“เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้อยู่ในเวทีที่เหมาะสม เขาจะฉายแสงเจิดจรัสออกมาไม่สิ้นสุด”
แรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง ‘โมเดลสร้างนวัตกรรุ่นใหม่’ ที่วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้อยู่ในเวทีที่เหมาะสม เขาจะฉายแสงเจิดจรัสออกมาไม่สิ้นสุด”

รางวัลชนะเลิศ ‘เหรียญทอง’ อุปกรณ์กายบำบัดการเดินป้องกันการหกล้มด้วยสปริง 2+2 ทิศทาง
รางวัลชนะเลิศ ‘เหรียญเงิน’ อุปกรณ์ช่วยพยุงเดินป้องกันการหกล้มด้วยสปริง 4 ทิศทาง
รางวัลชนะเลิศ ‘เหรียญทองแดง’ เครื่องผลิตไฟฟ้า 2 Generator ระบบพลังงานหมุนเวียนด้วยวงล้อ Flywheel และ Universal motor

คือ 3 รางวัล จาก 3 รายการที่ส่งผลงานเข้าร่วม ของน้อง ๆ ชั้น ปวส. 2 สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ ในงาน ‘วันนักประดิษฐ์แห่งชาติ’ ประจำปี 2565 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณภาพมาตรฐานนักศึกษา ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ของสถาบันแห่งนี้

อาจารย์ศักดิ์นรินทร์ ผิวเหลือง ผู้ดูแลด้านการพัฒนานวัตกรรม และคอยสนับสนุนให้น้อง ๆ มีโอกาสเปิดประสบการณ์บนเวทีต่าง ๆ กล่าวว่า สำหรับเด็กกลุ่มนี้ รางวัลถือเป็นกำลังใจ และพลังผลักดันสำคัญที่จะพาทุกคนให้มุ่งมั่นพัฒนาตนเองต่อไป แต่สำหรับอาจารย์ผู้อยู่เบื้องหลัง สิ่งที่มองเห็นชัดเจนที่สุดคือ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่มาพร้อมกับ ‘โอกาส’ ที่น้อง ๆ ทุกคนทุ่มเทพยายามเพื่อให้ ‘ได้รับ’ และได้สานต่อพัฒนาการของตนเองจากจุดที่เกือบจะไม่ได้เรียนหนังสือต่อ จนมาถึงวันนี้ที่ก้าวไปคว้ารางวัลระดับชาติมาครองได้

“พูดได้ว่าเป็นความสำเร็จของ ‘ทุน’ ที่หยิบยื่นโอกาสให้เยาวชนกลุ่มนี้ อย่างที่ทราบดีว่านักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ทุกคนมีจุดเริ่มต้นจากความขาด ทั้งความพร้อมด้านฐานะ แรงสนับสนุนจากรอบข้าง จนไปถึงจุดที่ต้องเคว้งคว้างกับอนาคตว่าจะได้เรียนต่อหรือไม่

“แต่เวลาเพียงแค่สองปีเมื่อเข้ามาเป็นนักศึกษาทุน เขาได้ปรับจูนตัวเองผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้ขัดเกลาทักษะที่มีในตัวเอง ได้ออกไปเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในโลกที่กว้างขึ้น เด็กที่เคยเหนียมอาย ขาดความเชื่อมั่น ไม่แน่ใจกับอนาคต ก็ได้รับการหล่อหลอมเติมเต็ม จนสิ่งดี ๆ ในตัวเขาค่อย ๆ เผยออกมา กลายเป็นเยาวชนที่ตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง พร้อมแสดงออกและต่อยอดสิ่งที่เขามีให้ไปไกลยิ่งขึ้น”

ประสบการณ์จากรุ่นพี่ คือเชื้อไฟของความทะเยอทะยาน

อาจารย์ศักดิ์นรินทร์เล่าว่า วท.อำนาจเจริญ มีแนวทางสนับสนุนให้นักศึกษาทุน ฯ เข้าร่วมในงานวันนักประดิษฐ์ทุกปี โดยมีเป้าหมายให้น้อง ๆ ได้เปิดโลกทัศน์ พาตัวเข้าไปในแวดวงยอดฝีมือระดับชาติ ซึมซับวิธีคิดของคนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะสะท้อนแรงบันดาลใจ และความกระหายใคร่รู้กลับมาที่ตัวของน้อง ๆ

“คือไม่ใช่แค่เด็กทุน แต่เราอยากให้เด็กทั้งวิทยาลัยได้ไปอยู่ในบรรยากาศของนักคิดนักประดิษฐ์ ไม่ต้องไปแข่งก็ได้ แต่ต้องได้ไปเห็น ไปอยู่ตรงนั้น ที่ที่มีแต่เด็กอาชีวะระดับหัวกะทิของประเทศมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน หรือบางงานไม่ใช่แค่สายอาชีพ แต่มีเด็กสายสามัญหรือระดับอุดมศึกษามาแข่งด้วย พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความคึกคักหลากหลายตรงนี้ มันจะทำให้เด็กตื่นตัว ตื่นตาตื่นใจ เริ่มมีการกลั่นกรองบ่มเพาะวิธีคิด สำคัญที่สุดคือเขาจะเห็นว่าเราสามารถก้าวเดินต่อไปในเส้นทางใดได้บ้าง

“ทุกปีเราจะมอบหมายให้รุ่นพี่ที่ไปประสบความสำเร็จจากเวทีต่าง ๆ มาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงสู่รุ่นน้อง ผมมองว่าแรงบันดาลใจสามารถเปลี่ยนคนได้ ก่อนไปอยู่ตรงนั้น บางคนคิดแค่ว่าได้เข้ามาเรียนต่อนี่คือที่สุดแล้ว แต่พอเรียนไปเรื่อย ๆ มันก็อาจจะเฉื่อยชาได้ ขณะที่พอเขาได้ฟังเรื่องราวของคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ได้พบแนวคิดใหม่ เจอสิ่งประดิษฐ์ใหม่ด้วยตัวเอง พอกลับมาเขาจะมีแรงขับ มีการตกผลึกในการคิดค้นนวัตกรรมของตัวเอง”

และไม่เพียงแรงกระตุ้นที่ได้รับจะเชื้อเชิญให้อยากพาตัวเองไปสู่เวทีระดับชาติ อาจารย์ศักดิ์นรินทร์ ยังบอกอีกว่าเมื่อได้ลองเข้าไปแล้ว ไม่ว่าแพ้หรือชนะ จะได้ถ้วยโล่หรือพลาดรางวัลกลับมา สิ่งที่ตามมาจากนั้นล้วนคือกำไร เพราะน้อง ๆ จะนำคำติชมจากคณะกรรมการกลับมาปรับปรุงพัฒนางาน ทั้งยังได้เครือข่ายเพื่อนนักประดิษฐ์จากทั่วภูมิภาคกลับมาด้วย ซึ่งสายสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ก่อตัวขึ้นนี้ จะสานสืบต่อเนื่องไปจนน้อง ๆ เรียนจบและเข้าสู่วัยทำงานในวันข้างหน้า   

“ที่ผ่านมาเราเห็นแรงสะท้อนของการได้เห็น ได้ฟัง ได้สัมผัสจากของจริง คือบางทีเขาฟังครูเล่าไปมันก็มีแค่มิติเดียว ไม่เหมือนแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ ที่ถือว่าเป็นเชื้อไฟชั้นดีในการปลุกความทะเยอทะยานในตัวน้อง ๆ

“ทุกครั้งที่เรารับสมัครเด็กไปงานต่าง ๆ เขาจะสนใจอาสาเข้ามากันด้วยตัวเอง แสดงให้เห็นความกระตือรือร้นเต็มที่ ทีนี้พอใจมันมีความอยาก เขาก็ยิ่งตั้งใจซ้อมเพื่อให้ได้ผลที่ดี“ที่น่าสนใจคือพอเด็กกลับมาจากตรงนั้น วิธีคิด การเชื่อมโยงมุมมองต่าง ๆ เขาจะยิ่งกว้างไกลขึ้น มีมิติซับซ้อนรอบด้านยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้มันคือขั้นตอนการบ่มเพาะนักวิจัย นักนวัตกรรม ที่ทำให้เขาสามารถแยกย่อยรายละเอียดเล็กน้อยออก สามารถนำประสบการณ์มาช่วยลำดับความคิด และมองเห็นปลายทางการทำงานที่ไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว”

พอเห็นว่าพี่เขาประสบความสำเร็จได้
เลยกล้าคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้เหมือนกัน

น้องนาเดียร์’ ปุณยนุช ชั้น ปวส.1 สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ตัวแทนนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วท.อำนาจเจริญ ผู้ผ่านการคว้ารางวัลทั้งในระดับภาคและระดับชาติมาแล้ว บอกว่า ตอนเพิ่งเข้ามาเรียนเรื่องระบบเครือข่าย คิดว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย ส่วนหนึ่งเพราะมาจากสายสามัญ จึงมีพื้นฐานน้อยกว่าเพื่อน ๆ แต่พอครูมาแนะนำว่ามีการแข่งขันในโจทย์เรื่องระบบเครือข่าย ซึ่งจะมีรุ่นพี่ที่เคยไปมาก่อนเป็นผู้สอน ให้คำแนะนำ ด้วยความสนใจจึงลองสมัครดู

การได้ติวกับรุ่นพี่เหมือนการเรียนรู้ทางลัด ได้เข้าถึงบทเรียนเชิงลึกเรื่องการทำงานของระบบ การออกแบบ จนในที่สุดพอไปแข่งก็ได้รับรางวัลที่ 1 ระดับภาคกลับมา เป็นรางวัลแรกแห่งความภูมิใจที่ไม่คิดว่าตนเองจะทำได้

“หนูเพิ่งได้ไปครั้งแรก รู้สึกว่าเราได้เห็นโลกมากขึ้น จากตอนเข้ามาเรียนเราไม่รู้เลยว่าจะไปทางไหนต่อ ย้อนไปก่อนหน้านั้นอีกนิดยังไม่มีเงินจะเรียนด้วยซ้ำ แต่พอมาเป็นนักศึกษาทุน เราได้กิจกรรมเติมเต็ม ได้เงินทุนมาคอยช่วย ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับหนูคือได้พูดคุยเรียนรู้จากรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เราคิดว่าตัวรุ่นพี่เขาก็เคยไม่มีโอกาสมาก่อนเหมือนเรา พอเขาได้รับ เขาทำได้ เราเองก็ต้องทำได้เหมือนกัน อยากเป็นอย่างพี่เขา ได้พิสูจน์กับตัวเองว่าเราพัฒนาจากความขาดพร่องจนเต็มคนได้ เหมือนเราได้เห็นแสงสว่างจากตรงนั้น กล้าคิด กล้าฝัน รู้ว่าจะไปทางไหน อยากเรียนให้สูงขึ้นและประสบความสำเร็จให้ได้”        

ทางด้านอาจารย์นิตย์นิรันดร์ พิลาไชย ผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วท.อำนาจเจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุน ฯ เปรียบได้กับห่วงโซ่ที่เข้ามาร้อยประสานเชื่อมความขาดแคลนให้กับสายอาชีวะ หรือเป็น ‘จิ๊กซอว์’ ที่มาเติมช่องว่างให้เต็ม จนเกิดวงจรไปสู่ความสำเร็จที่ไวขึ้น และเห็นผลเป็นรูปธรรม

“สามปีที่ผ่านมา วิทยาลัยของเราได้เด็กที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย จากการคัดกรองเชื่อมประสานของสถาบันการศึกษาทั้งในอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียง เราจึงสามารถช้อนรับเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อเอาไว้ได้ และส่งเสริมให้เขาพัฒนาศักยภาพในตัวเองอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง

เราได้แนวทางในการพาเด็กไปถึงเป้าหมาย ทั้งความสำเร็จในระดับจังหวัด ระดับภาค หรือระดับประเทศ ซึ่งเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ ความหวัง ความเชื่อมั่นในตัวน้อง ๆ เหล่านี้ เพราะอย่าลืมว่าจากที่เขาอยู่ในความไม่แน่นอนว่าจะได้เรียนต่อหรือไม่ หรือบางคนยอมรับว่าเส้นทางการศึกษาได้ตีบตันไปแล้ว แต่เมื่อได้โอกาส เขาพร้อมไขว่คว้า แล้วยิ่งได้แตะต้องความสำเร็จแล้ว พวกเขาจะยิ่งมีแรงขับให้พัฒนาตนเองขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือขุมพลังมหาศาลที่อยู่ในตัวเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้อยู่ในจังหวะ โอกาส หรือเวทีที่เหมาะสม เขาจะฉายแสงเจิดจรัสออกมาไม่สิ้นสุด อย่างเด็กของเราพอได้ขึ้นเวทีระดับชาติ ก็กลายเป็นว่ามีโอกาสอีกมากมายจากข้างนอกเข้ามาต่อเติม จนไปได้ไกลกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เสียอีก”