แทนที่ “ไม้เรียว” ด้วยจิตศึกษา สร้างสนามพลังบวกเพื่อการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

แทนที่ “ไม้เรียว” ด้วยจิตศึกษา สร้างสนามพลังบวกเพื่อการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ความเชื่อในอดีตที่ทำให้คุณครูหลายคนเคยคิดว่า “ไม้เรียว” เป็นคำตอบสุดท้ายที่จะช่วยกระตุ้นนักเรียนให้อยู่ในกรอบระเบียบวินัยและช่วยดึงให้พวกเขาหันมาตั้งอกตั้งใจเรียน แต่ในปัจจุบันความเชื่อนี้จากจะไม่เป็น “ผลดี” แล้ว อาจยังส่ง “ผลเสีย” ต่อเด็กๆ รุนแรงถึงขั้นทำให้พวกเขาไม่อยากมาโรงเรียนและต่อต้านการเรียนรู้ในที่สุด 

โรงเรียนบ้านเขาชะโงก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นวัตกรรม “จิตศึกษา” ที่สอนให้เด็กรู้จักกำกับดูแลตัวเอง และการสร้างสนามพลังบวกในโรงเรียนจะกระตุ้นให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและพร้อมที่จะเรียนรู้ได้ดีกว่าการถูกบังคับ 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ ที่มีเป้าหมายเข้าไปสร้างต้นแบบแนวทางการพัฒนา “คุณภาพ” การศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศ 

เปลี่ยนบทบาทครูจากผู้บอกความรู้เป็น “โค้ช”

ขำ แสงจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเขาชะโงก เล่าให้ฟังว่า หลังจากเข้าโครงการ TSQP โดยได้ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรเข้ามาเป็นทีมโค้ช นำนวัตกรรมการเรียนการสอนจาก “มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา” มาเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งจิตศึกษา, หน่วยบูรณาการ PBL (Problem Based Learning) และ PLC (Professional Learning Community) ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

“สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดคือการเรียนการสอนที่เปลี่ยนจาก Passive มาเป็น Active Learning ทั้งหมด ครูที่เคยทำหน้าที่เป็นผู้บอกความรู้ ก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็นโค้ชกระตุ้นสร้างการเรียนรู้ ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง”​

หัวใจสำคัญที่มีความสำคัญมากคือ “จิตศึกษา” ที่ส่งผลทั้งต่อลักษณะนิสัยและทักษะวิชาการ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งเมื่อผู้บริหารและครูเปิดใจยอมรับไปดำเนินการแม้จะเพียงแค่ไม่กี่เดือน แต่ก็เห็นผลความเปลี่ยนแปลงได้พอสมควร

เริ่มจากเปลี่ยน Mindset กระตุ้นการกำกับตัวเอง

“เราเคยพยายามเปลี่ยนแปลงมาตลอด 10 ปี แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนได้มาลองตรงนี้ปุ๊บ ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เช่น เรื่องการสร้างสนามพลังบวกที่ทำให้เด็กรู้สึกถึงความปลอดภัย”

 จากเดิมที่เป็นเรื่องของการบังคับใช้ไม้เรียว ทั้งที่ครูก็ปรารถนาดี แต่พอเปลี่ยนมายด์เซตว่ากรอบความคิดแบบเดิมๆ มันใช้ไม่ได้กับปัจจุบันและหันมาใช้จิตศึกษาที่เน้นเรื่องการกำกับตัวเอง การกระตุ้นให้เด็กได้คิดอย่างมีเหตุมีผล รู้สึกเปิดใจ และไม่มีการไปชี้ผิดชี้ถูกในสิ่งที่พวกเขาคิด การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น

ความแตกต่างในครั้งนี้คือเรื่องของ “กระบวนการ” ​ที่มีความชัดเจน ช่วยให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น

“นับเป็นโชคดี ที่ไม่ต้องลองผิดลองถูก แต่มีโค้ชมาช่วยพัฒนาปรับเปลี่ยน แค่เปิดใจเรียนรู้และลงมือไปตามขั้นตอน ก็จะเริ่มเห็นผลว่าดีขึ้น เช่น กระบวนการจิตศึกษาที่ต้องเริ่มจากการสร้างบรรยากาศ ความสบายใจ การได้รู้สึกผ่อนคลาย มี Brain Gym หรือการบริหารสมอง กระตุ้นความคิดด้วยการใช้คำถาม ผ่านกระบวนการชง เชื่อม ใช้ เริ่มจากการเล่าเรื่องยกตัวอย่างสถานการณ์ เชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่อยู่รอบตัว และการประยุกต์ไปใช้ในชีวิตจริง”

ส่งเสริมการฝึกควบคุมตัวเองแทนการบังคับ

“ก่อนหน้านี้ครูจะไม่ค่อยสนใจเรื่องการสร้างสนามพลังบวก เด็กมาโรงเรียนตอนเช้าก็จะคอยถามว่าวันนี้เวรใคร ทำไมไม่ทำเวร กิจกรรมหน้าเสาธงก็เป็นการตำหนิ จับผิดไปหมด พอเข้าเรียนก็ถามว่าใครไม่ทำการบ้านให้ออกมาหน้าชั้นและลงโทษ สถานการณ์เหล่านี้ยิ่งชวนไม่ให้อยากไปโรงเรียน  พอได้เปลี่ยนมาเป็นใช้จิตศึกษา ก็จะเป็นเรื่องการดูแลสถานที่  เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ร่มรื่น ปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน รวมถึง ผอ.ด้วย ที่ต้องจับไม้กวาด ไม้ถูพื้น ไปช่วยกันเก็บขยะ พานักเรียนทำ  ก่อให้เกิดความสัมพันธ์แนวราบ ไม่ใช่แนวดิ่ง” 

หลักของการสร้างสนามพลังเชิงบวกต้องไม่ใช่การบังคับ  แต่เน้นทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างและไม่ใช่เป็นการเสแสร้งแกล้งทำ แต่เป็นการทำจนเป็นปกติวิสัย ให้เห็นว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน 

การเข้าแถวเคารพธงชาติ ก็ต้องเปลี่ยนจากแต่ก่อนที่ต้องร้องเพลงเสียงดังๆ เป็นการไม่บังคับ ไม่ยืดเยื้อ ไม่ต้องใช้ไม้เรียว  แต่ฝึกให้เด็กรู้จักตัวเอง หากฝึกบ่อยๆ ก็จะเป็นคุณลักษณะที่เป็นประโยชน์ในการควบคุมตัวเองได้เป็นอย่างดี

เลิกตักความรู้ใส่ปาก เน้นให้เด็กสังเคราะห์ความรู้ด้วยตัวเอง

เดิมทางโรงเรียนเคยมีความคิดว่า “เรียนน้อยได้น้อย เรียนมากได้มาก” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับพบว่า เรียนมากไม่ได้หมายความว่าต้องได้มาก อีกทั้งเรียนแล้วบางครั้งไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ 

นำมาสู่การเรียนแบบหน่วยเรียนรู้ PBL ที่บูรณาการแต่ละสาระวิชาเข้าด้วยกัน จาก 8 สาระวิชา จะแยกภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ออกมาเรียนต่างหาก ส่วนอีก 5 สาระวิชาที่เหลือ จะมาบูรณาการเป็นหน่วยเรียนหนึ่งหน่วย 

​ เน้นการเรียนผ่านการทำกิจกรรม ไม่เน้นท่องหนังสือ สิ่งที่สะท้อนว่าเด็กได้เรียนรู้และเข้าใจคือ ความสามารถที่จะสรุปออกมาเป็นผังความคิดหรือมายด์แม็ป  เชื่อมโยงแต่ละประเด็นได้ 

“ก่อนหน้านี้การสอนจะคล้ายกับให้เด็กอ้าปาก รอครูตักใส่ปาก ครูเป็นคนคอยบอกความรู้ให้นักเรียน ให้นักเรียนจำ แต่ตอนนี้ไปเปลี่ยนไปเป็นฝึกให้เขาสังเคราะห์ความรู้ด้วยตัวเอง  การกระตุ้นด้วยคำถาม การฝึกหาข้อมูล การแก้ปัญหา 

เริ่มเปลี่ยนจากคุณครูก่อน  สร้างความเข้าใจว่าการสอนที่เคยทำมาใช้กับปัจจุบันไม่ได้ 

“ความรู้มีมากมายในอากาศ อย่าคิดว่าครูรู้ทุกเรื่อง บางเรื่องเด็กรู้มากกว่าครู ครูต้องเปลี่ยนให้เด็กไปแสวงหาความรู้เหล่านั้น หรือเมื่อมีปัญหา ครูจะเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างไร” 

เด็กทุกคนได้งอกงามตามวิถีของตัวเอง

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาชะโงกอธิบายเสริมว่า ทางทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยนเรศวรจะมาเป็นพี่เลี้ยงอบรมที่เป็นคอร์สหลักให้ จากนั้นแต่ละคนก็จะไปหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ ยูทูบ 

“ครูแต่ละคนไม่ใช่ต่างคนต่างเปลี่ยน แต่เป็นการเปลี่ยนทั้งระบบพร้อมกัน ช่วยกันเปลี่ยนผ่าน PLC ที่พูดคุยกันทุกสัปดาห์ จะไม่เอาปัญหามาพูดกัน เพราะจะเกิดความท้อแท้ แต่จะเอาความสำเร็จงอกงามมาคุยกัน​ 

“ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นช่วยยืนยันว่าสิ่งที่ทำมานั้นถูกทางแล้ว แม้แต่เด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ ที่หากเป็นการเรียนรู้แบบเดิมๆ เขาก็จะไม่สามารถแสดงความสามารถได้เพราะเอาคะแนนเป็นตัววัด ใครทำคะแนนได้ดีคนนั้นเก่ง เด็กเรียนรู้ช้าเลยเสียโอกาส แต่พอเรียนรู้แบบใหม่ เขาก็ได้แสดงความสามารถ ได้รับการยอมรับ หลายคนวาดรูประบายสีเก่ง บางคนมีทักษะการถ่ายทำ ตัดต่อคลิป จนเพื่อนยอมรับ เด็กเก่งก็จะได้รับการต่อยอดให้เก่งยิ่งขึ้น ทุกคนจะเกิดความงอกงามตามวิถีของตัวเอง” 

การเข้าร่วมโครงการ TSQP กับ กสศ. ทำให้เกิดผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งลักษณะนิสัยของนักเรียนและการเรียนรู้ที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ตั้งแต่ตัวผู้บริหาร คุณครู ไปจนถึงตัวนักเรียน  ซึ่งยังจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป