KAREN Model: ดึงบทเรียนสู่ท้องทุ่ง สร้าง “ความรู้” ​เชื่อมกับวิถีชีวิตและชุมชน ทักษะวิชาการ + ทักษะอาชีพ สู่ ทักษะชีวิต

KAREN Model: ดึงบทเรียนสู่ท้องทุ่ง สร้าง “ความรู้” ​เชื่อมกับวิถีชีวิตและชุมชน ทักษะวิชาการ + ทักษะอาชีพ สู่ ทักษะชีวิต

จากแนวคิด “โคก-หนอง-นา โมเดล” ที่สอดแทรกเนื้อหาการเรียนการสอน บูรณาการตัวชี้วัดตามมาตรฐานแกนกลางซึ่งเคยสอนในห้องเรียน ประยุกต์สู่การเรียนรู้แบบ Active Learning เน้นการลงมือปฏิบัติเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบตัว สอดรับกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ จนกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ให้กับรูปแบบการเรียนการสอนซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับนักเรียนโรงเรียนอีมาดอีทราย จังหวัดอุทัยธานี

​แต่ทั้งผู้บริหารและคุณครูในโรงเรียนไม่ได้หยุดการพัฒนาไว้แค่นั้น ทั้งหมดยังคงร่วมกันช่วยกันคิดต่อยอด จนนำมาสู่ “KAREN Model” รูปแบบการเรียนการสอนที่ออกแบบมาให้สอดรับกับชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ผู้เติบโตมากับวิถีการเกษตรของผู้ปกครอง ​รวมทั้งการสอดแทรกการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้กับนักเรียนไปพร้อม ๆ กัน

โรงเรียนบ้านอีมาดอีทรายนับเป็นหนึ่งในตัวอย่างโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จจากโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี​ที่มาช่วยพัฒนา

Active Learning เน้นลงมือปฏิบัติ
มีความสุขและกระตือรือร้นมากขึ้น

ผอ.ดิเรก ศรีสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอีมาดอีทราย เล่าให้ฟังว่า จากการเรียนในห้องแบบเดิม ๆ อย่างการบรรยาย แล้วสั่งงานให้ทำ ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนได้มากนัก หลายคนไม่รู้ว่าเรียนแล้วจะไปทำอะไร จึงเริ่มจากการ​จัดกิจกรรมการเรียนรู้ เชื่อมเข้ากับการเกษตรแบบครบวงจร ในรูปแบบของปรับดี-ปลูกดี-แปรดี ตั้งแต่การปรับดิน ทำปุ๋ย มาสู่การปลูกป่า 5 ระดับ ตั้งแต่ป่าสูงเพื่อใช้ไม้สร้างบ้าน ไปจนถึงพืชที่ใช้เป็นอาหาร สมุนไพร ​มาสู่การแปรรูปผลผลิตสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ฟักทองที่ราคาไม่ดีก็นำมาทำขนม

“ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิงที่เด็กจะได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำแล้วก็มีความสุข ไม่เครียด เด็กแต่ละคนจะมีความกระตือรือร้นเพิ่มขึ้น กล้าขึ้น สมัยก่อนเด็กไม่กล้าพูด บางคนพูดไม่ชัดก็ไม่กล้าพูด แต่พอทำให้การเรียนเป็นแบบธรรมชาติ พูดผิดก็ไม่เป็นไร ปรับการเรียบเรียงประโยคใหม่ ให้เขาได้ฝึกทำ ฝึกนำเสนอความคิดของเขา เขาก็ทำได้ดีขึ้น ในส่วนของครูเองก็จะมีกระบวนการปรับประยุกต์เทคนิคการเรียนการสอนมาสู่การให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติมากขึ้น”

ดึงปราชญ์ชาวบ้านร่วมให้ความรู้นอกห้องเรียน
ผนึกกำลังชุมชนดูแลบุตรหลาน

อีกจุดเด่นที่เปลี่ยนไปคือการได้ผนึกกำลังกับชุมชน ดึงปราชญ์ชาวบ้าน คนที่มีความรู้ในพื้นที่มาร่วมเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้นอกห้องเรียนให้กับเด็ก ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เขามีทักษะอาชีพติดตัว และเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว การทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชนยังนำไปสู่การสนับสนุนดูแลช่วยเหลือ​เด็ก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเวลามีปัญหา ไม่มาโรงเรียน ก็จะสามารถสอบถามหรือฝากฝังให้คนในชุมชนช่วยติดตามดูแลเด็ก ๆ  ถือเป็นผลพลอยได้ไปโดยอัตโนมัติ

เคล็ดลับความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการทำงานที่มีการดำเนินการชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งโรงเรียน  ครูจรรยา จันทร ครูโรงเรียนบ้านอีมาดอีทราย อธิบายว่า คุณครูที่โรงเรียนจะช่วยกันจัดทำแผนการเรียนการสอนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เน้นการลงมือปฏิบัติ ​มีเกม ทำให้เด็กกล้าสื่อสาร กล้าพูด จนเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง เด็กมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อกิจกรรมมากขึ้น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความสนุก กล้าแสดงออกแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น ตอนทำกิจกรรมปุ๋ยหมัก บ้านใครที่เคยทำ เขาก็จะกล้าแสดงความคิดเห็น แชร์ประสบการณ์ให้เพื่อน ๆ ได้ฟัง

โดยขั้นตอนการปฏิบัติจะมีชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพหรือ PLC ทั้งส่วนของผู้บริหารที่จะเน้นไปยังเรื่องการบริหารความเสี่ยงและกระตุ้นติดตาม ขณะที่ในส่วนของครูจะเน้นการลงมือปฏิบัติไปยังตัวนักเรียน ทั้ง ทักษะวิชาการ ความรู้ความสามารถตามมาตรฐานของ สพฐ. และการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์หรือ Outcome-based Learning ทักษะชีวิต คุณธรรม อัตลักษณ์ วินัย ซื่อสัตย์ จิตอาสา และทักษะอาชีพ ที่รวมทั้ง “โคก-หนอง-นา” และปรับดี-ปลูกดี-แปรดี เข้าไว้ด้วยกัน ควบคู่ไปกับห้องเรียนอริยะที่เน้นให้เด็กคิด เด็กนำ เด็กทำ ไปจนถึงการให้เด็กได้นำเสนอ ทบทวน และบันทึก ทิศทางทั้งหมดมาจากการหารือร่วมกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง หรือชุมชนที่เข้ามามีส่วนสะท้อนความคิดเห็นว่า ต้องการให้รูปแบบการเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางใด

ค้นหาและปรับการเรียนการสอน
ให้เด็กทุกคนต้องได้เรียนรู้เท่ากัน

ครูจรรยาอธิบายว่า ปัจจุบันครูมีแผนการสอนที่เน้นลงมือปฏิบัติ มีเกมสอดแทรกให้ไม่น่าเบื่อ เด็กก็จะให้ความร่วมมือ ไม่หนีไปจากห้องเรียน ตรงนี้เห็นผลได้ชัด โดยเฉพาะเด็กประถมที่เด็กสนุกและได้ความรู้ไปด้วย ในขณะที่เมื่อเห็นผลแล้วก็ทำให้ครูอยากปรับเปลี่ยน เพราะครูก็สนุกไปด้วยว่าจะสอนเด็กแบบไหน สอนไปสัปดาห์หนึ่งก็จะมาพูดคุยกันเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น สอนแล้วมีเด็กคนหนึ่งยังไม่สนใจ ก็มาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ ในวง PLC ครูจะช่วยเสนอแนวทางหลาย ๆ แนวทาง ทำให้ครูเรียนรู้ไปด้วยกัน

“เด็กทุกคนต้องได้เรียนรู้เท่ากัน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นอย่างไร จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะชอบหรือไม่ชอบ เด็กทุกคนมีความสำคัญหมด และเด็กแต่ละคนชอบวิธีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน รูปแบบที่ได้ผลกับเด็กกลุ่มหนึ่งอาจไม่ได้ผลกับเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ครูจึงต้องปรับวิธีการสอน หารูปแบบที่เขาจะสนใจ ก็ต้องไปหาวิธีและลองมาปรับใช้ ครั้งแรกยังไม่ได้ผลก็ค่อย ๆ ปรับต่อไป ยิ่งเด็กมัธยมที่เริ่มโตหน่อยก็จะมีความคิดเป็นของตัวเอง เราจึงต้องมีความรู้ด้านจิตวิทยา โน้มน้าวเด็กให้ร่วมทำกิจกรรม ต้องหาความรู้เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนแบบเสมอภาคเท่าเทียมกัน”   

ครูโรงเรียนบ้านอีมาดอีทรายยืนยันว่า แม้โรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากร อาจจะเสียเปรียบเด็กในเมืองเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีที่เรียนรู้และเข้าถึงยาก แต่สำหรับการเรียนรู้ในด้านอื่น เด็ก ๆ ที่นี่สามารถเรียนรู้ได้ทัดเทียมกับที่อื่น โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนนั่นเอง