“เราต้องสร้างสิ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ชุมชน ไม่ใช่เอื้อระบบราชการ” ยกระดับการศึกษาให้ตรงจุด
โดย : ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ทีมนโยบาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

“เราต้องสร้างสิ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ชุมชน ไม่ใช่เอื้อระบบราชการ” ยกระดับการศึกษาให้ตรงจุด

กรุงเทพมหานคร ในสายตาของคนจังหวัดอื่น มันคือเมืองใหญ่ที่ส่องสว่าง ใหญ่โต มากไปด้วยโอกาสทางการงาน การเงิน การศึกษา และอาจจะถือเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งที่สุดเมืองหนึ่งในประเทศนี้ จนทำให้หลายคนเข้ามาแสวงหาโอกาสกันมากมาย

แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านการศึกษาของ ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ถือว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ของประเทศ ได้มองลึกลงไป และเห็นต่างว่าการกระจายทรัพยากรในเมืองหลวง ยังมีปัญหาที่ไม่ได้แก้ไขอยู่ โดยได้เล่าถึงปัญหาและเสนอแนะวิธีแก้ไขในเวทีเสวนา ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส เพื่อระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565

“งบประมาณรายหัวของเด็กในกรุงเทพฯ ค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบภาพใหญ่แล้วก็น้อยมาก การจัดสรรทรัพยากรยังไม่ดีพอ ศูนย์พัฒนาเด็กประเวศอยู่ใกล้บ่อขยะ คนที่รายได้ไม่เพียงพอ ก็ต้องยอมให้ลูกหลานของพวกเขาอยู่ในสภาวะเช่นนั้น นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในกรุงเทพมหานคร”

แม้ว่าเธอจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้ว แต่ด้วยอุดมการณ์และความมุ่งมั่น ก็ได้ทำให้ครูจุ๊ยผันตัวมาเป็นหนึ่งในทีมนโยบายของ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตัวแทนชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่าจากพรรคก้าวไกล ที่ถือว่าเป็นตัวเลือกที่คนรุ่นใหม่คาดหวังเป็นอย่างสุง ในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในเมืองนี้ รวมถึงเรื่องคุณภาพชีวิตและการศึกษา

“การให้ความสำคัญที่แท้จริง คือต้องทำให้เกิดขึ้นจริง กรุงเทพฯ มีอิสระในการบริหารมาก เราจะทำการศึกษาเพื่อคุณภาพชีวิตของเด็ก ต้องไม่ให้เป็นภาระ เราต้องดูว่าแต่ละครอบครัวเป็นอย่างไร ต้นทุนแต่ละครอบครัวไม่เท่ากัน เราต้องยอมรับในเรื่องนี้”

ชื่อของ ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เป็นที่ถูกพูดถึงในเรื่องของการศึกษาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแม่แบบที่ครูจุ๊ยอยากพัฒนาการศึกษาของไทยคือการนำระบบการศึกษาของฟินแลนด์ ที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลก มาปรับใช้กับประเทศ ซึ่งการันตีได้จากเจ้าตัวที่ได้ไปจบการศึกษาปริญญาโทที่ฟินแลนด์มาโดยตรง

“โรงเรียนต้องเป็นสถานที่ที่เด็กไปแล้วสบายใจ ถ้ามีเด็กกูกกลั่นแกล้งจนเด็กเกลียดโรงเรียน เราควรจะจ้างนักจิตวิทยามาดูแลหรือ? แต่ถ้าเรามีพื้นที่ที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ไม่โดนกลั่นแกล้ง รวมถึงเป้นแหล่งที่แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งเด็กพิเศษ รวมถึงเด็กที่มีปัญหาการเรียนและปัญหาภายในบ้าน มันจะเกิดการแก้ไขและพัฒนาเด็กอย่างตรงจุด แต่ถ้าเราสร้างสถานที่เพิ่มขึ้นมาให้เป็นสถานที่เล่นหรือเรียนรู้ แล้วเปิด-ปิดตามเวลาราชการ มันก็ไม่เกิดผลอะไร เราต้องสร้างสิ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ชุมชน ไม่ใช่เอื้อระบบราชการ”

และครูจุ๊ยที่มักเสนอการศึกษาแบบฟินแลนด์ให้ถูกนำมาปรับใช้กับการศึกษาไทย เพื่อยกระดับให้เด็กเติบโตอย่างมีพัฒนาการ และเกิดสิ่งใหม่ ๆ ครูจุ๊ยก็มีแบบแผนและคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นจริง

“การเรียนเยอะหลายชั่วโมง ไม่ช่วยเท่ากับการมีพื้นที่การเรียนรู้ที่ดี กรุงเทพฯ ควรมีพื้นที่ให้เรียนรู้ เช่น อยากเรียนเล่นว่าว ต้องไปที่ไหน สนามหลวงใช่มั้ย? เล่นว่าวมันไม่ได้เป็นแค่การสอนเพื่อเล่นให้สนุก แต่การเล่นว่าวมันยังสอนได้ถึงเรื่องฟิสิกส์ การคำนวนแรงลมต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ต่อยอดได้ การเรียนรู้ไม่ควรรวมศูนย์ไว้ที่โรงเรียนอีกต่อไป ด้านครูในสังกัดกรุงเทพฯ ก็ถูกตีกรอบไว้มาก ขนาดบอร์ดประกาศข่าวในโรงเรียน ยังต้องติดภาพผู้บริหารก่อน พวกเขายังไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งในการจัดบอร์ด เราควรให้คนเป็นครูเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง”

จึงถือเป็นนโยบายที่มีความน่าสนใจ และดูเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนได้ฉุกคิดถึงระบบต่าง ๆ ภายในกรุงเทพฯ ที่มีปัญหาอยู่ และไม่ว่าผู้ใดจะคว้าชัยในการเลือกตั้งผู้ว่าปีนี้ การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ที่ควรจะร่วมมือกันแก้ไขและยกระดับไปด้วยกัน