“ทุกโรงเรียนต้องเสมอภาค โรงเรียนใกล้บ้านคือโรงเรียนที่ดีที่สุด” สลายความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
โดย : ผู้พันปุ่น น.ต.ศิธา ทิวารี

“ทุกโรงเรียนต้องเสมอภาค โรงเรียนใกล้บ้านคือโรงเรียนที่ดีที่สุด” สลายความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

ความเป็นเลิศทางการศึกษา ถือเป็นคำหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานหลายสิบปี มีการใช้คำนี้เพื่อตั้งเป็นแก่นเรื่องของการศึกษาเกือบทุกเรื่อง ที่ในแรกเริ่มได้ยิน จะรู้สึกเป็นคำที่มีวิสัยทัศน์ แต่เมื่อได้ยินนานเข้า ก็จะเริ่มถามหาผลลัพธ์ของมัน และก็ยังเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่รอดูมาตลอด แต่บางท่าน ก็เห็นผลลัพธ์ของคำนั้นเรียบร้อยแล้ว

“สิ่งที่เห็น ไม่ใช่ความเป็นเลิศทางการศึกษา ตำราเดียวกัน เรียนแบบเดียวกัน แต่ทำไมคุณภาพไม่เท่ากัน?”

ผู้พันปุ่น น.ต.ศิธา ทิวารี ตัวแทนชิงชัยตำแหน่งพ่อเมืองของกรุงเทพมหานคร จากพรรคไทยสร้างไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย ที่ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีการพัฒนาในแทบทุกด้าน อีกทั้งยังเคยมีประสบการณ์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มโรงเรียนในเขตคลองเตย ที่ถือว่าเป็นจุดที่เหลื่อมล้ำที่สุดในมหานครแห่งนี้ จึงถือเป็นผู้สมัครอีกคนที่ได้สัมผัสปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเมืองนี้ด้วยตนเอง และได้นำมาแสดงวิสัยทัศน์และวิธีแก้ปัญหาในเวทีเสวนา ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส เพื่อระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565

“คนก็จะพูดว่ากรุงเทพฯ เป็นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามากที่สุดในโลก กับคนก็จะพูดตลอดเวลาว่าต้องการความเป็นเลิศด้านการศึกษา สิ่งที่ผมเห็นไม่ใช่ความเป็นเลิศด้านการศึกษา สิ่งที่ผมเห็นและจำเป็นที่ต้องทำก็คือตำราเล่มเดียวกัน ครูก็จบมาพอ ๆ กัน ทำไมมีโรงเรียนที่ดีและไม่ดี ทำไมผู้ปกครองไม่ไว้ใจโรงเรียน กทม. เพราะฉะนั้นผมมีหน้าที่ทำให้โรงเรียน กทม. เสมอภาคที่สุด เพื่อจะทำให้โรงเรียนที่ใกล้บ้าน คือโรงเรียนที่ดีที่สุดของชุมชน”

รายงานจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ระบุไว้ว่ากลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ ที่ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อเดือน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมี 5 แสนกว่าคนในปี พ.ศ. 2561 และทะยานขึ้นสูงทะลุ 1 ล้านคนไปแล้วในปี พ.ศ. 2564 จึงตีความได้ว่า กลุ่มนักเรียนในประเทศไทย ประสบกับความยากจนเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากเรื่องเหล่านี้ ก็จะส่งให้มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น เนื่องด้วยไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ ที่จะเข้าถึงการศึกษาพื้นฐานได้ ทำให้ต้องเลิกเรียนและผันตัวไปทำงาน เป็นแรงงานราคาถูกแทน

“ผมขอเสนอ 3P หนึ่ง People, Profit, Planet ปากท้องครอบครัวต้องสำคัญ การเลี้ยงดูลูกของแต่ละครัวเรือน กรุงเทพฯ ต้องเข้าไปดูแล เช่น ศูนย์รับเลี้ยงเด็กต้องมีการพัฒนาให้ปลอดภัย ส่งเด็กตอนเช้า กลับมาต้องเจอเด็กปลอดภัยและสบายใจ โรงเรียน กทม.ต้องมีความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครอง กระจายเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็ก จนถึงชั้นมัธยมปลายปลาย และต้องทำให้โรงเรียนใกล้บ้านคือโรงเรียนที่ดีสุด”

ทั้งนี้ ผู้พันปุ่นยังได้นำประสบการณ์ที่ได้เข้าไปยังพื้นที่ชุมชนคลองเตย ที่เป็นพื้นที่ที่เหลื่อมล้ำที่สุดในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเด็กจำนวนมากในชุมชนที่หลุดจากการศึกษา แต่ได้รับการแก้ไขผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าไปพัฒนาชุมชนจนเด็กและเยาวชนหลายคนสามารถมีคุณภาพทางการศึกษาที่ดีขึ้นได้

“ครูอาสาสมัครที่ทำด้วยใจ ต้องเป็นส่วนสำคัญ กรุงเทพฯ ต้องให้ความสำคัญกับส่วนนี้ เพราะถือเป็นคนที่มีใจ ตอนนี้โรงเรียนขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไว้ เราต้องลดเวลาเรียน แล้วให้เด็กได้ไปลองเรียนรู้การกระทำจริง ที่ผ่านมาเด็กเรียนเพื่อไปสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยแล้วไปเอาปริญญาเพื่อมาตกงาน เพราะโรงเรียนสอนให้ท่องสูตรคูณ สอนให้คนทำงานแข่งกับ AI ทั้งที่เรามีเครื่องคิดเลข กลับกันเราต้องสอนให้คนคิดว่าทำไม่ต้องทำแบบนั้น สอนทักษะชีวิต โรงเรียนกีฬาต้องมี เราต้องทำให้เด็กเป็นพลเมืองของโลก ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ระบบการบริหารจัดการงบประมาณและประเมินคุณภาพ ต้องให้ประชาชนร่วมคิดร่วมทำ มีสิทธิประเมินเลื่อนลดปลดย้ายข้าราชการได้”

จากแนวคิดการแก้ไขของผู้พันปุ่น ที่เป็นการเจาะเข้าไปยังมิติของเหลื่อมล้ำ การพุ่งเข้าไปยังจุดนั้น แทนการทำอย่างอื่นมากลบเกลื่อน แต่ไม่ว่าผู้ใดที่สามารถคว้าชัยในสนามเลือกตั้งผู้ว่าเมืองหลวงแห่งนี้ได้ หากได้ลงมือทำและตั้งใจ และมุ่งแก้ไขที่ปัญหาการศึกษานั้น ๆ ระบบการเรียนการสอนภายในเมืองนี้จะพลิกรูปโฉม ทุกที่เป็นแหล่งศึกษา และก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เกิดเป็นตัวอย่างส่งต่อไปยังเมืองอื่น ยกระดับการศึกษาของประเทศได้อย่างก้าวกระโดด และคำที่ผู้พันปุ่นได้กล่าวไว้ว่า โรงเรียนที่ใกล้บ้าน คือโรงเรียนที่ดีที่สุดของชุมชน ก็สามารถเป็นจริงได้