3 ผู้บริหารโรงเรียน กล้า บ้าบิ่น ดึงพลังครู มุ่งเป้าหมายผลลัพธ์ “ผู้เรียน” เรียนรู้อย่างมีความสุข

3 ผู้บริหารโรงเรียน กล้า บ้าบิ่น ดึงพลังครู มุ่งเป้าหมายผลลัพธ์ “ผู้เรียน” เรียนรู้อย่างมีความสุข

วันที่ 17-19 มกราคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงพื้นที่เชียงใหม่เยี่ยมโรงเรียนเป้าหมายในภาคเหนือรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ภายใต้โครงการสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคตจำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านสันทรายคองน้อย โรงเรียนบ้านขุนแปะ และโรงเรียนบ้านศาลา

โรงเรียนบ้านสันทรายคองน้อยและบ้านขุนแปะตั้งอยู่ในพื้นที่ยากลำบาก เด็กนักเรียนเกือบ 100% ไม่มีสัญชาติไทย ส่วนโรงเรียนบ้านศาลา แม้จะอยู่ในเขตเมืองแต่ฐานะครอบครัวมีความยากจน

แต่ทั้ง 3 โรงเรียน ถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีผลการดำเนินงานในการพัฒนาตนเองที่โดดเด่น เพราะมีการทำ School Goal ระบบสารสนเทศ Q-Info ที่โดดเด่นมาก มีการสร้างเครือข่าย พัฒนาแล้วเห็นผลในตัวผู้เรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนมีความเป็นผู้นำในการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอน สามารถนำความรู้และนวัตกรรมไปดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน 

“การนำนวัตกรรมโครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน หรือ Community Innovation Project (CIP) ซึ่งเป็นกระบวนการ Project Approach มีจุดเด่นคือ การเชื่อมโยงชุมชนและสภาพแวดล้อมสู่ห้องเรียน โดยให้ผู้เรียนสำรวจชุมชนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ก่อนออกแบบหัวข้อในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนมีอิสระเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ มีความเป็นเจ้าของโครงการ และครูจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ กระตุ้นการคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์ ทำให้ผู้เรียนสามารถออกแบบนวัตกรรม ที่ช่วยพัฒนาชุมชนของตนเองได้”  นางสายสุณี อินจันทร์ ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ โรงเรียนบ้านสันทรายคองน้อยกล่าว

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้จัดการโครงการ ฯ

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้จัดการโครงการสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง กล่าวว่า โรงเรียนพัฒนาตนเอง มีกรอบการทำงานต่อเนื่อง 3 ปี โดยรุ่นที่ 1 เริ่มดำเนินการในปี 2562 และรุ่นที่ 2 ปี 2563 แม้โครงการจะจบลงไปแล้ว แต่ด้วยความคาดหวังในการทำงานร่วมกัน สิ่งที่ได้เรียนรู้ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในการร่วมกันดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนา เชื่อได้ว่าโรงเรียนจะสามารถนำความรู้และนวัตกรรมไปดำเนินการต่อเนื่องได้

จุดเด่นและปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองประสบความสำเร็จ เริ่มมาจากผู้บริหารโรงเรียนที่มีความเป็นผู้นำ มีความกล้า บ้าบิ่น ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาโรงเรียน เพราะผู้บริหารเปิดใจรับนวัตกรรมการพัฒนาโรงเรียนทำให้การขับเคลื่อนภายในโรงเรียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 

โรงเรียนต้องมีผู้บริหารระดับรองฝ่ายวิชาการที่เข้มแข็งในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตนเอง ต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับโครงการต่าง ๆ ที่เข้ามาในโรงเรียน กล้าที่จะปฏิเสธหรือปรับเงื่อนไขการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน โดยให้ความสำคัญกับตัวนักเรียนมากที่สุด ดังนั้น ถึงแม้โครงการใด ๆ จะสิ้นสุดไปแล้ว ก็จะไม่มีผลกระทบต่อนักเรียนกลุ่มนี้” นางเพ็ญพรรณ กล่าว

กล้าคิด กล้าเปลี่ยน เห็นผล จนโรงเรียนกลายเป็นสถานที่เปี่ยมสุข

โรงเรียนบ้านสันทรายคองน้อยเริ่มทำโครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน (CIP) ครั้งแรกกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และเริ่มขยายผลการพัฒนา ไปพร้อม ๆ กับที่กระบวนการ PLC ของ สพฐ. กำลังมาแรง ครูแต่ละช่วงชั้นผนึกกำลังระดมสมองเพื่อขับเคลื่อนนโยบายในทุกระดับชั้น จนทั้งโรงเรียนขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ และ ณ ปัจจุบันก็มีโจทย์เรื่องหลักสูตรท้องถิ่น ชาติพันธุ์รักตนเอง ซึ่งโรงเรียนจะแจกการบ้านให้นักเรียนชั้นประถมปลายและมัธยม ลงไปหาความรู้ในชุมชน เพื่อให้เข้ากับธีมของ CIP ที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว

นายณัฐพล เงินใส ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันทรายคองน้อย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 กล่าวว่า ก่อนที่ตนจะย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันทรายคองน้อย โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองอยู่แล้ว คณะครูมีทักษะพื้นฐานในการสอนนักเรียน จัดการเรียนการสอนและปรับใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็ก ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้คณะครูทุกคนทำข้อตกลง ว.PA กับผู้บริหาร ดังนั้น จึงสัมผัสได้ถึงพลังการทำงานของครูในการเข้าร่วมโครงการ TSQP ไม่ว่าจะเป็นการนำนวัตกรรมโครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน หรือ CIP ของมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ซึ่งเป็นกระบวนการ Project Approach ที่มีจุดเด่นในการเชื่อมโยงชุมชน และสภาพแวดล้อมเข้าสู่ห้องเรียน ผู้เรียนมีอิสระที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ มีความเป็นเจ้าของโครงการ และครูจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ กระตุ้นการคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์

นายณัฐพล เงินใส ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันทรายคองน้อย

เมื่อครูเข้มแข็ง นักเรียนก็เข้มแข็งตามไปด้วย ครูทุกคนของโรงเรียนบ้านสันทรายคองน้อย เรียนรู้  CIP ทุกคนจนเห็นผลในปี 2563-2564 มีการจัดแสดงนิทรรศการนักเรียน เชิญโรงเรียนที่อยู่ในโครงการเดียวกันมาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แม้แต่ในช่วงโควิด-19 คุณครูก็ยังไม่ทิ้งนวัตกรรมนี้ไปแม้ต้องตกอยู่ในข้อจำกัด

“เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปีแรกมีความสุข เพราะตัวกระบวนการได้ถูกปลูกฝังไปกับตัวเด็ก และเด็กได้นำไปใช้ต่อ เด็กที่จบไปแล้ว 2 รุ่น ก็ไปเรียนต่อสายวิทย์ฯ ห้องเรียนพิเศษ ไปทำโครงงานต่อ เพราะได้รับการปูพื้นฐานไว้มาก นี่คือความภาคภูมิใจของโรงเรียนที่ได้ปลูกฝังทัศนคติด้านนวัตกรรมให้ติดตัวเด็กไป 

อีกความภาคภูมิใจหนึ่ง คือการที่ครูนำกระบวนการนวัตกรรมโครงการ CIP มาใช้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลสถานศึกษาขนาดกลางในเรื่อง Active Learning เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566” นายเมธาสิทธิ์ ศิริสิทธิ์ ครูกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กล่าว

นางสายสุณี อินจันทร์ ครูชำนาญการพิเศษ กล่าวเสริมผู้อำนวยการโรงเรียนว่า CIP เป็นการจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างความภาคภูมิใจอย่างมาก เพราะส่งผลกับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ครูทุกชั้นได้ส่งโครงงานของนักเรียนเข้าแข่งขันและได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคเนื่องจากผลลัพธ์ของนวัตกรรมทำให้เด็กได้กระบวนการในเรื่องการทำโครงงานทั้งระดับประถมและมัธยม จากเด็กที่ขี้อาย พูดไม่เก่ง เมื่อได้นำเสนองาน ก็พบว่าเป็นเพชรเม็ดงาม ขอแค่ต้องมีเวทีให้เขาแสดง  ซึ่งผู้อำนวยการก็สนับสนุนให้เด็กทำกระบวนการอย่างเต็มที่

“เราโชคดีที่ ผอ. ให้การสนับสนุนและเปิดใจรับสิ่งใหม่ ให้ครูทำได้ทุกอย่าง งบประมาณไม่มีก็จัดการให้ ครูส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในวัยเดียวกัน ทั้งยังทำให้ตนเองเป็นต้นแบบในการพัฒนา และพยายามให้ครูเห็นความงอกงาม เห็นผลลัพธ์ของเด็ก ทำงานเพื่อองค์กร เพื่อโรงเรียน เพื่อเด็ก สุดท้ายอานิสงค์ก็เกิดขึ้น ความสุขก็เกิดขึ้นทั้งโรงเรียน ครู นักเรียนไปที่ไหนก็มีแต่คนรู้จัก มีความสง่าผ่าเผย ในช่วงแรก Q-Info ได้รับการต่อต้านมากที่สุด แต่ตอนนี้ Q-Info กลับช่วยครูและโรงเรียนได้มาก” ครูสายสุณีกล่าว

โรงเรียนที่เป็นตัวของตัวเอง เดินทางร่วมกัน ไม่มีใครไปเพียงลำพัง

เมื่อโครงการฝึกให้ครูได้คิดได้ออกแบบการเรียนรู้สู่ตัวเด็ก การออกแบบของครูก็สื่อสารกับเด็กไปในตัว เมื่อเด็กกับครูได้คุยกันก็ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ที่เด็กอยากเรียนผ่านกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนของครู  

“เด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ครูก็ได้แก้ปัญหา ได้พัฒนาการออกแบบ

จะสำเร็จหรือไม่ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือเด็กได้ลงมือทำ พอลงมือทำสำเร็จก็มีความภาคภูมิใจ แต่ถ้าเกิดปัญหา ครูกับเด็กก็คุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น จะทำอย่างไรให้สำเร็จ ผลลัพธ์ที่ออกมา ก็เป็นความภูมิใจของเด็ก

นางรัชนี ต๊ะคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขุนแปะ

ในฐานะผู้นำ ผู้อำนวยการโรงเรียน เราไม่มีหลักสูตร วิธีการ ไม่มีขั้นตอน 1 2 3 แต่เราใช้กระบวนการชวนคิด ชวนทำ และทำไปด้วยกัน เพราะสิ่งที่สำคัญคือ เราต้องรู้ก่อน อาจจะไม่รู้ทั้งหมดก็ได้ แต่เมื่อลงมือทำด้วยกัน เราก็รับผิดชอบปัญหาร่วมกันไปได้ เราไม่มีทางตรงทางเดียวหรือถนนเส้นเดียว ถ้าครูไม่ไหวในบางเวลา ก็ต้องหาว่าหน่วยการเรียนรู้ไหนมีวิชาบูรณาการบ้าง ครูสามารถถอยได้ เพราะครูรู้คำตอบในการกระบวนการเรียนการสอนดีที่สุด เราทำงานแบบเพื่อน ไม่มีระบบการสั่งการ” นางรัชนี ต๊ะคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขุนแปะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 6 กล่าว

นางรัชนี กล่าวต่อไปว่า โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง สอนให้เด็กได้ฝึกคิดในกระบวนการที่ได้เรียน ครูไม่ได้มอบให้ทั้งหมด เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องช่วยกันแก้ไข อีกทั้งโรงเรียนมีการพัฒนาผู้เรียนเรื่องโครงงานคุณธรรม ซึ่งสอนเรื่องวินัย เวลา และความรับผิดชอบ 

เมื่ออยู่ในห้องเรียน กระบวนการจัดการเรียนการสอนจะง่ายขึ้น จุดเด่นที่เกิดขึ้นที่เป็นรูปธรรม คือความรับผิดชอบ เมื่อมอบหมายงานแล้ว เด็กสามารถทำงานเดี่ยวหรือทำงานกลุ่มได้ ครูให้เด็กไปลงมือทำเอง มาคุยกันต่อเมื่อมีปัญหา สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือ การดูแลตนเองและความรับผิดชอบของเด็ก

โรงเรียนบ้านขุนแปะพบเจอข้อท้าทายกับโครงการฯ รุ่นแรกเนื่องมาจากการขาดความชัดเจนในตัว Core learning outcome ซึ่งผู้อำนวยการฯ เข้าใจดีว่าต้องพัฒนาร่วมกันไปเรื่อย ๆ จนพบเจอแนวทางของตัวเอง School Goal ที่ชัดเจนอยู่แล้วคือจุดแข็งที่จะขับเคลื่อนองคาพยพนี้ต่อไปได้ในอนาคต

นางนงคราญ จันทร์วัน ครูกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์

นางนงคราญ จันทร์วัน ครูกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ก่อนที่จะรับโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองเข้ามาดำเนินการ โรงเรียนมีการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการอยู่แล้ว ครูแต่ละวิชาจะมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน 

“ครูเราไม่ไปเพียงลำพัง แต่เราทำงานเป็นทีมไปด้วยกันในการดึงเด็กเข้ามาสนใจ ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ ครูก็จะต่อยอดแต่ละวิชาให้เกิดวง PLC ขึ้นเรื่อย ๆ แนวทางนี้ทำให้ครูได้เห็นเด็กรายคน ใครมีปัญหาอะไรบ้าง ครูวิชาอื่น ๆ ก็จะแก้ปัญหาร่วมกัน เมื่อครูพร้อม ใจพร้อม ตกลงร่วมกัน เราก็จะนำสิ่งที่ได้ทั้งหมดผนวกออกมาเป็นรูปแบบเดียวกันกระจายไปทั้งโรงเรียน” ครูนงคราญกล่าว

ครูที่โรงเรียนบ้านขุนแปะส่วนใหญ่จะเป็นครูใหม่ เพราะครูอยู่ 2 ปี ก็ขอย้าย โรงเรียนไม่เน้นการส่งเด็กไปประกวด

บริบทท้าทายนี้เป็นของโรงเรียนบ้านขุนแปะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 6 โรงเรียนได้ปรับแนวคิดของครูให้มีความเข้าใจหลักของการออกแบบการเรียนรู้เพื่อสอดรับกับตัวชี้วัด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของโรงเรียน 

ผลสะท้อนของการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง และสิ่งที่ทำให้มีความสุขที่ผู้อำนวยการฯ พบคือ ครูมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น การที่ครูมาทำงานแต่เช้า ภาพที่ไม่มีการสั่งการแล้วค่อยทำ ครูทำโดยธรรมชาติจากข้างใน ผอ. ไม่อยู่ก็ไม่ต้องเป็นกังวล เกิดความไว้ใจและความเชื่อขึ้นโดยอัตโนมัติ

“จากสถิติการมาโรงเรียน เราเห็นว่าพอเวลา 6 โมงเช้า เด็กจะมาเต็มโรงเรียนแล้ว เด็กอาจจะไม่ได้พูด แต่สิ่งที่เห็นคือ เด็กมาโรงเรียนแต่เช้าเกือบครบทุกห้องทุกชั้นเรียน ครูก็ไม่เคยลาเลยหากไม่มีธุระสำคัญ” นางรัชนีกล่าว

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้จัดการโครงการสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ว่า ทีมบริหารโครงการฯ ทำหน้าที่แทน กสศ. ในการดูแลบริหารชุดโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เพื่อดำเนินโครงการรุ่น 1 และ รุ่น 2 โดยพิจารณาดูว่า ทีมโค้ชของเครือข่ายมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคตลงมาทำงานกับโรงเรียนอย่างไร 

“เราทำหน้าที่สนับสนุนโค้ชในการทำงานกับโรงเรียนและการสื่อสารกับ กสศ. ในปีแรก มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 700 แห่ง ซึ่งโรงเรียนบ้านศาลา เป็นรุ่น 2 ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัด อปท. ประมาณ 20 กว่าแห่งที่เข้าร่วมโครงการในขณะนี้” 

นางรสชรินทร์ คำโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านศาลา สังกัด อบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โรงเรียนบ้านศาลาใช้แนวทางการจัดการเรียนการสอนลงสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ และนำโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองมาร่วมในกระบวนการดำเนินการ โดยเริ่มจากการสร้างนวัตกรรมของโรงเรียน คือ “โรงเรียนเหมือนบ้าน” ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ดี ได้แก่ 

  1. ครูดี ครูเก่ง ครูต้องดีก่อนถึงจะเก่ง ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ 
  2. หลักสูตรดี หลักสูตรต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และนำออกไปใช้ในสังคมได้ จึงมีการพัฒนาหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นการปรับเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ 
  3. สภาพแวดล้อมดี เน้น 3 เรื่อง คือ สะอาด น่าอยู่ ปลอดภัย เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนที่ส่งผลต่อผู้เรียน
  4. เทคโนโลยีดี เน้นพร้อมใช้ ทันสมัย 
  5. ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนดี สิ่งที่สำคัญที่สุดคือนักเรียน เน้นให้ความรักก่อนให้ความรู้
  6. เด็กดี เด็กเก่ง สิ่งสำคัญคือ เด็กต้องดีและเก่ง เราจึงมีอัตลักษณ์ของโรงเรียนคือ มารยาทงาม น้ำใจดี โรงเรียนเหมือนบ้าน นวัตกรรมที่โรงเรียนนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่นักเรียนไม่มาเรียน หรือมีปัญหาติดยาเสพติดในวัยรุ่น

นายสมชาย กองมณี หัวหน้าฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ได้ให้ข้อคิดเห็นและแนวทางการดำเนินงานไว้โดยได้เห็นหลักสูตรที่ตรงกับทฤษฏีของประเทศฟินแลนด์ สร้างกิจกรรมที่นำเหตุการณ์ที่อยู่รอบตัวมาจัดการเรียนรู้ จึงได้นำวิทยากรมาพัฒนาครูเพื่อผลักดันรูปแบบวิธีการสอนไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ ทั้งยังนำกระบวนการ 6 ขั้นตอนขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มาดำเนินการและบูรณาการถ่ายทอดให้กับเด็ก ได้แก่

  1. กระตุ้นความสนใจ 
  2. สังเกตและเลือกเนื้อหาที่สนใจ 
  3. ตั้งคำถามในสิ่งที่ตนเองสนใจ 
  4. ศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ 
  5. สรุปผลนำเสนอข้อมูล 
  6. แลกเปลี่ยนข้อมูล ครูสอนและถ่ายทอดให้เด็ก

นางรสชรินทร์ กล่าวปิดท้ายว่า หลังจากดำเนินการตามนวัตกรรมโรงเรียนเหมือนบ้านมาเป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่ง บวกกับ 2 ปีของโครงการ TSQP โอกาสนี้ถือเป็นความโชคดีของโรงเรียน คณะครู และนักเรียน เพราะทีมโค้ชของมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต เข้ามาให้การช่วยเหลือดูแลอย่างดีมาก 

ข้อท้าทายของโรงเรียนขาดครูอยู่ก่อนแล้วคือ หากมีการนำโครงการ นวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาสู่โรงเรียน จะกลายเป็นภาระงานที่เข้ามาสร้างความลำบากใจให้กับครูเพิ่ม แต่การมีโค้ชที่มากความสามารถเข้ามาช่วยปรับให้งานสอดรับกัน ทำให้โรงเรียนดีใจมาก 

“ด้วยความตั้งใจที่เราพยายามหาแนวทาง ทำทุกวิถีทางให้เด็กมาโรงเรียน เมื่อเด็กมาโรงเรียน เด็กรักโรงเรียน เด็กก็จะมีความรู้ เราก็จะสอนเด็กได้ ดังนั้นเมื่อเด็กมีความสุข ความรู้จะเกิดขึ้น”

นางเพ็ญพรรณ ผู้จัดการโครงการสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เน้นย้ำเรื่องผู้นำที่กล้า บ้าบิ่น และไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงว่า

“ปัจจัยสำคัญเริ่มมาจากการที่ผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้นำในการบริหารจัดการโรงเรียน ทั้งการจัดการทรัพยากรสู่การจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ขอบคุณผู้อำนวยการ และคณะครู ที่ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานของโรงเรียนสังกัด อบจ.”