แปลงผัก เล้าไก่ และฝูงวัว ห้องเรียนรับเปิดเทอม กลไกรักษาเด็กไว้ในระบบ

แปลงผัก เล้าไก่ และฝูงวัว ห้องเรียนรับเปิดเทอม กลไกรักษาเด็กไว้ในระบบ

ผักกวางตุ้งขนาดโตเต็มวัยถูกดูแลเป็นอย่างดีในบริเวณแปลงผักเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียนสินแร่สยาม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ผักใบสดสีเขียวนี้เป็นฝีมือการดูแลของ “ด.ช.บี อินทนนท์” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่คอยเป็นลูกมือให้กับครูพิทยา กิ่งพรหมเจริญ ครูประจำชั้น ซึ่งเด็กจะต้องใช้ทักษะในการดูแลแปลงผักที่ต่างชนิดกัน ทั้งมะเขือเปราะ มะเขือยาว พริกชี้ฟ้า ผักโขม รวมถึงการปลูกมะนาวที่ครูสอนให้ใช้การปลูกในบ่อซีเมนต์ ให้น้ำแบบหยดเผื่อให้ได้ผลผลิตนอกฤดูกาล

นอกจากผักที่ “น้องบี” ดูแลจะถูกส่งต่อไปเป็นอาหารกลางวันให้กับเพื่อนๆ ในโรงเรียนเดียวกันแล้ว ยังรวมถึงหน้าที่ในการดูแลแม่ไก่และเก็บไข่ด้วย

พิทยา กิ่งพรหมเจริญ โรงเรียนสินแร่สยาม

“เราสอนเด็กตั้งแต่ให้รู้จักสายพันธุ์ไก่ไข่ การให้น้ำให้อาหาร การเก็บเกี่ยวผลผลิต และนำผลผลิตที่ได้จัดให้กับโครงการอาหารกลางวัน โดยขายในราคา 100 บาท และจำหน่ายให้ชาวบ้านในชุมชนรอบ ๆ โรงเรียนด้วย” ครูพิทยา กล่าว

เด็กชายตัวเล็กลงมือทำทุกอย่างด้วยตนเองอย่างคล่องแคล่ว แต่สิ่งที่เห็นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในตลอดปีการศึกษาที่ผ่านมา 

พาน้องกลับโรงเรียนไม่ง่าย เมื่อผู้ปกครองไม่เอาด้วย

ในภาคเรียนที่ 1 “น้องบี” ต้องย้ายโรงเรียนเพราะครอบครัวมีเพียงตาและยายที่ต้องส่งเสียลูกหลานถึง 4 คน เด็กคนหนึ่งในบ้านจึงถูกเลือกให้ย้ายไปยังโรงเรียนประจำเพื่อแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดู และนั่นคือน้องบี

ในขณะที่น้องเอ ฝาแฝดผู้พี่ยังคงเรียนที่โรงเรียนสินแร่สยาม และมาส่งใบงานให้กับครูพิทยาทุกสัปดาห์ในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ ทำให้ครูรับรู้ว่าว่าน้องบีไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนใหม่มาตลอดเทอม

“เราเห็นท่าไม่ดี ก็เลยตามไปที่บ้าน”

ทั้งครอบครัวอาศัยนอนอยู่ริมระเบียงของรีสอร์ทที่ตารับจ้างทำงานอยู่ ฝนตกครั้งนึงก็ต้องขยับที่นอนอยู่ตลอดคืน ฐานะทางบ้านจึงเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้แม้ครูพิทยาเทียวไปเทียวมาบ้านน้องบีหลายครั้ง เพื่อโน้มน้าวให้กลับไปเรียนหนังสือ แต่ไม่เป็นผล

สถานการณ์ที่น้องบีต้องเผชิญไม่ต่างจากเด็กหลายคนในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ใน 2 ปีมานี้มีการเลิกจ้างทั้งชั่วคราวและถาวร อาชีพค้าขายและรับจ้างมีรายได้ลดลงต่อเนื่อง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)สำรวจพบว่าเด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนคนมาเป็น 1.2 ล้านคน เมื่อรวมกับนักเรียนยากจนอีกราว 7 แสนคน ทำให้วันนี้มีเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1.9 ล้านคน และเด็กจำนวนมากที่หลุดมาแล้วเพราะต้องช่วยครอบครัวทำงานหารายได้กลายเป็นแรงงานนอกระบบเฉียบพลัน

น้องบีเองก็ต้องช่วยยายเลี้ยงวัวเช่นกัน เมื่อน้องบียืนยันจะไม่กลับมาเรียน ส่วนผู้ปกครองก็ไม่ได้ส่งเสริม โอกาสทางการศึกษาจึงค่อย ๆ ลดลงเต็มที 

เรื่องปากท้องไม่ใช่ปัญหาเดียว เพราะห้องเรียนไม่มีพื้นที่ให้เด็กทุกคน

“ไม่แปลกนะครับ คือเรียนก็ดีครับ แต่ผมอ่านไม่ออก เลยทำงานดีกว่า” คำตอบตรงไปตรงมาที่ “น้องบี” แสดงออกชัดว่าเขาไม่ได้รู้สึกแปลกแยกเมื่อเห็นเพื่อน ๆ หรือแม้กระทั่งฝาแฝดตัวเองได้ไปเรียนหนังสือ

น้องบีถือว่าเรียนช้ากว่าเด็กปกติ แม้อ่านออกบ้างแต่เขียนไม่ค่อยได้ ซึ่งเป็นปัญหาของเด็กอีกหลายคนในโรงเรียนสินแร่สยาม เพราะเป็นโรงเรียนพื้นที่รอยต่อชายแดนฝั่งตะวันตกกับประเทศเพื่อนบ้าน เด็ก ๆ ที่นี่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์จึงมีปัญหาด้านภาษา ที่ภาษาไทยถือเป็นภาษาที่ 2 ของพวกเขา

ผลประเมิน PISA หลายสิบปีที่ผ่านมา พบว่าไทยยังคงได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในการสอบวัดความรู้ทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการอ่านที่ “ต่ำลง” และยังพบ “ความห่าง” ของจำนวนเด็กที่ได้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐานมีเยอะกว่ามากเมื่อเทียบกับเด็กที่ได้คะแนนสูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งพบในทุกประเทศว่าคะแนนที่ต่ำว่ามาตรฐานจะพบในกลุ่มเด็กที่มีความยากจน

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้องย้อนไปดูการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและพบว่า แม้กระทั่งโรงเรียนในกรุงเทพมหานครมีเด็กกว่าร้อยละ 13 ที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

ตอกย้ำกับการศึกษาในช่วงโควิด-19 ที่น้องบีคือหนึ่งในกรณีที่เห็นชัดว่าเมื่อเด็กไม่มีแม้อุปกรณ์การเรียนที่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ และยิ่งมีเหตุจูงใจให้ขาดเรียนไปตลอดปีการศึกษา ก็ยิ่งเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss)

เมื่อเรียนไม่ทันเพื่อน ก็ยิ่งทำให้น้องบีไม่อยากกลับมาเรียน

ห้องเรียนแห่งความสุข ออกแบบให้เหมาะสมกับเด็กรายคน 
กลไกเหนี่ยวรั้งเด็กออกนอกระบบ

ความพยายามตลอดช่วงปิดเทอมเพื่อตาม “น้องบี” กลับมาเรียน ท้ายที่สุดเมื่อเปิดภาคเรียนที่ 2 โรงเรียนสินแร่สยามนำน้องบีย้ายกลับมาอยู่ในระบบตามเดิม ซึ่งช่วงสัปดาห์แรกเด็กแทบไม่เคยมาเรียน ครูจึงต้องสร้างแรงจูงใจโดยมอบหมายหน้าที่ให้น้องบีดูแลแปลงผัก เก็บไข่ไก่ และตอนเย็นก็ยังพอมีเวลาไปช่วยยายเลี้ยงวัว แต่ที่สำคัญคือการเปลี่ยนการเรียนการสอนที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้น้องบีเปิดใจกลับมาเรียนอีกครั้ง

ภาณุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม

ภาณุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม เล่าว่านักเรียนแต่ละคนมีปัญหาที่ต่างกัน ทั้งด้านการเรียน, เศรษฐกิจ หรือสภาพทางสังคม ครูจึงต้องออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กทุกคนเพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา

“เราต้องออกแบบการเรียนรู้อย่างมีความสุข เช่น การหาเทคนิคในการจัดการศึกษาให้กับเด็กพื้นที่ชายขอบ เพิ่มทักษะให้เด็กอ่านออกเขียนได้ การจัดกิจกรรมแบบ Active Learning เพื่อให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง” 

ในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจโรงเรียนจึงสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง มีโครงการฝึกอาชีพในโรงเรียน เช่น บาริสต้าน้อยในร้านกาแฟ Siam Coffee, การเลี้ยงไก่ไข่และปลูกผักเพื่ออาหารกลางวัน หรือร้านตัดผมสินแร่บาร์เบอร์ โดยมีการปันผลให้กับนักเรียนเป็นทุนการศึกษา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ตอนนี้ผลการเรียนของ “น้องบี” ดีขึ้นมาก แม้ยังหยุดเรียนอยู่บ้างแต่เห็นชัดว่ามีความตั้งใจมาเรียนมากขึ้นกว่าเดิม แต่การเริ่มต้นเปิดใจนี้ จะเหนี่ยวรั้งน้องบีได้อีกนานแค่ไหน เพราะในช่วงปิดเทอมคือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เด็กจะตัดสินใจอีกครั้งว่าจะอยู่ในภาคการศึกษาต่อไปหรือไม่ ยิ่งการเลื่อนชั้นในระดับประถมศึกษาไปยังมัธยมศึกษา หรือมัธยมศึกษาตอนต้นไปสู่ระดับชั้นที่สูงขึ้นที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงก็ย่อมมีมากขึ้นตามมา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ในระหว่างปิดเทอมครูจะหมั่นไปเยี่ยมบ้านจนรู้สถานการณ์ว่าเด็กแต่ละคนมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่ ดังนั้นช่วงปิดเทอมคือช่วงสำคัญที่สุดที่เราต้องเปิดโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” โครงการที่ใช้กลไกเชิงพื้นที่และการระดมทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน เพราะใน 2 เดือนข้างหน้านี้ไปจนถึง 15 พฤษภาคม เป็นเหมือนการนับถอยหลัง “2 เดือนอันตราย” ที่จะมีเด็กจำนวนมากเลือกไม่กลับมาสู่ระบบการศึกษา

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ไม่ใช้แค่หน้าที่ของภาคการศึกษา แต่เป็นโจทย์ของทุกคน