ในวงจรความเสี่ยง ‘ความฝันพลัดหล่นหายไป’ บนถนนการศึกษาที่ขรุขระด้วยรอยต่อ
“ได้เรียนจบไปทีละขั้นก็เกินกว่าที่คิดแล้ว”

ในวงจรความเสี่ยง ‘ความฝันพลัดหล่นหายไป’ บนถนนการศึกษาที่ขรุขระด้วยรอยต่อ

“ครั้งล่าสุดที่สมัครเรียน ปวช.ไม่ได้ คิดว่าคงไม่ได้เรียนแล้ว อย่างเร็วก็รอถึงปีหน้า แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ผมไม่แน่ใจว่าจะพร้อมแค่ไหน จะมีเงินพอหรือมีช่องทางกลับไปเรียนอีกได้ไหม”

น้องบิ๊ก วัย 16 ปี นักศึกษา ปวช.1 วิทยาลัยเทคนิคยะลา สาขาช่างเชื่อมผลิตภัณฑ์ เล่าความรู้สึกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเมื่อต้นปีการศึกษาที่ผ่านมา ว่าเกือบถอดใจไปแล้วกับการเรียน 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องเผชิญความเสี่ยงกับการหลุดจากระบบ เพราะเมื่อปีการศึกษาก่อนในช่วงที่โควิด-19 ส่งผลให้โรงเรียนต้องปิด เศรษฐกิจหยุดชะงัก บิ๊กได้รับผลกระทบรุนแรงจากการขาดเครื่องมือเรียนออนไลน์ ทั้งรายได้จากการทำงานเลี้ยงชีพก็กลายเป็นศูนย์ เส้นทางการเรียนจึงเกือบต้องหยุดลงก่อนจบชั้น ม.3

‘ล็อกดาวน์ในโรงไม้’

ขณะพูดคุยกันเป็นเวลาบ่าย เสียงเครื่องจักรในโรงไม้แผดดังไปทั่วบริเวณห้องพักห้องเล็กๆ ที่บิ๊กใช้เป็นที่อาศัยอยู่กับยายมาตลอดสามปี และจะส่งเสียงต่อไปจนถึงช่วงหัวค่ำ บิ๊กบอกว่า “ผมชินแล้ว อยู่ตรงนี้ทุกวัน เรียนออนไลน์ตรงนี้ ทำการบ้านก็ตรงนี้ เรียนรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ที่เลือกเรียนสายอาชีพ เพราะผมชอบเรียนปฏิบัติ คิดว่าถึงวันไหนไม่ได้เรียนต่อจริงๆ ก็เอาความรู้ไปทำงานได้”

บิ๊กเล่าว่า เขาทำงานในโรงไม้ไปด้วย เรียนไปด้วย เสาร์อาทิตย์ทำเต็มวันได้วันละ 160 บาท ส่วนวันจันทร์ถึงศุกร์ทำเป็นรายชั่วโมงช่วงเลิกเรียน ได้เงินมาเท่าไหร่ก็จะเอาไปให้ยาย ที่มีเพียงเบี้ยสวัสดิการรัฐเดือนละสามร้อยบาท กับรายได้จากการขายขนมและของใช้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับคนงานในโรงไม้วันละประมาณไม่ถึงร้อยบาท

“ที่ผ่านมาก็ค่อนข้างลำบากครับ แต่พอทำงานถูไถไปได้ จนสองปีมานี่ โรงเรียนปิด โรงไม้เปิดปกติไม่ได้ เราไม่มีทางหารายได้เลย”

ขณะกำลังเรียนชั้น ม.3 เขาบอกว่าช่วงนั้นต้องเรียนออนไลน์เป็นหลัก ความที่ไม่มีโทรศัพท์จึงต้องรับงานจากครูมาทำที่บ้าน แต่เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียน  การศึกษากับบิ๊กก็ค่อยๆ ห่างจากกันโดยปริยาย แม้หลังจากนั้นเถ้าแก่โรงไม้ยื่นมือเข้ามาช่วย ด้วยการมอบโทรศัพท์ให้เครื่องหนึ่ง แต่สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียน และความขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานนานัปการ ตอนนั้นเขาคิดว่าไม่น่าจะเรียนจนจบชั้น ม.3 ได้แล้ว

‘ช้อนไว้ก่อนร่วงหล่น’
ด้วยเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา

จังหวัดยะลาเป็น 1 ใน 20 จังหวัดนำร่อง ของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ที่มีโมเดลต้นแบบ ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ (Emergency Classroom)  ซึ่งช่วยเฝ้าระวัง และส่งต่อเคสจำเป็นเร่งด่วนให้ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที

นูรียา กาซอ ครูโรงเรียนยะลาบำรุงผดุงประชา ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา ในฐานะด่านหน้าเล่าว่า 

บิ๊กเป็นลูกศิษย์ที่โรงเรียน ซึ่งตนเห็นว่ามีความเสี่ยงอย่างมากที่จะหลุดจากระบบก่อนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงคอยให้การช่วยเหลือดูแลมาตลอด จนถึงช่วงเทอมสองของชั้น ม.3 เห็นว่าสัญญาณเริ่มชัดขึ้น เมื่อเจอวิกฤตทั้งเรื่องปากท้อง ซ้อนซ้ำด้วยอุปสรรคจากการเรียนที่บ้าน คุณครูจึงส่งเรื่องบิ๊กไปยัง อบจ. ยะลา ในฐานะเคสเร่งด่วนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

“เรารู้ว่าน้องมีความตั้งใจที่จะเรียนให้จบ แต่ภาวะที่สู้อยู่มันค่อนข้างหนักสำหรับเขา คิดว่าถ้าไม่มีใครยื่นความช่วยเหลือเข้ามาประคองไว้ บิ๊กจะเป็นอีกหนึ่งคนที่หลุดจากการศึกษาไปก่อนจบ ม.3 แล้วในพื้นที่ของเรา เด็กที่ต้องเจอสถานการณ์อย่างนี้ เขามีโอกาสน้อยมากที่จะได้กลับมาเรียนอีก แม้วันนี้ใจเขายังอยู่กับการศึกษาก็ตาม”  ในเวลาไม่นาน บิ๊กจึงได้เป็นหนึ่งในเคสฉุกเฉินเสี่ยงหลุด ที่โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา ได้เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งในด้านปัจจัยดำรงชีวิตและปัจจัยด้านการศึกษา จนประคองให้จบชั้น ม.3 ในปีการศึกษา 2563 ได้สำเร็จ

เกือบหล่นอีกครั้ง ตรงร่อง ‘รอยต่อ’ ทางการศึกษา

ผ่านการศึกษาภาคบังคับมาได้ ก็มาพบอุปสรรคสำคัญอีกครั้ง เมื่อปีการศึกษาใหม่ใกล้จะเริ่ม 

“ยายบอกว่าขอให้ตั้งใจเรียนเต็มที่ ถ้ามีโอกาสให้ไปจนสุดทาง เรียนไว้เยอะๆ วันนึงจะไม่ลำบาก ผมเองก็คิดตลอดว่าถ้าได้เรียน มีความรู้ก็จะเอาไปใช้เลี้ยงตัวเองในอนาคตได้ ดูแลยายได้ แต่ตอนจะต่อ ปวช. คือรู้สึกว่ามาสุดแล้ว มีทางอยู่แค่นั้น คิดไม่ออกเลยว่าจะเรียนต่อได้ยังไง อาจต้องทำงานเก็บเงินรอถึงปีหน้า หรือทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีเงินพอให้สมัครเรียนได้”

บิ๊กไม่ได้ขยายความว่า ‘จนกว่าจะมีพอให้สมัครเรียนได้’ ที่คิดไว้ เป็นเวลายาวนานเท่าไหร่ หากมันได้สะท้อนผ่านน้ำเสียงที่หลบลึกในลำคอ ตอนเขาพูดออกมาว่า “ทีแรกผมคิดว่าคงไม่ได้เรียนแล้ว”

แต่ก็เป็นอีกครั้งที่บิ๊กผ่านพ้นมาได้ เมื่อโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ได้ติดตามความช่วยเหลือต่อเนื่อง และพบข้อมูลว่าบิ๊กกำลังจะหลุดไปจากระบบการศึกษาอีกครั้ง ตรงช่วงรอยต่อชั้น ม.3 ทางโครงการจึงเข้าพบผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคยะลาทันที และสามารถพาบิ๊กเข้าเรียน ปวช.1 ได้ แม้ปีการศึกษา 2564 จะเปิดเรียนไปสักพักแล้ว 

เส้นทางที่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุด ที่ ‘บิ๊ก’ บอกว่า “ได้เรียนจบไปทีละขั้น ก็เกินกว่าที่คิดแล้ว”

ยายแฉล้ม วัย 68 ปี คุณยายของบิ๊ก พูดถึงหลานว่า บิ๊กว่างจากเรียนก็ทำงานตลอด ได้มาเท่าไหร่ก็เอาเงินมาให้ยาย แต่ตอนนี้เป็นช่วงทำมาหากินลำบาก บางวันขายของไม่ได้เลยก็เครียด นอนไม่หลับ หลานรู้ก็เครียดตามไปด้วย

“เรากลัวว่าเขาจะคิดมากจนเสียการเรียน ยายกังวลที่สุดคือเรื่องเรียนของเขา กลัวเขาเรียนไม่จบ เท่าที่อยู่ด้วยกัน บิ๊กเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูดสิ่งที่คิด วันๆ เอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำงาน แต่เรารู้ว่าเขารักการเรียนจริงๆ เพราะไม่งั้นสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีคงชักจูงไปถึงไหนๆ แล้ว ยายหวังแค่ให้เขาได้เรียนสูงๆ เลี้ยงดูตัวเองได้ อย่างน้อยอีกสองปีจบ ปวช. อะไรต่างๆ น่าจะดีขึ้นบ้าง”

เมื่อถามถึง ‘ความหวัง’ หรือ ‘ฝัน’ ในวันข้างหน้า  บิ๊กก้มหน้าครุ่นคิด แล้วบอกว่า 

“ตอนนี้ผมมีกำลังใจขึ้นที่ได้เรียนต่อ ส่วนอนาคตยังไม่รู้ ตอนนี้คิดแค่ว่าจะพยายามเรียนจบให้ได้ในสองปีข้างหน้า ไม่กล้าคิดไปมากกว่านั้น ถ้าจบแล้วได้เรียนต่อก็คงดี จากนั้นได้ทำงานตามสายที่เรียนมา แค่นี้ก็เกินกว่าที่คิดเอาไว้แล้วครับ”

…บิ๊กคือภาพแทนของเด็กเยาวชนคนหนึ่ง ที่เวียนวนบนความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

…แต่วันนี้การทำงานของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ นับว่ามีส่วนจุดประกายให้จังหวัดยะลาจัดตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ และ ‘กองทุนเพื่อการศึกษาเด็กเยาวชนด้อยโอกาส’ ที่จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของ ‘บิ๊ก’ และเด็กเยาวชนคนอื่นๆ ต่อไป