‘ยะลาเสมอภาค’ เปิดตัว ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ และ ‘กองทุนเพื่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กเยาวชนจังหวัดยะลา’

‘ยะลาเสมอภาค’ เปิดตัว ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ และ ‘กองทุนเพื่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กเยาวชนจังหวัดยะลา’

“ข้อมูลและประสบการณ์การทำงานร่วมกับ กสศ.ทำให้เราพบว่ามีเด็กปฐมวัยจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา รวมทั้งมีเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษากลางคัน ด้วยเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนต่างกันไป ซึ่งนำเรามาสู่การทำงานเชิงพื้นที่ ที่ชาวยะลาทุกภาคส่วนมาร่วมประสานการทำงาน โดยมีเด็กเป็นตัวตั้ง เพื่อช่วยเด็กให้กลับเข้าเรียน พัฒนาทักษะอาชีพ และประคองกลุ่มเสี่ยงหลุดให้อยู่ในโรงเรียนต่อไปได้แล้ว 2,435 คน

“วันนี้คณะทำงานได้มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ในเมื่อการเป็นจังหวัดต้นแบบได้หลอมรวมความร่วมมือร่วมใจของคนทุกหน่วย ทุกสังกัด และทุกพื้นที่ได้แล้ว เราจะรักษาความเข้มแข็งและขยายการทำงานให้เติบโตต่อไปได้อย่างไร การจัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนยะลา’ จึงเกิดขึ้น บนรากฐานจากการทำงานที่เราได้ฝ่าฟันกันมา และจะเป็นกลไกสำคัญซึ่งจะมีหน้าที่ดำเนินงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และสร้างอนาคตของคนยะลาที่ยั่งยืนสืบไป”

‘วิกฤตทางการศึกษา การมาถึงของโควิด-19 กับทางเลือก ทางรอด ของเด็กยะลา’

มุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา/ประธานสภาการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา ‘ยะลา’ 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้แสดงให้เห็นถึงพลังของการทำงานเชิงพื้นที่ ในการค้นหา ช่วยเหลือ และฟื้นฟูดูแลพัฒนากลุ่มเด็กเยาวชนด้อยโอกาส ทั้งกลุ่มเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา ไปจนถึงกลุ่มเสี่ยงหลุดจำนวนมาก โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำหน้าที่ขับเคลื่อน เชื่อมร้อยภาคีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จนทุกหน่วยสามารถทำงานประสานเป็นเนื้อเดียวกัน

จากการทำงานเชิงพื้นที่ ที่นำไปสู่การทำงานด้วยพลังของคนในจังหวัด ทำให้เกิดการขยายผลจัดตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ และ ‘กองทุนเพื่อการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนยะลา’ ที่จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา 

พบกับข้อคิดจากคณะทำงาน ที่จะมาเผยปัจจัยการสร้างกลไกความร่วมมือที่เข้มแข็ง รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 ที่จะยังคงเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชนไปอีกนาน

การฟื้นฟูพัฒนาเมือง ภารกิจที่อยู่ในมือพลเมืองทุกคน

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา/รองประธานสภาการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา กล่าวว่า ย้อนมองกลับไปยังภาพการศึกษาของจังหวัดก่อนวิกฤตโควิด-19 ยะลามีดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อยู่รั้งท้ายมาตลอด ด้วยปัญหาความยากจน ความไม่สงบในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน คนกว่า 80% ของจังหวัดที่มาจากภาคการเกษตรในชนบทมีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ จนกระทบมาสู่ปัญหาด้านการศึกษา ด้วยทัศนคติครอบครัวที่จำเป็นต้องมองไปยังเรื่องปากท้องเป็นหลัก ทำให้มีเด็กเล็กกลุ่มปฐมวัยจำนวนมากไม่ได้เข้าเรียนตามเกณฑ์ ขณะที่เด็กเยาวชนในชั้นประถมและมัธยมศึกษาต้องหลุดจากรั้วโรงเรียนมาเป็นแรงงานก่อนวัยอันควร และแน่นอนว่าเมื่อวิกฤตโควิด-19  เข้ามากระหน่ำซ้ำ ตัวเลขของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีก

“ที่ผ่านมาเรามองเห็นปัญหาร่วมกัน หาทางแก้ไขกันมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าถ้ายังใช้แนวทางเดิม เราก็จะได้ผลเช่นเดิม และปัญหาจะไม่เพียงคงอยู่ต่อไปแต่พร้อมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เด็กเยาวชนอีกมากมายจะหลุดจากระบบ เข้าสู่วังวนยาเสพติด อาชญากรรม หรือส่งต่อความยากจนในครอบครัวกันข้ามรุ่นต่อไปเรื่อยๆ” 

“ณ ตอนนี้เรามีเด็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถรับภาระเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ทำให้เขาตัดสินใจให้ลูกหลานเลิกเรียน เรามีเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เข้าเรียนเพิ่มขึ้น อย่าลืมว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้ขาดแค่โอกาสด้านการศึกษา แต่เขาจะไม่ได้รับพัฒนาการทางสมอง สังคม จิตใจ ร่างกายเต็มที่ และในทางดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นี่คือพลเมืองของเราที่จะเติบโตขึ้นมาในวันข้างหน้า คือทิศทางที่เมืองของเราจะเป็นไปในอนาคต” 

“นับจากปี 62 ยะลาเริ่มทำงานเรื่องเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาและกลุ่มเสี่ยงหลุด สิ่งที่เห็นคือ เราได้ค้นพบแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ มีบทเรียนเฉพาะเหมาะสม ต่อเนื่องมาถึงการจัดตั้งสภาการศึกษาจากประชาคมคนในจังหวัด ซึ่งจะเป็นแกนกลางในการถ่ายทอดทัศนคติไปสู่พลเมืองทุกคน ว่าเราสามารถนำความถนัดเฉพาะทางที่แต่ละคนมีอยู่ มาร่วมกันเปลี่ยนเป็นทางออกสำหรับกลุ่มน้องๆ ที่ด้อยโอกาสได้” 

นายกเทศมนตรีนครยะลากล่าวว่า ทิศทางจากการทำงานในโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ช่วยให้เราเห็นความสำคัญของการส่งต่อความคิดที่ว่า ‘จะทำอย่างไรให้ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องของคนยะลาทุกคน’ สภาการศึกษาจึงจัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อเด็กยากจนและด้อยโอกาสทางการศึกษาจังหวัดยะลา’ ที่จะช่วยระดมกำลังทรัพย์และพลังในการทำงานที่กว้างออกไปมากขึ้น โดยเฉพาะจากประชาชนทั่วไปและห้างร้านต่างๆ ที่มองหาพื้นที่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น

“ความสำเร็จส่วนหนึ่งที่ได้รับทำให้เห็นว่าเรามี ‘คน’ ซึ่งมี ‘ใจ’ เดียวกัน ที่จะมาช่วยกันระดมความสามารถ เสนอความคิดในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของการศึกษาที่เป็นอยู่ หลังจากนี้แม้เมื่อวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว กองทุนที่ตั้งขึ้นจะมุ่งปรับการทำงานไปที่การฟื้นฟู เสริมสร้างสมรรถนะ เติมความจำเป็นรอบด้านให้เด็กเยาวชนในจังหวัดของเรา เพื่อผลักดันให้เกิดความสามารถในการแข่งขันระดับสูง และที่สำคัญคือต้องกำจัดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ให้หมดไปจากพื้นที่”

การศึกษาต้องไม่ใช่แค่ผลสัมฤทธิ์ แต่คือสมรรถนะที่นำไปใช้ได้จริงในชีวิต

ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ช่วงสามปีที่ผ่านมามี พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา และการเกิดขึ้นของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่มาช่วย ‘ปลดล็อก’ เงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้การศึกษาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เรียนหรือยกระดับพื้นที่ไม่ได้ 

โดยยะลาเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง จนเกิดคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาที่สามารถออกกฎในการดูแลโรงเรียนในพื้นที่ได้อย่างเป็นอิสระ มี 30 โรงเรียนต้นแบบ พร้อมกับโรงเรียนอีกส่วนหนึ่งจากโครงการวิจัย ‘Sandbox’ จังหวัดยะลา ซึ่งหลังจากสังเคราะห์การทำงานออกมา พบว่าการเรียนรู้เรื่อง ‘ภาษา’ เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน

“ผลสำรวจชี้ว่าเด็กในจังหวัดยะลาใช้ภาษาไทยได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือคนที่อ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นมานี้ ยังไม่สามารถไปถึงความแตกฉานทางภาษาที่จะนำสู่การคิดขั้นสูงหรือพาไปสู่สมรรถนะได้ หมายถึงเราต้องมีการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่เอื้อให้ผู้เรียนไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถได้จริง เพราะประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ของเราใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองหรือภาษาที่สาม ดังนั้นในกระบวนการเรียนรู้ด้านภาษา เราต้องคลี่คลายให้เขาใช้ภาษาแม่และภาษาไทยให้เข้มแข็งได้เท่าๆ กัน เพราะอย่างแรก ‘ภาษาแม่’ หรือ ‘ภาษาถิ่น’ ถือว่ามีความสำคัญในแง่ของการสั่งสมและถ่ายทอดภูมิปัญญาดั้งเดิม ขณะที่ความรู้ภาษาไทยหรือภาษาใดก็ตามในระดับสูงจะช่วยเพิ่มทางเลือกในชีวิต หนุนเสริมทั้งทักษะสังคมและการพัฒนาทักษะดิจิทัล ที่จะทำให้เด็กมีโอกาสต่อยอดการศึกษาและประกอบอาชีพได้ดียิ่งขึ้น

“เรื่องของภาษาในพื้นที่ เรามองได้ว่าเป็นทั้ง ‘วิกฤต’ และ ‘โอกาส’ หมายถึงในความที่ยะลาเป็นสังคม ‘พหุภาษา’ เราสามารถจัดการศึกษาเฉพาะพื้นที่ เป็นหลักสูตรของจังหวัดที่ปรับมาจากหลักสูตรกลาง เพื่อให้ผู้เรียนฝ่าวิกฤตศรัทธาด้านการศึกษา และมองเห็นว่าเมื่อเขาจบการศึกษาภาคบังคับหรือการศึกษาในขั้นสูงกว่านั้น ความรู้ความสามารถที่มีจะนำไปใช้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้จริง นอกจากนี้ต้องไม่ลืมเรื่องการบ่มเพาะ ‘จิตวิญญาณความเป็นครู’ ลงในระบบการผลิตบุคลากร ให้เขานำความรู้ความสามารถจากสถาบันการศึกษามาสู่ ‘โลกความจริง’ ข้างนอก ทั้งหมดนี้จะทำให้คนยะลารุ่นใหม่เข้าใจพื้นฐานความเป็นไปและลักษณะเฉพาะของเมือง ของความเป็นคนยะลา เพื่อเติบโตขึ้นมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดได้ตรงจุด”

ผศ.ดร.เกสรีกล่าวว่า ในมิติของความเสมอภาคและคุณภาพการศึกษา จำเป็นต้องมีกลไกที่จะใช้ขับเคลื่อนงานใน 3 ระดับ ซึ่งจังหวัดยะลาได้เริ่มดำเนินงานแล้ว 

หนึ่ง  คือขั้นนโยบาย ที่ต้องมีกลไกเชื่อมประสานการทำงานภายในจังหวัด เพื่อให้เกิดการทำงานบนฐานข้อมูลชุดเดียวกัน พร้อมนำเครือข่ายความสัมพันธ์จากนอกพื้นที่เข้ามาสร้างประโยชน์ได้ 

สอง คือกลไกของคนทำงานที่จะขับเคลื่อนนโยบาย  โดยมุ่งไปที่เด็กและเยาวชนเป็นตัวตั้ง เพื่อให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดหรือเงื่อนไขการทำงานที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ไปได้ และเกิดการทำงานระดับจังหวัดที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง 

สาม คือกลไกของสถานศึกษาที่ต้องทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งโควิด-19 ได้มาเผยให้เห็นแล้วว่า จากนี้โรงเรียนจะต้องเปลี่ยนสถานะเป็นศูนย์อำนวยความรู้ สามารถขยายห้องเรียนออกไปได้ตามตัวเด็ก ให้เด็กเรียนได้จากทุกหนทุกแห่ง ส่วนครูเองก็ต้องปรับบทบาทมาเป็นโค้ชให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชน ในการสนับสนุนให้เกิด ‘Rider’ ทางการศึกษา (อสม.) หรือพื้นที่สร้างสรรค์ให้คนทั้งชุมชนเข้ามาเรียนรู้ได้ ทั้งในแง่ของการศึกษาทั่วไปและการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองในการงานอาชีพ

ภายใต้ภาวะวิกฤต เราต้องช่วยกันเพื่อให้ทุกคน ‘อยู่รอด’

รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล นายกสมาคมกรีนเครสเซนต์ ประเทศไทย/กรรมการสภาการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา กล่าวว่างานในภาคประชาสังคม หรือ NGO นั้นมีอยู่เพื่อสนับสนุนหรืออุดช่องว่างของระบบ เพื่อให้การทำงานลื่นไหล ด้วยจุดเด่นคือความคล่องตัวในการทำงาน

ที่ผ่านมาเรามักรอให้ระบบจากส่วนกลางเข้ามาจัดการในทุกเรื่อง ซึ่งถึงตอนนี้ภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่หล่นทับลงมาทำให้เห็นแล้วว่า ด้วยความซับซ้อนเชิงโครงสร้าง กว่าที่นโยบายความช่วยเหลือต่างๆ จะมาถึง ปัญหาที่มีอยู่ก็ลุกลามไปไกลแล้ว ดังนั้นจึงถึงเวลาที่เราต้องเอาสภาพปัญหาในพื้นที่ขึ้นเป็นตัวตั้ง แล้วระดมกำลังภายในเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 

“โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ทำให้เราเห็นว่า กศน. โรงเรียน หรือวิทยาลัยต่างๆ ในจังหวัด ต่างพร้อมให้ความร่วมมือในการช้อนรับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ด้วยข้อลดหย่อนให้เด็กเยาวชนคนใดที่ต้องการกลับสู่ระบบการศึกษา สามารถเข้าโรงเรียนได้ทันที โดยไม่ต้องรอถึงปีการศึกษาถัดไป รวมถึงมีการพัฒนาหลักสูตร โปรแกรม และกิจกรรมเฉพาะเพื่อให้เด็กปรับตัวกับสภาวะหลังกลับเข้าเรียนได้ หรือสำหรับเด็กที่ไม่พร้อมเข้าเรียนในระบบ ก็มีช่องทางในการเรียนรู้ฝึกอาชีพ มีพื้นที่ชุมชนที่พร้อมรองรับพวกเขา

“จะเห็นว่าการเปิดหลักสูตรพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับชุมชน คือโรงเรียนในรูปแบบใหม่ที่เราสามารถทำได้ทันที นี่คือใจความสำคัญของความเสมอภาค ด้วยการทำให้ทุกคนอยู่รอดได้ภายใต้ภาวะวิกฤต อย่างไรก็ตาม ข้อแม้สำคัญที่จะมาช่วยสนับสนุนโครงการหรือหลักสูตรต่างๆ ได้ในระยะยาวคือ ‘งบประมาณ’ สภาการศึกษาจังหวัดจึงมองไปที่การตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา และเปิดตัวด้วยแคมเปญระดมทุน ‘สิบบาทสตาร์ทรอยยิ้ม’ (#Start รอยยิ้ม) เพื่อสื่อไปถึงทุกคนในจังหวัดยะลาว่า เพียงคนละไม้ละมือถ้าเราไม่ทิ้งกัน เราทุกคนจะฝ่าวิกฤตไปได้ เงินทุนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือเด็กเยาวชน และช่วยดูแลจัดการศึกษาในชุมชน ทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ อันจะเป็นฐานที่มั่นสำหรับพลเมืองทุกคน ให้มีชีวิตที่ดีในทิศทางของตนเองได้”

ย่อขนาดการทำงานให้เล็ก แล้วค่อยๆ ปูพรมจนเต็มพื้นที่ 

รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด/กรรมการสภาการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา กล่าวว่า จากมุมมองการทำงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ทำให้ได้ข้อคิดว่า ก่อนเดินก้าวแรกเราต้องยอมรับความจริงก่อนว่ามีปัญหาเกิดขึ้นตรงไหนบ้าง แล้วเมื่อคณะทำงานต่างเห็นปัญหาร่วมกัน ก็จะนำไปสู่การหาหนทางแก้ไข ด้วยหลักการทำงานของจังหวัดที่ยึดโยงเรื่อง ‘การจัดการศึกษาเพื่อปวงชน’(All For Education) ซึ่งทุกคนมีหน้าที่ในการทำโดยไม่แบ่งว่าเป็นงานของใคร   

“การทำงานปีแรกทำให้เห็นข้อบกพร่องที่ชัดเจนคือ เราไม่มีฐานข้อมูลหรืองานวิจัยจากหน่วยงานภายในจังหวัดเลย จึงต้องนำตัวเลขที่เป็นฐานระดับประเทศจาก กสศ.เป็นตัวตั้ง เราพบเด็กปฐมวัยที่เข้าไม่ถึงการศึกษาจำนวนมาก มันก็ย้อนไปถึงว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างและส่งทัศนคติที่ว่า การศึกษาขั้นปฐมวัยคือรากฐานของชีวิตไปให้ถึงผู้ปกครอง ทุกภาคส่วนก็เริ่มมาคุยกัน แชร์ประสบการณ์ แนวคิด หาทางออกไปด้วยกัน

“ข้อดีของการทำงานในจังหวัดยะลาคือ เรามีต้นทุนบุคลากรที่พร้อมทำงาน มีภาคประชาสังคมคอยหนุนเสริม มีสถาบันการศึกษาช่วยด้านวิชาการ มีผู้นำท้องถิ่นที่เห็นความสำคัญพร้อมเดินหน้าไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม การบูรณาการกลไกเชิงนโยบายระดับจังหวัดนั้นยังไม่พอ เพราะแม้จะเป็นการทำงานเชิงพื้นที่ แต่นโยบายทำงานเราต้องผ่านขั้นตอนจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งหากไม่สอดคล้องกัน งานที่วางไว้ก็เดินต่อไปไม่ได้

“ขณะที่ในระดับจังหวัด การที่ยะลามีฝ่ายปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ทำให้พื้นที่เล็กๆ สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว ในภาพรวมจึงเหมือนกับเราย่อขนาดการทำงานให้เล็กลงได้ตามพื้นที่ แล้วค่อยๆ ทำงานเป็นจิ๊กซอว์ต่อกันไป จนเกิดแรงขับเคลื่อนที่ประกอบภาพความสำเร็จได้” 

รองปลัด อบจ.ยะลากล่าวว่า วันนี้ยะลามีโมเดล ‘Emergency Classroom’ รองรับกลุ่มเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาที่มีความพร้อมกลับเข้าเรียน โดยโรงเรียนจะมีแผนการช่วยเหลือดูแลฉุกเฉิน ซึ่งออกแบบโดยผู้อำนวยการโรงเรียน และครูที่เปรียบได้กับแพทย์เฉพาะทาง ที่จะเติมเต็มคุณภาพทางการศึกษาให้เด็กที่เข้ามาเรียนกลางทางได้ ร่วมกับการฟื้นฟูปรับสภาวะจิตใจ การดูแลครอบครัวของเด็กในด้านปากท้องเศรษฐกิจ โปรแกรมเหล่านี้จะออกแบบให้รักษาดูแลเด็กได้ตามอาการ เพื่อให้เขาอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปจนถึงฝั่ง

“ท้ายที่สุด ความสำคัญของการจัดตั้งสภาการศึกษาหรือกองทุนเพื่อการศึกษาเด็กนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การนำเด็กเข้าสู่ระบบ หรือประคองเขาไว้จนเรียนจบเท่านั้น แต่ปลายทางที่แท้จริงหมายถึง เราต้องมี ‘การศึกษาทางเลือก’ สำหรับเด็กทุกคน ทุกประเภท ไม่ว่าจบไปแล้วจะมีเป้าหมายในการทำงานเป็นอย่างไร เขาต้องได้เรียนรู้ ได้พัฒนากระบวนการคิดที่ยกระดับงานและคุณภาพชีวิต แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นได้ คนยะลาต้องช่วยกันเพื่อไปให้ถึงจุดที่เราจะประกาศได้ว่า ในพื้นที่ของเราไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในจังหวัดของเราอีกแล้ว”