‘ใกล้ชิด เห็นปัญหา รู้วิธีจัดการ’ บทบาทท้องถิ่น กับการผลักดันสวนผึ้งเป็นพื้นที่ ‘Zero Dropout’

‘ใกล้ชิด เห็นปัญหา รู้วิธีจัดการ’ บทบาทท้องถิ่น กับการผลักดันสวนผึ้งเป็นพื้นที่ ‘Zero Dropout’

“เราพบว่าเด็กที่หลุดจากระบบส่วนใหญ่เขาไม่ได้อยากทิ้งการเรียน แต่เรายังมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่หลากหลายไม่พอสำหรับเขา ดังนั้นการทำงานระดับท้องถิ่น ข้อดีคือเราอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ช่วยค้นหาได้ว่าเขาชอบหรือถนัดอะไร หรือเขามีอุปสรรคใดที่ขัดขวางการเรียนรู้ แล้วเริ่มส่งเสริมช่วยเหลือจากตรงนั้น ขณะที่ทรัพยากรจากหน่วยงานภายนอกที่เข้ามา ก็ยิ่งทำให้แน่ใจได้ว่าเราสร้างรูปแบบการศึกษาที่พร้อมรองรับเด็กทุกคนได้จริง”

อดุลย์ ถาวรกุล นายอำเภอสวนผึ้ง

อดุลย์ ถาวรกุล นายอำเภอสวนผึ้ง กล่าวถึงแนวทางการทำงานเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา หลังโครงการ ‘Zero Dropout’ ลงปักหมุดแรกที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ด้วยความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) พร้อมกำลังเสริมอันเข้มแข็งจากภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายว่าเด็กทุกคนต้องได้เรียน …ลดจำนวนน้อง ๆ ที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์

‘สวนผึ้ง’ เป็นอำเภอหนึ่งที่มีความร่วมมือภายในเป็นอย่างดี จากที่เคยพบว่าปัญหาการมาโรงเรียนของเด็กส่วนใหญ่คือ ‘การเดินทาง’ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแนวเขาสลับซับซ้อน ทุรกันดาร ห่างไกลจากเขตเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกระจายไปในตำบลต่าง ๆ มีการประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา เพื่อส่งต่อเด็กให้ได้เรียนต่อข้ามช่วงชั้น ไม่หลุดจากระบบไปกลางทาง

อย่างไรก็ตาม นายอำเภอสวนผึ้งยอมรับว่าพอถึงระดับมัธยมศึกษา ยังมีพื้นที่รองรับเด็กเพียงโรงเรียนประจำอำเภอกับโรงเรียนขยายโอกาสไม่กี่แห่ง ทำให้โอกาสเรียนต่อของน้อง ๆ น้อยลงตามกัน ด้วยปัญหาความห่างไกลของพื้นที่อำเภอรอบนอก    

“ยิ่งพอเจอโควิด-19 โรงเรียนเปิดไม่ได้ เราต้องใช้วิธีเรียนออนแฮนด์เป็นหลัก เพราะพื้นที่เราเป็นแนวเขา โอกาสจัดการเรียนออนไลน์แทบเป็นไปไม่ได้เลย มีทั้งปัญหาเรื่องสัญญาณ อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เรื่องนี้เราพยายามแก้ด้วยการจัดห้องเรียนเสริมทันทีที่เด็กมาโรงเรียนได้ คือทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น อปท. หรือเขตพื้นที่การศึกษา เราพยายามเต็มที่ที่จะดึงเด็กไว้ในระบบให้ได้มากที่สุด”

จะลดจำนวนเด็กนอกระบบให้เป็นศูนย์ ต้องมีรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย

นายอำเภออดุลย์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองท้องถิ่น ที่ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกด้าน สำหรับในด้านการศึกษา น้อง ๆ เมื่อถึงเวลาเข้าเรียน อำเภอจะตรวจสอบเด็กอายุถึงเกณฑ์ทุกคนตามทะเบียนราษฎร์ แล้วส่งต่อรายชื่อไปยังผู้ใหญ่บ้าน เพื่อจัดทีมลงพื้นที่สื่อสารกับทุกครอบครัวที่มีเด็กวัยถึงเกณฑ์ แล้วถ้าเด็กไม่มีปัญหาใดบกพร่องก็ให้เริ่มเรียนได้ทันที

“แต่อย่างที่บอกว่าเมื่อถึงระดับชั้นที่สูงขึ้น แม้จะมีความร่วมมือในการส่งต่อระหว่างโรงเรียน แต่เด็กส่วนหนึ่งก็ยังหลุดลอดออกไปตรงรอยต่อช่วงชั้น หรือบางส่วนตกหล่นไปตั้งแต่กลางเทอมด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ที่ผ่านมาเมื่อเราพบ ก็มีศูนย์ กศน. ประจำตำบลที่พร้อมรองรับ

“ขณะที่เมื่อเริ่มเดินหน้าโครงการ ‘Zero Dropout’ ลดจำนวนเด็กนอกระบบให้เป็นศูนย์ เรามองว่ารูปแบบที่มีอยู่นี้ยังไม่เพียงพอ การนำเด็กเข้าเรียนในทุกวันนี้ มันต้องมีพื้นที่ทางเลือกที่หลากหลายให้เขา ไม่ใช่แค่เด็กหลุดแล้วพากลับเข้าโรงเรียนหรือ กศน. แต่วันนี้เราต้องมองไปถึงการศึกษาทางเลือกที่มันสอดรับกับชีวิต

“ถ้าแยกรายรายละเอียดการช่วยเหลือ ดูแล นำกลับ และส่งเสริม ที่ครอบคลุมปัญหาเฉพาะของเด็กแต่ละคนได้ ไม่เพียงเราจะพาเด็กเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมั่นใจได้ว่าเขาจะพร้อมพาตัวเองไปให้ถึงปลายทางของการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้”

และนี่คือช่วงเวลาที่นายอำเภอบอกว่า งานของครู กศน. ณ ศูนย์ประจำตำบลวันนี้ คือการลงพื้นที่สอบถามปัญหา เก็บข้อมูลน้อง ๆ รายคน เพื่อนำเข้าระบบ เตรียมหาแนวทางช่วยแหลือ และเปิดโอกาสให้เด็กได้รับการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตตามบริบทพื้นที่

“สำคัญคือท้องถิ่นต้องปูพื้นความรู้ขยายความเข้าใจกับผู้ปกครองเด็ก ว่าการศึกษาทุกวันนี้ไม่ได้อยู่แค่ในรั้วโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เขาต้องรู้ว่าลูกหลานมีทางเลือก แม้บางคนมีความจำเป็นต้องช่วยครอบครัวหารายได้ ต้องอยู่กับบ้านดูแลน้องหรือปู่ย่าตายาย เด็กบางคนไม่มีเลข 13 หลัก จะเหตุผลใดก็ตาม ทุกคนต้องได้รับโอกาสศึกษาพัฒนาตนเองไปด้วย  

“หลังจากนี้ เมื่อโครงการเดินต่อไปข้างหน้า เราแน่ใจว่ามือที่ยื่นมาจากภายนอก ทั้ง กสศ. และแสนสิริ จะทำให้โอกาสทางการศึกษาที่อำเภอสวนผึ้งเปิดกว้างขึ้นในหลายรูปแบบ และจะเป็นโมเดลที่สามารถขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้เด็กทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาตามแนวทางของตน” นายอำเภอสวนผึ้งกล่าว

‘เก่ง ดี มีสุข’

ยรรยง เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 อีกหนึ่งพลังท้องถิ่นในการทำงานด้านการศึกษา กล่าวถึง 2 แนวคิดสำคัญที่จะทำให้โครงการ ‘Zero Dropout’ เดินไปถึงจุดหมายได้ คือ 1.เด็กต้องค้นพบความเก่งของตัวเอง เป็นคนดีของสังคม และเรียนรู้อย่างมีความสุข กับ 2.เมื่อเด็กเข้าเรียนไม่ว่าในรูปแบบไหน ช่วงชั้นใด เขาต้องสำเร็จถึงฝั่งตามที่ตั้งเป้าไว้ได้

ยรรยง เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขต
พื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1

“ส่วนของสถานศึกษา การผลักดันให้ตัวเลขเด็กนอกระบบในพื้นที่เป็นศูนย์ ไม่มีออกกลางคัน เอาเด็กแขวนลอยกลับมาได้หมด อย่างแรกเราต้องทำสถานศึกษาให้พร้อม มีสภาพแวดล้อมที่ดี อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ ต่อมาคือ ‘ครู’ ซึ่งจะเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ ต้องได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง มีการส่งเสริมประสบการณ์ใหม่ หลักความรู้ใหม่ ๆ และอีกประการหนึ่งคือความช่วยเหลือต้องไม่ลงไปที่เด็กเท่านั้น แต่ต้องไปถึงผู้ปกครองด้วย ให้อุปสรรคของเขาบรรเทาลง และยอมรับได้ว่าจะต้องสนับสนุนบุตรหลานด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อแลกกับชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

“ในภาพรวมของเขตพื้นที่ จ.ราชบุรี เรามีเด็กที่อยู่ห่างไกลชายขอบจำนวนมาก การพยายามหาทางเลือกให้เด็กอยู่ในการศึกษา เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาตนเองในทิศทางที่เขาจะไปได้ ครูมีหน้าที่อำนวยให้เด็กพบความเก่งที่มีในตัวเองทุกด้าน วิชาการก็เป็นเพียงด้านหนึ่ง แล้วเน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ก่อนจะไปถึงหลักการข้อสุดท้ายคือเขาต้องมีความสุขกับการมาเรียน เหล่านี้คือปัจจัยที่จะทำให้เด็ก ๆ สำเร็จการศึกษาได้ ตามเป้าหมายที่ตัวเขา ครอบครัว และชุมชนต้องการ”

ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ทิ้งท้ายว่า วันนี้การจะทำให้จังหวัดราชบุรีมีตัวเลขของเด็กเยาวชนนอกระบบเป็นศูนย์ถือว่าเริ่มเดินหน้าไปแล้ว จากอำเภอสวนผึ้ง แล้วงานค้นหาเก็บข้อมูลเด็กจะค่อย ๆ กระจายไปจนครบทุกเขตพื้นที่ ด้วยการทำงานที่เป็นระบบ พร้อมสอดประสานกันทุกภาคส่วน ด้วยทรัพยากรจากภาคเอกชนที่เข้ามาเสริม

“ผมเชื่อมั่นในพลังการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ในการเจาะลงไปที่ปัญหาของน้อง ๆ เป็นรายบุคคล เพื่อนำมาเป็นต้นทางในการออกแบบวิธีการช่วยเหลือ ส่วนหลังจากนี้ทุกสถานศึกษาในจังหวัด ก็ได้วางแนวทางเบื้องต้นเอาไว้แล้ว ในการรับไม้ต่อจาก อปท. อย่างเต็มที่”