเรียนฯ ที่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะออกไปเรียนนอกหมู่บ้าน

โดยหลักการสำคัญของโครงการฯ คือการส่งเสริมสร้างรายได้ของแต่ละครัวเรือนในชุมชนให้เพิ่มขึ้นและอนุรักษ์ป่าไม้ ดังนั้น หน่วยพัฒนาอาชีพจึงเริ่มจากการให้ความรู้ด้านการเกษตรที่ไม่ทำลายป่า จากนั้นให้เกษตรกรสามารถแปรรูปผลผลิตเพื่อนำมาหารายได้เพิ่มเติม เรียนรู้การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้น่าซื้อ หาช่องทางการขายที่หลากหลาย ตลอดจนมีระบบบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อประเมินศักยภาพของครัวเรือน เช่น การทำน้ำพริกกะเหรี่ยงให้ได้คุณภาพ มีแพคเก็จจิ้งที่สวยงาม เรียนรู้ทักษะอาชีพเสริม เช่น การเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด และเพาะเห็ด เป็นต้น  

สำหรับจุดเด่นของโครงการนี้ คือการที่คนในชุมชนเห็นถึงปัญหา โดยศูนย์เรียนรู้ฯ ของชุมชนเอง ซึ่งเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนอย่างชัดเจน รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ทั้งยังส่งเสริมให้เหล่าเยาวชนมีอาชีพที่ไม่ทำร้ายป่าและรักษาทรัพยากรในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

หากโครงการนี้ลุล่วงอย่างน้อยที่สุดสิ่งที่เกิดขึ้นคือการที่นักเรียนในศูนย์จะได้ศึกษาเล่าเรียนตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันก็ยังสร้างรายได้ระหว่างเรียนผ่านทักษะต่างๆ ที่โครงการฝึกฝนให้ได้ด้วย มากไปกว่านั้นในอนาคตโครงการยังมองไปถึงการเป็นแหล่งสร้างผลิตภัณฑ์จากผลผลิตท้องถิ่น ที่ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนไม่ว่าจะเป็นผู้ว่างงาน กลุ่มแม่บ้าน หรือเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา สามารถเข้ามาเรียนรู้และสร้างทักษะที่พึ่งพาตัวเองได้อย่างสุจริต

หลักการสำคัญของโครงการ คือการส่งเสริมสร้างรายได้ของแต่ละครัวเรือนในชุมชนให้เพิ่มขึ้นและอนุรักษ์ป่าไม้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ส่งเสริมเรียนรู้อาชีพเกษตรผสมผสานสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่

ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง จังหวัด กาญจนบุรี

  • โทร: 080-613 3954
  • ผู้ประสานงาน: นายสมพร เมาศรี

เป้าประสงค์

1.เกิดบุคลกราที่มีทักษะในการแปรรูปจำนวน 60 คน
2.มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์น้ำพริกกะเหรี่ยง ไข่เป็ด ปลาดุก เห็ด
3.ผลิตไข่เป็ดประมาณ 200-250 ฟอง ต่อวัน เพื่อการบริโภค และขาย เมื่อเหลือจากขายนำมาแปรรูปเป็นไข่เค็ม
4.มีเห็ดประมาณ 20-50 กิโลกรัม ต่อวัน เพื่อการบริโภค และขาย เมื่อเหลือจากขายนำมาเป็นเห็ดแห้ง
5.มีปลาดุกในการบริโภค และเอาไปเป็นวัตถุดิบทำน้ำพริก
6.มีน้ำพริกกะเหรี่ยงออกไปจำหน่ายสู่ท้องตลาด

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส