มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพิ่มความเข้มข้นกระบวนการคัดเลือก ค้นหาตัวจริง “ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 3”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพิ่มความเข้มข้นกระบวนการคัดเลือก ค้นหาตัวจริง “ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 3”

กระบวนการค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกนักศึกษาเข้าสู่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของกระบวนการผลิตครูในระบบปิด ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่านักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะมีคุณสมบัติตามที่กำหนด 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหนึ่งในสถาบันที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ต่อเนื่องมาเป็นปีที่สาม และปีนี้ได้ดำเนินกระบวนการคัดเลือกจนได้นักศึกษาเข้าโครงการ 28 คน ​และ​ในอีก 4 ปีข้างหน้าหลังเรียนจบ พวกเขาจะกลับไปบรรจุเป็นครูในโรงเรียนปลายทาง 26 โรงเรียน ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และตาก 

ดร.วิชญา ผิวคำ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่าการค้นหาเด็กในปีนี้  มีความพิเศษตรงที่เปิดรับสมัครออนไลน์และสัมภาษณ์ออนไลน์โดยคณะกรรมการจากสถาบัน เพื่อคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นก่อน​ จากนั้นจึงเป็นการสัมภาษณ์ ที่มีทั้งคณะกรรมการจากสถาบัน ชุมชน โรงเรียนปลายทาง  ศึกษานิเทศก์จังหวัดต่างๆ โดยจะคัดกรองให้ได้สองเท่าของจำนวนนักเรียนที่จะรับ  และในรอบสามจึงลงพื้นที่ไปคัดกรอง  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังเพิ่มการสอบสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษเบื้องต้นอีกด้วย 

จากผู้สมัครกว่า 200 คน คัดเลือกรอบแรกที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและความยากจนพิเศษจนเหลือจำนวน 73 คน โดยรุ่นนี้จะเพิ่มการส่งคลิปวิดีโอเพื่อดูสภาพบ้าน หากกรรมการยังไม่แน่ใจก็จะวิดีโอคอลเพื่อดูคุณลักษณะอีกรอบ  ในรอบนี้จะพิจารณาเรื่องความเสี่ยงที่จะย้ายโรงเรียนเมื่อครบเกณฑ์หรือไม่เพิ่มเข้ามาด้วย

เข้าค่ายบ่มเพาะความเป็นครูเชื่อมโยงพื้นที่
เรียนรู้ความเป็นนักพัฒนาชุมชน

นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบที่สามจะต้องเข้าค่าย 2-3 วัน เพื่อบ่มเพาะคุณลักษณะความเป็นครู นักพัฒนาชุมชน ให้เขามีไอเดียว่าจะดูแลชุมชนอย่างไร  พาไปดูโรงเรียน คุยกับครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ให้เห็นภาพในอนาคตว่าจะสามารถรับมือไหวหรือไม่ 

สุดท้ายจึงเป็นการคัดเลือกโดยการให้โชว์สมรรถนะ มอบโจทย์ว่า “ถ้าเป็นครูนักพัฒนาชุมชนจะมีโปรเจ็กต์อะไรที่น่าสนใจบ้าง” 

“การให้เด็กได้โชว์สมรรถนะจะดีกว่าการสอบ เพราะเขาจะได้พูด ได้สื่อสาร ได้เขียน ได้พรีเซ็นต์ ถ่ายทอดคุณลักษณะความเป็นครูออกมาในตอนที่เขานำเสนอ โดยครูประถมต้องพรีเซ็นต์ด้วยการออกแบบให้ง่ายที่สุด เข้าใจง่ายที่สุด ทั้งแม็ปปิ้ง รูปภาพ สื่อจากกระดาษ ซึ่งเราจะได้เห็นทักษะ ไหวพริบ การตอบ อันเป็นคุณลักษณะเรื่องการแก้ปัญหาในชั้นเรียน มองปัญหาได้รอบด้าน  โดยเราได้ออกแบบค่ายให้มีทั้งเรื่องชุมชนที่เกี่ยวข้องกับครู และสะท้อนให้เห็นว่าครูรัก(ษ์)ถิ่นต่างจากครูทั่วไปอย่างไร การเรียนรู้แต่ละฐานจะมีทั้งเรื่องครูประถม นักพัฒนาชุมชน การออกแบบสื่อการสอนที่ดึงความเป็นชุมชนเข้ามาสอนเด็ก”

ความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนี่งในการพัฒนาครูกลับไปพัฒนาพื้นที่

ดร.วิชญาสรุปภาพรวมว่า จากเริ่มต้นกระบวนการเปิดรับสมัครจนถึงการคัดเลือกใช้เวลาทั้งหมด 2 เดือนครึ่ง  โดยใช้เวลา 1 เดือนครึ่งในการลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เด็กและครอบครัว จากกระบวนการทั้งหมดทำให้ได้มั่นใจได้ว่าเด็กที่เข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ล้วนมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด  หลัง 6 ปีที่บรรจุเขาจะไม่ย้ายไปที่อื่น เพราะเราเลือกเด็กที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ไม่มีโรงเรียนอื่นที่ใกล้บ้านมากกว่านี้ ดังนั้นคำถามที่สัมภาษณ์จะมีความเข้มข้น

“รุ่นที่ 3 นี้ถือว่าประสบความสำเร็จในทุกด้าน  ไม่มีข้อทักท้วงจากในพื้นที่  เพราะมีการทำงานที่วางแผนมาอย่างดี ทำงานร่วมกับพื้นที่  และโรงเรียนปลายทางอย่างใกล้ชิดในแต่ละขั้นตอน เราภูมิใจที่ได้ช่วยให้เขามาเรียนตามความฝัน และหากมองย้อนไปถึงรุ่นที่ 1 และ 2 เราเห็นเขาที่เคยได้โอกาสและวันนี้เริ่มอยากดูแลส่งต่อโอกาสที่ได้รับไปให้คนอื่น อย่างช่วงลงพื้นที่ค้นหาเด็กรุ่นที่ 3 เราถ่ายรูปให้ดูว่าวันนี้ไปถึงพื้นที่ไหนจังหวัดไหน  นักศึกษารุ่นที่ 1  และ 2  ที่อยู่ในพื้นที่  เขาเห็นแล้วก็บอกว่ามีอะไรให้ช่วยบ้าง อย่างพื้นที่ที่ใช้ภาษาชาติพันธุ์เขาก็เสนอว่าจะมาเป็นล่ามให้ได้ เวลามาเข้าค่ายช่วงก่อนโควิดระบาด เขาก็มาช่วยกันหมดตรงนี้ วันนี้เราเห็นคนเขาเริ่มห่วงคนอื่น อยากดูแลคนอื่น เราก็ภูมิใจว่าเขาจะกลับไปเป็นครูที่ดีในพื้นที่ในอนาคต” ดร.วิชญากล่าว