“กรุงเทพฯ จะไปต่อไม่ได้” ถ้าเด็กยากจน-เด็กชายขอบถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เสนอปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในเมืองใหญ่ โดยใช้กลไกเชิงพื้นที่ : ABE
โดย : ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการ วสศ.

“กรุงเทพฯ จะไปต่อไม่ได้” ถ้าเด็กยากจน-เด็กชายขอบถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีตั้งแต่โรงเรียนค่าเทอมหลักล้าน แต่ในช่วงเรียนออนไลน์กลับยังมีครอบครัวเด็กยากจนที่เข้าไม่ถึงแม้กระทั่งไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคเบื้องต้น พวกเขาบางคนแม้ยังมีโอกาสได้เรียนหนังสือจากนโยบายเรียนฟรี แต่ก็อยู่บนความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาทุกเมื่อ

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ถูกเขย่าให้หนักหนาขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จนเด็กที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ไปต่อไม่ได้ เมืองก็ไปต่อด้วยไม่ได้เช่นกัน

ระดมแนวคิดจาก 6 คนทำงานการศึกษา เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพมหานครให้เป็นพื้นที่แห่งการศึกษาที่เข้าถึงเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ในเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 โดยสะท้อนปัญหาและเสนอนโยบายผ่านหัวข้อ  กรุงเทพ : เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565

เมืองคอนกรีตที่แข็งแกร่ง แต่การศึกษาแสนเปราะบาง

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) และนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำในเมืองใหญ่ที่พบว่า เมืองใหญ่ทั่วไปมักมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามายาวนาน เพราะเมื่อมีภาวะทางเศรษฐกิจพ่อแม่มักย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดมาเมืองใหญ่ หรือพอเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องย้ายกลับถิ่นฐานก็ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะในกรุงเทพ ฯ ที่ภายในเมืองเดียวจะเห็นตั้งแต่โรงเรียนที่มีคุณภาพสูงมาก ไปจนถึงโรงเรียนในชุมชนยากจนที่ขาดแคลนทรัพยากร เป็นข้อเปรียบเทียบชัดเจนของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เข้มข้น 

ยิ่งความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติโควิด-19 ทำให้เด็กกลุ่มยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนคน หรือตัวเลขจากภาพรวมรายได้ต่อครัวเรือนจากที่เฉลี่ยประมาณ 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน พอช่วงโควิด-19 เหลือรายได้ลดลงเหลือประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน 

ไม่ต่างจากข้อมูลของสภาพัฒน์ที่กำหนดว่าครอบครัวของเด็กยากจนทั้งประเทศมีรายได้ต่ำกว่า 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ว่าครอบครัวนักเรียนยากจนในกรุงเทพ ฯ มีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือน ดังนั้นเด็กยากจนของกรุงเทพฯ จนกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ หรือต่ำกว่าเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์ระบุไว้เสียอีก เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ต้องออกไปช่วยครอบครัวหารายได้ 

ใช้โมเดลการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ระดมทุกฝ่ายเยียวยาเมืองหลวง

“ในกรุงเทพฯที่คิดว่าเด็กจะเข้าถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทางการศึกษา แต่จากการลงพื้นที่สำรวจเด็กยากจนพิเศษ 1,408 คน มี 4% ที่ยังใช้น้ำบาดาล, 59% ไม่มีโทรทัศน์ , ในช่วงเรียนออนไลน์ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์มีเด็กยากจนพิเศษแค่ 7 คนที่มีคอมพิวเตอร์ และยังมีเด็ก1.7% ที่ไม่มีไฟฟ้า” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว

ทั้งนี้เมื่อศึกษาจากการทำงานใน 20 จังหวัดนำร่องที่ใช้กลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเห็นผล พบว่าหลายจังหวัดมีขนาดพื้นที่ และสภาพปัญหาคล้ายคลึงกับกรุงเทพฯ ดร.ภูมิศรัณย์ จึงเสนอให้นำมาโมเดลนี้มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เมืองหลวงไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อว่า “กลไกนี้เชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาหรือการดูแลเด็กและเยาวชนมาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ผู้บริหาร ผู้ว่าฯ ทีมสหวิชาชีพ อสม.ทางการศึกษา ครู ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น สถานพินิจ คลินิกแพทย์ หรือศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือเด็กหลุดออกนอกระบบได้ โดยเครือข่ายอาจเข้าไปช่วยตามเด็กที่บ้านกับพ่อแม่จนสามารถกลับเข้าสู่โรงเรียน หรือช่วยติวช่วยสอนเด็กในชุมชนเพื่อเติมเต็มความรู้ให้เด็กที่มีความรู้ถดถอยได้”

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เดินไปด้วยกันทั้งองคาพยพ

แต่ปัญหาที่มากไปกว่าความรู้ถดถอย คือสภาพจิตใจที่พบว่าเด็กไม่มีความสุขจากการเรียน จนเป็นตัวเลขเด็กฆ่าตัวตายสูงขึ้น แต่ประเทศไทยยังให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย เพราะจากระบบที่พบในต่างประเทศจะมีนักสุขภาพจิตในโรงเรียนแต่ละแห่งสูงกว่าของประเทศไทยมาก ซึ่งภาคนโยบายควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนนักสุขภาพจิตสำหรับเด็ก โดยเฉพาะในห้วงที่พวกเขาจะต้องเรียนออนไลน์ และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครูมากพอ

การอุดช่องว่างทางความเหลื่อมล้ำ จะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าไม่ลืมว่ากรุงเทพฯมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งเป็นข้อดีที่สามารถจัดการศึกษาในรูปแบบของตนเองได้อย่างอิสระ ดังที่จะเห็นในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งสิงคโปร์ หรือฟินแลนด์ ที่เมื่อท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการได้ในแง่งบประมาณหรืออำนาจในการบริหาร ก็จะสามารถทำในสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นได้

“การจัดการศึกษา กทม.สามารถทำได้เอง เช่นในเรื่องกฎระเบียบอาจใช้ของกระทรวงเป็นแค่ไกด์ไลน์ และทำตามที่คนกรุงเทพฯเห็นสมควร ซึ่งจะทำให้พื้นที่หรือชุมชนต่างๆ รวมถึงหน่วยงานมีศักยภาพในการทำงานร่วมกันได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะถ้ามีการเชื่อมโยงข้อมูลกันจะลดความซับซ้อนและแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้อย่างตรงจุด” 

ดร.ดร.ภูมิศรัณย์ ยังย้ำว่าอีกสิ่งหนึ่งที่กรุงเทพมหานครจะต้องไม่ลืมคือเด็กยากจนในชุมชนแออัด หรือเด็กชายขอบ เป็นตัวแปรสำคัญของความมั่นคงยั่งยืนในกรุงเทพฯ  ดังนั้นการขับเคลื่อนทางการศึกษาจึงไม่ใช่เพื่อเด็กกลุ่มกระแสหลักเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงพวกเขา เพื่อให้ทั้งองคาพยพในเมืองหลวงแห่งนี้เดินต่อไปด้วยกันได้