สลัดความกลัวเพื่อฝัน ‘สิทธา อะมูล’ กล้าออกไปพิสูจน์ศักยภาพตนเอง

สลัดความกลัวเพื่อฝัน ‘สิทธา อะมูล’ กล้าออกไปพิสูจน์ศักยภาพตนเอง

ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 ร่วมกับมูลนิธิยูนิเซฟ พบว่ามีบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเพียง 1 ใน 3 ที่ได้เข้ารับการศึกษา ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษามากที่สุด ส่วนบุคคลที่มีความต้องการพิเศษในวัยทำงาน ช่วงอายุ 18-59 ปี ไม่มีงานทำถึงร้อยละ 59 

ตัวเลขที่ทำให้เห็นว่ายังมีพวกเขาอีกกลุ่มใหญ่ที่รอวันพิสูจน์ศักยภาพของตน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้พวกเขาเข้าถึงด้านการศึกษา การพัฒนาฝีมืออาชีพ และการเข้าถึงตลาดแรงงานไม่ต่างจากใครทั่วไป

“ต้องกล้าออกไปพิสูจน์ศักยภาพที่เรามี เพราะถ้ารอแต่โอกาส บางทีมันไม่มา”

นั่นคือถ้อยคำที่ ‘น้องเชาว์’ สิทธา อะมูล บอกกับเรา ด้วยความที่ไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว ทำให้ ‘‘น้องเชาว์’’ พยายามก้าวเข้าหาโอกาสอยู่เสมอ น้องเล่าให้เราฟังว่า น้องและครอบครัว ประกอบด้วย พ่อแม่ และน้องสาวอีก 1 คน เกิดและเติบโตอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะพี่ชายคนโต น้องจึงอยากช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ให้ได้มากที่สุด

“หลังจากที่ผมเรียนจบชั้น ม.3 ผมก็พยายามหาข้อมูลดูว่ามีที่ไหนที่ผมสามารถมาเรียนต่อได้ และเหมาะสมกับผมที่ในขณะนั้นก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายของตัวเองได้สะดวกนัก” น้องบอกกับเราด้วยน้ำเสียงสบายๆ  “พอผมเจอข้อมูลผมก็เอามาคุยกับพ่อกับแม่ บอกท่านว่าผมอยากเรียนต่อนะ ท่านทั้งสองก็เห็นด้วย บอกว่าผมก็โตพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้วถ้ามั่นใจและอยากเรียนจริงๆ ท่านก็ไม่ว่าอะไร 

คือตอนนั้นที่เรียนที่ผมดูไว้อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก็ไกลจากบ้านผมมากเลย ถ้ามาเรียนคือก็ห่างจากบ้านไกลพอสมควร พ่อแม่ของผมเป็นเกษตรกร ไม่ได้มีฐานะอะไรแต่พวกท่านก็สนับสนุนนะครับ” 

‘‘น้องเชาว์’’ ยังเล่าให้เราฟังต่อว่า “พ่อพาผมนั่งรถจากแม่ฮ่องสอนเพื่อมาหาโรงเรียนเพื่อเรียนต่อที่เชียงใหม่ครับ มากัน 2 คน แต่ด้วยตอนนั้นที่มามันเป็นช่วงกลางปีการศึกษาไปแล้วทำให้เราต้องรอไปก่อนจนกว่าจะเริ่มปีการศึกษาใหม่ ตอนนั้นพ่อจึงพาผมกลับบ้านไปก่อน และใช้เวลาที่เหลือเตรียมตัวเพื่อกลับมาเรียนที่ต่อในระดับชั้น ปวช.ครับ”

ทั้งตัว ‘‘น้องเชาว์’’ และน้องสาววัย 19 ปี เป็นผู้ที่มีความต้องการพิเศษด้วยกันทั้งคู่ ทั้งสองคนมีปัญหาทางการเคลื่อนไหวร่างกาย “ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ตอนช่วงสมัยประถมผมก็ยังเดินเองได้อยู่นะครับ ถึงแม้จะไม่ได้แข็งแรงมาก จนช่วง ม.2 ม.3 เพื่อนๆ ต้องเข้ามาช่วยประคองพาผมเดินครับ แล้วการเคลื่อนไหวก็ยากขึ้นเรื่อยๆ นั่นจึงทำให้ผมหาข้อมูลและได้มาเรียนต่อที่โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ครับ”

นักกีฬาวีลแชร์รักบี้ บทเริ่มต้นพิสูจน์ตัวตน

ความพยายามในการพิสูจน์ศักยภาพตัวเองของ ‘‘น้องเชาว์’’ ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ตัว ‘‘น้องเชาว์’’ เคยติดต่อไปสอบถามที่ชมรมฯกีฬาคนพิการเชียงใหม่ ‘‘น้องเชาว์’’ บอกว่าในตอนนั้นน้องนั่งหาข้อมูลสิ่งที่ตัวเองจะสามารถทำได้จนเจอข้อมูลว่าผู้ที่มีความต้องการพิเศษนั้นก็สามารถที่จะเล่นกีฬาได้เช่นกัน 

“ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่เคยเล่นกีฬามาก่อน แต่ก็อยากลองดู ตอนแรกที่ไปพูดคุยผมสนใจอยากเล่นกีฬายกน้ำหนักครับ แต่ตอนไปเขาแจ้งว่ายังไม่มีการคัดตัวในตอนนี้ แต่ถ้ามีชนิดกีฬาที่เหมาะสมกับผม เขาจะติดต่อมาอีกที และสุดท้ายผมได้มีโอกาส ได้เข้าไปเก็บตัวคัดเลือกนักกีฬาวีลแชร์รักบี้ครับ” 

นี่คืออีกหนึ่งโอกาสที่น้องเลือกวิ่งเข้าหาเพื่อลองวัดศักยภาพตัวเอง “ผมไปเก็บตัวอยู่ 3 เดือน ในระหว่างการฝึกทำให้ผมรู้ว่าเส้นทางนี้อาจจะยังไม่เหมาะสมกับผมเท่าไร” น้องเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ 

“คือในระหว่างฝึกมันค่อนข้างมีความกดดันสูงมาก ผมรู้สึกว่าผมไม่เหมาะกับมันเท่าไร ซึ่งผมเป็นคนที่คิดมากอยู่แล้ว พอคิดมากก็จะเอามากดดันตัวเอง ยิ่งมีความกดดันรอบๆ ข้างมาก ผมก็จะยิ่งกดดันตัวเองมากขึ้นไปอีก ดังนั้นผมจึงหยุด ไม่ได้ไปต่อกับทางเส้นนี้เพราะผมไม่อยากกดดันตัวเองตลอดเวลาครับ”

ทุนสายอาชีพชั้นสูง – ทุนชีวิตในก้าวต่อไป

ถึงแม้ว่าน้องจะหยุดเส้นทางของการเป็นนักกีฬาลง แต่น้องก็ยังคงพยายามพิสูจน์ศักยภาพของตัวเองในเส้นทางอื่นๆ “ตอนนี้ผมก็เรียน ปวส.อยู่ชั้นปีที่ 2 แล้วครับ สาขาที่เรียนก็เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล  ที่วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ที่ได้เรียนต่อที่นี่ก็เป็นเพราะได้รับทุนจาก กสศ. ในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษครับ การได้ทุนสนับสนุนครั้งนี้ก็คือไม่ใช่แค่ให้โอกาสกับผมนะ แต่มันส่งไปถึงครอบครัวผมด้วย 

บางเดือนผมเหลือค่าใช้จ่ายผมก็แบ่งให้ที่บ้านได้อีกด้วย จริงๆอาชีพที่ผมอยากทำก็คือรับราชการนะครับ ทุนนี้ก็เลยช่วยให้ผมก้าวตามฝันได้ไกลขึ้น และผมก็อยากให้มีทุนแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ให้โอกาสกับคนอื่นๆ กับรุ่นน้องผมต่อไปเรื่อยๆครับ 

การได้มาเรียนแบบนี้ก็เหมือนฝึกให้เราได้ใช้ชีวิต ได้ฝึกความเป็นผู้ใหญ่ เพราะเราก็ต้องมีความรับผิดชอบ มีภาระนะเราต้องทำงานส่งอาจารย์นะ ดังนั้นมันเป็นโอกาสที่ดีมากๆครับ” โดย ‘‘น้องเชาว์’’ คือหนึ่งในผู้ที่ ได้รับทุน ในโครงการฯ จาก กสศ. รุ่นแรกของวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ปัจจุบันน้องได้สถานที่ทำงานแล้วถึงแม้ว่าจะยังเรียนไม่จบ แต่ที่นี่ไม่ใช่ที่ทำงานแรกสำหรับน้อง

พร้อมเรียนรู้ เพื่อพิสูจน์ว่าเราไม่ด้อยกว่าใคร

“ก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่นี่ผมก็ทำที่อื่นมาก่อนครับ ตอนหางานก็ไม่ได้สมัครแค่ที่เดียว พยายามเปิดหาดูในอินเตอร์เน็ต เข้าไปที่สำนักจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ว่ามีที่ไหนรับสมัครตรงตามคุณสมบัติผมก็จะไปสมัคร แบบ 5-6 ที่เราก็ติดต่อเข้าไปหมด แบบโทรสมัครตอนเช้า บ่ายเข้าไปสัมภาษณ์กับเขาเลย แสดงให้เขาเห็นว่าเราตั้งใจนะ มีความพร้อมนะ ที่ไหนได้ก่อนเราก็เข้าตรงนั้นก่อน ผมอยากทำงานเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายทางบ้านครับ”

ตลอดเวลาการพูดคุยกับ ‘‘น้องเชาว์’’ นั้นถึงแม้น้องจะบอกกับเราว่าน้องเป็นคนคิดมาก แต่เราก็รู้สึกได้ด้วยว่าน้องก็เป็นคนคิดบวกมากเช่นกัน น้องใช้พลังบวกที่มีในตัวผลักดันให้ตัวเองออกมาแสดงศักยภาพให้คนอื่นได้เห็น และน้องฝากเรื่องนี้ทิ้งท้ายกับเรา 

“อยากฝากบอกสถานประกอบการด้วยนะครับ ยังมีคนพิการอีกมากที่มีศักยภาพและก็อยากได้รับโอกาสในการทำงานอีกจำนวนเยอะมากเลยครับ และผมก็อยากให้คนที่กลัว ที่ไม่กล้าออกไปไหน ไม่กล้าเผชิญหน้ากับคนนอกบ้านเพียงเพราะแค่เราแตกต่างจากคนอื่น อาจจะรู้สึกว่าตัวเองพิการแล้วทำอะไรไม่ได้ ผมเองก็เคยเป็นนะ เคยกลัวเหมือนกัน” กลัวสายตาที่คนอื่นๆมองเรามาจะมองว่าเราเป็นภาระหรือเปล่า ถ้ารับเราเข้าทำงานจะไปสร้างภาระให้เขามากกว่าหรือเปล่า แต่นั่นแหละครับเรายิ่งต้องแสดงศักยภาพของเราให้เขาได้เห็น ว่าเราก็ทำได้นะ เรียนรู้ได้ ทำหลายๆอย่างได้ไม่ด้อยไปกว่าคนอื่นๆ เลย”

โจทย์ของประเทศเพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

จากกฎหมายคุ้มครองแรงงานคนพิการ ที่ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 33,34 และ 35 ที่กำหนดให้สถานประกอบการต้องรับพวกเขาเข้าทำงาน หรือเลือกสนับเงินในกองทุนเพื่อส่งเสริมอาชีพ

แม้กฎหมายนี้จะช่วยต่อเติมศักยภาพให้ผู้ที่มีความต้องการพิเศษสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดไปได้ แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้มีตำแหน่งงานหายไป 15-20% ทำให้การแก้ปัญหาการจ้างงานคนพิการไม่ใช่แค่การออกมาตรการทางกฎหมายเท่านั้น หากแต่ต้องเพิ่มศักยภาพแรงงานของคนพิการให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น 

โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในยุค 4.0 จุดนี้เองจึงนำมาสู่โครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ” ของ กสศ. ซึ่งมีลักษณะเป็นทุนให้เปล่าที่สร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษและด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา หรือพัฒนา เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัด และมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ 

โดยมีทักษะอาชีพตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่นโยบายรัฐบาล รวมถึงความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนควบคู่กันจนสำเร็จการศึกษาและผลักดันเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะพึ่งพาตัวเองได้ เป็นกำลังสำคัญในการดูแลครอบครัวและเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติต่อไปได้ในอนาคต

“แสดงศักยภาพเราให้เขาได้เห็นเลยว่าเราไม่ใช่ภาระครับ โอกาสมันอาจจะมีอยู่ ถ้ารออยู่กับที่มันอาจจะช้าไป ต้องกล้าออกไปพิสูจน์ศักยภาพที่เรามี เพราะถ้ารอแต่โอกาส บางทีมันไม่มา”  น้องเชาว์ทิ้งท้าย