เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 2566 ไม่ใช่แค่ถ้วนหน้า แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 2566 ไม่ใช่แค่ถ้วนหน้า แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในปี 2558 คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติ ‘โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด’ เพื่อเป็นสวัสดิการพื้นฐานแก่เด็กเล็ก (อายุ 0-6 ปี) เฉพาะเด็กในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน เงื่อนไขคือครอบครัวที่ได้รับสิทธิ์ต้องมีสัญชาติไทย และต้องอุปการะเลี้ยงดูและอาศัยอยู่กับเด็ก

เป้าหมายสำคัญของโครงการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก คือการสร้างความเท่าเทียมและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของเด็กวัย 0-6 ปี อย่างถ้วนหน้า เพราะเป็นช่วงวัยที่เด็กมีพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาอย่างมีนัยสำคัญ เงินอุดหนุนเด็กเล็กยังเป็นหลักประกันสิทธิแก่เด็ก เพื่อให้เขาอยู่รอดและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และมีคุณภาพในอนาคต

รัฐจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กเล็กเป็นรายหัว กล่าวคือ ในปีงบประมาณ 2565 ครัวเรือนที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับเงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาทต่อเด็ก 1 คน (จ่ายตามรอบปีงบประมาณ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกันยายนของปีถัดไป) 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นนโยบายที่สำคัญต่อการวางรากฐานชีวิตของเด็กและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ แต่เงินอุดหนุนเด็กเล็กยังกระจายไม่ถึงมือของเด็กทุกคนอย่างที่ควรจะเป็น แม้ครอบครัวจะมีฐานะยากจนตามเงื่อนไขของรัฐ

1 ใน 3 ของเด็กยากจนเข้าไม่ถึงสวัสดิการ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ Economic and Policy Research Institute (EPRI) ประเมินผลกระทบของนโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พบว่า ในปี 2560 มีเด็กในครัวเรือนยากจน หรือครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน ‘ตกหล่น’ ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการนี้ถึงร้อยละ 30 นั่นหมายความว่า 1 ใน 3 ของเด็กยากจนยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการที่เขาพึงได้รับ (ปี 2560 ยังมีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนจาก 400 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 600 บาทต่อคนต่อเดือน)

การขาดเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กในครอบครัวยากจน ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการตามช่วงวัยอย่างรุนแรง อ้างอิงจากรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 ดัชนีพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอายุ 3-4 ปี ทั่วประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 92.9 โดยวัดจากทักษะการเรียนรู้ ทักษะการอ่านออกและรู้จักตัวเลข ทักษะทางสังคมและอารมณ์ และทักษะทางกายภาพ ในขณะที่ดัชนีพัฒนาการของเด็กวัยเดียวกันในครอบครัวยากจน อยู่ที่ร้อยละ 89.8 เท่านั้น และพัฒนาการที่มีค่าดัชนีน้อยที่สุดคือ การอ่านออกและรู้จักตัวเลข และทักษะทางสังคมและอารมณ์

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจนในเมืองหลวง (urban poor) กลุ่มเด็กที่มารดามีระดับการศึกษาต่ำ และกลุ่มเด็กที่หัวหน้าครอบครัวไม่พูดภาษาไทย เด็กเล็กในครอบครัวเหล่านี้มีแนวโน้มจะเผชิญภาวะทุพโภชนาการมากกว่าเด็กในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางและฐานะร่ำรวย อีกทั้งยังเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาทักษะได้น้อยกว่าเด็กที่พ่อแม่มีระดับการศึกษาสูง

ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเด็ก เพราะการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย ซึ่งอาจมีมูลค่าเป็นเงิน เวลา หรือความพร้อมของครอบครัว เพื่อการันตีความอยู่รอดและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ

จำเป็นต้องใช้  30,000 ได้รับ 14,000

ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ส่งผลให้เส้นทางชีวิตในอนาคตของกลุ่มเด็กเปราะบางระส่ำระสายกว่าเดิม พวกเขาอาจต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา ตลอดจนการหาเลี้ยงชีพ และยังอาจเกิดเป็นความจนซ้ำซากที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

สภาพการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนงบประมาณและเงื่อนไขของโครงการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอย่างต่อเนื่อง ข้อเสนอสำคัญมาจากคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีมติให้รัฐบาลจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า ครอบคลุมเด็ก 4.2 ล้านคนทั่วประเทศ โดยใช้งบประมาณ 30,534 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ งบประมาณที่จัดสรรให้นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กยังถูกตั้งไว้ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท (พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565) และ 16,321 ล้านบาท (ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566) ตามลำดับ ซึ่งเงินอุดหนุนในปีงบประมาณ 2566 ระบุกลุ่มเป้าหมายไว้จำนวน 2.58 ล้านคน หรือเพียงครึ่งหนึ่งของเด็กทั้งประเทศเท่านั้น

ข้อเสนอจาก TDRI คือให้เพิ่มเงินอุดหนุนเป็น 800-1,500 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยลดช่องว่างรายจ่ายที่แต่ละครัวเรือนใช้ดูแลเด็กเล็ก โดยไม่จำเป็นต้องครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมด และเสนอให้ปรับอัตราเงินอุดหนุนตามระดับเงินเฟ้อโดยอัตโนมัติ เพื่อรักษาความสามารถในการซื้อของเงินอุดหนุนที่ครอบครัวเด็กยากจนได้รับ

สวัสดิการแบบมุ่งเป้า เด็กยากจนพิเศษต้องอุดหนุนเป็นพิเศษ

ในมุมของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) การเรียกร้องให้กระจายเงินอุดหนุนนี้สู่เด็กทุกคนอย่างถ้วนหน้า (universal) อาจยังไม่เพียงพอ ที่ผ่านมา กสศ. พบว่า การจัดสรรสวัสดิการดังกล่าวยังมีช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ ทำให้กลุ่มเด็กเปราะบางไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะเด็กยากจน เด็กพิการ และเด็กในพื้นที่ทุรกันดานและชายแดน เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่อาจมีคุณภาพชีวิตทัดเทียมกับเด็กทั่วไปได้ จากอุปสรรคทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของครอบครัว

เมื่อเป็นเช่นนั้น การออกแบบนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ซึ่งเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน จึงต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กทุกกลุ่ม โดย กสศ. ออกแบบข้อเสนอให้จัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (targeting) หรือการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขแก่เด็กยากจนมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของกลุ่มเด็กเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กยากจนและยากจนพิเศษ

ข้อเสนอของ กสศ. ต่อรัฐบาล สำหรับนโยบายแบบมุ่งเป้าสำหรับเด็กยากจนและยากจนพิเศษ จะเริ่มจากการเติมสวัสดิการพื้นฐานเพื่อการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพผ่านมาตรการรัฐ ให้เด็กกลุ่มนี้ได้ยืนอยู่บนบันไดสวัสดิการขั้นเดียวกับเด็กกลุ่มอื่นๆ ได้แก่

1) จัดระบบการให้ความรู้และการอบรมแก่พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก และการให้คำปรึกษารายครอบครัว เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสมัครและเบิกจ่ายเงิน สำหรับครอบครัวที่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยพิการ และเบี้ยช่วยเหลืออื่นๆ (เช่น เงินอุดหนุนเด็กไร้ที่พึ่ง เด็กกำพร้า เป็นต้น) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพ่อแม่และครอบครัวผู้มีรายได้น้อย จะมีโอกาสได้รับความรู้ ทัศนคติ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้อง

2) แจกหนังสือนิทานแก่เด็กและครอบครัวที่ได้รับเงินอุดหนุนและเบี้ยช่วยเหลือทุกคน พร้อมให้ความรู้และคำอธิบายถึงแนวทางการใช้นิทานเป็นเครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก

3) มีกระบวนการติดตามและประเมินผลการเลี้ยงดูเด็ก ให้คำปรึกษารายครอบครัว เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์และปัญหาของแต่ละครอบครัว และให้การช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ กสศ. ยังเห็นด้วยเรื่องเพิ่มงบประมาณสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดอย่างถ้วนหน้า โดยต้องเร่งพิจารณาปรับเงื่อนไขเกณฑ์การคัดเลือกให้ครอบคลุมกลุ่มเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนและเกือบยากจน เพื่อไม่ให้เด็กกลุ่มนี้หลุดรอดและร่วงหล่นจากความช่วยเหลือของรัฐ

งานวิจัยของ กสศ. เห็นว่า แนวทางการจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้าจะสามารถอุดช่องโหว่เด็กยากจนตกหล่น และนำไปสู่การจัดสวัสดิการและเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเด็กยากจนสามารถยืนอยู่บนบันไดขั้นเดียวกับเด็กกลุ่มอื่นๆ ได้ เด็กทุกคนก็จะพัฒนาสู่บันไดขั้นต่อไปอย่างทัดเทียมกัน

อ้างอิง

ศูนย์ข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

รายงานโครงการติดตามประเมินผลช่วงครึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

เปิด (ร่าง) งบฯ ปี 66 ด้านสวัสดิการสังคม ช่วยคนไทยทุกวัย – ผู้ด้อยโอกาส – สวัสดิการรักษาพยาบาล

สวัสดิการเด็กเล็ก ทำไมต้องถ้วนหน้า

เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า สวัสดิการพื้นฐานที่จะรองรับเด็กไว้ ไม่ให้มีใครต้องร่วงหล่น

รายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562